วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การบวช


   ปุจฉา    บวชพระ บวชเณร เคยเห็นมานานแล้ว แต่บวชชีพราหมณ์ บวชต้นไม้  มีระเบียบวินัยปฏิบัติอย่างไร ?
         เพื่อนกันเองโยนคำถามมาให้ตอบ ทั้งที่คนถามเองก็ตอบได้  จะยืมมือกระผมเขียนตอบให้ว่างั้นเถอะ ไปพลิกตำราพระไตรปิฏกหาไม่เจอหรอกขอรับ ระเบียบวิธีการบวชชีพราหมณ์ ระเบียบวิธีบวชต้นไม้  คงเป็นสมัยโน้นยังไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เลยไม่มีบันทึกเอาไว้  เมื่อไม่มีมาก่อนระเบียบวิธีการที่ทำอยู่ปัจจุบันเขาทำกันอย่างไร  การบวชชี มีมานานแล้ว นุ่งขาวห่มขาวไปขอรับศีลแปดเป็นนิจศีล คือรักษาตลอดเวลา ก็เป็นแม่ชีแล้ว ศีลแปดข้อที่รักษาเป็นนิจศีล เว้นอะไรบ้าง               
1        ปาณาติปาตา เวรมณี  เว้นจากฆ่าสัตว์
2        อทินนาทานา เวรมณี  เว้นจากการหยิบฉวยเอาสิ่งของที่ไม่มีคนให้
3        อพรัหมจริยา  เว้นจากการประพฤติสิ่งที่มิใช่จริยาของพรหม (โดยเฉพาะเมถุนธรรม กามคุณ)
4        มุสาวาทา เว้นจากการพูดมุสา
5        สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการเสพ สุรา เมรัย ของมึนเมา
6        วิกาลโภชนา เว้นจากการบริโภคอาหารยามวิกาล (หลังเที่ยงไปจนรุ่งขึ้นวันใหม่)
7        นัจจคีตวาทิกวิสูกทัศนา มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูษนัฏฐานา  เวรมณี เว้นจากร้องรำ ดูการละเล่น ทัดดอกไม้ของหอม ประดับตกแต่งร่างกาย
8        อุจจาสนยมาหสยนา เวรมณี เว้นจากการนั่นนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่ภายในยัดด้วยนุ่น สำลีขนสัตว์
                 ดูศีล 8 ข้อ ของแม่ชีแล้วจะพบว่า ใกล้เคียงกับ ศีล 10 ของสามเณร ขาดไปข้อเดียวคือ เว้นจากการรับเงินทองวัตถุ ต้องห้าม  สำหรับข้อ 7 ศีลสามเณรจะแยกเป็น 2 ข้อ ดังนั้นศีลแม่ชี ถ้านำไปเทียบกับศีลสามเณรจะมีถึง 9 ข้อ ชาวบ้านจึงนับถือ แม่ชีว่าเป็นผู้ทรงศีล  จนลืมไปว่าเป็นเพียงอุบาสิกา นึกว่าเป็นบรรพชิต ส่วนการบวชพราหมณ์นั้น ไม่มีหรอกครับ  ที่เรียกบวชชีพราหมณ์เป็นสำนวนติดปากมาจากคำว่า สมณชีพราหมณ์  เมื่อมีการบวชชี คือสตรีถือศีลแปดป็นนิจศีล แล้วพวกผู้ชายขอถือศีลแปดเป็นนิจศีลบ้าง จะเรียกบวชชีเหมือนกัน พวกผู้ชายก็ไม่ค่อยจะชอบ แม้เมื่อก่อนจะมีชื่อเรียก ตาปะขาว ตานุ่งผ้าขาวก็ตาม พอมีคนเรียกบวชพราหมณ์เห็นชอบใจ ในที่สุดก็มีชื่อบวชชีพราหมณ์ และใช้กันทั่วไป  แต่อย่าไปเข้าใจผิดว่าบวชแล้วเป็นพราหมณ์จริง ๆ เพราะมันคนละศาสนา ชาวพุทธบวชลูกศิษย์กลายเป็นพราหมณ์ แค่นึกก็ขนลุกแล้วขอรับ

              ทีนี้มาเรื่องบวชต้นไม้  จะให้ไปรื้อพระไตรปิฎกมาตอบ  ไม่ต้องไปรื้อยากหรอกเพราะมันไม่มี ขนาดคนแท้ๆ อยากบวช ต้องซักอันตรายิกธรรมจนเหงื่อตก เช่น เป็นโรคต้องห้ามได้แก่ โรคเรื้อน เป็นฝี  กลากเกลื้อน วัณโรค ลมชัก ก็ไม่บวชให้  ไม่ใช่คนไม่บวชให้ ไม่ใช่บุรุษก็ไม่ได้ เป็นทาสคนอื่นก็บวชไม่ได้  เป็นข้าราชการก็บวชไม่ได้ พ่อแม่ไม่อนุญาตบวชไม่ได้ อายุไม่ครบ 20 ไม่บวชให้  บริขารไม่ครบไม่บวชให้ คุณสมบัติคนที่จะได้บวช  ท่านวางกฏระเบียบไว้ถี่ยิบ คุณต้นไม้ มีคุณสมบัติเข้าข้อไหน คงอายุเกินยี่สิบปี ได้ข้อเดียว อุปัชฌาย์ไม่บวชให้แน่นอน  บวชแล้วยังนึกไม่ออกจะไปเรียกเขาว่าอะไร จะนับพรรษากันอย่างไร   ข้อเท็จจริงการบวชต้นไม้ เขาไม่ต้องการให้ต้นไม้เป็นพระเป็นสามเณร หรือเป็นแม่ชี  แต่เขาอยากให้ต้นไม้ปลอดจากการถูกตัดทำลายคล้ายกับว่า ห่มผ้าเหลืองแล้วเป็นต้นไม้ของพระนะ ใครจะตัดจะโค่นถือว่ามีบาปมาก  นับว่าเป็นเจตนาที่ดี เลยไม่มีใครคัดค้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น