วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เข้าพรรษา

วันเพ็ญเดือนแปด เข้าพรรษา
-------------------
........การนับวันเวลาแบบจันทรคติ คงเคยได้ยินกันมาบ้าง เดือน อ้าย เดือนยี่ และก็เดือนสาม..เดือนสิบสอง แล้วก็วนมาเดือนอ้ายใหม่ มีเกณฑ์การนับ เดือน คี่ 29 วัน เดือนคู่ 30 วัน ดังนั้นเดือนคี่ข้างขึ้น วันเพ็ญ 15 คำ ส่วนข้างแรมวันเดือนดับ 14 คำ ในส่วนเดือนคู่ 15 ค่ำทั้งข้างขึ้นข้างแรม รอบปีหนึ่งจึงมี (6* 29) +(6*30) 354 วัน คลาดเคลื่อนคือต่างจากระบบสุริยคติ 365-354 = 11 วัน 3 ปี ก็จะต่าง กัน 33 วันเลยมีระบบแปดสองหน เพื่อมิให้ต่างกันมากเกินไป ก็เหมือนที่รู้กัน ทั่วไปแหละครับ ไม่งั้นวันเดือนปีกับฤดูกาลต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนไปมาก เหมือน ชาวบ้านเราถึงเดือน หก รอ ฝนแล้ว จะหว่านกล้า เดือนแปด นาข้าวก็ควรจะ เขียวขจีแล้ว ถ้าเกิดฝนไม่มา ก็เข้าใจว่าฝนแล้ง ยิ่งระบบเดือนมันต่างกันปีละ 11วัน ก็ยิ่งทำให้ฤดูกาลต่างจากปีก่อน ๆได้มากขึ้น 
.......ผมเขียนถึงวันเวลา แถไปซะไกล ความจริงจะเขียนถึงวันเข้าพรรษา เท่านั้นเอง เพราะมีกิจกรรม หนึ่งที่เคยเห็นสมัยเด็ก กำลังจะหายไป แถมไม่รู้จัก กันด้วย คือ การถวายผึ้งถวายน้ำมัน ผึ้งแปรสภาพ มาถวายต้นเทียนกัน พอจะ เข้าใจ แต่ถวายน้ำมันนี่ไม่มีจริง ๆ มีบางท่านบอกผมว่า คงไม่จำเป็นมั้ง เลยเลิกถวายน้ำมัน แต่เที่ยนก็ไม่จำเป็นนะ ยังมีถวายเทียนอยู่ 
.......วัสดุให้แสงสว่างสมัยผมยังเด็ก เห็นใช้กันคือ น้ำมัน ไต้ ตะเกียง และ เทียน น้ำมันที่ใช้เป็นน้ำมัน  พืช น้ำมันจากสัตว์ ส่วนน้ำมันก๊าด มาเห็นตอนเป็นเด็กโตแล้ว เมล็ดพืชหลายชนิด เอามาบีบน้ำมัน ได้ เช่น มะพร้าว ถั่วต่าง ๆ งา เนื้อจากเมล็ดพืช เช่น หมากค้อ ค้อแลน หมากบก ละหุ่ง วิธีการคล้ายกันคือ เอามาผึ่งแดดให้ร้อนจนมีน้ำมันซึม จะได้บีบง่าย แล้ว เอาเข้า เครื่องบีบอัด ก่อนทำเป็นครก สาก เดี๋ยวนี้พัฒนาเป็นกระบอกอัดด้วย เกลียว ทุ่นแรงเยอะ บีบได้น้ำมันดิบสักกระป๋องนี่ก็เก่งมากแล้ว 
.......น้ำมันจากต้นยางนา ต้นสะแบง ต้นพลวง เขาจะขุดที่โคนต้นเป็นหลุมใหญ่ เอาไฟเผา คืนเดียวจะมีน้ำมันไหลซึมออกมา เช้า ๆ ก็ไปตักเอามาใช้เป็นเชื้อเพลิงบ้าง ผสมชันเป็นกาวพิเศษ ยา ตะกร้า กลายเป็นครุตักน้ำบ้าง เป็นกาวยา เรือบรรทุกข้าว เหนียว ติดทน และยังเอาไปทำไต้ จุดไฟได้ด้วย ทำไต้สำหรับ จุดไฟให้ความสว่างเวลา ทานข้าวตอนเย็น ลูกหลานลงข่วงชุมกันเข็นฝ้าย ไปส่องกบเขียด ใช้ไต้แทนโคมไฟ วิธีทำไต้ใช้เนื้อไม้ผุ ๆ บดให้ยุ่ย ผสมน้ำมันยาง ตากให้แห้งแล้วห่อด้วยใบตอง มัดเป็นเปราะ ๆได้แท่งยาวสักคืบสองคืบ เก็บไว้ ใช้ตลอดปี เวลาจุดควันคลุ้งทั้งบ้าน ลำบากแต่ก็ทนกันได้
.......น้ำมันจากสัตว์ หมู วัว ควาย น้ำมันที่แข็งตัว เรียกว่า ไข เวลาจะใช้หากระบอกไม้ไผ่มาใส่น้ำมัน ทำใส้จุ่มลงไป จุดไฟให้แสงสว่างได้  ที่เขาเรียกเทียนไข คง เพราะ ไข พวกนี้กระมัง
........ขี้ผึ้ง ชื่อบอกชัดว่าได้จากผึ้ง รังผึ้งที่มีน้ำหวาน ช่องเก็บน้ำหวานจะทำจาก ไขที่มันได้มาจากตอนออกไปหาน้ำหวานดอกไม้ มาที่รังจะทำช่องที่ใช้เก็บน้ำหวานด้วยไขมัน เวลาถูกความร้อน จะละลายเป็นขี้ผึ้ง ส่วนที่เป็นช่องวางไข่ ไม่มีขี้ผึ้งหรอก  ขี้ผึ้ง สามารถ นำไปย่างไฟให้อุ่นจะอ่อนตัว เหนียว เอาไปพันรอบเส้นด้าย กลึงเป็นแท่งกลม ๆ เรียกเทียน ใช้จุดส่องสว่างได้
........เทียนยุคใหม่ ใช้ไขปลาวาฬ พาราฟิน เรซิ่น ทำให้ได้เทียนที่มีคุณภาพ ดี จุดได้ทนนาน ก็ขอนำมาแทรกไว้ให้รู้ว่าเทียนทำได้จากวัสดุมากหลายชนิด ทีนี้ก็จะขอกลับคืนไปวันเข้าพรรษา กับการถวาย น้ำมัน ถวายเทียนต่อ ก่อนนั้น การทอดเทียน เป็นกิจกรรมสำคัญนิยมทำช่วงเข้าพรรษา โดยรวบรวมเทียน น้ำมัน นำไปถวายที่วัดในหมู่บ้าน หรือวัดบ้านอื่น สนุกตรงที่ไปวัดบ้านอื่นครับ ทำต้นเทียน ห้อยเทียนขาวเทียนเหลือง และสมุด ดินสอ ของใช้ เต็มต้นเทียน เหมือนเขาทำต้นกัณฑ์หลอนนั่นแหละ แต่แขวนเทียนเยอะไปหน่อย เลยเรียกต้นเทียน  ต่อมาก็ทำเป็นต้นเทียนจริง ๆ แท่งใหญ่  แห่ไปถวายวัด
ที่สำคัญจะมีการมีแข่งขันร้องสารภัญญะในงานนี้ด้วย หลวงพ่อ ต้องเตรียมรางวัลไว้ให้ด้วยนะ
........น้ำมันที่ไปถวายวัด ถ้าเป็นน้ำมันพืช เทรวมกันใส่ปีบได้เลย ถ้าเป็นน้ำมัน ก๊าดก็แยกคนละปี๊บ น้ำมันนอกจากเติมตะเกียงแล้ว นิยมเอาไปผสมขี้ผึ้งทำเป็นน้ำยาถูพื้นไม้กุฏิ ศาลา ยังกะลงแชลแลค สวยงามดี ได้น้ำมันมาวัดจะใช้แบบตะเกียง น้ำมันก๊าด หรือเทใส่กระบอกไม้ไผ่ ทำใส่จุ้ม จุด ปักกลางลานวัด แทนตะเกียง ก็ใช้ได้ดี นอกจากนี้น้ำมันก๊าด หวงไว้ใช้กับตะเกียงโป๊ะ ตะเกียงรั้ว และเจ้าพายุ อ้อบางที เขาเอาเตาต้มน้ำแบบใช้น้ำมันก๊าดมาถวายพร้อม ก็ได้ใช้แต่หนวกหูมาก เสียงดัง เดี๋ยวนี้ไฟฟ้ามีใช้กันทั้งบ้านและวัด ความจำเป็นเรื่องน้ำมันเลยลดลง ไม่ค่อยมีแล้วการถวายน้ำมันวันเข้าพรรษา
........ถวายเทียนน่าจะเลิกก่อนถวายน้ำมัน เพราะเทียนทำหน้าที่อย่างเดียวคือ จุดให้แสงสว่าง มีไฟฟ้าแทนได้เต็มร้อย แต่ถวายเทียนยังมีอยู่ เพราะอะไร เพราะเขาเอาไปเป็นเครื่องมือเล่นสนุกกัน เรียกแห่เทียนพรรษานั่นแหละ เทียน ก็ต้องพัฒนาไปถึงระดับห้ามจุดไฟ จะเอาไปพัฒนาต่อในปีถัดไป ขบวนแห่ก็มี ทั้งดนตรีนักฟ้อน ทำให้มีคนรอชมการแห่เทียนมากมาย สนุกกันทั้งคนทำ คนแห่ และคนชม
.......พูดถึงเข้าพรรษา แถไปหาน้ำมันละเทียนจนเกือบลืมไหมล่ะ พรรษา พัสสา วัสส ประสา ได้ยินพูดกันบ่อย ๆ หมายถึง ฤดูฝน ยกเว้นคำ ประสา เป็นภาษาปากของคนเฒ่าคนแก่ พระพุทธเจ้ากำหนดให้พระภิกษุหยุดจาริก อยู่อาศัยเป็นที่เป็นทาง ตลอด 3 เดือน สมัยก่อนการเดินทางไปมาคงไม่สะดวก ถนนหน้า ฝนคงเละดินโคลนน่าดู ชาวบ้านนิยมไปทำบุญเมื่อทราบพระผ่านมา เดินทางไกลกว่าจะถึงที่พระหยุดพัก พระพุทธเจ้าจึงกำหนดให้หยุดท่องเที่ยว จากริกช่วง 3 เดือน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ชาวบ้านจะทำบุญก็สะดวก ไปวันไหน ก็ง่าย เพราะมีพระอยู่จำพรรษา นี่ก็เข้าพรรษาอีกแล้ว เล่าความหลังสู่กันฟัง เล่น ๆ น่ะครับ ไม่มีอะไร