วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พูดถึงคำว่า ธุดงค์

                                                  ธุดงควัตร
..............ห้องพักครูที่กระผมอยู่ มีพระไตรปิฎก มีตู้เอกสารการสอนวิชาพระพุทธศาสนา แถมมีพระ
ไตรปิฎกออนไลน์ในคอมพิวเตอร์ด้วย  ครูอาจารย์มักมาพบปะสนทนากันอยู่บ่อย ๆ แล้วก็มักจะ
มีคำถาม เกี่ยวกับเรื่องของพระ ธัมมะธัมโม ให้กระผมตอบเรื่อย เลยหยิบมาเขียนถึงได้มากมาย
...............ปุจฉา ...ทำไมพระต้องเอาข้าวปลาอาหารใส่ในบาตร  ทั้งข้าว อาหาร คลุกในบาตร ฉันได้อย่างไรผิดหลักโภชนาการ ?            
............... คุณครูคหกรรมไปวัดเห็นหลวงพ่อหลวงพี่ที่ท่านถือธุดงก์ "ฉันในบาตรเท่านั้น" เกิดวิตกกังวลว่าที่ท่านฉันคงผิดหลักโภชนาการ ขอบคุณครับ ที่ห่วงพระห่วงเจ้า เรื่องนี้ มันมีสาเหตุครับ  พระท่านมีวิธีฝึกอบรมจิตของท่านให้มีความอดทน มุ่งมั่น ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ท่านเรียกว่า ธุดงก์ครับ  บางรูป ท่าน
อธิษฐานธุดงก์เอาไว้ว่า ตลอดชีวิตจะใช้ผ้าสามผืนคือ ไตรจีวร เท่านั้น  เจอพระที่ถือธุดงก์ข้อนี้  เรานำผ้าเช็ดหน้าไปถวาย ท่านก็ไม่รับ เพราะจะ เป็นผ้าผืนที่ 4  บางรูปท่านอธิษฐานว่าจะอยู่ป่าตลอดชีวิต  แบบนี้นิมนต์ท่านมาจำวัดคืนเดียวท่านก็ไม่ ตกลง บางรูปอธิษฐานว่า  จะฉัน ภัตตาหาร ใน อาสนะเดียว คือนั่งลงฉันครั้งเดียว ลุกแล้วไม่ฉันจนกว่าจะถึงวันใหม่  ถ้าเจอพระแบบนี้ท่านกำลังฉันถวายไปเถอะรับไว้หมด แต่ถ้าท่านลุกแล้ว จะนำ ภัตตาหารไปถวายอีกต้องรอวันใหม่ ส่วนที่ถามนั่นคือพระที่ท่านอธิษฐานธุดงก์ว่า จะฉันเฉพาะสิ่งที่รับบิณฑบาตได้เท่านั้น  ดังนั้นเราจึงเห็นพระท่าน ฉันในบาตร  ผิดหลัก
โภชนาการหรือไม่ ตรงนี้ไม่ต้องห่วงครับ พระท่านจะฉันอะไรท่านต้องพิจารณาก่อนว่า สะอาด ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ฉันเข้าไปเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ จะได้มีกำลังวังชาปฏิบัติธรรม มิใช่ฉันเพื่อความอิ่มอร่อย  บาตรของท่านสะอาดครับ
              พวกเราซะอีกน่าห่วง นี่เหล้ามันแอลกอฮอล์นะ ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายเลย เอ้ากรึ๊บ  นี่ลาบก้อยสุก ๆ ดิบ ๆ กินเข้าไปได้ของแถมคือพยาธิ แต่ว่ามันอร่อย เอ๊าลุย เห็นไหมพวกน่าเป็นห่วงมากก็คือพวกเรานี่แหละ อย่าห่วงพระเลย 
..............ปุจฉา พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของชาวพุทธ คืออะไรครับ แล้วถ้าทำบุญกับพระทุศีล จะได้
บุญหรือ
?
...............ผู้ถามเป็นคุณครูที่ค่อนข้างจะแก่วัดสักหน่อย  อ่านข่าวพระขาดความอบอุ่นต้องพึ่งสีกาสาว ๆ แล้วทนไม่ได้ เลยนำคำถามนี้มาให้ตอบ ขอบคุณ ครับที่ไว้ใจ ชาวบ้านอย่างพวกเราเชื่ออย่างนั้นครับ เชื่อว่าทำบุญกับพระเท่านั้นถึงจะได้บุญ เหมือนทำนาก็ต้องไปปลูกข้าวกันที่นาถึงจะได้ผล ขืนไปทำนา บน ยอดเขาก็คงยุ่งสักหน่อยใช่ไหมครับ  
           การทำบุญตามหลักพุทธศาสนามันมีหลายวิธีครับที่ท่านเรียก บุญกริยาวัตถุ 3  บุญกริยาวัตถุ 10 ประการนั่นแหละทำบุญบางอย่างปรารถผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทำบุญด้วยการให้ทาน  ถ้าไม่มีคนรับทานก็เสร็จกัน ทำไม่ได้ ส่วนวิธีอื่น ๆ ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น มากเหมือนทาน  เช่นรักษาศีล  ภาวนา  ทำเองได้ครับ  ทีนี้มาเรื่องที่ถามที่บอกพระเป็นนาบุญก็เพราะ เป็นผู้รับ ไทยทานของเรานั่นเอง  ถ้าผู้รับไทยทาน เป็นคนดีมีศีลธรรม เราผู้ให้ทานก็สบายใจ การทำบุญก็สมบูรณ์ คือก่อนทานก็มีเจตนาที่ดีอยู่แล้ว ขณะทำก็ยินดี เพราะ ผู้รับ มีศีลมีธรรม ให้ทานเสร็จ ก็ ไม่ต้องมานั่งวิตกกังวนเสียดายสิ่งของ กลัวว่าคนรับจะผ่องถ่ายไปให้สีกา  เรียกว่าบุญที่ทำอุดม สมบูรณ์เหมือน ทำนา ในนาที่ดินดีนั่นเอง  ในทางตรงข้ามถ้าเกิดไปเจอปฏิคาหกคือผู้รับประเภททุศีล ผู้ถวายทานก็ไม่สบายใจทั้งก่อนทำ ขณะทำและหลังทำบุญเสร็จ เหมือน ทำนาบนที่นาดอนขาดน้ำ โอกาสที่บุญ จะอุดมสมบูรณ์ก็ยาก  ก็เห็นใจครับ
..........ในยุคปัจจุบันที่บ้านเมืองเจริญไวแต่จิตใจเจริญไม่ทัน โอกาสที่เราจะต้องทำบุญกับคนทุศีลมีมากครับ  เพราะเราไม่มีเวลาจะไปตรวจสอบว่า วัดไหนถือศีลบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เราคงต้องพึ่งตัวเองให้มาก ๆ ครับ ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจว่าทำทานนั้นมีจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม คือสามารถลด ความ เห็นแก่ตัวหรือความโลภได้  ส่วนใครจะเป็นคนรับทานอย่าไปสนใจ คนยากคนจน ถ้าเราพอใจจะบริจาคทาน ทำไปเถอะครับ ให้ทาน 10 บาทแก่ คนไม่มีจะกิน มันหมายถึงเขามีอาหารเลี้ยงครอบครัว 1 มื้อ แต่ถ้านำ 10 บาท ไปใส่ซองกฐิน เพื่อนำไปรวมกันให้ได้ 1 แสน ตามเป้าของมัคทายก คุณค่าเงิน 10 บาท มันคนละเรื่องเลยใช่ไหมครับ ก็คงแนะนำได้แค่นี้ ขอให้ตั้งใจทำบุญต่อ ๆ ไปเถอะครับ โดยเฉพาะทำทาน ยิ่งทำมากความเห็นแก่ตัว ความโลภของเราก็จะเบาบางลง เป็นจุดประสงค์สำคัญของการทำบุญครับ 
.............ปุจฉา...เห็นพระออกข่าวทางทีวี และมีการธุดงก์ผ่านตลาดในเมือง รู้สึกแปลก ๆ ธุดงก์คืออะไรคะอาจารย์
.............ก็เพื่อนกันนั่งดูเขาประกาศข่าวทางโทรทัศน์ เห็นพระจำนวนมากนุ่งห่มผ่าจีวรสีสวยสดงดงาม แบกกลด สะพายย่ามและบาตรเดินพาเหรดไปตามถนน มีรถนำขบวน เพราะถนนมีรถราวิ่งอยู่  ชาวบ้านหาน้ำมาล้างเท้า เช็ดเท้าให้ หาดอกไม้มาโปรยให้เหยียบ ดูแล้วก็งง ๆ เหมือกัน  ธุดงควัตรที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก  13 อยาง เป็นวัตรที่พระภิกษุสนใจอยากปฏิบัติเอง ไม่ใช่ข้องบังคับ จะถือธุดงก์
ข้อเดียว หลายข้อ แล้วแต่ความพอใจ  มีธุดงก์แบบไหนบ้าง
            1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร  (ผ้าเขานำมาถวาย ก็ไม่ใช้ ต้องไปหาเอง ชักบังสุกุล ได้มา เอามาทำไตรจีวร พระที่เย็บไตรจีวรเป็นถือธุดงก์ข้อนี้สะดวก)
            2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร  (มีผ้าจีวร สังฆาฎิ และสบง เท่านั้น มีชุดเดียวด้วย เวลาซักจีวร ห่มสังฆาฎิแทน  ซักสบง นุ่งจีวรแทนลำบากมาก แต่ก็ต้องทนให้ได้)
            3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร   (ถวายภัตตาหาร รับได้แต่ไม่ฉัน  วันไหนไม่สบาย ไปบิณทบาตไม่ได้ อด)
            4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร  (เดินบิณทบาตรตามเส้นทางเดิม ไม่ข้ามถนนไปหาคนตักบาตรฝั่งโน้น ฝั่งนี้ )
            5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร (ตอนเช้า หรือ ก่อนเพล นั่งลงฉันเสร็จก็ลุกขึ้น หลังจากนั้นต้องรอวันใหม่)
            6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือฉันในบาตรเป็นวัตร (อันนี้ชัดเจน มีอะไรในบาตร ก็ฉันเท่าที่มี)
            7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร  (ถ้าเริ่มฉัน อย่าเอาอาหารมาถวายอีก ไม่รับ ไม่ฉัน)
            8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร  (อาศัย กิน อยู่ หลับนอน ในป่า  เข้าบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น เช่นเจ็บป่วย)
            9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร  ( ชัดเจน ต้องหาต้นไม้ในป่าที่มีร่มเงาดี ๆ  มีกรด กันฝนกันยุงได้ช่วย )
            10. ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร ( กลางสนามโล่งแจ้ง ปักกรดอยู่ แดดร้อนก็ทน ฝนตกก็ไม่หนี)
            11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร   ( ป่าช้าจริง ๆ ไม่ใช่เมรุเผาศพที่วัด )
            12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร  ( แบบนี้สบายหน่อย สมัยก่อนอาจจะทำได้ยาก เพราะเสนาสนะไม่ค่อยจะมี  เดียวนี้เป็นตึกหลายขั้นแถมติดแอร์ด้วย สงสัยข้อนี้คงไม่ขลังแล้ว)
            13. ถือเนสัชชิกังคธุดงก์ คือการไม่นอนเป็นวัตร (นอนเล่นก็ไม่ทำ ปกติ มี ยืน เดิน นั่ง นอน ตัดนอนออกเหลือ  3 นั่งหลับ ยืนหลับ)
            การถือธุดงก์บำเพ็ญได้ด้วยการสมาทานคือด้วยอฐิษฐานใจ หรือแม้นด้วยการเปล่งวาจา   คุณประโยชน์ของธุดงควัตร คือ การยังชีพโดยบริสุทธิ์ มีผลเป็นสุข เป็นของไม่มีโทษ บำบัดความทุกข์ของผู้อื่นเสีย เป็นของไม่มีภัย เป็นของไม่เบียดเบียน มีแต่เจริญฝ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมไม่มีมารยาหลอกลวงไม่ขุ่นมัว เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเหตุให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนา กำจัดเสียซึ่งศัสตราทั้งปวง มีประโยชน์ในทางสำรวมเป็นเรื่องสมควรแก่สมณะ ทำให้สงบยิ่ง เป็นเหตุให้หลุดพ้น เป็นเหตุให้สิ้นราคะ เป็นการระงับเสียซึ่งโทสะทำโมหะให้ พินาศไปเป็นการกำจัดเสีย ซึ่งมานะเป็นการตัดเสีย ซึ่งวิตกชั่ว ทำให้ข้ามความสงสัยได้ กำจัดเสียซึ่งความเกียจคร้าน กำจัดเสีย ซึ่งความไม่ยินดีในธรรม เป็นเหตุให้มีความอดทน เป็นของชั่งไม่ได้เป็นของหาประมาณมิได้ และทำให้สิ้นทุกข์ทั้งปวง
            พระท่านอธิบายการถือธุดงก์ไว้อย่างนี้ ส่วนข้อความในวงเล็บผมใส่เข้าไปเอง เพื่อให้เข้าใจว่า 
ธุดงก์ที่พระท่านปฏิบัติ ทำอย่างไร  การสมาทานก็ทำเหมือนสมาทานศีล เปล่งวาจาแสดงเจตนาจะถือ
ธุดงก์เรื่องอะไร แล้วก็ปฏิบัติให้ได้  ปฏิบัติในที่นี้เป็นการปฏิบัติประจำ จนกว่าหมดแรง เหนื่อย ทางท่านขยันมากสมาทานถือธุดงก์ตลอดชีวิตก็มี อย่างพระมหากัสสปะ ถือผ้าสามผืนตลอดชีวิต เป็นต้น  
            ทีนี้หันมามองจอทีวีที่พระกำลังเดินแถวกันอยู่ คงไม่เข้าข้อไหนใน 13 ข้อ  อยากเห็นว่าท่านถือ
ธุดงก์ข้อไหน ต้องตามไปดูเอาเอง  ที่เราเห็นในทีวีคือ พระเดินทาง จากวัดหนึ่ง ไปอีกวัดหนึ่ง  ไม่ใช่เดิน
ธุดงก์  ไม่มี ธุดงก์ว่าด้วยการเดินแถว ธุดงก์ท่านฝึกเพื่อขัดเกลา แต่ที่เห็นโยมล้างเท้าให้ เช็ดเท้าให้
โรยดอกกุหลาบให้เหยียบเดิน นึกไม่ออกว่าจะขัดเกลาอะไร ตอบไม่ได้ครับ
---------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 1/8/59





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น