วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แห่กัณฑ์หลอนบุญพระเวส


บุญพระเวสสันดร
 ....................แห่กัณฑ์หลอน เป็นกิจกรรมที่สนุกมากสำหรับเด็ก ๆ อย่างพวกเรา พ่อแม่ใส่เสื้อผ้าใหม่ให้ ประแป้งแต่งตัวเริดทีเดียว เสร็จแล้วให้พวกเราฟ้อนนำหน้าขบวนกัณฑ์หลอน พวกผู้ใหญ่ตีฆ้องตีกลองให้จังหวะเดินตามหลัง ผ่านหน้าบ้านใครเขาจะนำข้าวต้ม เงินทอง ของทำบุญมาสมทบ กว่าจะถึงวัดก็จะมีเงินหลายสิบบาท ใช้ไม้ไผ่เหลาขนาดไม้เรียวผ่าปลายคีบเงินไว้ โคนเหลาให้แหลมปักต้นกล้วย กลายเป็นพุ่มเงิน นอกจากนี้ยังห้อยดินสอ สมุด ไม้ขีดไฟ มั่วไปหมด ส่วนของหนัก ๆ อย่างข้าวต้มก็ใส่ถาดถือไป พอถึงวัดจะมีขบวนกลองยาวของวัดมารับถึงประตูวัดทีเดียว เป็นขบวนใหญ่ช่วยให้ขบวนแห่ครึกครื้นยิ่งขึ้น ตอนนี้พวกผู้ใหญ่จะเริ่มออกลวดลายฟ้อนกันสุดเหวี่ยง ไม่มีใครสนใจเด็ก ๆ อีกแล้วแห่รอบศาลา
3 รอบ แล้วไปหยุดที่ร่มไม้ ใกล้ ๆ ศาลานั่นแหละ รอกองสอดแนมไปตรวจดูว่าพระรูปไหนกำลังขึ้นธรรมมาสน์เทศน์มหาชาติ พอท่านเทศน์จบก็นิมนต์มารับกัณฑ์หลอน นั่นคือเรื่องราวสมัยเด็ก เท่าที่จำได้ ไม่เคยสนใจมาก่อนจึงไม่ได้ศึกษารายละเอียดว่าทำไมมีกัณฑ์หลอนเฉพาะบุญเดือนสี่ กัณฑ์ไม่หลอนมีไหม จนเมื่อสมัยบวชอยู่วัด 7 พรรษา จึงได้สัมผัสงานบุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวด หรือบุญพระเวสสันดร หรือบุญมหาชาติ มีสาระพัดชื่อตามแต่จะเรียก ถึงตอนนี้เองที่ได้สนใจศึกษาประเพณีทำบุญเดือนสี่ รวมทั้งประเพณีอื่น ๆ ด้วย เพราะว่าคนที่เป็นพระภิกษุ จำเป็นต้องเรียนรู้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา และต้องเป็นผู้นำด้านประเพณีวัฒนธรรมให้ชาวบ้าน
................... บุญเดือนสี่เขาเรียกงานบุญอย่างนี้ก็เพราะเป็นงานที่นิยมจัดขึ้นในเดือนสี่ ในแต่ละเดือนของชาวอีสานจะมีประเพณีที่น่าสนใจแตกต่างกันไป เช่น เดือนอ้ายบุญเข้ากรรม เดือนยี่บุญคุณลาน เดือนสามบุญข้าวจี่ เดือน สี่บุญผะเหวดเดือนห้างานสงกรานต์ เดือนหกบุญวิสาขบูชา เดือนเจ็ดบุญซำฮะงานเลี้ยงปู่ตาอาลักษณ์ เดือนแปดเข้าพรรษา เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา เดือนสิบสองบุญกฐินและงานลอยกระทงช่วงเตรียมการ
................เมื่อจะทำบุญเดือนสี่ทางวัดและทางบ้านจะหารือกันว่าจะจัดช่วงไหนดี ได้วันเวลาแล้วต่างก็จะเตรียมการให้พร้อมชาวบ้านส่วนใหญ่จะเน้นการเตรียมของทำบุญ ข้าวปลาอาหาร จวนถึงวันงานจึงจะออกไปเตรียมงานที่วัด สำหรับทางวัด มีงานที่ต้องเตรียมหลายอย่างเช่น ตรวจสอบหนังสือลำมหาชาติสำนวนไทยอีสาน ปกติเป็นหนังสือตัวธรรม ต้องจัดการแบ่งออกเป็นตอน ๆ ให้พอดีอ่านได้จบภายใน 20 - 30 นาที กำลังพอดี และต้องแจกหนังสือให้พระเณรในวัด และส่งไปให้วัดหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลนิมนต์มาเทศน์ช่วยกันด้วย ต้องทำบัญชีจัดลำดับไว้ให้ถูกต้อง การแจกจ่ายหนังสือผูกต้องทำล่วงหน้าอย่างน้อยสิบห้าวัน เพื่อให้ผู้ได้รับแจกจ่ายมีเวลา ฝึกอ่านหนังสือธรรมให้คล่อง เวลาขึ้นเทศน์บนธรรมมาสน์จะได้ไม่ติดขัด หลังจากนั้นก็จะมอบหมายให้โยมจับสลากเลือกดูว่าตนเองเป็นผู้รับผิดชอบการเทศน์หนังสือกัณฑ์เทศน์ลำดับที่เท่าไร พระเณรรูปใดแสดงธรรมเทศนากัณฑ์นั้น ผู้จับสลากได้จะรับผิดชอบอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ถ้าเป็นพระต่างวัดต้องดูแลจัดที่นอนหมอนมุ้งอำนวยความสะดวกให้ท่านด้วย พอเทศน์จบกัณฑ์ ก็จะนำไทยทานบูชากัณฑ์เทศน์มาถวายเป็นเสร็จภาระ
.................ตรวจสอบอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในงานมหาชาติ ธุงปฏาก คือธงผืนยาว ๆ ผูกปลายไม้ไผ่ทั้งลำ ปักอยู่ตามลานวัด เป็นเอกลักษณ์ของงานบุญมหาชาติ ถ้าแผ่นธุงฉีกขาดก็ต้องให้ญาติโยมซ่อมให้เรียบร้อย คันธุงชำรุดเสียหายก็จัดหามาเสริมมีข้อสังเกตนิดหน่อยคือคันธุง ตรงโคนหลังจากปักดินแล้วตรงที่สูงแค่อก จะปาดผิวไม้ไผ่ทำเป็นไม้ตอกรอบ ๆ แล้วหาตอกมาสานเป็นกระจาด มีเสาธุงอยู่ตรงกลาง เอาไว้ใส่ดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องบูชา
  ..................ตรวจสอบผ้าผะเหวด เป็นผ้าด้ายดิบวาดรูปเรื่องราวเกี่ยวกับปฐมเหตุการณ์เทศน์มหาชาติ เรื่องมหาชาติชาดกแต่ต้นจนจบ ต้องใช้ในการไปแห่พระเวสสันดร มาถึงวัดจะใช้ขึงล้อมรอบศาลาการเปรียญ ดูเครื่องบูชาลำมหาชาติ ได้แก่ดอกไม้ธูปเทียน เมี่ยงหมาก พลูบุหรี่ อย่างละพัน ของพวกนี้ชาวบ้านนิยมทำสำเร็จรูปไว้ อัดใส่กระติ๊บข้าวขนาดใหญ่หรือภาชนะอย่างอื่นไว้ ถึงเวลาทำบุญก็ยกมาใช้ได้เลย จะมีทำใหม่ทุกปีก็คือข้าวเหนียวพันก้อน เครื่องบูชานี้จะวางอยู่ที่หน้าธรรมมาสน์ เทศน์
 ..................ศาลพระอุปคุต งานบุญมหาชาติเป็นงานที่มารชอบขัดขวางทำให้เกิดความไม่สงบวุ่นวายอยู่เสมอ นิยมเชิญพระอุปคุตเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์ที่มีฤทธิ์เดชมากมาคุ้มครองเวลาออกไปเชิญพระอุปคุตจะไปที่ริมหนองน้ำ เพราะเชื่อว่าท่านพำนักอยูที่สะดือทะเล บางหมู่บ้านจะให้คนนำก้อนหินวัดขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เท่าก้อนเส้า 3 ก้อนไปวางไว้ในน้ำ เมื่อขบวนเชิญไปถึงก็มีคำกล่าวอัญเชิญพระอุปคุต จากนั้นก็จะมีคนลงไปงมก้อนหินขี้นมาทีละก้อนแล้วถามว่า ใช่พระอุปคุตเถระหรือไม่ สองก้อนแรกจะมีคนร้องตอบว่าไม่ใช่ จนถึงก้อนที่สามจึงรับว่าใช่ จากนั้นก็เชิญก้อนหินใส่พานแห่ไปถึงวัดก็ประมาณตีห้าเศษ อัญเชิญพระอุปคุตไปที่ศาล วางก้อนหินบนศาล ตอนนี้จะจัดเตรียมเครื่องอัฐบริขาร 1 ชุด จุดธูปเทียน
บูชา ขออำนาจพระอุปคุตเถระท่านคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายไม่ให้เกิดมารขัดขวางการทำบุญ
 ................วันรวม เป็นวันแรกของงาน เช้ามืดพวกผู้ชายจะพากันไปเชิญพระอุปคุตมากปกปักรักษา มิให้มีมารมาเบียดเบียนให้เกิดภัยอันตรายขณะทำบุญ วิธีการก็ดังที่ได้กล่าวแล้ว ส่วนชาวบ้าน ทุกบ้านจะทำขนมจีนตอนเช้า สายหน่อยก็ทำข้าวต้มมัด ขณะเดียวกันญาติพี่น้องต่างหมู่บ้านก็จะมาร่วมทำบุญ โดยการนำกล้วยสุก ข้าวสารมาช่วย แถมพวกผู้หญิงยังช่วยห่อข้าวต้มกันอีกด้วย ส่วนพวกผู้ชายก็ตั้งวงเฮฮากันตามเรื่อง แขกต่างบ้านขึ้นแวะบ้านหลังใดก็จะถูกเชื้อเชิญให้ร่วมรับประทานอาหาร โดยไม่สนใจว่ารู้จักกันหรือไม่ แวะสิบหลังคาเรือนก็จะถูกต้อนรับด้วยการยกสำรับข้าวมาให้สิบครั้ง บางบ้านแถมสาโทให้ด้วย อ้อสาโทนี่ไม่เกี่ยวกับการทำบุญนะขอรับ แต่คนทำเขาแอบทำไว้กินกัน ถ้าไปเยี่ยมบ้านไหนเจอ
เขารับรองด้วยสาโทละก็สามสี่หลังคาก็หน้ามืดแทบคลานแล้ว
 ..................สองโมงเศษพวกผู้ใหญ่จะออกไปประดับตกแต่งศาลาการเปรียญที่จะใช้เทศน์มหาชาติ แต่งให้สุดฝีมือเท่าที่จะทำได้ ก้านมะพร้าวตัดลงมานับสิบก้าน ตัดใบเหลือไว้ประมาณฟุตแต่โคนจนปลายก้าน จากนั้นผ่าก้านจากปลายลงมาสักครึ่งหนึ่ง นำไปมัดตามโคนเสาบนศาลา ดึงปลายมัดติดกันทำให้เกิดเป็นรูปประตูโค้งทุกช่องเสา กระดาษสีตัดรูปธงทิวสามเหลี่ยม ติดแป้งเปียกแปะด้ายเป็นธงทิว ขึงมั่วไปมาบนศาลาจนตาลาย คนที่ตัดพวงมาลัยสวยก็ทำพวงมาลัยมัดติดเสาศาลา กระดาษย่นตัดเป็นท่อนกว้างนิ้วหนึ่งต่อกันเป็นเส้นยาว ๆ สักสามสิบเส้น มัดปลายด้านหนึ่งติดกันผูกติดเพดานศาลาปลายแต่ละเส้นจับบิดให้เกิดเกลียวแล้วผูกรายรอบศาลาเอาไว้ เวลาลมพัดเกลียวกระดาษจะวิ่งขึ้นลงหลากสีดูเพลินตาดี บางคนใช้เชือกด้ายดิบยาวสักสองเมตรชุบแป้งเปียกให้ชุ่ม แล้วนำไปคลุกข้าวสาร ทำให้มีเม็ดข้าวสารติดด้ายผูกตากให้แห้งติดกันดีแล้วนำไปผูกห้อยประดับทั่วศาลา เคยเห็นชาวบ้านเลือกต้นหม่อนมาปาดทำเป็นดอกไม้ ย้อมสาระพัดสี ทำเสร็จเรียกว่า"ดอกโน" เขาใช้เชือกด้ายร้อยเป็นเส้นยาว ๆ ประดับศาลา นัยว่าป่าหิมพานต์มันดอกไม้เยอะแถมยังเป็นเครื่องบูชากันธ์เทศน์อีกด้วย   ที่ธรรมมาสน์จัดวางเครื่องบูชาเทศน์มหาชาติ ผึ้งพัน น้ำมันหมื่น ข้าวตอกดอกไม้ เมี่ยงหมากอย่างละพัน วางชามอ่างใส่น้ำทำเป็นสระอโนดาต ใส่เต่า ปู กอบัว จอก แหน ลงไป บางแห่งเล่นจัดสี่มุมธรรมมาสน์ก็มี นอกจากนี้จัดตั้งกระถางธูปเชิงเทียนไว้จุดบูชาด้วย ถ้ามีไฟฟ้าและเครื่องเสียงก็จะต้องมีการตรวจสอบและจัดวางให้เรียบร้อยพร้อมใช้งาน                                               
 ..................วันงานเขาจะแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ประมาณ 3 โมงเย็นมัคทายกจะออกมาที่วัดนิมนต์พระไปร่วมพิธีแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง เลียนแบบเหตุการณ์ในตอนที่พระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จออกไปป่าเขาวงกฏ เชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองชาวบ้านเลือกที่บริเวณไม่ไกลหมู่บ้านนักเป็นที่ทำพิธี ปูลาดเสื่อไว้ให้พระเณรนั่ง ไหว้พระสวดมนต์รับศีลก่อน จากนั้นพิธีกรก็จะกล่าวประกาศอัญเชิญพระเวศสันดรเข้าเมือง ถ้าพระที่ไปร่วมขบวนเทศน์แหล่ฉักขัตติได้ ก็นิมนต์ท่านเทศน์แหล่เชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง จบแล้วก็ลั่นฆ้องกลองเริ่มขบวนแห่กลับหมู่บ้าน ขบวนประกอบด้วยเสลี่ยงพระพุทธรูปนำหน้า ตาม
ด้วยเสลี่ยงพระเถระ แถวพระภิกษุสามเณร ขบวนผ้าพระเวสส์จะถูกคลี่ออกกางช่วยกันถือ ผู้ร่วมขบวนแห่จะหาดอกไม้คนละกิ่งสองกิ่งติดมือไปด้วย ไปถึงวัดแห่รอบศาลา 3 รอบนำดอกไม้บูชาที่คันธุง ศาลาอุปคุต ส่วนผ้าพระเวสส์นำไปขึงวงรอบบนศาลา
 .............. เสร็จพิธีแห่ก็ประมาณ 6.30 น.ได้เวลาสำหรับเจริญพระพุทธมนต์ จะมีชาวบ้านส่วนหนึ่งเตรียมพร้อมที่จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์อยู่บนศาลาการเปรียญก่อนแล้ว เมื่อขบวนแห่มาถึงก็พร้อม ทายกนำไหว้พระสวดมนต์รับศีล ฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วจะอาราธนาเทศน์ พระท่านจะเริ่มเทศมาลัยหมื่นมาลัยแสน เป็นเรื่องราวพระมาลัยเถระโปรดสัตว์นรก และไปเที่ยวสวรรค์ การสนทนากับพระศรีอารย์เทพบุตร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์จะมาตรัสรู้ในอนาคต ผู้ประสงค์จะได้พบศาสนาพระศรีอารย์จะต้องเคยฟังเทศน์มหาชาติให้จบในวันเดียว พระมาลัยเถระกลับมายังโลกได้เล่าเรื่องราวให้อุบาสกอุบาสิกาฟัง จนเกิดประเพณีเทศน์มหาชาติขึ้น ซึ่งเป็นปฐมเหตุการเทศน์มหาชาติ การเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน
เทศน์ให้จบก่อนแต่ตอนเย็น พอถึงวันรุ่งขึ้นจะได้เริ่มเทศน์มหาชาติได้เลย หากไม่มีการเทศน์ตอนเย็น เช้ามืดจะจัดขบวนแห่ข้าวพันก้อนมาวัด นิมนต์พระมาทำพิธีเริ่มเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน แล้วต่อเทศน์มหาชาติไปจนเสร็จ
.................. วันเทศน์มหาชาติ มัคทายกจะตื่นแต่เช้ามืด ชักชวนเพื่อนบ้านแห่ข้าวพันก้อนออกไปวัดกันจะมีผู้คนตื่นมาสมทบกันกลายเป็นขบวนใหญ่ ไปถึงวัดก็แห่รอบศาลา ข้าวพันก้อนบางส่วนบูชาที่คันธุงส่วนใหญ่จะนำไปบูชาที่ธรรมมาสน์ เสร็จแล้วรอพระเถระลงมาที่ศาลา จะมีพิธีไหว้พระสวดมนต์และอาราธนาเทศน์ พระก็จะเริ่ม บอกศักราชและเทศน์มหาชาติต่อไป พระที่รับผิดชอบเทศน์กัณฑ์ทศพรอันเป็นกัณฑ์แรก จะขึ้นธรรมมาสน์ต่อจากการบอกศักราชจบการเทศน์แต่ละกัณฑ์อาจแบ่งหนังสือผูกให้พระเณร 2-3 รูป เทศน์ติดต่อกันจบ ต่อไปก็กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์วนประเวสน์ ชูชก จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักกบรรณ มหาราช ฉขัตติและ นคร เป็นอันจบการเทศน์มหาชาติ เวลาประมาณทุ่มหนึ่งก็ควรจะจบได้ เป็นการเทศน์ติดต่อกันไม่หยุด ท่วงทำนองการเทศน์เป็นการอ่านทำนองหนังสือผูกของ
อีสาน ผู้จะอ่านได้ดีต้องฝึกเหมือนอ่านทำนองเสนาะแต่เพราะกว่า มีลูกเล่นเยอะ พระเณรที่เทศน์เก่ง ๆ จะถูกชาวบ้านตามไปนิมนต์แทบไม่มีเวลาว่าง นอกจากนั้นมีการเทศน์แบบหกกษัตริย์ เป็นการเทศน์ทำนองแหล่อีสาน สมมติผู้เทศน์เป็นตัวละครในเรื่อง เทศน์บรรยายเรื่องราวโต้ตอบกัน สอดแทรกคติธรรม ช่วยให้การฟังเทศน์สนุกสนาน ฟังจนจบได้ไม่เบื่อ ผู้ประสงค์จะฟังให้จบในวันเดียวจะไม่ยอมลงจากศาลา นั่งฟังตลอดวันจนจบ จบการฟังเทศน์ก็จะมีพิธีขอขมาพระรัตนตรัยเป็นเสร็จการทำบุญมหาชาติ
 ...............ระหว่างมีการเทศน์บนศาลา ชาวบ้านจะจัดกัณฑ์หลอน คือไทยทานต้นเงินต้นทอง แห่กันมาเป็นกลุ่ม ๆ เมื่อมาถึงวัดตรงกับช่วงเวลาที่พระรูปใดอยู่บนธรรมมาสน์พระรูปนั้นต้องรับกัณฑ์หลอนนั้นด้วยวิธีรับก็ไม่มีอะไรมาก ชาวบ้านจะมาตามไปที่ที่จะทำพิธีถวายกัณฑ์หลอน หัวหน้าจะนำไหว้พระรับศีลและถวายกัณฑ์หลอน พระให้พรเป็นเสร็จพิธี กัณฑ์หลอนจะมีเล่นกันสนุกทั้งวัน นอกจากการรับกัณฑ์หลอนแล้ว โยมที่จับสลากเป็นผู้อุปถัมภ์กันฑ์เทศน์จะต้องเตรียมกัณฑ์เทศน์มาถวายพระที่เทศน์กัณฑ์ที่ ตนเองเป็นผู้อุปถัมภ์ด้วย
................. จบฟังเทศน์มาตลอดทั้งวัน ก่อนเลิกรากันไปชาวบ้านจะทำพิธีขอขมาลาโทษพระรัตนตรัย นำหินอุปคุตไปคืนที่ท่าน้ำ เป็นอันเสร็จสิ้นประเพณีบุญผะเหวด สำหรับความสนุกสนานของหนุ่มสาวนั้นไม่ได้พูดถึง ทั้งที่มีความหมายมากเพราะหมายถึงโอกาสที่พวกเขาจะได้พบปะกัน มีหนุ่มสาวต่างหมู่บ้านมาร่วมงานทำบุญมากหน้าหลายตา มีโอกาสได้รู้จักมักคุ้นกัน นำไปสู่ความรักใคร่ชอบพอและมีไม่น้อยก้าวหน้าไปถึงขั้นแต่งการแต่งงานกันก็มาก ส่วนข้าพเจ้าเองไม่ได้ประโยชน์จากประเพณีนี้ในทำนองรัก ๆ ใคร่ ๆกับเขาหรอก เพราะช่วงรุ่นหนุ่มไม่ค่อยเอาถ่านในเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ จีบสาวไม่เก่งเอาแต่ทำมาหากินซะเป็นส่วนมาก ครั้นมารู้เรื่องประเพณีวัฒนาธรรมเรื่องนี้ ก็ตอนห่มผ้าเหลืองแล้วก็เลยไม่ค่อยจะมีข้อมูลหนุ่ม ๆ สาว ๆ มาเล่ามากนัก ยิ่งได้เห็นประเพณีทำบุญสมัยใหม่รู้สึกว่าจะก้าวหน้ามากเกินไปจนน่าเป็นห่วงว่าต่อไป จะมีชาวบ้านสนใจประเพณีที่ดีงามนี้กันบ้างหรือเปล่าหรือจะปล่อยให้เลือนหายไปกับกาลเวลา 
------------------------
ขุนทอง ตรวจทาน  2/8/59

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น