วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โรงเรียนวิถีพุทธ

                                                 โรงเรียนวิถีพุทธ
....................
.............งานปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ปัจจุบัน มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย  ด้าน ทั้งระเบียบกฏเกณฑ์ โครงสร้างการบริหาร หลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน ครูนักเรียน ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นนิติบุคคล  ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามอง ดังกล่าวนี้ มีนวัตกรรมการจัดโรงเรียนรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น โรงเรียนในฝัน โรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนสองภาษา โรงเรียนไอซีที   โรงเรียนในกำกับของรัฐ และโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความ สามารถพิเศษเป็นต้น รูปแบบโรงเรียนเหล่านี้เป็นนวัตกรรมเพราะอยู่ในระหว่างการทดลองว่าจะดำเนินการอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จได้มากที่สุด เมื่อได้ผลดีแล้วต่อไปก็จะมีการขยายผลและกลายเป็นเทคโนโลยีการจัดการศึกษาต่อไป
................  โรงเรียนวิถีพุทธเป็นรูปแบบที่น่าสนใจเพราะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมากที่สุด คนไทยนับถือพุทธศาสนามาช้านานเมื่อมีประวัติศาสตร์ก็พบว่ามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำคัญของชาติ มีเรื่องราวพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการปกครอง ขนบประเพณีของชนชาติไทย ดังที่ทราบกันทั่วไปในประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ แสดงว่าก่อนจะมีประวัติศาสตร์บันทึกไว้นั้น วิถีชีวิตของคนไทยเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามานานแล้ว  ประวัติการศึกษาของไทย บันทึกไว้ว่าก่อนจะมีโรงเรียนทำหน้าที่สอนกุลบุตรกุลธิดาคนไทยมีวัดเป็น สถาบันการศึกษาที่มีความสำคัญเป็นที่ให้การศึกษาหลักคำสอนศาสนาและการศึกษาสำหรับสังคมไทย ผู้นำหลายท่านมีพระอาจารย์สอนหนังสือเป็นพระภิกษุ  แม่ทัพนายกองหลายนายมีพระภิกษุเป็นพระอาจารย์ และเจ้าสำนักฝึกวิทยายุทธหลายสำนักเป็นพระภิกษุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนากับวิถีชีวิตของคนไทย และการศึกษาของคนไทย เกี่ยวข้องกันมานาน เมื่อคิดจะนำรูปแบบวิถีพุทธมาใช้ในการจัดบริหารโรงเรียน จึงน่าจะทำได้ง่ายกว่ารูปแบบอื่นขอเพียงทำความเข้าใจวิถีพุทธให้ถูกต้องชัดเจน ก็จะช่วยได้มาก
                วิถีพุทธ เป็นอย่างไร วิถีในที่นี้หมายถึงแนวดำเนินชีวิต เหมือนคำว่าวิถีชาวบ้านที่หมายถึงการดำเนินชีวิตตามแบบของชาวบ้าน วิถีพราหมณ์ คือแนวดำเนินชีวิตแบบคนที่นับถือศาสนา พราหมณ์ ดังนั้นวิถีพุทธจึงหมายถึงแนวดำเนินชีวิตแบบคนนับถือพุทธศาสนาถ้าเข้าใจความหมาย ตรงกันก็จะมองเห็นแนวทางการจัดทำโรงเรียนวิถีพุทธชัดเจนขึ้น ซึ่งจะนำเสนอแนวคิดว่าทุกโรงเรียนสามารถที่จะนำวิถีชีวิตแบบชาวพุทธเข้ามาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะมีพื้นฐานเป็นสังคมแบบชาวพุทธอยู่แล้ว กล่าวคือครู นักเรียนนักการภารโรง ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในโรงเรียนปีละ 200 วัน สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 6-7 ชั่วโมง เกือบทั้งหมดนับถือพุทธศาสนา คือมากกว่าร้อยละ 90 ยกเว้นโรงเรียนสอนศาสนาอื่น  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าทุกโรงเรียนมีลักษณะเป็นสังคมแบบชาวพุทธอยู่แล้ว ถ้าอยากทำเป็นโรงเรียนวิถีพุทธตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ก็ทำได้ง่าย เพียงแค่นำหลักปฏิบัติแบบชาวพุทธมาใช้ ก็เป็นโรงเรียนวิถีพุทธได้แล้ว
............... การดำเนินชีวิตแบบคนนับถือพุทธศาสนาคือวิถีแห่งพุทธ  จากการศึกษาพุทธประวัติเราจะพบว่าการรับคนเข้าเป็นสมาชิกของพระพุทธศาสนา  มีหลักการสำคัญที่ควรทราบ คือ
             1. เลื่อมใสศรัทธาในตัวศาสดา คือพระพุทธเจ้า
             2.  ต้องเชื่อถือคำสอนของพุทธศาสนา ไม่ต้องไปเชื่อคำสอนศาสนาอื่น
             3.  ต้องยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง อย่าไปยึดถืออย่างอื่นเช่น ต้นไม้ ภูเขา หรือแม้แต่ผีสางเทวดา
             4.  ต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสำคัญ 3 ประการคือ ไตรสิกขา
              5. สนใจทำบุญตามวิธีของพุทธศาสนา
              จากหลักการ ทั้ง 5 เรื่องนี้เรามาพิจารณา ดูว่าแต่ละเรื่องสำคัญอย่างไร
             คนจะนับถือศาสนาใด ๆ มักจะเริ่มต้นที่การเลื่อมใสศรัทธาในองค์ศาสดา ไม่ว่าคริสต์  อิสลาม ศาดาสำคัญมาก สำหรับชาวพุทธการเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้าทำได้ง่าย เพียงศึกษาชีวประวัติของท่าน ก็จะพบเรื่องที่น่าเลื่อมใสศรัทธาได้มากมาย ดังเช่น
              ศาสดาเราน่าเลื่อมใส
             1) ท่านเป็นคนที่มีบุคลิกภาพสมบูรณ์ตั้งแต่แรกเกิด ขนาดนักปราชญ์ ปุโรหิต ซึ่งเป็นนักบวชของศาสนาพราหมณ์ เชี่ยวชาญเรื่องไตรเพท และตำรามหาปุริสลักษณะ ได้เห็นครั้งแรกก็ลงความเห็นตรงกันว่า พระกุมารมีลักษณะครบตามตำรา
              2) ท่านเป็นคนที่มุ่งมั่นต่อการศึกษาค้นคว้า ไปศึกษาที่สำนักอาจารย์ต่าง ๆ ก็สามารถเรียนจบได้ในเวลารวดเร็ว เรียนวิชาด้านการปกครองก็เรียนเก่งกว่าคนอื่น ๆ  ไปเรียนสมาธิที่สำนักพระดาบส จบสมาบัติ 8 ในเวลาไม่กี่เดือน ยิ่งการรู้แจ้งอริยสัจจ 4 ด้วยการศึกษาและปฏิบัติด้วยพระองค์เองยิ่งน่าเชื่อว่าท่านเป็นอัจฉริยะจริง ๆ
             3) ท่านเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง ทำสิ่งที่คนทั่วไปยากจะทำได้สำเร็จ  สละราชสมบัติออกบวชด้วยวัยเพียง 29 ปี ยังหนุ่มแน่นในขณะที่มีคนห้ามทั้งเมืองไม่อยากให้ออกบวช  บำเพ็ญทุกกรกิริยานานถึง 6 ปี ไม่ท้อถอย เป็นคนอื่นเดือนเดียวก็เลิกแล้ว
              4) ท่านเป็นคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่มหาชน  ทุกกิจกรรม ทุกคำสอน เป็นไปเพื่อให้คนอื่นได้รับประโยชน์ ไม่เลือกชั้นวรรณะ ยากดีมีจน เต็มใจสั่งสอนทั้งนั้น
               5) ท่านเป็นครูอัจฉริยะในด้านการสั่งสอน คำสอนของท่านปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสถานภาพของผู้ฟัง สามารถสอนให้คนฟังบรรลุธรรม เป็นพระอริยะได้จากการฟังคำสั่งสอนทันทีทันใด   ฯลฯ
               แค่ตัวอย่างก็จะช่วยให้เราได้ทราบถึงคุณสมบัติพิเศษของคนที่ เป็นศาสดาว่า น่าเลื่อมใสศรัทธาเพียงใด หลังจากเลื่อมใสในศาสดาแล้วต่อไปก็พิจารณาเรื่องอื่น ๆ  ก็จะทำให้การนับถือพุทธศาศนาของเรามั่นคงยิ่งขึ้น (ทุกครั้งที่กล่าว นะโม ตัสสะ ภะคะวะโค อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ เราเคารพท่านด้วยใจจริง)
.............. รัตนตรัยที่พึ่งอันประเสริฐ  ที่พึ่งของคนนับถือพุทธศาสนาคือพระรัตนตรัย  ไมมี่เทพเจ้า ภูติผีปีศาจ ต้นไม้ ภูเขา รูปปั้น พุทธศาสนาต้องการให้ศานิกชนยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  ที่พากันเปล่งวาจาว่า  พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ  ธมฺมํ  สรณํ คจฺฉามิ  สงฆํ  สรณํ
คจฺฉา มิ    ทุติยมฺปิพุทธํ สรณํ คจฺฉามิ  ทุติยมฺปิธมฺมํ  สรณํ คจฺฉามิ ทุติยมฺปิสงฆํ  สรณํ คจฺฉามิ  ตติยมฺปิพุทธํ สรณํ คจฺฉามิ   ตติยมฺปิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ   ตติยมฺปิสงฆํ  สรณํ คจฺฉามิ  นั่นคือการเปล่งวาจาให้คำมั่นว่าต่อไปนี้จะนับถือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะคำว่าสรณะแปลว่าที่พึ่ง  แถมกล่าวตั้ง 3 รอบ ไม่ควรพูดเล่น พูดแล้วต้องทำตาม การนับถือพระรัตนตรัยจะช่วยให้เรามีที่พึ่งที่ถูกที่ควร
เหมือเรานับถือพ่อแม่ ปฏิบัติตามที่พ่อแม่แนะนำสั่งสอน ทำให้เรา เอาตัวรอดได้ พระรัตนตรัยเป็นสิ่งมีคุณค่า คำสอนท่านล้วนเป็นคำสอนที่ดีงาม ปฏิบัติตามมีแต่ได้ประโยชน์ การนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จัดเป็นข้อบังคับการนับถือศาสนา  ศาสนาอื่นเขามีพระเจ้า มีเทพของเขา เราชาวพุทธก็มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของเรา
..............  หลักคำสอนพุทธศาสนา  เมื่อนับถือพุทธศาสนา ก็จะต้องปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา เป็นหน้าที่พระภิกษุ ครูอาจารย์ ต้องแจ้งให้ทราบว่าพุทธศาสนาสอนให้ยึดแนวปฏิบัติอย่างไร คนนับถือพุทธศาสนาจะได้ปฏิบัติถูก เนื่องจากคำสอนของพระพุทธเจ้า มีมากมาย ท่านสอนอยู่ 45 ปี  คำสอนแนวทางเดียวก็จริง แต่มีการปรับปรุงให้เหมาะกับคนฟัง  จึงแตกกระจายออกไปมากมายเมื่อบันทึกพระไตรปิฎกจึงมีหลายสิบเล่ม  พระพุทธเจ้าสรุปหลักคำสอนของท่านไว้ 3 ประการ ต่อมาเรียกกันว่าหัวใจของพุทธศาสนา ได้แก่
             1.  สพฺพปาปสฺส อกรณํ  อย่าทำชั่ว 
             2.  กุสลสฺสูปสมฺปทา  สิ่งที่เป็นความดีงาม
             3.  สจิตฺตปริโยทปนํ  หมั่นชำระจิตให้หมดจดจากกิเลส 
              หลักคำสอน 3 ข้อนี้เอง ที่ศิษย์พระพุทธเจ้าทุกประเภท ไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิต ต้องยึดถือเป็นแนวประพฤติปฏิบัติ จำเป็นต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ ถือถือเป็นแนวดำเนินชีวิต
           ไตรสิกขา หลักปฏิบัติที่ ต้องปฏิบัติ เพื่อทำให้การปฏิบัติตามหลักคำสอนเป็นไปอย่างถูกต้อง  กล่าวคือเมื่อปฏิบัติไตรสิกขา จะช่วยให้เราไม่ทำบาป  ได้ทำสิ่งที่เป็นบุญกุศล และช่วยชำระใจให้สะอาดได้ง่ายขึ้น
           ทุกศาสนามีระเบียบปฏิบัติให้ศาสนิกชนปฏิบัติตาม  พุทธศาสนาก็มีหลักปฏิบัติสำหรับศาสนิก
ชนเช่นกัน ท่านกำหนดไว้ 3 ประการคือ ไตรสิกขา สมาชิกทุกคนต้องมีสีลสิกขา  ต้องปฏิบัติจิตสิกขา และหมั่นฝึกปัญญาสิกขา 
            สมาชิกที่เป็นฆราวาสต้องมีศีล 5 ข้อ หรือ 8 ข้อ สามเณร 10 ข้อ พระภิกษุ 227 ข้อ ภิกษุณี 
311 ข้อ ทุกคน ต้องศึกษาและปฏิบัติศีลของตนให้ดีจึงจะเป็นสมาชิกที่ดีน่าเคารพนับถือ  ศีลที่ปฏิบัติ เป็นนิจศีลครับ คือปฏิบัติให้เป็นปกติไม่เลือกวันเวลา
            การศึกษาและปฏิบัติในจิตสิกขา ก็เพื่อให้สมาชิกชาวพุทธมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวง่ายขยันทำกิจกรรมการงานที่เป็นประโยชน์ไม่ท้อถอย บรรพชิตก็ต้องหมั่นฝึกสมาธิวิปัสสนาให้กล้าแข็ง  เมื่อจิตสิกขาเข้มแข็งจะเป็นคนมีจิตใจมั่นคงทำการใด ๆ ก็มักประสบผลสำเร็จ 
          และหลักปัญญาสิกขา คือการศึกษาและปฏิบัติให้เกิดปัญญา   เป็นชาวพุทธสิ่งใดไม่รู้ทำไม่ได้ เพราะโง่อยู่ปัญญายังไม่เกิดต้องหมั่นศึกษาอบรมจนเกิดความรู้ความเข้าใจ ทำได้ปฏิบัติได้ ความโง่หาย ปัญญาก็เกิด ปัญญาสำหรับชาวบ้านใช้ทำมาหากินคือโลกียปัญญาสามารถฝึกอบรมได้จาก เพื่อน จากพ่อแม่พี่น้อง จากแหล่งเรียนรู้มากมาย เป็นปัญญาที่มีประโยชน์มาก ชาวพุทธต้องมั่นฝึกอบรม ส่วน
โลกุตตรปัญญา เหมาะสำหรับชาวพุทธที่มุ่งแสวงหาความหลุดพ้นหรือ โมกขธรรม ส่วนมากจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาสที่มุ่งมั่นอยากได้โลกุตตรปัญญา มีวิธีเดียวคือ แนวทางสมาธิวิปัสสนา เพื่อให้เกิดปัญญา อันเป็นทางแห่ง มรรคผลนิพพาน ต้องแยกปัญญาให้ถูกต้องจะได้ศึกษาและปฏิบัติได้ถูก
            เมื่อทำความเข้าในวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนแล้ว ก็ไม่ยากที่จะนำวิถีชีวิตแบบชาวพุทธมาใช้ เพราะวิถีปฏิบัติดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้กับบุคคลคนเดียว ใช้ได้กับทุกคนในครอบครัว ในหมู่บ้าน 
ในชุมชนและในสังคม จะใช้ในระดับไหนก็ใช้หลักเดียวกัน ในโรงเรียนวิถีพุทธ  เป็นการสร้างการดำรง
ชีวิตในโรงเรียนให้เป็นแบบชาวพุทธ  ต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นหลักสำคัญ ๆ ให้ชัดเจน  เช่น ทุก
คนเชื่อเลือมใสในพระพุทธเจ้าจริงหรือเปล่า เชื่อไหมว่าคำสอนท่านเป็นคำสอนที่ดีจริง ปฏิบัติได้จริง มีประโยชน์จริง การนับถือพระรัตนตรัยเป็น ที่พึ่งจะทำได้ไหม เพราะท่านให้เลิกที่พึ่งอย่างอื่นให้หันมานับถือพระรัตนตรัยแทน  การนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งต้องนับถือแบบที่เรานับถือพ่อแม่ นับถือครูอาจารย์เชื่อที่ท่านสอนและปฏิบัติตาม นับถือแบบนี้ถึงจะได้ที่พึ่งอันประเสริฐ หลักปฏิบัติของสังคมวิถีพุทธก็คือยึดแนวทางไตรสิกขา  ครูและนักเรียนต้องมีศีลเป็นปกติศีล  ครูนักเรียนต้องหมั่นฝึกจิตใจให้มั่นคงขยันขันแข็งไม่เหลาะแหละ  และที่สำคัญหมั่นศึกษาอบรมให้เกิดสติปัญญา ถ้าทำแบบนี้จะเรียกโรงเรียนวิถีพุทธย่อมได้ไม่อายใคร ไม่ต้องขึ้นป้าย ไม่ต้องนุ่งขาวห่มขาวก็ถือว่าสุดยอดของการเป็นสังคมแบบชาวพุทธแล้ว
----------------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 1/8/59


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น