วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิถีปฏิบัติของชาวพุทธ

วิถีชาวบ้านแบบพุทธ
............. ท่าน ผอ.สามัญศึกษาจังหวัดเลยคนก่อน(ท่านสุเมธ กัปโก) เคยปรารภกับกระผมว่าอยากให้เขียนถึงเรื่อง ประเพณี พื้นบ้านไว้บ้าง เพราะปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม ่ไม่ค่อยจะได้รู้ว่า ประเพณี เก่าก่อน สมัยปู่ย่าตา ยาย ทำกันอย่างไร จะหวัง พึ่งคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม ่ก็ไม่ค่อยมีเวลา พอที่ จะเล่าเรื่อง ประเพณี วัฒนธรรม ให้ลูก ๆ ฟัง ปล่อยให้เด็ก ๆ หาความรู้ กันเอาเอง เคยรับปากว่าจะลองเขียนดู 
จนแล้วจนรอด ยังไม่ลงมือเขียน ซะที จนท่านจากไป นึกถึง เรื่องนี้ขึ้นมาทีไรยังรู้สึกผิดเสมอที่รับปากคนอื่น แล้วไม่ทำตาม ไม่ได้คิดจะเบี้ยว หรอก ขอรับ แต่เพราะเวลา หา ยาก นั่นประการหนึ่ง ที่สำคัญเรื่องประเพณีมี เยอะแยะ ก็จริง แต่เขียนยาก จะเขียนแบบตำราหรือ เอกสารทาง วิชาการ ก็ไม่ถนัด ดังนั้น
จึง ขอใช้ สไตล์ที่ถนัดก็แล้วกัน เล่าเรื่องขอรับ เคยพบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้าน ครูอาจารย์ถึงการทำบุญ
ทำทานก็เยอะ จำอะไรได้นำมาเล่าสู่กันฟัง แบบนี้พอกล้อมแกล้ม ได้ ขอเริ่ม เลยนะขอรับ
ทำไมจะทำบุญต้องไปที่วัด ไม่ไปวัดไม่ได้บุญหรือ ?
..................คำถามแบบนี้ได้ยินบ่อยมาก จากลูก ๆ ครับเราไปวัดก็อยากพาเขาไปด้วย จะได้คุ้นเคยกับหลวงพ่อ คุ้นเคยกับการทำบุญตักบาตร ได้รู้จักเพื่อนบ้าน บ่อยครั้งเข้าเด็กก็ชักสงสัยว่า เอ๊ะไปวัดทำบุญ ไปที่อื่นไม่ได้บุญหรือไง คุณพ่อคุณแม่ใจ เย็น ๆ นะขอรับตอบไม่ได้ ก็อย่าไปแจก รางวัลเด็ก เขาล่ะ คำถามแบบนี้ไม่ใช่ง่ายที่จะตอบ ความจริงไปทำบุญที่วัดมันทำง่ายครับ จะทำบุญด้วยวิธีทำทานก็ได้ 
วิธีรักษาศีลก็สะดวก วิธีเจริญสติวิปัสสนาก็มีอาจารย์สอนให้ เรียกว่าครบ บุญกริยาวัตถุ 3 ประการนั่นเอง ดังนั้นจึงนิยมไปทำบุญที่วัดกัน
........ ไปทำบุญที่อื่นได้ไหม แน่นอนครับ เมื่อทานหมายถึง การให้ เราให้คนอื่นก็ได้ประโยชน์ เราเองก็
ได้เสียสละความเห็นแก่ตัวหรือความ โลภ ของเราลดลง นั่นแหละคือบุญที่ได้จากการทำทาน จะทำในวัด นอกวัด ทำแล้วได้ประโยชน์ สองอย่างถือว่าได้บุญจากการทำทาน ครับการทำบุญด้วยวิธีรักษาศีลเช่นกัน คนส่วนมากนิยมไปรักษาศีลที่วัด เพราะง่ายต่อ การรักษา ศีลไม่ค่อยจะขาด ไม่มีสัตว์ต้องไปฆ่า ไม่มีความจำเป็นต้องไปลักขโมย จะจีบลูกเมียคนอื่น ที่วัดไม่มีหรอก เหล้ายาหลวงพ่อ ก็ไม่มีบริการ รักษาศีลที่วัดสะดวกดีครับ ทำศีลให้บริสุทธิง่าย การที่พฤติกรรมทางกาย วาจา ก็สงบเรียบร้อย นั่นแหละครับบุญที่ได้จากการรักษาศีล การรักษาศีลที่วัดเป็นการรักษาศีล ที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรมชาติ ศีลที่รักษาจึงไม่ค่อยจะเข้มแข็งนัก พอออกนอกรั้ว วัด เจอศัตรูศีล 5 เข้า ศีลที่รักษาพังซะแล้ว ปกติ ญาติโยมเรามีเวลา อยู่ที่วัด ปีละ ไม่กี่ชั่วโมงเอง เวลาส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้าน ขืนไปรักษาศีลเฉพาะตอนอยู่ที่วัดแสดงว่าเวลา ส่วนใหญ่คือเวลา  ที่ไม่สนใจ รักษาศีล ไม่น่าจะ ถูกต้อง   การรักษาศีลให้เคร่งครัดตอนอยู่นอกวัดสำคัญไม่น้อยหรอกใช่ไหมขอรับ
 .............การทำบุญด้วยการเจริญภาวนา ส่วนมากมุ่ง จะไปนั่งสมาธิเข้าฌานกันท่าเดียว ทำอย่างอื่นคิดว่าไม่ใช่ภาวนา ที่จริงการฝึกอบรมให้เกิดสติปัญญามี 2 แนวทางครับคือ โลกียปัญญาและโลกุตตรปัญญา มีประโยชน์ทั้งนั้นครับ ทำบุญด้วยวิธี ภาวนามัย คือการฝึกอบรมให้เกิดปัญญา   การกระทำใด ๆ ที่ทำ ให้เราฉลาด หายโง่ เกิดปัญญา ถือเป็นการภาวนาได้ทั้งนั้น ส่วนการเจริญสมาธิวิปัสสนาเป็นวิธีที่จะทำให้เรา ฉลาดใน หนทาง ของโลกุตรธรรม ครับ ต้องใช้วิธีนั้นจึงจะฉลาดในโลกุตรธรรมได้ ความฉลาด หายโง่คือบุญที่ได้จากการภาวนาครับ ย้ำนะครับ ปัญญาคือบุญที่ได้จากวิธี ภาวนามัย ถ้าไม่เกิดปัญญา ถือว่าบุญยังไม่ได้นะครับ
............ จากหลักการทำบุญสำหรับขาวพุทธ ที่เรียก บุญกิริยาวัตถุ 3 อย่างครับคือ ทานมัย ศีลมัย และภาวนามัย ดังกล่าวแล้วสามารถเข้าใจได้ ไม่ยาก ควรสังเกตว่าท่านสอนให้ทำทานจะได้บุญคือสละโลภออกไปจากใจเรา ให้ลดน้อยลง ๆ การทำบุญด้วยวิธีรักษาศีลจะทำให ้กายวาจา สงบเรียบร้อย ลดโทสะให้เบาบางลงไปเรื่อย ๆ  และทำบุญด้วยวิธีเจริญภาวนา ได้บุญคือปัญญา ความฉลาด ลด โมหะความโง่งมงายน้อยลง ๆ ดังนั้นคนที่ชอบทำทาน จะเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว คนรักษาศีลใจเย็นใจดีครับ ไม่ขี้โมโห โทโสคนหมั่นเจริญภาวนา เป็นคนฉลาด ไม่โง่งี่เง่าครับ  ไปวัดเลยสะดวกต่อการทำบุญ ทั้งที่ความจริง
นอกวัดมีโอกาสทำบุญได้มากมายครับ
...........ทำไมเวลาทำบุญบ้าน ตั้งโต๊ะหมู่บูชา หมู่ห้าบ้าง หมู่เจ็ดบ้าง หมู่เก้าบ้าง แล้วยังตั้งไม่เหมือนกัน
...........ครูสอนสังคมศึกษาครับ ไปช่วยทำบุญเขามาหลายบ้านเห็นหลายรูปแบบ ไม่เหมือนตำรา ที่สอนเด็ก ยังดีนะคุณครู ถ้าไปเจอที่บ้านกระผมเขาเล่นแบบไม่มีหมู่ เขาใช้หมอนพิงสี่เหลี่ยมที่เรียก"หมอน
เท้า" ไม่ใช่หมอนมีเท้านะครับ สำหรับเท้าแขน หรือนั่งพิงนั่นเอง เขาวาง พระพุทธรูปบนหมอน เห็นแล้วเสียวแทนพระพุทธรูปเหมือนกัน โอกาสหล่นคอหักค่อนข้างสูง การตั้งโต๊ะหมู่ประเพณีไทยภาคกลางเขาทำ มาก่อนครับ อีสานเราเห็นเข้าท่าก็เอามาใช้บ้าง การตั้งหมู่โต๊ะแตกต่างกันก็เพราะข้อจำกัดสถานที่ และสะดวกในการหามาใช้ครับ ส่วนที่มีการจัดโต๊ะแปลก ๆ แตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะประสบการณ์ 
คนจัด ถ้าเขารู้ระเบียบวิธี ไม่มีปัญหาจัดได้เรียบร้อยครับ แต่ถ้ารู้บ้าง ไม่รู้บ้างผลงานก็แปลก ๆ อย่างทีเห็น เช่นลวดลายโต๊ะที่เขาอุตส่าห์ทำให้กลมกลืนกัน เพื่อนเล่นหันสลับด้านกันซะนี่ หลวงพี่มาเห็นก็ต้อง เลยตามเลย ปกตินิยมจัดให้พระพุทธรูปหันหน้าไปทิศตะวันออก ถ้าทำไม่ได้ก็อนุโลมครับ ที่สำคัญอาสนะพระสงฆ์จะต้องอยู่ ด้านซ้ายของ พระพุทธรูปครับ ถ้าจัดให้อยู่ด้านขวาถือว่าไม่เคารพ ประธาน
คือพระพุทธรูป ระวังหน่อยก็ดี ที่นั่งพระ บางบ้านขนฟูกมาปูลาดเต็มที่ แถมมีพรหมขนสัตว์ หรือหนัง
เสือที่ฟอกแล้วปูทับอีกชั้น นึกว่าคงจะได้บุญเยอะ ตรงข้ามครับ หากหลวงพ่อยอมนั่งก็ต้อง  อาบัติทันที บาปกรรม เปล่า ๆ สู้ปูลาดด้วยผ้าสะอาด ๆ ทับด้วยนิสีทนะไม่ได้ สถานที่ที่จัดชุดรับแขกไว้ให้แขกนั่ง ก็ระวังอย่า ให้ที่นั่งพระต่ำกว่าที่นั่งแขก ของใช้ ที่จัดวางพร้อมที่นั่งแต่ละที่ ได้แก่ กระโถน ภาชนะใส่น้ำดื่ม และพานหมากพลูบุหรี่ อ้อ ! สมัยนี้ไม่นิยมถวายหมากพลูบุหรี่ เพราะชาวบ้าน เห็นว่าเป็นสิ่งเสพติด 
......... เกือบลืมแล้วซิ ตั้งโต๊ะหมู่ ถ้าหาตำราไม่ได้ ดูจัดให้เป็นระเบียบ ชิ้นไหนเดี่ยว วางตรงกลาง มีคู่วาง 2 ข้าง ตัวไหนสูงอยู่หลังสุด ตัวต่ำวางถัดมา  หันด้านที่สีลวดลายออกข้างนอก แค่นี้พอเป็นแนวทางจัดได้ครับ
 .......... งานมงคลเห็นชาวบ้านแต่งเครื่องบูชาพระปริต ขันน้ำมนต์ วงด้ายสายสิญจน์ แต่ละบ้านไม่ค่อยเหมือนกัน ที่ถูกทำอย่างไร ?
.............ประเพณีทางภาคอื่น ๆ ยังไม่เคยเห็น ส่วนอีสานบ้านเฮานั้น การแต่งเครื่องบูชาร้อยแปดรูปแบบครับ ขึ้นอยู่กับนักปราชญ์ ประจำหมู่บ้าน ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นนักบวชมาก่อนนั่นเอง เวลาชาวบ้านเขามาร่วมทำบุญ ที่เขาเรียกมาโฮมบุญ นั่นแหละจะมี ข้าวสาร อาหารแห้ง มาเพาะมาอนุโมทนา เจ้าภาพต้อง
เตรียมถาดไว้ บางบ้านถาดเครื่องบูชาพระปริตตจึงมีข้าวสารวางรองพื้น มีขันน้ำมนต์ตั้งบนข้าวสาร
รอบ ๆ ขันน้ำมนต์เป็นดอกไม้ธูปเทียนวาง 4 ทิศ 8 ทิศ วนรอบขันน้ำมนต์ ถ้ามีหม้อน้ำมนต์วางแทนขันได้ก็ใช้หม้อน้ำมนต์ เปิดฝาออกใช้ไม้ไผ่มัด เป็นรูปกากบาทวางพาดปากขันสำหรับวางเทียนน้ำมนต์
เวลาพระทำน้ำมนต์ ถาดเครื่องบูชาจะวางอยู่ใกล้พระเถระด้านขวามือขนาดเอื้อม มือไปหยดเทียนในขันน้ำมนต์ได้ เทียนน้ำมนต์สำหรับให้พระจุดเวลาจะทำน้ำมนต์ ชาวบ้านนิยมใช้เทียนหนัก 1 บาท ใส้เทียน
ใหญ่หน่อย เวลาจุดจะได้ไม่ดับก่อนทำน้ำมนต์เสร็จ ถ้าดับก่อนชาวบ้านเขาถือเป็นลางไม่ดี พระที่ทำน้ำมนต์จึงต้องระวังมิให้เทียนดับก่อนทำเสร็จ เวลา พระสวดถึงบทมงคลสูตร  อเสวนา จ พาลานัง ……เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ถวายพระ เมื่อพระดับเทียนหลังทำน้ำมนต์เสร็จ
...............เจ้าภาพควรระวังอย่านำเทียนน้ำมนต์ที่ดับทิ้งไปแล้ว กลับมาใช้อีก เพราะการดับเทียนหมายถึงการดับเสนียดจัญไรไปพร้อมกับเปลวเทียนเล่มนั้นการนำมาจุดอีกหมาย ถึงการเรียก เสนียดจัญไรกลับมานั่นเอง ปล่อยให้มันดับไปกับเปลวเทียนน่ะดีแล้ว .....ด้ายสายสิญจน์ ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่า ไม่ค่อยจะเห็น เวลา พระชักบังสุกุลก็เล่นใช้ด้ายหรือไหมเป็นไจกันเลย ผูกต่อกันยาว ๆ ดังนั้นที่วัดจะมีด้ายหรือไหมเป็นกระสอบทีเดียว นาน ๆจะมีโยมไปขอบูชา ไปใช้ ระยะหลังเห็นใช้สายสิญจน์กันทุกบ้านที่ทำบุญ โดยเชื่อว่าเป็นด้ายศักดิ์สิทธิ์ ภูติผีเกรงกลัว ถ้าวงรอบบ้านก็เสร็จกันผีเข้าบริเวณบ้านไม่ได้ ทำบุญ อุทิศให้คนตายจึงไม่นิยมวงสายสิญจน์รอบบ้าน เกรงเขาจะมารับส่วนบุญไม่ได้ ถ้าทำบุญมงคลวงสายสิญจน์กันตามสะดวก จุดเริ่มต้นของสายสิญจน์ อยู่ที่ฐานพระพุทธรูปบนโต๊ะหมู่บูชา วงไปรอบบ้านแล้วย้อนกลับมาที่เดิม เหลือด้ายไว้สำหรับพระจับเวลาแสดงพระปริตต มงคลก็พอ อ้อบางหมู่บ้านเขาไม่นิยมใช้สายสิญจน์ชักบังสุกุล เพราะเขาถือว่าสายสิญจนน์กับผีไม่ถูกกันครับ
 .........  ทำไมนิมนต์พระมาทำบุญบ้าน 4 รูป 5 รูป 6 รูป 7 รูป 8 รูป 9 รูป โอกาสไหนควรนิมนต์กี่รูป ?
........................การทำบุญที่บ้านมีหลายรูปแบบ ที่เป็นทางการหน่อยก็เป็นงานมงคล งานอวมงคล งานที่ปรารภเหตุจากเรื่องไม่ดีไม่งาม โดยเฉพาะเรื่องการตาย จัดเป็นงานอวมงคล งานที่ปรารภเหตุที่ดีงามเป็นงานมงคล การนิมนต์พระจำนวนคี่ และจะใช้จำนวนคู่ในกรณีที่เป็นงานอวมงคล ส่วนจำนวนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสถานที่และความสะดวกของเจ้าภาพ แต่ตามบ้านนอกไม่ค่อยเคร่งครัดนักเช่น ทั้งวัดมีพระแค่ 3 รูป ก็เหมาทุกงานนั่นแหละอย่าไปถือสาชาวบ้านเขาเลยเพราะพระในชนบท หายากครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น