วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การบ้านการเรือนลูกสาว

การบ้านการเรือน (ผู้หญิง)
----------------
.............โดนต่อว่า เอาดีแต่ผู้ชาย แล้วผู้หญิงล่ะ เตรียมตัวเป็นแม่บ้านแม่เรือนอย่างไรบ้างให้ผู้หญิงพูดเองน่าจะดีกว่า แต่ก็โดนอีกว่าตาแหละเขียน เอาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ จนเขาแต่งเรือนเลย หนูจะอ่านให้ เฮ้อ อยากเป็นนายตาอีกคนและ ก็เลยต้องมีภาคผู้หญิงฉบับนี้แหละ
.............ลูกผู้หญิงพ่อแม่เป็นหวงและหวงมากกว่าลูกชายเป็นที่เข้าใจกัน คุณแม่จะกำกับดูแลฝึกอบรมจนแทบจะกลายเป็นถอดแบบมาจากคุณแม่เลยทีเดียว จนทีคำกล่าว "จะดูนางดูแม่เหมือนแลเห็น"นั่นแหละขอรับ คุณแม่ฝึกสอนอะไรบ้าง 
............สอนการนุ่งห่ม โดยเฉพาะนุ่งซิ่นหรือผ้าถุงนั่นแหละ ตีนซิ่นซ่นต้องเสมอกัน เหน็บพกต้องพับเรียบร้อย ไม่คาดเข็มขัดก็ไม่หลุด เขาทำได้ตามแม่สอนจริง ๆ ถ้าเด็กรุ่นใหม่นุ่งผ้าซินคงได้ฮากันทั้งวันแหละ มันหลุดง่าย จากนั้นก็จะเป็นการทอผ้า การทำอาหารและงานฝีมืออื่น ๆ
...........ผ้าฝ้ายผ้าไหม สอนกันแต่เริ่มปลูกต้นฝ้าย ต้นหม่อน ที่สวนที่ไร่ จะปลูกฝ้ายเอาไว้ทำผ้าฝ้าย ส่วนต้นหม่อนก็ปลูกไว้เลี้ยงไหม เวลาปลูกก็ช่วยกันทั้งบ้าน แต่คนไปดูแลบ่อยคือคุณแม่กับลูกสาว หาบปุ๋ยไปใส่ เจอวัชชพืชก็จัดการ จนผลิดอกแก่ได้ที่ก็ไปเก็บดอกฝ้ายมาตากให้แห้งสนิทแล้วเก็บในกระทอ (ตะกร้าหรือชะลอมใส่ของ โตเท่ากระสอบ สานด้วยตอกไม้ไผ่ตาห่าง ๆเรียกกระทอ)เก็บไว้ไปทำเส้นฝ้ายทอผ้าต่อไป ปีไหนได้ฝ้ายน้อย ก็จะไปหาแลกเปลี่ยนจากหมู่บ้านอื่น บ้านเรามีปลามาก แม่ทำปลาย่าง ปลาแดดเดียวปลาร้าได้มากพอก็ไปเยี่ยมญาติบ้านแถวดงแม่เผด ชื่อบ้านต้นคอนเลียบ  พ่อเอาเกวียนพาไป ก็เหมือนปิคอัพสมัยนี้แหละ ผมอยู่ ป. 1 ยังไม่หย่านม แม่ให้ไปด้วย เพราะไม่มีนมผง เลย
ได้รู้ว่า"ไปคั่วบ้านแลกของฝาก" จำเป็นสำหรับ พ.ศ. 2494 เงินทองไม่ค่อยใช้กัน เอาปลาไปแลกฝ้าย พริกแห้ง พวกบ้านดงอยากกินปลาก็เอามาแลกกัน
............บ้านต้อน มีญาติ พี่ชายแม่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น ได้รับการต้อนรับดีมาก ๆ เห็นพากันไป"คั่วบ้าน" เอาปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาร้า ไปตระเวณตามบ้าน เช้าเดียวเกลี้ยงได้ฝ้าย ได้พริกแห้ง แตงไทย เกือบเต็มเกวียน ขากลับ พี่สาวสองคน ต้องลงเดินเท้า ไม่มีที่นั่ง ถนนก็ทางเกวียนไงครับ ผ่านทุ่งนา ผ่านป่าทึบ พ่อเล่าว่าเขามายิงเก้งกวางแถบนี้ มีเสือด้วยนะก็ฟังเฉย ๆ ไม่รู้จัก เลยไม่กลัว ไปแลกของฝากได้ฝ้ายและพริกแห้งสมประสงค์ครับ
............เสร็จหน้านา แม่จะสอนลูกสาวเตรียมดอกฝ้ายสำหรับลงเข็นฝ้าย พ่อทำหลาหรือไนปั่นฝ้ายให้ลูกสาวหัดปั่นเส้นฝ้าย บ้านเรามี 4 สาว คนโตเป็นก็ช่วยสอนน้อง พ่อลงทุนทำยกร้านสูงสัก ศอก นั่งปั่นฝัายได้หกคน ลูกสาวบ้านใกล้กัน 3 คน พี่สาวผมออกเรือนไปแล้ว1 เหลือ 3 ข่วงบ้านเราจึงมีหกสาวลงเข็นฝ้าย แสงสว่างจากกองไฟ ฟืนก็ใช้ หลัวไม้ไผ่ ท่าทางคงสนุก เพราะมีหนุ่ม ๆ มาเยี่ยมแต่หัวค่ำจนดึกทุกวัน เมื่อได้ฝ้ายมากพอก็จะได้เรียนรู้การฆ่าฝ้าย การค้นหูก การสืบหูก การปั่นหลอด การมัดหมี่ การทอหูก กว่าจะได้ผ้าสักผืนยากเย็นจริง ๆ คนสมัยก่อนจึงใช้กันคุ้มค่า
...........ทุกบ้านจะเลี้ยงไหมไว้ทำผ้าไหม แม่จะพาลูกสาวไปสวนเก็บใบหม่อน สอนการให้อาหารตัวไหม นอน 1 นอน 2 ไปจนโตสุกผิวเหลือง ๆสอนให้เก็บตัวแก่สีสุก ไปวางบนไส้จ่อเพื่อให้ตัวไหมชักใยจนเป็นฝักหลอกหรือรังไหมนั่นแหละ เก็บรังไหมใส่กระด้งเอาไปให้แม่สาวเส้นไหมกัน ลูกสาวเตรียมหม้อสาวหลอก หาผืน หาเตา ต้มน้ำ เอาหมากพวงสาวมาติดขอบปากหม้อ นั่งดูแม่สาวหลอก  แม่เหนื่อยก็แอบลองบ้าง เส่นไหมลูกสาวพิลึกดีกว่าจะสาวเส้นไหมสวย ๆ ได้ ก็นานเหมือนกัน  เส้นไหมที่ได้เอาไปใช้ทอผ้า เหมือนผ้าฝ้ายนั่นแหละ แต่กรรมวิธียุ่งยากกว่า  มีการใช้น้ำด่างฆ่าก่อนย้อมสี ใช่สีธรรมชาติแก่น
ต้อนเข สีแดงจากครั่ง มีการทำลวดลายด้วยการมัดหมี่ ก็มีการค่นหูกเอาเครือหูกไปทำเส้นตั้ง ใช้หลอดสอดสานทอเป็นผืนเรียก ทอหูก ต่ำหูก ลูกสาวบ้านไหนทอผ้าไหมได้สวยถือว่าแม่เก่งสอนดี ราคาแพง(สินสอด)
...........น้ำกินน้ำใช้ สมัยโน้นไม่รู้จักประปา น้ำที่ใช้คือน้ำจากห้วย หนอง บ่อน้ำ พ่อจะสานครุตักน้ำให้ ครุเขาสานด้วยไม้ไผ่ เอาชันมาบดละเอียดผสมน้ำมันยาง ทานอกใน แห้งแล้วน้ำไม่รั่วซึม วิทยาการจากพระร่วงเจ้าไงครับ แล้วก็ทำไม้คานสำหรับหาบครุ ขนาดใหญ่ก็ของแม่และพี่สาว ขนาดเล็กก็สำหรับเด็กหญิง หาบน้ำมาไกลเหมือนกันกว่าจะถึงบ้าน มีตุ่มหม้อดินขนาดใหญ่เก็บน้ำไว้บริโภค หาบมีเทคนิคการหาบที่ต้องฝึกกัน ไม่เช่นนั้นตักน้ำเต็มครุ มาถึงบ้านเหลือไม่ถึงครึ่ง ลูกสาวต้องทำได้
..........ตำข้าว การแปรข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเรียกตำข้าว โรงสีไม่มี ใช้ครกมอง พ่อจะขุดครกมองจากไม้เต็งรังมะค่า ไปเห็นมันล้มอยู่กลางป่าก็ตัดแล้วขุดทำครก ไม้รังต้นเล็ก ๆ ถากทำแม่ครกสำหรับเสียบสากตำข้าว มีสากสามขนาด ตำ ต่าวและซ้อม แม่เป็นคนกำกับลูก ๆ ออกแรงเหยียบหางแม่มอง ปล่อยสากก็กระทำครกที่ใส่ข้าวเปลือกไว้ จากตีห้าจนเกือบหนึ่งโมง ถึงเสร็จ ได้ข้าวสารไปไว้นึ่งกิน ลูกสาวต้องเรียนอะไรบ้างจากการตำข้าวฝัดข้าวด้วยกระด้งฝัด ตำแล้วก็ฝัดครั้งที่ 1 ใส่ครกตำต่อแหลกแล้วก็ฝัดครั้งที่ 2 ใส่ครกตำต่อ ยกที่สาม ข้าวเปลือกแตกเกือบหมดแล้ว ร่อนเอารำออกค่อยฝัดแยกเศษข้าวเปลือกออกจากข้าวสาร ต้องหัดเป็นทุกคน
.........งานครัวลูกสาวต้องเรียนรู้จากแม่หลายอย่างโดยเฉพาะ การนึ่งข้าวเหนียว การจัดเตรียมอุปกรณ์ทำครัว เมนูอาหารตามสภาพ เดินออกจากบ้านอย่ากลับมามือเปล่า มีผักมีกบเขียดให้จับเอา น้ำพริกต้องทำเป็นหลาย ๆ อย่าง น้ำพริกล้วนใช้พริกอ่อน น้ำพริกผักพริกกับผักคะย่า ผักชีหอม น้ำพริกปลา กบเขียด น้ำพริกเนื้อ  หมู ไก่ เมนูแกง แกงผักขมแกงขี้เหล็กแกงผักหวาน แกงส้ม แกงอ่อม เมนูหมักดอง ดองผักเสี้ยน ดองผักกาด ดองผักหอมกระเทียม ดองผักอื่น ๆ ทำส้มปลาน้อย ส้มไข่ปลา ส้มปลาขาว ส้มหมู ส้มเนื้อ ฯลฯ เมนูของหวาน ข้าวเขียบ ข้าวต้มมัด ข้าวต้มผัด บวชกล้วย บวชหมากอื๋อ ฯลฯ ลูกสาวต้องฝึกเพราะมีโอกาสได้ทำทุกอย่างที่กล่าวถึง
.........งานเย็บปักถักร้อยอันนี้ก้สำคัญ ดีที่สมัยนั้นยังไม่มีแฟชั่นมากมายเหมือนสมัยนี้ ลูกสาวจึงมีงานตัดเย็บไม่มาก ผู้ชายก็ใช้ผ้าโสร่ง ผ้าขะม้า กางเกงหัวรูด ผ้ายาว  เสื้อคอบ่วง แบบม่อฮ่อมทางเหนือ ผู้หญิงก็ผ้าซิ่น เสือสายเดี่ยว(เสื้อหมากกะแหล่ง) เสื้อคอบ่วงแขนสามส่วนนิยมย้อมผ้าฝ้ายด้วยสีดำ สีคราม ก็ต้องฝึกการทำสีย้อมครามไว้ย้อมผ้า จากการปลูกต้นคราม ตัดต้นครามมาแช่ให้เปื่อย กรองเอาเนื้อคราม
ไปทำสี  ฝึกการจุบหม้อนิล ส่วน
ผ้าไหมก็มีโสร่งไหม ซิ่นมัดหมี่ไหม เสื้อไหมนิยมใช้สีจากไหม ธรรมชาติ
.........ยาวมากแล้ว งานผู้หญิงเยอะจริง ๆ บ้านไหนฝึกลูกสาวได้ดีก็สบายใจ มีแต่คนอยากได้ไปเป็นสะใภ้ นอกจากจะดูงานบ้านงานเรือนแล้วยังมีงานทำสวนทำนาทำไร่ ที่ต้องฝึกเหมือนฝ่ายลูกชาย คือต้องช่วยกันทำงาน คนสมัยก่อนอยู่กันได้ด้วยความรักใคร่สามัคคีกัน ช่วยกันทำมาหากิน ทุกคนรู้จักภาระหน้าที่ มีความรับผิดชอบดี ขอจบแค่นี้ ขอโทษหากลืมไม่ได้กล่าวถึงกิจของงานผู้หญิงในบางเรื่อง เพราะหลงลืมครับ
ขุนทอง ตรวจทาน 1/8/59





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น