วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แนวดำเนินชีวิตสำหรับชาวพุทธ

แนวดำเนินชีวิตสำหรับชาวพุทธ

              เมื่อคนเกิดมาเราเรียกว่ามีชีวิตคือมีความเป็นอยู่   ตรงข้ามกับตายที่เรียกตายไป คือต้องไปอยู่ไม่ได้  ภารกิจสำคัญของการมีชีวิตอยู่ได้ คือต้องกระทำกิจต่าง ๆมากมาย เพื่อให้มีความสะดวกในการเป็นอยู่ ซึ่งเราจะเห็นได้ตลอดเวลา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นหลังจากที่เกิดมา จะเห็นการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด เห็นพฤติกรรมต่าง ๆในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของพ่อแม่  จนเมื่อเติบใหญ่พัฒนาการเข้มแข็งแล้วก็จะเห็นบทบาทการ ต้องดูแลตัวเองให้เป็นอยู่ได้ มีครอบครัวก็ดิ้นรนทำมาหากินให้ครอบครัวเป็นอยู่อย่างมีสุข   จนกระทั่ววาระสุดท้ายก็จบบทบาทการมีชีวิตการเป็นอยู่ เมื่อจบแล้วก็ต้องจากไป เป็นอย่างนี้ทุกคน  กิจกรรมพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ที่ประพฤติปฏิบัติในช่วงที่มีชีวิตอยู่ เรียกรวม ๆว่าการดำเนินชีวิต 
                 บางคนมีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย อุปสรรคปัญหามีน้อย มีสุขมากกว่ามีทุกข์  บางคนการดำเนินชีวิตค่อนข้างยากลำบากมีอุปสรรคปัญหามากมาย ประสบความทุกข์ยากมากกว่าเป็นสุข    แสดงให้เห็นว่า การดำเนินชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ น่าสนใจ  การดำเนินชีวิตมี 2 แนวทางดังกล่าวแล้ว ถ้าเลือกได้เชื่อว่าทุกคนขอเลือกแนวทางที่มีสุขมากกว่าแนวทางที่มีทุกข์  แล้วแนวทางไหนคือแนวทางที่น่า จะเป็นแนวทางที่ถูกที่ควร
                 พ่อแม่ทุกคนจะพยายามอบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี ครูอาจารย์ที่โรงเรียนก็สอนให้ศิษย์เป็นคนดี   พระที่วัดก็สอนให้เราทำความดี  ญาติพี่น้องก็อยากให้เราทำดี หรือในวันนี้เองวิทยากรมาพูดให้ฟังก็อยากให้ทุกคนทำดี   ต่างคนต่างสอน ต่างคนต่างอบรม ในที่สุดก็อาจนำไปสู่ข้อสรุปแบบเดิม ๆ ที่เคยเกิดขึ้นบ่อย ๆ คือความงุนงงจนไม่รู้จะทำอย่างไรดี  ดังนั้นในวันนี้จึงขออ้างหลักของพระพุทธเจ้า
ที่ท่านสอนไว้เมื่อสองพันห้าร้อยสี่สิบเจ็ดปีมาแล้วมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่มีคนเชื่อและนับถือหลายพันล้านคน มีคนนำไปปฏิบัติได้ผลประจักษ์ว่าเป็นแนวดำเนินชีวิตที่ดีที่เหมาะที่ควร  มีแนวปฏิบัติสำหรับคนหลายระดับ ตั้งแต่สามัญชนทั่วไปที่เรียกอุบาสกอุบาสิกา  แนวปฏิบัติสำหรับบรรพชิตคือ ภิกษุภิกษุณี ท่านแนะนำแนวดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับศาสนิกชนทุกระดับ  สำหรับพวกเราท่านทั้งหลาย ท่านมีแนวดำเนินชีวิตเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนทุกคนสามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ นั่นคือหลักคำสอนและแนวปฏิบัติของพุทธศาสนา
                หลักคำสอนที่ท่านต้องการให้ศาสนิกชนทุกคนจำให้ขึ้นใจ และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติใน
การดำรงชีวิตประจำวันเสมอมี 3 หลักคือ  สพฺพปาปสฺส อกรณํ   อย่าทำชั่ว  กุสลสฺสูปสมฺปทา   หมั่นทำสิ่งที่เป็นกุศล   สจิตฺตปริโยทปฺปนํ    และทำจิตให้หมดจดผ่องใสเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตเป็นไปตามหลักคำสอนทั้ง 3 ประการนั้น ท่านแนะนำให้ผู้นับถือศาสนาได้ ศึกษาและปฏิบัติ ในหลักไตรสิกขา
ได้แก่ สีลสิกขา จิตสิกขา และ ปัญญาสิกขา  หลักทั้ง 3 นี้สำคัญอย่างไร         
           สีลสิกขา   เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตสำหรับทุกคน  ศีลทำให้คนมีระเบียบมีวินัยในตนเอง ไม่ต้องให้ใครมาควบคุมบังคับศีลทำให้คนไม่เบียดเบียนรังแกตนเองและผู้อื่น พระท่านจึงบอกเสมอว่า
สีเลน สุคติง ยันติ  สีเลนโภ คสัมปทา สีเลน นิพพุติง ยันติ   ซึ่งมีใจความสำคัญว่า
         ศีลทำให้เราไปสู่สถานะภาพที่สงบสุขไม่เดือดร้อนเรียกว่า ถึงสุคติ  ศีลทำให้เราสามารถสั่งสมโภคสมบัติได้ดี  คือ สีเลนโภคสัมปทาทำให้เราสามารถดับทุกข์เดือดร้อนได้ คือ นิพพุติง ยันติ  เพราะศีลสำคัญอย่างนี้เอง ท่านจึงกำหนดให้พุทธศาสนิกชนทุกระดับ ต้องรักษาศีลก่อนศึกษาปฏิบัติธรรม เช่น จะเป็นอุบาสกอุบาสิกา ต้องรักษาศีล ๕ ถ้าอยากเก่งขึ้นก็รักษาศีล ๘  จะเป็นสามเณรก็รักษาศีล ๑๐  อยาก
บวชพระภิกษุ ต้องถือ ๒๒๗ ข้อ  อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เป็นฆราวาส รักษา ศีล ๕ ก็พอแล้ว ถ้านับถือศาสนาอื่น ท่านก็ปฏิบัติศีลของศาสนานั้น ๆ โปรดจำไว้เสมอว่า ศีลเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต  ถ้าเราไม่มีศีล หรือมีแต่ขาด ๆ หาย ๆ จะทำให้เป็นคนไม่สมบูรณ์ในเส้นทางชีวิตของคนเรานั้น ต้องเป็นสมาชิกครอบครัว ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนงาน เป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้บริหาร
ลองนึกดูว่า ถ้าเป็นคนที่ไม่มีศีลหรือเป็นคนที่ไม่มีระเบียบวินัย จะทำหน้าที่นั้น ๆ ได้สมบูรณ์หรือไม่  ดังนั้นจึงขอเชิญชวนทุกท่านปฏิบัติตนเป็นคนมีศีล คือถือศีลเป็นปกติไม่ต้องรอวันพระวันโกน ถือได้ตลอดเวลา แบบพระเณรถือศีลนั่นเอง  หมั่นตรวจสอบทุกวันว่าศีลของเรายังครบบริบูรณ์หรือไม่  ถ้าบางข้อขาดไปบกพร่องไปก็ตั้งใจใหม่ว่าต่อไปจะรักษาให้ได้ ฝึกอย่างนี้จนกลายเป็นพฤติกรรมปกติ เราก็
จะได้ชื่อว่าเป็นคนมีสีลสิกขา
              จิตสิกขา  เป็นการศึกษาทำความเข้าใจธรรมชาติของจิต และปฏิบัติควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจ ถ้ามีเวลาพระท่านแนะนำให้ฝึกสมาธิวิปัสสนา  แต่ถ้ายังไม่มีเวลาก็ศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง   เริ่มด้วยการทำความรู้จัก ใจ ที่เรามีคนละหนึ่งเดียว  พฤติกรรมสำคัญของใจคือ จิตได้แก่การคิด  ผลของการคิดทำให้มีการตัดสินใจ ทำ ไม่ทำ ชอบ ไม่ชอบ ดีใจ เสียใจ  พฤติกรรมที่เราแสดงออกปรากฏทางกาย ทางวาจาก็ ล้วนเป็นผลมาจากจิตหรืออาการคิดของใจทั้งสิ้น  โบราณท่านจึงว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว   การควบคุมใจ ทำได้ด้วยการควบคุมอาการการคิด ซึ่งก็คือควบคุมจิตนั่นเอง อย่าปล่อยให้ใจคิดในสิ่ง
ที่ไม่ดีบ่อย ๆ จะควบคุมยาก  ธรรมชาติของจิตจะคิดใน3ทิศทางคือ กุศล อกุศลและอัพยากฤต  คิดในทางกุศล คือทางดีงาม ทำให้เกิดความฉลาด ไม่ต้องห้าม ไม่ต้องควบคุมบังคับ ปล่อยให้คิดไป คิดทางดีมาก ๆ จะทำให้เป็นคนใจดี  แต่ถ้าเมื่อใด ใจมันคิดทางอกุศลเช่นหมกมุ่นแต่เรื่องโลภะ โทสะ โมหะ แบบนี้เสียหายต้องควบคุมไว้ ปล่อยไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้คิดจน กลายเป็นนิสัยอาจมีผลต่อการแสดงออก ทางกาย ทางวาจา ได้ เช่นอยากได้มาก ๆควบคุมไม่ได้ก็ต้องแสวงหา หาด้วยวิธีธรรมดาไม่ได้ก็หาด้วยวิธีผิด ๆ ในที่สุดก็ลำบาก  ปล่อยให้คิดแต่โทสะบ่อย ๆ จนควบคุมไม่ได้ก็เป็นคนโมโหร้าย ปล่อยให้คิดเรื่องโมหะมาก ๆ ก็กลายเป็นคนงมงาย ดังนี้เป็นต้น   การศึกษาเรื่องจิตใจจึงมีความสำคัญมาก ศึกษาให้เข้าใจธรรมชาติของมโน ศึกษาให้เข้าใจลักษณะของจิต รู้ว่าจิตคิดอย่างไรควรส่งเสริม จิตคิดอย่างไรควรหักห้ามควบคุม ฝึกมาก ๆจนสามารถควบคุมจิตได้ จะเกิดเป็นคนที่พลังใจเข้มแข็ง  ใจที่เข้มแข็งมีคุณค่าอย่างไรคงเข้าใจดีทุกคน  อธิจิตสิกขามีประโยชน์อย่างนี้เอง
                 อธิปัญญาสิกขา  เป็นการฝึกให้เกิดสติปัญญา มีตั้งแต่ระดับ โลกียปัญญา สำหรับปุถชนชาวบ้านอย่างพวกเรา ไปจนถึงระดับโลกุตรปัญญาสำหรับท่านที่ต้องการความหลุดพ้นจากโลกียะคือนิพพาน  ปัญญาคือความรอบรู้ข้อเท็จจริง  ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต เป็นเรื่องที่จำเป็นและมีประโยชน์   สมัยก่อน ปัญญา สำหรับการดำรงชีวิตอาจไม่จำเป็นต้องมีมากมายเหมือนปัจจุบัน การ
ฝึกอบรมให้เกิดปัญญา ฝึกกันในครอบครัวก็เพียงพอสำหรับการดำรงชีพในสังคมอย่างมีความสุข แต่ยุคปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไปปัญญาคือความรอบรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตมีปริมาณมากขึ้น เรียนรู้ในครอบครัวไม่พอ ต้องฝึกอบรมจากสถานศึกษา จากสถาบันต่าง ๆ ถึงจะได้ปัญญาหรือความรอบรู้มากพอ ปัญญาและความรู้ที่ได้มาต้องรู้จัก และพัฒนาให้เป็นความรอบรู้แบบ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ   เป็นปัญญาความรอบรู้ที่ถูกต้อง และนำไปใช้ในทางที่ถูกที่ควร  ถึงจะเป็นปัญญาสิกขา ซึ่งเราจะเห็นคุณค่าของปัญญาสิกขาได้ทั่วไป คนที่ฝึกมามากจะเป็นคนรอบรู้มาก  ทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็สำเร็จง่ายกว่าคนมีปัญญาน้อย ส่วนปัญญาสิกขาที่เป็น โลกุตรปัญญานั้น ท่านเน้น วิปัสสนาภาวนา มุ่งให้เกิดปัญญารอบรู้ในสภาวสังขาร ซึ่งมีสามัญญลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  มุ่งให้สามารถละโลภะ โทสะและโมหะ เพื่อบรรลุ อริยมรรคอริยผล  ถ้าสนใจก็สามารถเข้ารับการฝึกอบรมจากสำนักวิปัสสนาโดยตรงจะเหมาะสมกว่าฝึกเอง
                ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า แนวทางดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ควรยึดแนวทางของศาสนา ในพุทธศาสนามีหลักดำเนินชีวิตที่ดีงามและเหมาะสมคือหลัก สีล สมาธิ และปัญญา   การปฏิบัติศีล จะสร้างคนให้เป็นคนมีระเบียบวินัยในตนเอง ไม่ต้องให้คนอื่นมาบังคับเป็นผู้นำก็เป็นผู้นำที่มีศีลธรรมเป็นผู้ตามก็เป็นผู้ตามที่มีคุณภาพ  สมาธิทำให้ผู้ฝึกเป็นคนเข้มแข็ง มีมานะพยายามไม่ท้อถอยเมื่อมีอุปสรรคปัญหา  อธิปัญญา ฝึกเพื่อกำจัดความโง่ความหลงผิด ทำให้เป็นคนฉลาดรอบรู้  เมื่อเราปฏิบัติตามแนวทางไตรสิกขา จึงเชื่อว่าเป็นแนวดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควร ทุกคนสามารถนำไปคิด ตริตรอง ด้วยเหตุด้วยผล เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีก็นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่เอง ซึ่งคาดหวังได้แน่นอนว่าเป็นแนวทางที่ดี เป็นหลักคำสอนที่น่าศรัทธา ดังคำที่พระท่านกล่าวว่า สวากฺขาตธมโม  ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ดีแล้วนั้น  เป็น อกาลิโก คือ ปฏิบัติได้ทุกเวลา    ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ    รู้ประจักษ์ว่าดี จริงด้วยการปฏิบัติเอง เชิญทดลองปฏิบัติดูตามควรแก่อัตตภาพ   ที่บรรยายมาก็คงสมควรแก่เวลา ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ร่วมมือรับฟังด้วยดี ขอความสุขสวัสดีจงเกิดมีแก่ทุกท่านทุกคนเทอญ ฯ
                                                     สวัสดี

                บรรยายที่เรือนจำจังหวัดเลย วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 254 7 
-------------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 2/8/59

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น