วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ข้อสงสัยในการทำบุญ

เรื่องที่น่าสงสัยในการทำบุญ

.............เพื่อนไปร่วมงานทำบุญของชาวบ้านที่วัดแห่งหนึ่ง เห็นพิธีกร(มัคทายก)เขาพาทำพิธีสวดมนต์ไหว้พระ แล้วอดสงสัยไม่ได้ เลยมาเล่าให้ฟัง และขอความเห็นจากเราด้วยว่ามีอะไรผิดปกติไหม เขาเล่าว่าเริ่มพิธีทำบุญพิธีกร ซึ่งเป็นมัคทายก พาทำกิจกรรมต่างๆ ที่สงสัยคือเขาเชิญคนจุด ธูปเทียน 3 ครั้ง ที่โต๊ะหมู่ ที่หน้าอาสน์สงฆ์ และ ที่หน้าโลงศพ พิธีกรพาสวดอรหังสัมมา ฯลฯ      ค่อยสวดบทอิมินา สักกาเรนะ ฯ ได้สวด นะโม ฯลฯ 3 รอบ  ก่อนอาราธนาศีล   ขณะรับศีล และตอนกล่าวถวายสังฆทาน และสงสัยการกล่าวคำถวายสังฆทานกับการที่พระชักบังสุกุล ฟังคนถามเล่าให้ฟัง ช่างสงสัยซะจริง  ลองสรุปลำดับขั้นของ การทำบุญทั่ว ๆ ไป มักจะมี  12 ขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มจุดูปเทียน ไปจนพระให้พร ข้อสงสัย ดังกล่าวจะนำมาพูดถึงเป็นตอน ๆ ไป  ดังต่อไปนี้
........1. เรื่องแรกคือทำไมคนจุดธูปเทียนเยอะจัง เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ จะจุดกี่คนก็ได้ไม่มีข้อห้ามแต่ถ้าจะให้เกียรติคนที่เชิญเป็นมาเป็นประธานของงาน พิธีกรจะเชิญประธานจุดครั้งเดียว เวียนจุดทีอื่นด้วยก็จะดูโดดเด่นสมกับที่มีผู้เป็นประธานของงาน
.........2. สงสัยการสวดบท อรหํ สมฺมา ฯลฯ แล้วสวดบทอิมินาสักกาเรนะตามหลัง ก็คงอยากถามว่าผิดหรือถูกน่ะแหละ แต่ความจริงไม่มีผิด หรือถูกหรอก หลายแห่งการจุดธูปเทียน ถือว่าเทียบเท่ากับการกล่าวบทสักการะ คือบท อิมินา ฯลฯ ดังนั้นจุดธูปเทียนเสร็จก็ไหว้ครูเลย คือ กล่าวบท  อรหํ..... แต่พิธีกรคงจะเสียดาย บทบูชา ไหว้ครูจบ เลยยกคำกล่าวบูชามากล่าวอีก โดยทั่วไปนิยมกล่าวคำบูชาดอกไม้ธูปเทียน ก่อน (อิมินา สักกาเรนะ...) ค่อยกล่าวบทไหว้ครูคือพระรัตนตรัย (อะระหัง สัมมา...)
........3. สงสัยการกล่าวนโม 3 รอบ แสดงความเคารพพระพุทธเจ้าครับ บางแห่งเขาตัดออก เพราะจะได้กล่าวตอนรับศีลจากพระ จะกล่าวตอนนี้ก็ไม่ผิดแล้วแต่นิยมกัน พอจะรับศีลตั้ง นโม อีกครั้ง แถมอีกรอบตอนจะถวายสังฆทานครบ 3 รอบพอดี ขยันตั้ง นโม จริง ๆ ถ้าจะให้พอดี พองาม เอารอบเดียวตอนรับศีลก็น่าจะพอแล้ว
........4. สงสัยเรื่องถวายสังฆทานกับการชักบังสุกุล การถวายสังฆทานคงเป็นเพราะเข้าใจว่ามีอานิสงส์มากกว่าทานธรรมดา ๆ จึงกล่าวถวายสังฆทานกัน ส่วนการชักบังสุกุลเป็นการให้ทานและรับทานแบบ

ไม่เจาะจงแล้วแต่พระรูปไหนจะผ่านมาเห็นของที่วางหรือวางทอดไว้ พระก็จะพิจารณาบังสุกุลชักเอาสิ่งของนั้น ๆไป มีข้อสงสัยว่าถวายสังฆทานและบังสุกุลพร้อมกันได้ไหม ได้ครับไม่มีปัญหาอะไร เพราะชักบังสุกุลเป็นวิธีรับของ เคยเห็นเขาทำบุญผ้าป่าไหม ผ้าป่าก็คือผ้าบังสุกุล เวลานำไปถวายก็ถวายแบบสังฆทานพระก็รับแบบรับสังฆทานธรรมดา ๆ คือยกไปประเคนท่านก็รับไว้ การรับด้วยวิธีชักบังสุกุลเป็นการรับสิ่งของที่ชาวบ้านเขาทอดวางไว้ ไม่ได้นำไปประเคนจากนั้นเขาก็บอกพระท่าน ว่ามีสิ่งของถวายพระที่เขาทอดวางไว้ทางโน้น พระท่านก็ไปพิจารณาบังสุกุลแล้วชักรับเอาไปแบบทอดผ้าหน้าศพนั่นแหละครับชักบังสุกุล
.........5. ไปร่วมทำบุญบ้าน สังเกตเห็น มีสวดบท อิมินา สักกาเรน บ้าง แต่บางบ้านก็ไม่สวด ทำไมครับ คนช่างสังเกตไปทำบุญกลับมาเอามาถามไถ่ว่าทำไมสวดบ้างไม่สวดบ้าง ก็คงตอบไม่ได้หรอกครับ มาลองดูคำแปลบท อิมินาสักการเรนะ ก่อนแล้วกัน
    อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ ข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งต่อพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้)
    อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง อะภิปูชะยามิ ข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งต่อพระธรรม ด้วยเครื่องสักการะนี้)
    อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง อะภิปูชะยามิ ข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งต่อพระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะนี้)
........คำว่าเครื่องสักการะนี้ คืออะไรล่ะครับ ดอกไม้ ธูป เทียน ที่เตรียมไว้นั่นแหละ บางบ้านจัดใส่
แจกัน กระถาง ธูป เชิงเทียน เป็นระเบียบเรียบร้อยดี บางบ้านจัดรวม ๆ ใส่ขัน ถาดหรือจานมา บอกว่าเป็นขัน 5 ขัน 8 ที่จัดไว้นั่นแหละครับเรียกว่า เครื่องสักการบูชา ถ้าไม่มีอะไร  สิบนี้วพนมไว้ แทนดอกไม้ธูปเทียนก็ได้ครับ การบูชาจะกระทำเป็นกิจจะลักษณะเมื่อจุดธูปเทียน ดังนั้นบางบ้านเขาถือว่าได้ทำการบูชาแล้ว ไม่สวดบท อิมินา สักกาเรนะ บางบ้านอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการบูชาก็ชวนเชิญสวดบทอิมินาสักกาเรนะ.... บูชาเสร็จก็ไหว้พระกันต่อไป ก็คงมีคำอธิบายได้แค่นี้แหละครับ
6. ได้ข่าวบางวัดท่านไม่ให้บูชาพระพุทธรูป ทำไมล่ะครับ ใช่พุทธศาสนาหรือเปล่า ?
.........ก็ได้ข่าวเหมือนกันครับ แต่ไม่ได้แปลกใจ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่เคารพภูติเทพ รูปปั้น ต้นไม้ ภูเขา พระพุทธเจ้า ไม่แนะนำ ให้กราบไหว้บูชา เพราะอาการที่คนกราบไหว้บูชาสิ่งที่กล่าวมานี้ ทำเพื่อให้เกิดที่พึ่งทางใจ ที่พึ่งที่ได้มักเป็นที่พึ่งไม่จริงจัง แบบทำให้หลงดีใจ เอาเข้าจริงก็เปล่าไม่มีอะไร เหมือนเด็ก ๆ พากันไปกราบบูชาพระโพธิ์ต้นใหญ่ที่ศาลพระภูมิของโรงเรียน ไปกันทั้งห้อง ม. 6 ประมาณ
80 คน ขอให้พระไทรช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้สอบเอนติด ผลออกมาปรากฏว่าติดตั้ง 11 คน เลยมีคนไปแก้บนเพียง 11 คน หัวหมู 5 ราย นอกนั้นไก่ต้มทั้งตัว สุราบานเพียบ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพวกนี้เรียนเก่งทั้งนั้น ก่อนสอบยังไปติวเข้มอีกต่างหาก แต่ 11 เสียงก็ทำให้พระโพธิ์ ดังไปไกลพอสมควร ถ้าไม่ใช่คนเรียนเก่ง ไม่ได้เตรียมตัวดี อาจไม่ติดฝุ่นเลยก็ได้ ที่พึ่งจริง ๆ ของพวกเขาก็คือ วิชาความรู้ของพวกเขานั่นเอง  ถ้าไปบนพระพุทธเจ้า ที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็อาจจะได้รับแนวปฏิบัติไปแต่แรกเลยว่า เป็นเด็กดีนะ อยากเรียนเก่งก็ สุ จิ ปุ ลิ ซิ ทำให้ได้  อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ปฏิบัติให้เข้มทุกข้อ ทำตามนี้สิ่งที่มุ่งหวังสำเร็จแน่ แบบนี้แหละครับแนวทางพุทธ เป็นสัจธรรม ทำได้ มีผลเป็นรูปธรรมแน่นอน
พระพุทธรูปเป็นเพียงรูปปั้นที่สมมติกันว่าแทนพระพุทธเจ้า มีไว้กราบไหว้บูชาก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ต้องกราบไหว้ให้เป็น เหมือนเรามีรูปภาพพ่อแม่แขวนไว้หัวนอนกราบไหว้รูปพ่อแม่ ไม่ได้เสียหายอะไรแต่ใจเราเคารพพ่อแม่ ไม่ได้เคารพกระดาษที่เป็นรูป 2 แผ่น เราหวงเพราะมันทำให้เรานึกถึงพ่อแม่ เราคงไม่เอารูปไปใส่กรอบมาแขวนคอ ไม่เอารูปไปแช่ทำน้ำมนต์ 
.......... พระพุทธรูปก็เช่นกัน เราใช้เป็นสื่อแสดงความเคารพพระพุทธเจ้าพอแล้ว ถ้ามากไปกว่านี้จะกลายเป็นเรื่องเสียหายไป การแสดงความเคารพระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นการทำจิตใจให้สงบ มีจิตเป็นกุศล เป็นพื้นฐานการทำความดีหรือทำบุญต่อไป แต่ถ้ามากไปจนกลายเป็นการหลงใหล เห็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มาก บันดาลโชคลาภได้ สามารถป้องกันภัยอันตรายได้ ระดับนี้หยั่งลงลึกแล้ว อวิชชา ขอรับ โมหะ ตัวเบ้อเร่อเลย ยิ่งแขวนพวงใหญ่ก็แสดงว่ามีโมหะตัวใหญ่ไว้อวด แปลกดี
-------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 2/8/59


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น