วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หลักการทำบุญ

หลักการทำบุญของพุทธศาสนิกชน      
หลักสำคัญของการทำบุญ
             หลักศาสนา ต้องการให้เราเว้นการทำบาป ต้องการให้ทำบุญ บาปคือความชั่ว ทุจริตทางกาย วาจาและใจ มีวิธี
ทำบาปอย่างไรคงไม่ต้องบอก เพราะบาปมันเก่งขนาดไม่มีคนสอนมันยังจูงใจให้คนอยากทำ สร้างความเดือดร้อนให้
ตนเอง ให้คนอื่นและสังคมมานักต่อนักแล้ว อย่างที่รัฐบาลทำสงครามกับยาเสพติดอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นผลมาจากคนทำชั่ว
นั่นเอง ไม่ต้องมีครูสอน ไม่ต้องมีโรงเรียน ยาเสพติดมันจูงใจให้อยากทำ อยากผลิต อยากขายอยากเสพ จนทำให้เรา
มีปัญหาเรื้อรังกันอยู่ทุกวันนี้  แต่บุญไม่ค่อยมีเสน่ห์เหมือนบาปหรือความชั่ว จูงใจคนให้อยากทำไม่เก่ง เราจึงเห็นคน
ทำบุญไม่ค่อยฮือฮาเหมือนทำบาป ลองไปยืนสังเกตคนเดินเข้าประตูวัดกับประตูเข้าผับเข้าบ่อน จะเห็นข้อแตกต่างชัด
เจน   เพราะข้อแตกต่างของบุญและบาปดังกล่าวแล้ว หากละเลยไม่สนใจจะกลายเป็นปัญหาให้ตนเองและสังคม ทาง
ศาสนาท่านจึงชี้นำให้คนสนใจทำบุญมาก ๆ จนกลายเป็นหน้าที่ ผู้นำทางศาสนาทุกระดับต้องแนะนำให้ศาสนิกชนทำบุญ
และขอให้เป็นการทำบุญที่เหมาะที่ควร มิใช่ทำแล้วเดือดร้อน
             บุญคืออะไร  พระท่านเทศน์ให้ฟังว่า บุญแปลว่าเต็ม อิ่ม มีบุญแล้วจิตใจเต็มอิ่ม ไม่ขาด ไม่พร่อง  แสดงว่าเมื่อ
เราทำบุญ บุญจะเกิดขึ้นที่ใจ ทำให้ใจเรางดงาม เต็มอิ่มเหมือนพระจันทร์วันปุณณมี เวลาเราทำบุญพระให้พรท่านยังพูดถึง
เลยว่า  "ยถาวารีวหา ปูราปูเรนฺติ สาครํ เอวเมว อิโตทานํ เปตานํ อุปกปฺปติ อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ  ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ  สพฺเพ
ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโทปณฺณรโส  ยถา......"  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าบุญเป็นความดี ความงาม เกิดขึ้นที่ใจ มีผลทำให้จิตใจเราอิ่มเอิบ
มีคุณค่ามีพลัง เป็นประโยชน์ ท่านจึงชักชวนให้เราทำบุญมาก ๆ
             ทำบุญมีวัตถุประสงค์อะไร  ผู้รู้ท่านอธิบายว่า ใจของเรามักจะมี บาปและบุญพยายามจะแย่งกันครอบงำอยู่ตลอด
เวลา ถ้าไม่ระวังปล่อยให้บาปมีพลังครอบงำได้ จะทำให้เราฝักใฝ่ทางชั่ว ถ้าทำบุญสม่ำเสมอ ใจจะฝักใฝทางดีงาม บาปและบุญ
เป็นปฏิปักข์กันเสมอ เช่น เราทำทาน บาปคือความโลภก็ไม่มีโอกาส  เรารักษาศีล บาปคือโทสะก็ต้องถอยไป เรา
ภาวนาอบรมสติปัญญาให้เกิด  บาปคือโมหะหรือความโง่เขลาก็ต้องอยู่ไกลออกไป ดังนั้นท่านจึงกำหนดหลักการทำบุญ
ไว้ 3 ประการเรียกว่าบุญกริยาวัตถุ 3 ข้อคือ การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา โดยมีวัตถุประสงค์คือลดพลัง
ของบาปคือ โลภะ โทสะและโมหะ
              ทำบุญด้วยการทาน  มี 2 ประเภทคือ อามิสทาน และธรรมทาน
              อามิสทานนั้นท่านหมายถึงการให้สิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ  การให้สิ่งของเป็นทานอย่าลืมพิจารณาประโยชน์
ที่ผู้รับควรจะได้ การทำบุญด้วยอามิสของเราจะมีค่ามากกว่า ให้สิ่งของที่ไม่มีประโยชน์สำหรับผู้รับ  ที่พูดเช่นนี้เพราะเห็นคนทำทาน
ด้วยการถวายสิ่งของที่ไม่มีประโยชน์ให้พระบ่อย ๆ  รับไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์กลายเป็นคนข้างวัดนำไปใช้  ประการที่สองนอกจาก
คำนึงถึงประโยชน์แล้ว ท่านยังแนะนำว่า การให้ทานเอกเทศเจาะจงรายบุคคล มีค่าน้อยกว่าการทำทานให้หมู่คณะ ท่านเรียก ปาฏิปุคคลิก
ทาน กับสังฆทาน  มีปัญหาการตีความสังฆทาน เรามักตีความถึงภิกษุสงฆ์เท่านั้นทำให้การทำทานของเราคับแคบ อยากทำ
ทานแบบสังฆทานต้องมองหาพระภิกษุ ที่จริงสังฆทานแปลว่าส่วนรวม เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมได้ การให้
สิ่งของที่เกิดประโยชน์เฉพาะบุคคลเช่น แจกสมุดดินสอ แจกทั้งโรงเรียนก็เป็นแค่ปาฏิปุคลิกทาน แต่ถ้าสร้างกองทุน
มูลนิธิ  สร้างอาคารเรียน สร้างสื่อการสอน ให้ทานแบบนี้เป็นการให้เพื่อส่วนรวม สอดคล้องกับหลักสังฆทาน มีคุณค่า
แตกต่างกัน นอกจากนี้ท่านยังแนะนำให้เลือกปฏิคาหก คือผู้รับทานสิ่งของจากเรา  ควรเป็นผู้รับที่มีคุณภาพ คือเป็น
คนดี มีศีลธรรม  รับทานจากเราไปแล้วสามารถใช้ประโยชน์ได้
             ธรรมทาน ได้แก่การให้สิ่งที่มิใช่วัตถุสิ่งของ แต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้รับ เช่นการให้คำแนะนำสั่งสอน การแนะนำสิ่ง
ที่ ถูกที่ควร การบอกแนวทางแก้ปัญหา  แม้แต่การให้อภัยก็จัดเป็นธรรมทาน  ให้ความรัก ความเมตตากรุณา การให้ประเภทนี้มี
คุณค่าสูง เพราะผู้รับได้ประโยชน์ ได้ความสุข  เช่นการให้วิชาความรู้ การบอกทางสว่างแห่งปัญญา การแนะนำแนวทางประกอบ
อาชีพ เป็นต้น คนสมัยก่อนท่านสอนว่าธรรมทานได้บุญมาก และทำได้ง่ายไม่ต้องเสียเงิน
             การทำบุญด้วยการรักษาศีล มุ่งขจัดบาปสำคัญคือโทสะ จะรักษาศีลห้า ศีลแปด หรือศีลสูงกว่านั้นแล้วแต่ความ
พร้อมของผู้ปฏิบัติ  การทำบุญด้วยวิธีรักษาศีลจะได้ประโยชน์เมื่อเป็นการรักษาแบบต่อเนื่องประเภทนิจศีล อย่าง
พระภิกษุสามเณรรักษา สำหรับการรักษาศีลแบบผ่านไป 7 วันหยุดรักษาศีล 1 วัน แบบนี้คงได้ประโยชน์น้อย คล้ายกับ
ปล่อยให้บาปรุกราน 7 วัน วันที่ 8 ถึงลุกขึ้นมาต่อสู้ มองไม่เห็นทางชนะ
             การทำบุญด้วยการอบรมภาวนา  มุ่งขจัดโมหะ ความโง่เขลา  ให้เกิดปัญญาความฉลาด ต่างจากการทำบุญวิธีอื่น
เพราะยิ่งอบรมมากยิ่งเกิดปัญญามาก ความโง่น้อยลง ๆ ในระดับโลกียปัญญา ได้แก่ความฉลาดทางโลก เป็นประโยชน์
ต่อหน้าที่การงานทุกประเภท เรามีโรงเรียน มีสถานศึกษา ก็เพื่อช่วยการฝึกอบรมให้เกิดโลกียปัญญา การศึกษาอรมความรู้
เฉพาะอย่างจากพ่อแม่ จากผู้ชำนาญการต่าง ๆ เช่นเรียนช่างทอผ้า ช่างเงิน ช่างทอง ฯลฯ ได้โลกียปัญญา เป็นประโยชน์เช่นกัน
สำหรับโลกุตตรปัญญาคงต้องพึ่งพระอาจารย์สอนวิปัสสนา เพราะมีทางเดียวที่จะเกิดโลกุตรปัญญา ได้ เรามีวัดเพื่ออบรมด้าน
โลกุตตรปัญญามากมายทุกหมู่บ้าน ไปปรึกษาท่านดู เลือกอบรมภาวนาหาโลกุตรปัญญาตามอัธยาศัยครับ
             สรุปแล้วการทำบุญตามหลักพุทธศาสนา มีจุดประสงค์ชัดเจนคือ กำจัดกิเลสให้เบาบางลง ส่วนผลพลอยได้จาก
การทำบุญมีมากมาย เช่นทำทาน เพื่อลดความโลภ ผลพลอยได้คือช่วยเพื่อนร่วมโลกที่ยังต้องได้รับความช่วยเหลือด้วย
อามิสหรือด้วยธรรมคำสั่งสอนต่าง ๆ  รักษาศีลเพื่อควบคุมโทสะขจัดให้เบาบางลงไป ผลผลอยได้คือทำให้สังคมร่มเย็น
ไม่เบียดเบียนกัน  การทำบุญด้วยวิธีอบรมภาวนาทำให้เราขจัดความโง่เขลา ผลพลอยได้ด้านโลกียปัญญา ทำให้เราได้
คนฉลาดสามารถในการดำรงชีพในสังคมได้อย่างสะดวกสบาย ด้านโลกุตรปัญญาทำให้เรามีผู้นำทางศาสนาที่เปี่ยมด้วย
สีลาจารวัตรทำให้โลกไม่ขาดพระอริยบุคคล  ศาสนาที่คำสอนเป็นสากล พิสูจน์ได้เหมือนหลักวิทยาศาสตร์แบบนี้หายากครับ
อย่าปล่อยให้เป็นแบบใกล้เกลือกินด่างแล้วกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น