วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พูดถึงกรรม

พูดคุยถึงเรื่องกรรม 

------------------------
 ..............เขาเชิญให้ไปพูดเรื่องกรรม  นับว่าเป็นเวรกรรมจริง ๆ  ไม่มีอะไรจะคุยกันรู้เรื่องยากเท่ากับเรื่องกรรม ลองนึกดูเวลาประสบทุกข์ร้อน ก็มักจะนึกถึงกรรมเก่า  ทำอะไรผิดพลาดก็โทษกรรม  ดังนั้นพอจะต้องคุยเรื่องกรรม ผมก็ต้องนึกถึงเวรกรรมเหมือนกันน่ะซีขอรับ 
.............. กรรมตามแนวทางของพุทธศาสนา เชื่อว่ากรรมคือการกระทำเป็นธรรมชาติ เมื่อมีการกระทำก็ย่อมมีผลแห่งการกระทำ นั้น ดังพุทธภาษิตว่า  ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภ เต ผลํ  กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ แปลว่า หว่านพืชชนิดใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว   นับว่าเรื่อง
กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าศึกษาหาความรู้
...............เรื่องเล่าสืบกันมาในพุทธประวัติว่า เจ้าชายเทวทัต แห่งกรุงเทวทหะ โดยชาติกำเนิดคือพระเชษฐา เจ้าหญิงยโสธรา(พิมพา) เคยเป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ แต่เป็นคนมีน้ำใจแข็งกระด้าง ชอบแสดงอำนาจเหนือคนอื่น แต่ก็มักจะพ่ายแพ้สิทธัตถะบ่อย ๆ เคยใช้ธนูยิงนกหงส์บาดเจ็บบินร่อนไปตกในสวนใกล้บริเวณเจ้าชายสิทธัตถะเดินเล่นอยู่ เจ้าชายนำนกหงส์ไปตรวจดูเห็นว่าพอรักษาให้หายได้ จึงนำไปดูแลใส่ยาให้  เจ้าชายเทวทัตตามมาทวงนกหงส์แต่สิทธัตถะไม่ยอมเพราะรู้ว่าให้ไปก็
เท่ากับส่งให้ไปตายนั่นเอง จนเรื่องถึงอาจารย์เรียกไปไต่สวน   เจ้าชายเทวทัตอ้างว่านกหงส์ต้องเป็นของตนเพราะฝีมือยิงด้วยธนูที่แม่นยำ  ส่วนสิทธัตถะอ้างว่า ตนเองเป็นเจ้าของเพราะไม่ใช่ศัตรูของนกหงส์เมื่อพบหงส์บาดเจ็บก็ได้ช่วยเหลือดูแลพยาบาล ไม่นานก็คงหายบาดเจ็บกลับไปหาครอบครัวของมันได้  คนที่มุ่งทำลายหงส์หมายให้ตายดับไป ไม่น่าจะเป็นเจ้าของนกหงส์  ในที่สุดอาจารย์ก็ตัดสินให้สิทธัตถะชนะ ได้นกหงส์ไปพยาบาล  ต่อมาภายหลังเมื่อสิทธัตถะออกบวชจนกลายเป็นศาสดาเอกแห่งพุทธศาสนา เจ้าชายจากศากยวงศ์เมืองกบิลพัสดุ์ โกลิยวงศ์เมืองเทวทหะจำนวนมาก ต่างออกบวชเป็นและได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า  ซึ่งในจำนวนนั้นมีเจ้าชายเทวทัตรวมอยู่ด้วย เจ้าชายองค์อื่น ๆ บำเพ็ญสมณธรรมบรรลุผลเป็นพระอริยเจ้ากันถ้วนหน้า ส่วนพระเทวทัตบรรลุฌานสมาบัติ  มีความพอใจในอิทธิปฏิหาริย์ที่มีอยู่  ประกอบกับมีศักดิ์เป็นพี่พระชายาเจ้าชายสิทธัตถะ ทำให้เกิดความอยากเป็นใหญ่เหมือนพระพุทธเจ้า  เคยขออนุญาตปกครองคณะสงฆ์ เมื่อไม่ได้รับอนุญาตก็แยกตัวออกไป นำคณะภิกษุที่ยังไม่เข้าใจหลักคำสอนชัดเจน ไปตั้งกลุ่มสอนประชาชนด้วยวิธีการของตน แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบผลสำเร็จ บริวารแตกกระจายไป เสียใจจนเจ็บป่วยก็ไม่มีผู้ดูแลสุดท้ายได้คิดหวังจะกลับมาพบพระพุทธเจ้า แต่มาถึงเพียงประตูวัดก็เสียชีวิตก่อน ได้พบพระพุทธเจ้า  เป็นชีวิตที่น่าสนใจทั้งที่เกิดในชาติตระกูล
ดี กลับสะสมกรรมที่ไม่ค่อยดีจึงประสบผลกรรมที่ไม่ดีด้วย  นี่ก็เป็นตัวอย่าง กรรมและผลแห่งกรรมนั่นเอง
................อีกเรื่องหนึ่งคือ อหิงสกกุมาร บิดาเป็นปุโรหิตพระเจ้าปัทเสนทิโกศล ตอนเกิดมีเหตุประหลาดคือ ศาตราวุธต่าง ๆในบ้านลุกเป็นไฟ  บิดามีความรู้เรื่องโหราศาสตร์ ทราบว่าบุตรเกิดมาด้วยฤกษ์ดาวโจร มีความประสงค์จะทำลายเสีย  พระเจ้าปัทเสนทิโกศลทรงทราบจึงขอไปเลี้ยงไว้ให้ชื่อว่า อหิงสกกุมาร เป็นเด็กฉลาดมาก เมื่อได้ไปศึกษาในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ก็สามารถเรียนจบสิ้นหลักสูตรก่อนใครอื่นจนเพื่อน ๆ อิจฉาพากันไปยุยงอาจารย์หาวิธีทำร้ายด้วยการบอก อหิงสกกุมารว่า ยังมีวิษณุมนต์ที่เขายังไม่ได้ศึกษา ต้องใช้นิ้วมือคน พันนิ้วเป็นเครื่องบูชาถึงจะเรียนได้ เพราะความอยากได้วิชาชั้นสูงจึงออกตระเวนฆ่าคนตัดเอานิ้วจำนวนมาก บิดามารดาทราบข่าวจึงเดินทางมาหวังจะห้ามปราม พระพุทธเจ้าทราบด้วยญาณวิถีว่า อหิงสกกุมารถูกหลอกลวงให้กระทำบาป ถ้าไม่ไปช่วยจะทำกรรมหนักคือฆ่าบิดามารดา ยังผลให้หมดโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลได้  จึงได้เสด็จไปขวางทางไว้ทำให้อหิงสกกุมารได้สติวางดาบขอนับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาภายหลังได้บรรลุอรหันต์เป็นอริยสาวกสำคัญคนหนึ่ง  กรรมดีกรรม
ชั่ว ความตั้งใจหรือเจตนา สำคัญมาก
...........  จากตัวอย่างที่เล่าถึงสองเรื่องนี้จะทราบได้ว่า ชีวิต ชาติกำเนิด ที่ดี มีเกียรติตระกูลสูง ยังไม่เพียงพอ ที่จะชี้ให้เห็นได้ว่าจะทำให้เป็นคนดี มีความสุข  กรรมที่กระทำนั่นเองเป็นแนวทางที่ทำให้คนเรามีสุขทุกข์แตกต่างกัน  กรรม การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือ ทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำดีก็ตาม ชั่วก็ตามเช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเองไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย ไม่ป้องกันทั้งที่ได้ มีคนตกลงไปตายก็ไม่พ้นเป็นบาปกรรม)
...........  กรรมคือการกระทำจำแนกได้หลายวิธี แต่ละวิธีมีจำนวนประเภทแห่งกรรมมากน้อยต่างกัน เช่น
                  กรรม ๒ กรรมจำแนกตามคุณภาพหรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุมี ๒ คือ
                               ๑. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศลกรรมชั่ว คือเกิดจากอกุศลมูล ได้แก่เพราะ
ความโลภ ความโกรธ และความโง่งมงาย พาให้ทำกรรม จึงเรียกอกุศลกรรม
                               ๒. กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล คือ ไม่มีความโลภ
ไม่ได้มีโทสะ ไม่ได้โง่งมงาย ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ จึงเรียก กุศลกรรม
                   กรรม ๓ กรรมจำแนกตามทวารคือช่องทางที่ทำกรรมมี ๓ คือ
                               ๑) กายกรรม การกระทำทางกาย
                               ๒) วจีกรรมการกระทำทางวาจา
                               ๓) มโนกรรม การกระทำทางใจ
         กรรม ๑๒ กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ
                   หมวดที่ ๑ ว่าโดยปรากฎกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ 
                             ๑) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้    
                             ๒) อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า 
                             ๓) อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อ ๆ ไป   
                             ๔) อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล
                    หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่ได้แก่ 
                            ๕) ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิดหรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด 
                            ๖) อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือ เข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม                             ๗) อุปปีฬกกรรมกรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภก กรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาลงหรือสั้นเข้า 
                            ๘) อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือ กรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว
                   หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากฏทานปริยาย คือ จำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่
                           ๙) ครุกกรรม กรรมหนักให้ผลก่อน 
                         ๑๐) พหุลกรรม หรืออาจิณณกรรม กรรม ทำมากหรือกรรมชินให้ผลรองลงมา 
                          ๑๑) อาสันนกรรมกรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มีสองข้อ ก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น 
                         ๑๒) กตัตตากรรม หรือกตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อนหรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล
.............. กรรมมีความสำคัญอย่างไร  จากความหมายของกรรมข้างต้นแสดงให้เห็นว่ากรรมเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนเราตลอดเวลา เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกมาทางกาย วาจา ใจ เกิดขึ้นทุกวัน วิบากคือผลแห่งการกระทำก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ผลบางอย่างก็ปรากฏให้รู้ได้ทันทีทันใด เช่นกินข้าว อาบน้ำ พูดคุยกัน แต่บางอย่างปรากฏผลให้เห็นได้ช้า เช่นทำไร่ ทำนา  บางอย่างใช้เวลานานมากเช่น ศึกษาเล่าเรียน ในพระไตรปิฏกจูฬกัมม วิภังคสูตร พระพุทธเจ้าเคยแนะนำมาณพคนหนึ่งที่มาสนทนาเรื่อง
กรรม ใจ ความว่า
............... ขณะที่ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน พระนครสาวัตถี สุภ มาณพ โตเทยยบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่แล้วกลายเป็นคนที่มีมีความเลว มีความประณีต   มีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา เป็นต้น
.............. พระพุทธเจ้า ได้แสดงธรรมเทศนาให้เข้าใจว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีสภาพแตกต่างกันทั้งที่เป็นทางดีและไม่ดีเหล่านั้นล้วนเกิดจากกรรม ผลแห่งกรรมทำให้คนแตกต่างกัน ซึ่งสรุปได้ว่า กรรมใดที่เป็น...
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้น ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืนย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุยืน
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อยย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนน่าเลื่อมใส
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมากย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลสูง ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญาทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม
......กรรมใดที่เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก
ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต
                เมื่อกรรมมีความสำคัญอย่างนั้น เราควรใช้ประโยชน์จากการศึกษากฎแห่งกรรมอย่างไร  
                1. กรรมคือการกระทำทุกอย่างย่อมมีวิบากคือผลแห่งกรรมตามมา  ดังนั้น การกระทำทางกาย วาจาและใจ ทุกอย่างต้องใคร่ครวญรอบคอบดีแล้วจึงกระทำ เพราะการกระทำทุกอย่างเกี่ยวเนื่องด้วยกาลเวลา ย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้
                2.  กฏแห่งกรรมอธิบายว่า กระทำกรรมอย่างไร ผลก็จะเป็นอย่างนั้น กรรมดีผลก็ดี กรรมชั่วผลก็ชั่ว ดังนั้นการกระทำกรรมใด ๆ ใคร่ครวญแล้วเห็นว่าเป็นกรรมดีพึงสนใจกระทำให้มากไว้ กรรมใดไม่ดีพึงละเว้นไม่กระทำ
                 3.  กรรมดีหรือไม่ดีมีเหตุปัจจัยสำคัญคือ อกุศลมูล ได้แก่ โลภะ โทสะและโมหะ เป็นสาเหตุให้เกิดการกระทำที่ไม่ดี ส่วนกุศลมูลได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นสาเหตุสำคัญให้กระทำดี  ดังนั้นจึงควรระมัดระวังมิให้อกุศลมูลครอบงำหรือมีอิทธิพลต่อจิตใจ และพึงฝึกอบรมจิตใจให้ลดความโลภ มีความเสียสละมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ฝึกจิตใจให้ลดเลิกโทสะมีอารมณ์เยือกเย็นมีเมตตากรุณา  ฝึกจิตใจให้ลดละโมหะความโง่งมงาย มีสติปัญญาฉลาดรู้เท่าทันสภาพที่เป็นจริง
                4.  กรรมหลายอย่างให้ผลในปัจจุบันที่สามารถตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักกรรมดีให้ผลดี กรรมไม่ดีให้ผลไม่ดี เมื่อเราต่างต้องการแนวดำเนินชีวิตที่ดีงาม จึงจำเป็นต้องพยายามหลีกเลี่ยงการกระทำกรรมไม่ดี หรือทุจริตกรรม เพราะเป็นกรรมที่เป็นปฏิปทา ให้ทำให้เราประสบสภาวะที่ไม่น่าพอใจเช่นอายุสั้น ขาดแคลนโภคสมบัติ ไม่น่าเลื่อมใส ขาดยศศักดิ์ ขาดสติปัญญา  ควรสนใจสั่งสมการ
กระทำกรรมดีไว้มาก ๆ เพราะจะชักนำให้เราประสบสภาวะที่ดีงามเช่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนดี กระทำการงานดีคบเพื่อนดีงามเป็นต้น กรรมดีเหล่านี้ จะเป็นปฏิปทาให้เราเป็นผู้มีอายุยืนผิวพรรณผ่องใส สามารถ สั่งสมโภคสมบัติได้ดี มียศศักดิ์บริวาร และมีสติปัญญา
                 5.  กรรมบางอย่างให้ผลในอนาคตที่เราไม่สามารถสืบทราบได้ ได้แก่กรรมประเภทให้ผลในภพ ชาติ ต่อ ๆ ไป กรรมประเภทนี้เหมือนการจองบัตรโดยสาร ถ้าเราสะสมอกุศลกรรมไว้มาก ๆ ภพหรือชาติต่อไปก็ต้องเป็นภพหรือชาติสำหรับ ผู้มีบัตรโดยสารอกุศล เช่น อบายภูมิคือ นรก เปรต อสุรกายและดิรัจฉาน ตรงข้ามถ้ากระทำกุศลกรรมมาก ๆ ก็เหมือนมีบัตรโดยสารสำหรับภพชาติที่เป็น กุศลคือ สุคติ ได้แก่ มนุษย์ สวรรค์ พรหมและนิพพาน จึงไม่ควรประมาท
                 โดยสรุปแล้ว หลักกรรม หรือ กฎแห่งกรรม เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกชาติทุกศาสนา เป็นหลักธรรมชาติ  การกระทำย่อมมีผลแห่งการกระทำกำกับเสมอ  ผลแห่งกรรมบางอย่างให้ผลเพียงเล็กน้อยแล้วหมดพลังไป เหมือนกับการบริโภคอาหาร ผลแห่งกรรมบางอย่างมีพลังมากให้ผลยาวนานหลายสิบปีหรือจนตลอดชีวิต เช่นการศึกษาเล่าเรียน  หรือการประกอบอาชีพทุจริตเป็นต้น ผู้ฉลาดควรสนใจศึกษาหลักแห่งกรรม ให้เข้าใจ หลีกเลี่ยงหรือละเว้นกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์หรือกรรมที่ให้โทษ เลือกกระทำกรรมที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเอง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังคำสอนที่อ้างไว้เบื้องต้น     
ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภ เต ผลํกลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ แปลว่า หว่านพืชชนิดใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว 
--------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 2/8/59



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น