วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บวชลูกบวชหลาน

---------------บวชลูกบวชหลาน--------------------
....................
..............ลูกผู้ชายต้องบวชเรียนให้พ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสวรรค์ คือความเชื่อของคนสมัยก่อน
สั่งสอนกันสืบมาจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อของท่านถูกต้องแล้วครับ เพราะคนที่มีลูกชาย เมื่อโตแล้วการอบรมสั่งสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปกรรม มีศีลมีคุณธรรม พ่อแม่สอนกันไม่ไหวหรอกครับ เพราะคุณลูกไม่อยู่ให้สอนนั่นประการหนึ่ง และประการสำคัญ พ่อแม่ก็ไม่มีเวลา แถมยังไม่รู้จะสอนอย่างไรจึงจะได้อย่างที่ใจต้องการ เมื่อลูกยอมบวชเรียน โอกาสจะได้ฝึกปฏิบัติตนเป็นมีศีลมีคุณธรรมย่อมมีมาก กว่าเป็นฆราวาส ทั้งยังได้ร่ำเรียนคำสอนพุทธศาสนาที่เชื่อว่าเป็นคำสอนที่ยอดเยี่ยมที่สุด แล้วอย่างนี้จะไม่ให้พ่อแม่เป็นปลื้มได้อย่างไร แถมเมื่อลูกบวชแล้ว ความรักความห่วงใยย่อมเพิ่มเป็นทวีคูณ ต้องหาข้าวของมาตักบาตร หาของกินดี ๆ ไปจังหัน ทั้ง ๆที่เมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจ นี่แหละอิทธิพลผ้าเหลืองที่ลูกชายนุ่งห่มพลอยทำให้พ่อแม่สนใจทำบุญทำทาน แบบที่โบราณท่านเปรียบว่าเกาะชายผ้าเหลืองลูกไปสวรรค์ ถูกต้องแล้วครับ  หลังจากพล่ามไปมากแล้วเรามาดูการทำบุญบวชนาคกันนะครับ
การเตรียมงาน
..............งานทุกอย่าง ชาวบ้านเราห่วงเรื่องการรับรองแขก การเตรียมข้าวปลาอาหาร เป็นภาระสำคัญ
ที่ต้องคิดกัน บางคนขนาดหาหมูหาวัวไว้ฆ่าเลี้ยงแขกในงาน คงห้ามกันยากครับ แม้จะรู้ว่ามันไม่ถูกต้อง อยากให้ข้อคิดว่าการทำบุญใด ๆ ก็ดี ถ้าไม่ต้องทำบาปเลยจะดีมากหรือจำเป็นเลี่ยงไม่ได้ก็ให้มันบาปน้อย ๆ หน่อย จะทำอย่างไรจึงจะบาปน้อยคงคิดออกไม่ยากใช่ไหมครับ ดังนั้นเรื่องเตรียมข้าวปลา
อาหารนี่จะขอข้ามไป 
................ขอพูดถึงการเตรียมนาคครับ เพราะเห็นคนทำจัดงานบวชกำลังจะทำกันจนเลอะ เมื่อก่อนคนจะบวชต้อง ไปฝากตัวที่วัดล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ฝึกเป็นศิษย์พระรักษาศีล 8 อดข้าวเย็น นอนที่วัด ท่องบทขานนาคและบทสวดมนต์ คำขานนาคก็คือ คำขอบรรพชาอุสมบท เพราะพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้อย่างนั้นว่า ใครอยากบวชต้องขอบวชเอง คำขานนาคประมาณ 2 หน้ากระดาษ 7 วัน ท่องได้คล่องแน่นอน สามารถไปกล่าวคำขอบรรพชา อุปสมบท ต่อหน้าพระอุปัชฌายะ ได้ บทสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน จำเป็นสำหรับพระภิกษุสามเณร เวลาโยมมาขอศีลต้องให้ศีล เขาถวายสิ่งของ
ต้องให้ศีลให้พร เช้าเย็นต้องสวดมนต์เจริญภาวนา เวลามีงานต้องเจริญพระพุทธมนต์ คนตายต้องสวดพระอภิธรรม สวดมาติกา บังสุกุล บทสวดต่าง ๆ ที่กล่าวเป็นภาษาบาลีทั้งนั้น ต้องท่องจำครับ การเป็นนาคอยู่วัดเจ็ดวัน พระท่านจะแนะนำว่า ควรท่องบทไหนก่อน ก็บทให้ศีลห้าศีลแปดนั่นแหละ ต่อมาก็บทให้พรยถาสัพพี เห็นไหมครับ การเข้านาคมีข้อดีไม่น้อยแต่คนทุกวันนี้ไม่ค่อยทำ    เลยเกิดปัญหาเวลาเข้าไปหาพระอุปัชฌายะเพื่อขอบรรพชาอุปสมบท กล่าวคำขอบวชเองไม่ได้ เดือดร้อนถึงอุปัชฌายะหรือพระกรรมวาจาจารย์ต้องนำกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบท ดีที่ชาวบ้านฟังภาษาบาลีไม่รู้เรื่อง ไม่เช่นนั้นคงจะมีรายการขำขัน   กันเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าระหว่างนาคกับพระ ใครขอบวชกันแน่ เพราะมีคนกล่าวคำขอบวช 2 คน คือมีพระเป็นหัวหน้ากล่าวนำ นาคก็ว่าตาม ถ้าไม่อยากเกิดปัญหาทำนองนี้ นำนาคไปถวายพระล่วงหน้า 7 วันดีที่สุดครับ 
การทำบุญบ้านสำหรับงานบวชนาค
            ก่อนวันบวช 1 วัน ชาวบ้านนิยมทำบุญบ้าน ตอนเย็นนิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน เสร็จแล้วก็เลี้ยงอาหารเย็นญาติพี่น้องที่มาร่วมงาน ข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ก็ได้ใช้กันวันนี้เอง ซึ่งเริ่มแต่เช้าแล้วจะมีคนทะยอยมาร่วมทำบุญไม่ขาด บางคนมีข้าวสารอาหารแห้งมาฝากทำบุญ บางคนได้เสื่อ อาสนะ ฟูก หมอน ผ้า ของที่เขานำมาร่วมทำบุญจะนำไปกองรวมเอาไว้กับเครื่องอัฐบริขารและไทยทาน
ต่าง ๆ รวมเรียกว่า " กองบวช" บ้านงานจัดเลี้ยงอาหารแขกตลอดเวลา มาเวลาไหนมีข้าวปลาอาหารให้กิน คนที่ไม่กินก็ใส่ถุงฝากให้ลูกหลานที่บ้าน ถึงตอนเย็นเมื่อพระเจริญพุทธมนต์จบจะเป็นการเลี้ยงใหญ่ ก่อนจะดูหมอลำสมโภชกองบวช อ้อลืมพ่อนาคไป ตอนนี้เป็นศิษย์วัดครับมาพร้อมพระ กลับพร้อมพระครับ ไม่มีสิทธิ์มานั่งดูหมอลำซิ่งกะเขาหรอก
               เช้าวันรุ่งขึ้นก็ตักบาตรกัน ส่วนพ่อนาคก็จะถูกจับโกนผมมาแล้วแต่งชุดนาคไว้รอ เสร็จพิธีตักบาตรฉันเช้าเสร็จ เขาจะมีพิธีทำขวัญนาคให้ ญาติพี่น้องมาผูกข้อมือให้ขวัญกำลังใจ ด้ายผูกแขนล้นข้อมือทีเดียว เสร็จแล้วก็ส่งพระกลับวัดไปก่อน จากนั้นก็แห่นาคพร้อมกองบวชไปวัดกัน กลองยาวเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแห่ขาดไม่ได้ ใครจะร้องจะรำตามสบายตั้งแต่บ้านงานจนถึงวัด ขบวนแห่จะหยุดพักรอที่ศาลาการเปรียญ แล้วนำนาคไปส่งที่พระอุโบสถ ตอนนี้นาคเป็นหนี้สินใครยังไม่ใช้ ให้รีบมาทวง เพราะคนจะบวชต้องปลอดหนี้สิน คนรุ่นปัจจุบันอย่าลืมคุณสมบัติข้อนี้นะครับ ไม่งั้นจะมีผลทำให้การบวชไม่สมบูรณ์ตามพระวินัยบัญญัติ เพราะนาคขาดคุณสมบัติข้อ อนโณสิ  (เป็นคนไม่มีหนี้สินใช่เปล่า)
               ขั้นตอนพิธีบวชไม่มีอะไรมาก หลักการคือพระท่านจะบวชให้คนมีบริขารครบ พ่อแม่จะมอบบริขารให้ก่อน จากนั้นก็เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์เพื่อขอบรรพชาอุปสมบท ขั้นตอนแรกจะให้บรรพชาเป็นสามเณรรับศีล 10 ข้อ ก่อน จากนั้นท่านจึงจะประชุมสงฆ์เพื่อพิจารณาอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ โดยต้องตรวจสอบอันตรายิกธรรมหรือข้อห้ามตามพระวินัยบัญญัติไว้ เช่นตรวจสอบว่าเป็นบุรุษจริง อายุครบ 20
ขึ้นไป บิดามารดาอนุญาต เจ้านายหรือพระราชาอนุญาต เป็นมนุษย์ไม่ใช่ปลอมแปลงมา ไม่มีหนี้สิน ฯลฯ ผ่านคุณสมบัติตรงนี้ไปท่านก็จะสวดญัติจตุตถกรรมวาจา ถ้าไม่มีข้อทักท้วงจากที่ประชุมสงฆ์ การอุปสมบทก็จบบริบูรณ์
               ข้อควรระวัง ปัจจุบันบางวัดนิยมอนุญาตให้ฆราวาสนั่งดูในอุโบสถได้ ค่อนข้างจะเสี่ยง เพราะชาวบ้านอาจทำให้สังฆกรรมเสียหายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะท่านห้ามมิให้มีบุคคลอื่นที่มิใช่คณะสงฆ์ผู้จะทำสังฆกรรมอยู่ในบริเวณที่สงฆ์กำลังประชุม ยกเว้นนาค คนอื่นจะต้องอยู่ห่างเขตประชุมสงฆ์ 1 ช่วงแขน ที่ท่านเรียก 1 หัตถบาศนั่นเอง ยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุผ่านเข้ามาบริเวณสีมาที่ท่านกำหนดไว้ ต้อง
ยกเลิกสังฆกรรมที่ทำมายังไม่จบเริ่มต้นใหม่ และต้องนิมนต์พระภิกษุรูปที่หลงทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย 
.--------------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 2/8/59
..........ผลงานเก่า เอามาเก็บที่บลอก




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น