วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มาฆบูชา

วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3  มีเรื่องเล่ากันว่า วันเพ็ญเดือนมาฆะมีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าถึง 2 ประการคือ ปีที่พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุจะครบ  80  ปี ยังขาดอีก 3 เดือนเท่านั้นก็จะถึงวันปรินิพพาน ได้ทรงปลงพระชนมายุสังขารคือกำหนดวันที่จะเข้าสู่ปรินิพพาน  และนอกจากนั้น ในวันมาฆปูรณมีสมัยเริ่มประกาศพระศาสนา ก็เคยมีเหตุการณ์แปลกประหลาดน่าอัศจรรย์ 4 ประการเกิดขึ้นในวันนั้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ได้แก่ 
                1. ภิกษุจำนวน 1,250 รูปมาจากที่ต่าง ๆ กันเพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ   โดยมิได้มีการนัดหมาย
                2. พระภิกษุทั้งหมด ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆ องค์
                3. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น
                4. ในวันนี้เป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ พระพุทธเจ้าทรงถือโอกาสนี้แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งมีใจความอันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
                ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวไว้ว่า ในอดีต มาฆบูชานี้แต่เดิมไม่เคยทำกัน เพิ่งเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นความสำคัญของวันมาฆะนี้ จึงโปรดให้มีพระราชพิธีประกอบการกุศลขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปี พ.ศ. 2394 และกระทำต่อ ๆ มา

        ปี 2547 เดือนมาฆะ ขึ้นสิบห้าค่ำตรงกับวันที่ 5 มีนาคม 2547 ในฐานะที่เป็นพุทธศานิกชนคนหนึ่ง จึงขอแสดงความระลึกถึงวันสำคัญด้วยการเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและเสนอแนวปฏิบัติสำหรับชาวพุทธว่าในวันสำคัญเช่นนี้จะทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ดี วิธีที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดก็คือ การแสดงให้เห็นว่าเราปฏิบัติตนแบบชาวพุทธที่ดี นั่นเอง ชาวพุทธคือใครบ้าง คนที่นับถือพุทธศาสนาทุกคนคือชาวพุทธ นับถือแบบไหนได้แก่ผู้ที่นับถือแบบเป็นสรณะ ซึ่งพระพุทธเจ้าวางแบบปฏิบัติเอาไว้ คนที่จะเป็นอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี จะต้องเป็นคนเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยยอมนับถือว่าเป็นสรณะ นับถือในใจไม่พอ ต้องเปล่งวาจาออกมาให้คนอื่นได้ยินชัดเจนว่า
              พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ    ธมฺมํ  สรณํ คจฺฉามิ   สังฆํ  สรณํ คจฺฉามิ 
              ทุติยมฺปิ พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ   ทุติยมฺปิ  ธมฺมํ  สรณํ คจฺฉามิ  ทุติยมฺปิ  สังฆํ  สรณํ คจฺฉามิ
              ตติยมฺปิ พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ   ตุติยมฺปิ  ธมฺมํ  สรณํ คจฺฉามิ  ตุติยมฺปิ  สังฆํ  สรณํ คจฺฉามิ 
              การกล่าวคำแสดงตนว่านับถือพระรัตนตรัยว่าเป็น สรณะ ทั้ง 3 รอบนี่เองเป็นการบอกว่าเรานับถือพระพุทธศาสนาจากนั้นท่านก็จะให้แนวปฏิบัติตามหลักคำสอนคือ ศีล สมาธิและปัญญา เพื่อให้ปฏิบัติเป็นนิสัย อันเป็นทางปฏิบัติที่จะทำให้ห่างไกลจาก บาปทั้งปวง มุ่งมั่นทำแต่เรื่องที่เป็นกุศล และทำจิตให้สงบสะอาดเกิดสติปัญญา ดังคำบาลีที่สอนไว้ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ  กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานุสาสนํ  
          ชาวพุทธทั่วไปในปัจจุบันนิยมทำบุญเป็นพิเศษในวันมาฆบูชา เพราะคิดว่าเป็นวิธีทีเหมาะที่ควร เช่น
            1. จัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน มาพร้อมกันที่วัด ตามเวลานัดหมาย เพื่อฟังโอวาทหรือพระธรรมเทศนา และเวียนเทียน
               2. ก่อนออกจากบ้าน ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส
               3. เมื่อถึงวัดแล้ว ควรอยู่ในอาการสำรวม
               4. เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี เข้าไปในสถานที่กำหนดทำพิธีบูชา
               5. ก่อนเริ่มพิธีเวียนเทียน พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน จะกล่าวให้โอวาท ทุกคนต้องพนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนตั้งใจฟังด้วยความสงบ 
               6. ในพิธีสวดมนต์ จะมีผู้กล่าวนำคำบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา ให้ทุกคนจุดธูปเทียนประนมมือ กล่าวตาม
               จากข้อความที่กล่าวถึงเป็นเพียงพิธีเวียนเทียนซึ่งมิใช่สาระของการบูชา เพราะการบูชามี 2 ประเภทได้แก่ อามิสบูชา และ ปฏิบัติบูชา  การบูชาที่มีอานิสงส์มากคือปฏิบัติบูชา แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญว่าปฏิบัติบูชามีคุณค่ามาก
ในโอกาสวันสำคัญ อย่างวันมาฆบูชา ควรกระทำการบูชาเป็นพิเศษด้วยปฏิบัติบูชา ซึ่งกระทำไม่ยาก ไม่ต้องเสียเงินทอง ปฏิบัติบูชาทำอะไรบ้าง ก็ปฏิบัติตามหลัก ไตรสิกขานั่นเองเหมาะที่สุด ในฐานะที่เป็นฆราวาส เป็นอุบาสกอุบาสิก พวกเราสามารถปฏิบัติบูชา โดยยึดหลักไตรสิกขาได้ ดังนี้
                 1. รักษาศีลห้าข้อตลอดวันมาฆบูชา
                 2. ฝึกอบรมสมาธิ ตั้งจิตใจให้มั่นคง  จะทำกิจการงานใด ๆ ก็ตั้งใจทำให้เสร็จ จะฝึกสมถวิปัสสนาด้วยยิ่งดี
                 3. ฝึกอบรมสติปัญญาให้เกิดความฉลาด ขจัดความงมงายโง่เขลา จะฝึกวิปัสนาภาวนาด้วยก็ได้
                 สามวิธีที่กล่าวนี้คือหลักไตรสิกขาสำหรับอุบาสกอุบาสิกา ที่คิดว่าน่าจะสามารถปฏิบัติได้ ผลการปฏิบัติก็จะเกิดผลดีแก่ตนเอง ศีลจะทำให้เรามีระเบียบวินัยในตนเองสมาธิจะทำให้จิตใจเข้มแข็ง ภาวนาจะทำให้เกิดความฉลาด เป็นเรื่องดีงามทั้งสิ้น
                 ก่อนจบขอพูดถึงการนับถือพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะสักเล็ก น้อยพอเป็นข้อคิดว่า การนับถือ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์แบบให้เป็นที่พึ่งได้จริง ๆนั้น นับถืออย่างไร การเคารพกราบไหว้ การนำรูป วัตถุมงคลมาเคารพ การปรนิบัตรรับใช้ ที่เราพบเห็นคนทั่วไปทำอยู่เพียงพอหรือยังที่จะทำให้เราได้ที่พึ่งคือพระรัตนตรัย  ทุกคนตอบได้เองว่าไม่พอ  เพราะที่พึ่งไม่เกิด ที่พึ่งไม่ชัดเจน  เหมือนเรานับถือพ่อแม่ เราไม่จำเป็นต้องกราบไหว้เช้าเย็น ไม่จำเป็นต้องหารูปพ่อแม่มาใส่กรอบแขวนคอ เพราะถึงทำก็ไม่ได้ที่พึ่งแต่เมื่อใดเรานับถือพ่อแม่ด้วยการเชื่อฟังคำแนะนำ สั่งสอน ปฏิบัติตามที่ท่านฝึกอบรมแนะนำ
เราก็จะได้เป็นคนดี เป็นคนมีที่พึ่งที่ดี พ่อแม่ก็ยินดีด้วย  การนับถือพระรัตนตรัยก็ไม่ต่างจากการนับถือพ่อแม่  ปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำสั่งสอนคือ  ไม่ทำความชั่ว ทำแต่สิ่งดีงาม และทำจิตให้หมดจดผ่องใส แค่นี้เองเราจะได้ที่พึ่งจากพระรัตนตรัย เหมือนบุตรธิดาเชื่อฟังและปฏิบัติตามที่พ่อแม่แนะนำสั่งสอน ทำให้ตนเองเป็นคนดี การเป็นคนดีนั่นเองคือที่พึ่งอันประเสริฐ พึ่งได้ตลอดชีวิต จริงไหมขอรับ ??????????
หมายเหตุ  ชื่อ 12 เดือนภาษาบาลีที่เกี่ยวข้องกันวันบูชาต่างๆ
มิคสิรมาส       เดือน  1
ปุสสมาส        เดือน  2
มาฆมาส        เดือน  3
ผัคคุณมาส      เดือน  4
จิตตมาส        เดือน  5
วิสาขมาส       เดือน  6
เชฏฐมาส        เดือน  7
อาสาฬหมาส   เดือน  8
สาวนมาส       เดือน  9
ภัทรปทมาส    เดือน  10
อัสสยุชมาส     เดือน 11

กัตติกมาส      เดือน  12

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น