วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทอดผ้าป่า

ทอดผ้าป่า
--------------------------
เห็นชาวบ้านทำบุญผ้าป่ากันทั้งปี
                   ทำไมเขาทำกันบ่อยและนิยมทำกันมากมายจริง ๆ อยากทราบว่าที่ถูกที่ควรทำอย่างไร ?
เป็นคำถามกันเล่น ๆ ในวงรับประทานอาหารเที่ยงหลังสอนนักเรียนมาครึ่งวัน ต่างคนก็ได้รับซองผ้าป่ากันคนละหลายซอง เลยมีคำถามในใจว่าอะไรกันนักกันหนา แจกได้แจกดี ในฐานะที่เป็นอดีตเจ้าอาวาส เลยต้องรับหน้าที่ทำความกระจ่างให้เพื่อนครูทราบว่า ใจเย็น ๆโยมจะเล่าเรื่องการทอดผ้าป่าให้ฟังพร้อมกับทานส้มตำไปด้วย ดังต่อไปนี้
                    ผ้าป่า คืออะไรคงไม่ต้องอธิบายยาก เพราะคนทุกวันนี้เจอผ้าป่ากันคนละหลาย ๆ ครั้ง ถ้ายังไม่รู้จักก็บอกมา จะส่งซองฏีกาไปให้ ทุกคนรู้ว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งของ ชาวพุทธ แต่ถ้าถามว่าทำไมต้องทอดผ้าป่า ไม่ทำได้ไหม แบบนี้คงต้องหยุดคิดกันก่อนจึงจะตอบได้  ผ้าป่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยการดำรงชีวิตประจำวันของพระภิกษุ คือเครื่องนุ่งห่ม สมัยก่อนผ้าหายาก ไม่มีโรงงานทอผ้า ไม่มีตลาดซื้อขายผ้า ชาวบ้านก็ยากจน ผ้าเป็นของมีราคาแพง พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ภิกษุประหยัด ใช้ผ้าเพียง 3 ผืน คือไตรจีวรและให้ผัดเปลี่ยนผ้าได้ปีละครั้ง ซึ่งภิกษุจะเที่ยวหาผ้ามาทำไจรจีวรกันในช่วง1 เดือนนับแต่ออกพรรษาถ้าวัดไหนโชคดีมีคนถวายกฐินพระวินัยก็อนุโลมให้ขยายเวลาหาผ้าออกไปได้อีก 3 เดือน เพราะผ้าหายากและเวลาที่จำกัด ทำให้การแสวงหาผ้าเป็นเรื่องลำบาก แหล่งผ้าที่พระภิกษุไปแสวงหาคือกองขยะ ป่าช้า ละแวกหมู่บ้านต่าง ๆ ถ้าพบผ้าที่เขาทิ้ง แล้วแต่พอใช้ประโยชน์ได้(ผ้าบังสุกุล) ก็จะเก็บมาทำความสะอาดแล้วตัดเย็บเป็นไตรจีวร  ต่อมาพระภิกษุมากขึ้น หาผ้ายากยิ่งขึ้น ชาวบ้านเข้าใจจึงคิดหา
วิธีช่วยให้ภิกษุหาผ้าได้สะดวกขึ้น นำผ้า ไปทอดวางไว้ตามแหล่งที่พระจะไปแสวงหาผ้า ทำเครื่องหมายหรือสัญญลักษณ์อะไรก็ได้ให้พระรู้ว่า เป็นผ้าที่ชาวบ้านเขาสละแล้ว พระภิกษุสามารถนำไปใช้ได้ซึ่งต่อมาก็คือการทอดผ้าป่านั่นเอง
                 การทำบุญทอดผ้าป่าทำได้ง่ายไม่มีอะไรยุ่งยาก เพราะจุดเน้นอยู่ตรงผ้าที่จะถวายพระภิกษุให้ท่านได้นำไปใช้ทำไตรจีวร นั่นเองส่วนสิ่งของเครื่องใช้อย่างอื่นที่นำมาประดับตกแต่งจนยิ่งใหญ่พอ ๆ กับจะขึ้นบ้านใหม่นั่นเป็นเพียงบริวาร มิใช่สาระของผ้าป่า  ดังนั้นผู้จะทำบุญผ้าป่าจึงทำได้ง่าย ขอเพียงมีผ้าจะทำบุญ ก็ทอดผ้าป่าได้แล้ว แต่ในสภาพปัจจุบัน การทำบุญพัฒนาไปมาก คงต้องมีการเตรียมกันบ้างตามสมควร ซึ่งจะขอแนะนำ ดังต่อไปนี้
                   1. ผ้าถวายพระ ควรเป็นผ้าที่มั่นใจว่าถวายแล้วพระได้ใช้ประโยชน์จริง ถ้าไม่พิถีพิถันสักแต่ว่าเป็นผ้าเหลืองก็นำมาทำเป็นผ้าป่า จะพบว่าพระท่านไม่กล้าใช้ ผ้าที่เราทำบุญก็เลยไม่เกิดประโยชน์ ไม่ต้องอธิบายว่าได้บุญมากหรือได้บุญน้อย
                   2. บริวารผ้าป่า จัดพอควรแก่สมณวิสัย ควรเป็นสิ่งของที่พระท่านใช้ประโยชน์ได้
                   3. การตั้งกองผ้าป่า จุดประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นทราบว่ามีการทำบุญผ้าป่าและเชิญชวนร่วมทำบุญ ชาวบ้านทั่วไปมักจะทำเป็นเรื่องใหญ่โต ลงทุนทำบาปขนาดล้มวัวล้มควายเลี้ยงกัน สุรายาเมาเพียบ ถ้าลองนำค่าใช้จ่ายทำบาปกับค่าใช้จ่ายทำบุญเทียบกันดู คงจะได้คำตอบไม่ยากว่าทำแล้วได้กำไรหรือขาดทุน ท่านเจ้าภาพทำบุญผ้าป่าควรระมัดระวังอย่าให้ขาดทุน
                    4. ระเบียบพิธีการทอดผ้าป่า เหมือนการทำบุญประเพณีชาวพุทธทั่ว ๆไป คือจะมีการเจริญพระปริตตมงคล มีการเลี้ยงพระเช้าหรือเพล ทอดถวายผ้าป่า ฟังพระธรรมเทศนา รับพร เป็นอันจบหลักการทำบุญ เพื่อให้เข้าใจดีขึ้น จะขยายความเพิ่มเติมต่อไป
การเจริญพระปริตตมงคล 
                คือการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ท่านมาเจริญพระปริตมงคลซึ่งมีตำนานเล่าว่าสมัยหนึ่งพระพุทธ เจ้าและสาวกเคยไปเจริญพระพุทธมนต์บ้านเศรษฐีซึ่งมีบุตรชายชตาถึงฆาต  พระยายม ราชเดินทางมารับวิญญาณบุตรเศรษฐีแต่เข้าไปใกล้ไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าและ สาวกกำลัง เจริญพระปริตตมงคลอยู่และมีบรรดาเทพที่มีศักด์สูงกว่าพระยายมราชกำลังนั่งฟังปริตตมงคล อยู่ต้องรอจนกระทั่งหมดเวลาทำให้บุตรเศรษฐี ผ่านพ้นวิกฤตชตาถึงฆาตไปได้ ชาวบ้านเชื่ออย่างนี้ เลยเกิดประเพณีนิมนต์พระมาเจริญ
ปริตมงคล ชาวบ้านเรานิยมนิมนต์พระ จำนวนคี่  ส่วนจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับเจ้าภาพและความเหมาะของสถานที่ด้วย
                  ลำดับขั้นตอนการเจริญพระปริตมงคลเราจะเชิญประธานหรือผู้อาวุโสจุดูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วนำสวดมนต์ไหว้พระอาราธนาศีล และรับศีล จบแล้วอาราธนาพระปริตจากนั้นพระก็จะเริ่มเจริญพระปริต เมื่อท่านเริ่มสวดบทมงคลสูตร(อเสวนา จ พาลานัง ปัณฑิตนัญจ เสวนา....) จุดเทียนไชยถวายพระท่านทำน้ำมนต์ให้ จบฟังปริตมงคล ถ้าเป็นการทำ พิธีตอนเย็น อาจมีการถวายจตุปัจจัยที่เตรียมไว้ ถ้าไม่ได้ เตรียมไว้ก็ไม่ต้อง บางเจ้าภาพอยากฟังเทศน์ก็ถือโอกาสนี้ฟังเทศน์ด้วย เทศน์จบถวายกัณฑ์เทศน์และรับพรเป็นเสร็จพิธี
               ตอนเช้าวันทอดผ้าป่านิยมนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน พิธีการจะรวบรัดกว่าตอนเย็น มีการสวดมนต์ไหว้พระรับศีล จากนั้นพระท่าน จะสวดไชยมงคลคาถา(บทพาหุง)เมื่อท่านเริ่มสวดบทว่า พาหุงสหัสภินิมมิตตสาวุธันตัง...ญาติโยม ก็เริ่มตักบาตรกัน เมื่อพระสวดจบ การ ตักบาตรเสร็จพอดี  ก็ทำพิธีถวายสังฆทาน รอพระฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อย ปกติจะให้พร แต่ถ้าจะทำพิธีทอดผ้าป่าพระจะแนะนำ ให้ ทำพิธีก่อนแล้วจะรวบรัดให้พรในคราวเดียวไปเลย
          การนิมนต์พระเจริญปริตตมงคลและฉันภัตตาหารเช้า บางเจ้าภาพไม่จัดตอนเย็น รวบรัดการเจริญปริตตมงคลและฉันเช้าพร้อมกัน ก็สามารถทำได้ พระท่านมีระเบียบสวดฉันเช้าของท่านอยู่โดยท่านจะรวบพระสูตรสำคัญ ๆ มาสวด ก่อนแล้วต่อท้ายด้วยบทไชยมงคล คาถา เพื่อให้โอกาสตักบาตร ต่อจากนั้นก็ถวายสังฆทานและทอดผ้าป่าติดต่อกันไป
การทอดผ้าป่า
             การถวายจตุปัจจัยไทยทานแก่พระภิกษุ โดยทั่วไปท่านใช้คำว่า ถวาย เช่นถวายภัตตาหาร ถวายระฆัง ถวายผลไม้ ถวายดอกไม้ถวายธูป เทียน เป็นต้น มีการทำบุญไม่กี่อย่างที่ไม่ใช้คำว่า ถวาย คือบุญกฐิน และบุญผ้าป่า ท่านใช้คำว่าทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ท่านผู้รู้ ระเบียบ ประเพณีทำบุญ อธิบายว่าการทอดมีลักษณะเป็นกริยา อาการวางไว้ หรือละไว้ ไม่ใช่การหยิบยื่นให้ การทอดกฐิน เมื่อเรากล่าวคำถวายกฐินเสร็จก็จะวางผ้ากฐินไว้ ไม่ได้ถวายพระรูปใดรูปหนึ่ง การทอดผ้าป่า เป็นการนำผ้าไปทอด วางไว้ให้พระภิกษุท่าน ชักบังสกุลไป ดูตัวอย่างชักผ้าหน้าศพนั่นแหละพระชักผ้าบังสุกุล ผ้าป่าแบบดั้งเดิมถวายแบบนั้น  ท่านจึงใช้คำว่าทอดกฐิน  ทอดผ้าป่า

คำบาลี ที่ใช้ในการทำบุญและทอดผ้าป่า
              1.  บทสวดมนต์ไหว้พระ
อิมินา สักกาเรนะ ตัง พุทธัง อภิปูชะยามะ   อิมินา สักกาเรนะ  ตัง ธัมมัง อภิปูชะยามะ   อิมินา สักกาเรนะ ตัง สังฆังอภิปูชะยามะ
               อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา พุทธัง ภควันตัง อภิวาเทมิ
               สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธัมมัง นมัสสามิ
               สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ สังฆัง นมามิ
              2.  คำอาราธนา ศีล 5
               มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขนัตถาย  ติสรเณน สห ปัญจสีลานิ ยาจามิ
              ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขนัตถาย ติสรเณน สห ปัญจสีลานิ ยาจามิ
                ตติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขนัตถาย  ติสรเณน สห ปัญจสีลานิ ยาจามิ
                3.  อาราธนาพระปริตมงคล
                 วิปัตติ ปฏิพาหายะ สัพพสัมปัตติสิทธิยา สัพพทุกขวินาสายะ ปริตตัง พรูถมังคะลัง
                 วิปัตติ ปฏิพาหายะ สัพพสัมปัตติ สิทธิยา สัพพภยวินาสายะ ปริตตัง พรูถมังคะลัง
                 วิปัตติ ปฏิพาหายะ สัพพสัมปัตติสิทธิยา สัพพโรควินาสายะ ปริตตัง พรูถมังคะลัง
                 4. คำถวายภัตตาหาร
                  อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปริวารานิ สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโนภันเต สังโฆ อิมานิ ภัตตานิสปริวารานิ  ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆรัตตัง หิตายะ สุขายะ
                  ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ
                  5. อาราธนาเทศน์
                  พรหมมา จ โลกาธิปติสหัมปติ กัตอัญชลี อันธิวรัง อยาจถะ สันตีธสันตาปรชักขชาติกา เทเสตุ ธัมมัง อนุกัมปิมัง ปะชัง
                  6.  ถวายผ้าป่า
                  อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกุลจีวรานิ สะปริวารานิ สังฆัสสะ โอโณชะยามะ   สาธุโนภันเต สังโฆ  อิมานิ ปังสุกุลจีวรานิ สปริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆรัตตัง หิตายะ สุขายะ  ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ
ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ
--------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 2/8/59





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น