วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เข้าพรรษา

วันเพ็ญเดือนแปด เข้าพรรษา
-------------------
........การนับวันเวลาแบบจันทรคติ คงเคยได้ยินกันมาบ้าง เดือน อ้าย เดือนยี่ และก็เดือนสาม..เดือนสิบสอง แล้วก็วนมาเดือนอ้ายใหม่ มีเกณฑ์การนับ เดือน คี่ 29 วัน เดือนคู่ 30 วัน ดังนั้นเดือนคี่ข้างขึ้น วันเพ็ญ 15 คำ ส่วนข้างแรมวันเดือนดับ 14 คำ ในส่วนเดือนคู่ 15 ค่ำทั้งข้างขึ้นข้างแรม รอบปีหนึ่งจึงมี (6* 29) +(6*30) 354 วัน คลาดเคลื่อนคือต่างจากระบบสุริยคติ 365-354 = 11 วัน 3 ปี ก็จะต่าง กัน 33 วันเลยมีระบบแปดสองหน เพื่อมิให้ต่างกันมากเกินไป ก็เหมือนที่รู้กัน ทั่วไปแหละครับ ไม่งั้นวันเดือนปีกับฤดูกาลต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนไปมาก เหมือน ชาวบ้านเราถึงเดือน หก รอ ฝนแล้ว จะหว่านกล้า เดือนแปด นาข้าวก็ควรจะ เขียวขจีแล้ว ถ้าเกิดฝนไม่มา ก็เข้าใจว่าฝนแล้ง ยิ่งระบบเดือนมันต่างกันปีละ 11วัน ก็ยิ่งทำให้ฤดูกาลต่างจากปีก่อน ๆได้มากขึ้น 
.......ผมเขียนถึงวันเวลา แถไปซะไกล ความจริงจะเขียนถึงวันเข้าพรรษา เท่านั้นเอง เพราะมีกิจกรรม หนึ่งที่เคยเห็นสมัยเด็ก กำลังจะหายไป แถมไม่รู้จัก กันด้วย คือ การถวายผึ้งถวายน้ำมัน ผึ้งแปรสภาพ มาถวายต้นเทียนกัน พอจะ เข้าใจ แต่ถวายน้ำมันนี่ไม่มีจริง ๆ มีบางท่านบอกผมว่า คงไม่จำเป็นมั้ง เลยเลิกถวายน้ำมัน แต่เที่ยนก็ไม่จำเป็นนะ ยังมีถวายเทียนอยู่ 
.......วัสดุให้แสงสว่างสมัยผมยังเด็ก เห็นใช้กันคือ น้ำมัน ไต้ ตะเกียง และ เทียน น้ำมันที่ใช้เป็นน้ำมัน  พืช น้ำมันจากสัตว์ ส่วนน้ำมันก๊าด มาเห็นตอนเป็นเด็กโตแล้ว เมล็ดพืชหลายชนิด เอามาบีบน้ำมัน ได้ เช่น มะพร้าว ถั่วต่าง ๆ งา เนื้อจากเมล็ดพืช เช่น หมากค้อ ค้อแลน หมากบก ละหุ่ง วิธีการคล้ายกันคือ เอามาผึ่งแดดให้ร้อนจนมีน้ำมันซึม จะได้บีบง่าย แล้ว เอาเข้า เครื่องบีบอัด ก่อนทำเป็นครก สาก เดี๋ยวนี้พัฒนาเป็นกระบอกอัดด้วย เกลียว ทุ่นแรงเยอะ บีบได้น้ำมันดิบสักกระป๋องนี่ก็เก่งมากแล้ว 
.......น้ำมันจากต้นยางนา ต้นสะแบง ต้นพลวง เขาจะขุดที่โคนต้นเป็นหลุมใหญ่ เอาไฟเผา คืนเดียวจะมีน้ำมันไหลซึมออกมา เช้า ๆ ก็ไปตักเอามาใช้เป็นเชื้อเพลิงบ้าง ผสมชันเป็นกาวพิเศษ ยา ตะกร้า กลายเป็นครุตักน้ำบ้าง เป็นกาวยา เรือบรรทุกข้าว เหนียว ติดทน และยังเอาไปทำไต้ จุดไฟได้ด้วย ทำไต้สำหรับ จุดไฟให้ความสว่างเวลา ทานข้าวตอนเย็น ลูกหลานลงข่วงชุมกันเข็นฝ้าย ไปส่องกบเขียด ใช้ไต้แทนโคมไฟ วิธีทำไต้ใช้เนื้อไม้ผุ ๆ บดให้ยุ่ย ผสมน้ำมันยาง ตากให้แห้งแล้วห่อด้วยใบตอง มัดเป็นเปราะ ๆได้แท่งยาวสักคืบสองคืบ เก็บไว้ ใช้ตลอดปี เวลาจุดควันคลุ้งทั้งบ้าน ลำบากแต่ก็ทนกันได้
.......น้ำมันจากสัตว์ หมู วัว ควาย น้ำมันที่แข็งตัว เรียกว่า ไข เวลาจะใช้หากระบอกไม้ไผ่มาใส่น้ำมัน ทำใส้จุ่มลงไป จุดไฟให้แสงสว่างได้  ที่เขาเรียกเทียนไข คง เพราะ ไข พวกนี้กระมัง
........ขี้ผึ้ง ชื่อบอกชัดว่าได้จากผึ้ง รังผึ้งที่มีน้ำหวาน ช่องเก็บน้ำหวานจะทำจาก ไขที่มันได้มาจากตอนออกไปหาน้ำหวานดอกไม้ มาที่รังจะทำช่องที่ใช้เก็บน้ำหวานด้วยไขมัน เวลาถูกความร้อน จะละลายเป็นขี้ผึ้ง ส่วนที่เป็นช่องวางไข่ ไม่มีขี้ผึ้งหรอก  ขี้ผึ้ง สามารถ นำไปย่างไฟให้อุ่นจะอ่อนตัว เหนียว เอาไปพันรอบเส้นด้าย กลึงเป็นแท่งกลม ๆ เรียกเทียน ใช้จุดส่องสว่างได้
........เทียนยุคใหม่ ใช้ไขปลาวาฬ พาราฟิน เรซิ่น ทำให้ได้เทียนที่มีคุณภาพ ดี จุดได้ทนนาน ก็ขอนำมาแทรกไว้ให้รู้ว่าเทียนทำได้จากวัสดุมากหลายชนิด ทีนี้ก็จะขอกลับคืนไปวันเข้าพรรษา กับการถวาย น้ำมัน ถวายเทียนต่อ ก่อนนั้น การทอดเทียน เป็นกิจกรรมสำคัญนิยมทำช่วงเข้าพรรษา โดยรวบรวมเทียน น้ำมัน นำไปถวายที่วัดในหมู่บ้าน หรือวัดบ้านอื่น สนุกตรงที่ไปวัดบ้านอื่นครับ ทำต้นเทียน ห้อยเทียนขาวเทียนเหลือง และสมุด ดินสอ ของใช้ เต็มต้นเทียน เหมือนเขาทำต้นกัณฑ์หลอนนั่นแหละ แต่แขวนเทียนเยอะไปหน่อย เลยเรียกต้นเทียน  ต่อมาก็ทำเป็นต้นเทียนจริง ๆ แท่งใหญ่  แห่ไปถวายวัด
ที่สำคัญจะมีการมีแข่งขันร้องสารภัญญะในงานนี้ด้วย หลวงพ่อ ต้องเตรียมรางวัลไว้ให้ด้วยนะ
........น้ำมันที่ไปถวายวัด ถ้าเป็นน้ำมันพืช เทรวมกันใส่ปีบได้เลย ถ้าเป็นน้ำมัน ก๊าดก็แยกคนละปี๊บ น้ำมันนอกจากเติมตะเกียงแล้ว นิยมเอาไปผสมขี้ผึ้งทำเป็นน้ำยาถูพื้นไม้กุฏิ ศาลา ยังกะลงแชลแลค สวยงามดี ได้น้ำมันมาวัดจะใช้แบบตะเกียง น้ำมันก๊าด หรือเทใส่กระบอกไม้ไผ่ ทำใส่จุ้ม จุด ปักกลางลานวัด แทนตะเกียง ก็ใช้ได้ดี นอกจากนี้น้ำมันก๊าด หวงไว้ใช้กับตะเกียงโป๊ะ ตะเกียงรั้ว และเจ้าพายุ อ้อบางที เขาเอาเตาต้มน้ำแบบใช้น้ำมันก๊าดมาถวายพร้อม ก็ได้ใช้แต่หนวกหูมาก เสียงดัง เดี๋ยวนี้ไฟฟ้ามีใช้กันทั้งบ้านและวัด ความจำเป็นเรื่องน้ำมันเลยลดลง ไม่ค่อยมีแล้วการถวายน้ำมันวันเข้าพรรษา
........ถวายเทียนน่าจะเลิกก่อนถวายน้ำมัน เพราะเทียนทำหน้าที่อย่างเดียวคือ จุดให้แสงสว่าง มีไฟฟ้าแทนได้เต็มร้อย แต่ถวายเทียนยังมีอยู่ เพราะอะไร เพราะเขาเอาไปเป็นเครื่องมือเล่นสนุกกัน เรียกแห่เทียนพรรษานั่นแหละ เทียน ก็ต้องพัฒนาไปถึงระดับห้ามจุดไฟ จะเอาไปพัฒนาต่อในปีถัดไป ขบวนแห่ก็มี ทั้งดนตรีนักฟ้อน ทำให้มีคนรอชมการแห่เทียนมากมาย สนุกกันทั้งคนทำ คนแห่ และคนชม
.......พูดถึงเข้าพรรษา แถไปหาน้ำมันละเทียนจนเกือบลืมไหมล่ะ พรรษา พัสสา วัสส ประสา ได้ยินพูดกันบ่อย ๆ หมายถึง ฤดูฝน ยกเว้นคำ ประสา เป็นภาษาปากของคนเฒ่าคนแก่ พระพุทธเจ้ากำหนดให้พระภิกษุหยุดจาริก อยู่อาศัยเป็นที่เป็นทาง ตลอด 3 เดือน สมัยก่อนการเดินทางไปมาคงไม่สะดวก ถนนหน้า ฝนคงเละดินโคลนน่าดู ชาวบ้านนิยมไปทำบุญเมื่อทราบพระผ่านมา เดินทางไกลกว่าจะถึงที่พระหยุดพัก พระพุทธเจ้าจึงกำหนดให้หยุดท่องเที่ยว จากริกช่วง 3 เดือน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ชาวบ้านจะทำบุญก็สะดวก ไปวันไหน ก็ง่าย เพราะมีพระอยู่จำพรรษา นี่ก็เข้าพรรษาอีกแล้ว เล่าความหลังสู่กันฟัง เล่น ๆ น่ะครับ ไม่มีอะไร

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นับถือพุทธศาสนา

                                         

                                                             ขุนทอง ศรีประจง (ผู้เขียน) ..................กระผมเคยถูกถามเกี่ยวกับแนวปฎิบัติที่เหมาะสมของชาวพุทธในช่วงที่บวชเป็นภิกษุบวชนานถึง  7 พรรษา บางคำถามมีเอกสารตำราอ้างอิง สามารถตอบได้ง่าย แต่บางคำถามต้องไปเรียนถามท่านผู้รู้เช่น หลวงพ่อสีหนาถภิกขุ หลวงพ่อพระศรีอรรถเมธี หลวงพ่อพระรัตนกวี  ทั้งสามท่านคืออดีตเจ้าคณะจังหวัดเลย  โดยเฉพาะรูปที่สามเป็นพระอาจารย์สอนธรรมกถึกให้กระผมเอง ทุกวันนี้แม้จะห่างวัดมาหลายสิบปีแล้วก็ยังมีคำถามทำนองนี้อยู่เรื่อย  โดยเฉพาะคุณครูสอนวิชาพระพุทธศาสนา มักจะยุลูกศิษย์ให้มาสัมภาษณ์อยู่บ่อย ๆ ก็เลยเกิดแนวคิด ว่า จะรวบรวมคำถามที่เป็นลักษณะแนวปฏิบัติของชาวพุทธ มาไว้ที่ตรงนี้ โดยจะนำเลือกคำถามเดิม ๆ ที่เคยปุจฉาวิสัชชนาสองธัมมาสน์สมัยก่อนบางส่วนมาลงไว้ด้วย คิดว่าน่าจะ ได้ประโยชน์อยู่บ้าง สาระคำถามคำตอบจะเน้นในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์โดยอาศัยหลักธรรมปฏิบัติ สำนวนเขียนขอเป็นแบบสนทนาธรรมแล้วกันเพราะเขียนง่ายดี
.............ถามว่า ท่านว่าท่านเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ ถามว่าเป็นตั้งแต่เมื่อได มีหลักฐานอะไร ยืนยันว่าเป็นชาวพุทธ ?
.............ถ้าท่านเจอคำถามแบบนี้ กรุณาดูหน้าคนถามให้ดี ถ้าเป็นประเภทเอาชนะคะคานก็อย่าไปต่อปากต่อคำ แต่ถ้าเป็นพวกอยากรู้ ก็คงต้องช่วยหาคำตอบให้ ก่อนตอบอย่าลืมนะครับว่า แนะนำให้รู้จักกับ ผู้นับถือพุทธศาสนาซึ่งมีหลายเหล่าหลายพวก    4 กลุ่มครับ คือ


1 . ภิกษุ (สามเณร)
2 . ภิกษุณี (สามเณรี )
3 . อุบาสก
4 . อุบาสิกา (แม่ชี)


............เมื่อรู้กลุ่มศาสนิกชนแล้วก็ไม่ยากที่จะพิจารณาว่า อยากเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธประเภทนั้น ๆ จะเป็นได้อย่างไร กลุ่มบรรพชิตคือ ภิกษุ ภิกษุณี ถือเป็นพุทธบริษัทประเภทบรรพชิต  มีผู้เตรียมจะเข้ารับอุปสมบทเมื่อคุณสมบัติครบคือ สามเณร และสามเณรี ส่วนอุบาสกอุบาสิกา เป็นฆราวาสรวมทั้งแม่ชีด้วยแม้จะอุ้มบาตรเดินตามหลังพระก็ไม่ใช่บรรพชิต กลุ่มบรรพชิตมีระเบียบวินัยกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องผ่านสังฆกรรม คือการบรรพชา และอุปสมบทเท่านั้น วิธีอื่นไม่มี
............กลุ่มอุบาสกอุบาสิกา ก็มีระเบียบปฏิบัติชัดเจนครับว่า ต้องแสดงตนยอมรับนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา หนังสือพุทธประวัติกล่าวถึงสองพ่อค้าชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ทีเดินทางผ่านมาพบพระพุทธเจ้าช่วงตรัสรู้ใหม่ ๆ เลื่อมใสในบุคลิก ชอบใจในธรรมสากัจฉา นอกจากถวายก้อนข้าวแล้วยังได้ปฏิญานตนนับถือพระพุทธเจ้า และพระธรรม เป็นที่พึ่ง (พระสงฆ์ยังไม่มี)  ก็เลยได้ชื่อว่าเป็นอุบาสกรุ่นแรก พุทธประวัติในช่วงต่อ ๆ มา เมื่อฆราวาสเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คงใช้วิธีกล่าวคำปฏิญานตนขอยึดถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน ได้ปรับปรุงให้เป็นระเบียบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ก็ยังมีข้อสงสัยอีกว่า...ชาวบ้านหลายสิบล้านคนไม่เคยรู้จักพิธีแสดงตนเป็น พุทธมามกะ จะถือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาในพุทธศาสนาด้วยไหม ประเด็นนี้ไม่มีปัญหา 

............ถึงไม่ได้เข้าพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ แต่ส่วนมากเคยร่วมพิธีแสดงตนว่าเป็นคนนับถือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง มามากกว่า 1 ครั้งแน่นอน.... ถ้าเราไปดูคำกล่าว เพื่อ ปฏิิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เขาใช้ในพิธีมีอยู่ว่า
..........."เอเต มยํ ภนฺเต สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควันฺตํ สรณํ คจฺฉาม ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ พุทธมามกาติ โน สงฺโฆ ธาเรตุ"   ใจความว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า ทั้งหลายขอปฏิญาณตนนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่งขอพระสงฆ์โปรดจำข้าพเจ้าทั้งหลายว่าเป็นพุทธมามกะ  จากนั้นพระท่านก็แสดงการต้อนรับด้วยการให้รับศีลห้า และให้โอวาท ตามสมควรเป็นอันจบการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  
.........ทีนี้มาดูชาวบ้านเวลาทำบุญไม่ว่าจะทำบุญบ้าน ที่วัด หรือที่ป่าช้า ทุกพิธีกรรมจะเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ไหว้พระ แบบย่อ ๆ ว่า
.....อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ ภควา พุทธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ
.....สวากฺขาโต ภควตา ธมโม ธมฺมํ นมสฺสามิ
.....สุปฏิปน์โน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ มามิ

..............อาการที่พนมมือแต้ยกมือท่วมหัวนั่นแหละแสดงว่ายินยอมรับนับถือพระรัตนตรัยแล้ว แต่ยังไม่พอ เพื่อให้ การนับถือมั่นคงยิ่งขึ้น พระจะให้รับศีล โปรดสังเกต คำให้ศีลก่อนให้ปฏิญาณตนรักษาศีล 5 ข้อ หรือศีล  8 ข้อ พระท่านจะให้รับไตรสรณคมน์ก่อน ดังนี้
.....พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
.....ทุติยมฺปิ (พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ)
.....ตติยมฺปิ (พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ)
..................การรับไตรสรณคมน์ก็คือ การเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าจะ ยอมรับพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยอมรับพระธรรมเป็นที่พึ่ง  และยอมรับพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง รอบแรกยังไม่พอทุติยัมปิ คือรอบที่2 และ ตติยัมปิ คือรอบที่ 3 สมบูรณ์แบบพอ ๆ กับการแสดงตนเป็นพุทธมามกะนั่นเอง
.............ตอบได้นะครับว่าชาวบ้านเราเคยแสดงตนเป็นพุทธมามกะโดยกล่าวพร้อมการรับศีลนั่นแหละ แถมทำบ่อยมาก รับศีลเมื่อไรก็เมื่อนั้น หลังจากนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง(สรณะ)แล้ว ต้องปฏิบัติตน
อย่างไร เรื่องนี้สำคัญครับ ตรงนี้ต้องศึกษาภาระหน้าที่ ฝ่ายฆราวาสเราก็มีอาชีพการงานของเรา ก็ทำ
ไปตามปกติ ที่แถมมาคือหน้าที่พึงปฏิบัติในฐานะเป็นศาสนิกชน 
.............ปฏิบัติศีลครับ ศีลเป็นระเบียบวินัยแบ่งแยกกลุ่มศาสนิกชน ปฏิบัติศีล 5 ข้อ ก็เป็นอุบาสกอุบาสิกาทั่วไป 8 ข้อ ก็พวกอุบาสกอุบาสิกาเหมือนกัน แต่ขยันมากกว่า  มีศีล 10 ข้อ ก็สามเณร มี 227 ข้อ ก็พวก
พระภิกษุ  กลุ่มใครกลุ่มมันปฏิบัติศีลให้ถูกกลุ่ม การปฏิบัติศีล ต้องถือปฏิบัติ 24 ชั่วโมงนะครับ เว้นยามหลับนอน ปล่อยวางไว้ ตื่นมาก็ถือปฏิบัติศีลต่อ เรื่องนี้อาจสงสัยคิดว่าพูดเกินไป ไม่หรอกครับเรื่องจริง ยกตัวอย่างพระเณร เช้าจนเย็นถือศีลตลอด หลับค่อยวางได้ ตื่นมาตี 2 ถือศีลต่อ หลับก็วาง ตื่นตีสี่ถือศีลต่อ...ว่างจากศีลไม่ได้ ไม่เชื่อลองซดข้าวต้มตอนตีสามสักชามสิ ศีลจะขาดไหม ครับถือศีลมันต้องถือ แบบนี้ อยู่วัดก็ถือศีล ออกไปนอกวัด ก็ถือศีล นั่งรถลงเรือปล่อยวางไม่ได้ สรุปว่าทุกสถานที่ ชาวพุทธต้องปฏิบัติศีลตลอดเวลา ทำอย่างนี้ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับอานิสงส์ สีเลน สุคตึ ยันตึ สีเลนโภคสัมปทา สีเลน นิพพุตึ ยันติ ....
............ปฏิบัติธรรม คือปฏืบัติตามคำสอนเบื้องต้นที่ท่านสอนว่า สัพพปาปัสส อกรณัง  กุสลัสสูปสัมปทา สจิตตปริโยทัปปนัง เอตัง พุทธสาสนัง  ละชั่ว ทำดี หมั่นชำระใจให้หมดจด เป็นหลักกว้าง ๆ ใช้เป็นแนว ปฏิบัติธรรม ในทุกสถานที่ ทุกกาลเวลา  
............ก็คงจะเพียงพอครับ สำหรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจวิธีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ปฏิบัติแบบนี้ได้ ก็ได้ชื่อเป็นพุทธศาสนิกชนได้ อยากพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นก็ลองศึกษาเพิ่มเติมดูได้ครับ มีหนทางปฏิบัติที่ชัดเจน ถนนทุกสายจะมุ่งไปสู่พระนิพพาน จุดเดียวเท่านั้น อย่างอื่นไม่ใช่นะครับอย่าหลง
ทางล่ะ จะเสียเวลา เหมือนพระพุทธเจ้าท่านต้องการ โมกขธรรม(นิพพาน) ใครว่าอะไรดีท่านก็ไปลองดู ไป ฝึก สมถะกับพระดาบส  2 สำนัก ได้สมาบัติ 8 ปรากฏว่าไม่ใช่โมกขธรรม จนท่านบรรลุอริยสัจ 4 ถึงเข้าสูห้วงพระนิพพาน เสียเวลาตั้ง 6 ปี ถึงบรรลุพระนิพพาน....จบนะครับ ขอบคุณ


















วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560

ประเพณีเดือนสิบเอ็ด



.........เดือนสิบเอ็บ ชาวพุทธเรามีกิจกรรมสำคัญ ๆ 2 อย่างคือ งานออกพรรษา และ บุญกฐิน ออกพรรษา สมัยก่อนมีการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยเฉลิมฉลองให้ ส่วน กิจกรรมของพระ ท่านทำของท่านเอง ไม่มีอะไรมาก ทำวัตรเสร็จก็แจ้งให้คณะทราบว่า ครบไตรมาสแห่งการจำพรรษาแล้ว มาทำพิธีปวารณากัน  คือพิธีบอกกล่าวอนุญาตให้ ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ถ้าพบเห็นเพื่อนสหธรรมิก กระทำผิด ถูกว่ากล่าวก็จะไม่โกรธกัน ส่วนชาวบ้านก็ทำบุญทำทานตามปกติ การเฉลิมฉลองก่อนเตรียมกันมาทั้งธูปเทียนน้ำมัน เพื่อจุดบูชา ธูปนี่ต้องเหลาก้านธูปเอง ผงสำหรับปั้นธูป ก็หาไม้เนื้อหอม ไม้บง เอาแต่ ผงตากแห้ง ผสมเครื่องหอมแล้วนำมาปั้นธูป ตากแห้งดีก็นำไปถวายพระและจุดบูชา นอกจากนี้ยังมีเทียนที่ฟั่นเองจากผึ้งที่สะสมไว้ ผึ้งที่ตลาดไม่มีขาย ส่วนน้ำมันนิยม ใช้นำมันพืชเช่น ถั่ว งา สบูดำ ละหุ่ง มะพร้าว ใส่กระบอกไม้ไผ่ จุ่มใส้จุดเหมือนตะเกียง  วันออกพรรษาก็มีการจัดไฟบูชากัน วัดจะจัดโรงเรือนไว้ให้ ทำด้วยต้นกล้วย ก้านมะพร้าว ประดับดอกไม้สวยงามดี มีที่ปักธูบเทียนให้ หมู่บ้านใกล้แม่น้ำก็จะมีจุดไฟ แบบไหลเรือไฟน้ำโขง ก็สนุกกันไป
.........กิจกรรมเดือนสิบเอ็ดอีกอย่างคือบุญกฐินซึ่งมีช่วงเวลาทำเพียง 1เดือนนับแต่ ออกพรรษา ต้องรีบ ๆทำให้ทันเวลา เพราะช่วงเวลานี้พระกำลังหาผ้ามาผัดเปลี่ยนพอดี บุญกฐินนิยมกันมานาน เมื่อจะเล่าให้คนรุ่นใหม่ฟัง ก็น่าจะได้เลือกเอาประเด็นหลัก ๆ มาเล่าสู่กัน ฟัง เช่น
1. ทำไมเกิดมีการทำบุญกฐินขึ้น
2. จริงหรือไม่ทำบุญกฐินได้บุญมากกว่าทำบุญอย่างอื่น
3. เราทำบุญกฐินแต่ไม่เป็นกฐิน หมายความอย่างไร
4. ถวายกฐินต้องถวายในเขตกฐินเท่านั้น นอกเขตถวายไม่ได้
5. ถวายกฐิน ทำไมพระไม่รับแต่ให้วางทอดไว้
6. ธงรูปสัตว์ในงานกฐิน ใช้ทำอะไร
.......1.ความเป็นมาของการอนุญาตให้ทำกฐิน ขอเล่าย่อ ๆ เพราะมีคนเล่ากันมากมาย ในโลกออนไลน์ เรื่องเล่าว่า พระภิกษุ 30 รูปชาวเมือง ปาฐา เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่วัดเชตวัน มาถึงเมืองสาเกตุเข้าพรรษาพอดี จำต้องหยุดเดินทาง 3 เดือน พอออก พรรษาก็เดินทางต่ออีก 6 โยชน์ (6 X 400 เส้น = 2400 เส้น x 40 เมตร = 96000 เมตร = 96 กม) ถึงวัดเชตวันได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเห็นความลำบากในการเดินทาง และความยุ่งยากที่จะเกิดในการแสวงหาผ้ามาผัดเปลี่ยน เวลาเพียง 20 กว่าวัน พระ 30          
รูปจากต่างถิ่น ผ้าหายากด้วย จึงให้จัดกิจกรรมสามัคคีตัดเย็บผ้า พระที่อยู่จำพรรษาวัด เดียวกัน พรรษา
ไม่ขาด ช่วยกันหาผ้ามาทำจีวร เสร็จ 1 ผืน ใน 1 วัน ทำได้จะมีรางวัล พระ 30 รูปทำเสร็จได้จริง ๆ พระ 
พุทธเจ้าจึงสรุปว่า ผ้าที่ช่วยกันทำผืนนี้คือ ผ้ากฐิน มีผลให้ได้อานิสงส์ ผ่อนผันพระวินัย 5 ข้อ และขยาย
จีวรกาลออกไปถึงกลางเดือนสี่ นี่คือความเป็นมาของการทำกฐิน จำไว้ด้วย พระช่วยกันทำผ้ากฐิน ผ้าพระหามากันเอง ส่วนต่อมาชาวบ้านทราบ ก็หาผ้าไปถวายให้พระได้ทำกฐินกันสะดวก
..........2. ทำบุญกฐินได้บุญมากกว่าบุญอื่น ๆ จริงไหม ไม่จริง การทำบุญอะไรได้ บุญมากน้อยกว่ากัน มันวัดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยและผลประโยชน์ที่เกิดจากการทำบุญ ตัวอย่างเราทำบุญกฐิน 5 กอง แต่ชาวบ้านเขาสร้างอาคารเรียนปริยัติธรรมถวายวัด มูล ค่าก็ต่างกัน ประโยชน์ใช้สอยก็ต่างกัน กฐินถวายเสร็จก็จบ ของแบ่งพระเณรไป บางอย่าง ก็เป็นของกลางสงฆ์ แต่โรงเรียนใช้สอนนักธรรม บาลี ได้อีกหลายสิบปี บุญก็มากน้อยต่าง กันแน่นอน
.........3. เราทำบุญกฐิน แต่ไม่เป็นกฐิน ก็บอกแต่แรกแล้วนี่ว่า พระชาวเมืองปาฐา ท่านช่วยกันทำผ้ากฐิน ไม่ใช่ชาวบ้านทำผ้ากฐิน เราเป็นใครล่ะจะทำผ้ากฐินได้ เก่งมาก ก็แค่หาผ้าไปถวายพระ ท่านจะทำ ไม่ทำ ก็เรื่องของท่าน ถ้าท่านใช้ผ้าที่เราไปถวาย ผ้านั้นก็เป็นผ้ากฐิน ถ้าไม่ได้ใช้ก็ไม่เป็นผ้ากฐิน เป็นหรือไม่เป็น ขึ้นอยู่กับผู้ทำ ผ้ากฐิน
.........4. การถวายกฐิน ต้องทำในเขตกฐินเท่านั้น(ออกพรรษา ไปจนถึงวันลอยกระทง) กำหนดเวลานี้ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านครับ สำหรับพระโดยเฉพาะ ความหมายคือ พระจะทำ ผ้ากฐิน ทำได้เฉพาะช่วงเวลานี้เท่านั้น โยมขอเอี่ยวด้วย ไม่จำเป็นครับ เอี่ยวทำให้เรา ทำบุญยากเปล่า ๆ ความจริงคือ การทำบุญกฐิน   ก็คือการถวายผ้าให้พระใช้ทำผ้ากฐิน สะดวก ไม่ต้องไปหาผ้าเอง เอาผ้าที่เราถวายนี่ไปทำกฐินได้เลย ถ้าเกิดเราถวายแต่ ตอนยังจำพรรษาอยู่ พระรับไว้ ออกพรรษาจะทำผ้ากฐิน เปิดตู้เอาผ้าเราถวายไว้นั่น
มาทำผ้ากฐิน ก็ไม่ผิดอะไรนี่ครับ หรือบางวัดมีผ้ามากมายในตู้ ปีนี้ไม่มีโยมมาถวายกฐิน เดี๋ยวพระในวัดเสียประโยชน์อานิสงส์กฐิน เจ้าอาวาสให้พระไปเลือกผ้าดี ๆสักผืน มากราลกฐินกัน พระเลือกมาผืนหนึง เออผ้าผืนนี้ได้เมื่อสองปีที่แล้ว ตอนเจ้าอาวาส ได้สมณศักดิ์พระครู เจ้าคณะภาคมอบให้ ก็ทำกันในเขตกฐิน ถึงจะกราลกฐินได้ เรื่องของพระครับ
........4. ถวายกฐิน ทำไมพระไม่รับจากมือ แต่ให้วางทอดไว้ ก็แค่ปรับให้เข้ากับเรื่่องราวความเป็นมาของกฐิน  บังเอิญทอดวางในวัด ผ้าก็เป็นของกลาง ลำบากคณะสงฆ์ต้องมาสวดประกาศว่ามีโยมน่ำ ผ้ามา ทอดวางไว้ สงฆ์มีอำนาจพิจารณาว่าผ้าควรจะให้ใครนำไปตัดเย็บ และผ้ดเปลี่ยน เป็นผ้ากฐิน หรือกราลกฐิน ก็แค่สมมติให้สอดคล้องเรื่องราวการทำกฐิน พระจะรับไป ก่อนค่อยพิจารณามอบผ้าให้พระไปกราลกฐินทีหลังก็ทำได้
........6. งานกฐินมีธงรูปสัตว์หลายธง คืออะไร ทำเพื่ออะไร ก็เห็นนะ แต่ไม่ค่อยรู้จัก เช่น รูปจระเข้ ตะขาบ แมงป่อง นางเงือก เต่า ถามผู้เฒ่า ก็เล่าแบบนิยาย นิทาน แต่ ในแง่พุทธธรรม เรามักตีความว่าเป็นปริศนาสอนธรรมด้วยรูปภาพ จระเข้ ตัวใหญ่ ปากกว้าง กินจุ เหมือความโลภ ตะขาบแมงป่องพิษร้ายแรง คล้ายโทสะพ่นใส่ใครก็เจ็บปวดยังกะ ถูกพิษ  นางเงือกงามรูปเหมือนความดีความงามใครก็อยากมีอยากได้ ส่วนเต่าก็ความสงบ ความอดทน สติสมาธิ  ก็คงตีความได้แค่นี้ 

.........จบเรื่องกฐินที่ชาวบ้านเราควรรู้จัก อยากรู้มากกว่านี้ไปทอดกฐินสักงานซิ เดี๋ยวมีพระเทศน์ให้ฟังเอง


วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อัจฉริยะแบบไหน





.......เรียนวรรณคดีไทย ครูมักเล่าชีวประวัติกวีบางท่านให้ฟัง ตอนฟังเรื่อง ราวของศรีปราชญ์ ครูเล่าสนุก ตอนไปเติมโคลงพระเจ้าแผ่นดินที่พ่อเอามา ทำการบ้านถวาย คือบทว่า
...........อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
.....ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย.............ลอบกล้ำ
......(ผิวชนแต่จักกลาย..............ยังยาก
......ใครจักอาจให้ช้ำ.................ชอกเนื้อเรียมสงวน)
.........อ้ายศรีลูกชายคนโปรดพระยาโหราธิบดี ที่นำกระดานพระเจ้าแผ่นดิน นิพนธ์ค้างอยู่มาทำการบ้านถวาย กะอาบน้ำแล้วจึงจะมาดู เอาสิ่งของไปเก็บ ห้องพระที่เป็นเหมือนห้องทำงานด้วย เจ้าศรีมาเห็นกระดานมีโคลงแค่สอง บรรทัด อ่านแล้วนึกสนุกก็เติมให้อีก 2 บรรทัดจบพอดี แล้วก็หนีไปวิ่งเล่น พระยาโหราธิบดี อาบน้ำเสร็จก็จะมาดู มาเห็นก็รู้ว่าเป็นฝีมือซุกซนของอ้ายศรีแน่ กำลังจะลบออกเกรงจะมีความผิด แต่อ่านอีกที เออมันแต่งได้ดี เลยเอาไปถวายและขอพระราชทานอภัย พระเจ้าแผ่นดินชอบใจไม่ถือโทษ และ ขอให้นำตัวไปถวายเป็นมหาดเล็กและได้ชื่อพระราชทานว่า ศรีปราชญ์ ฟังเรื่องที่ครูเล่าแล้วก็อัศจรรย์มาก เป็นไปได้ไง เด็ก 7 ขวบ แต่งโคลงได้ คมคายขนาดนั้น
.........ผมมีลูกสาวอายุ สามขวบกำลังจะส่งอนุบาลเมื่อเปิดเทอมใหม่ แม่ เขาเป็นหอบหืด เลยติดพ่อ ช่วงหนึ่งลูกหลานที่มาช่วยเลี้ยงกลับบ้านก็เอา ไปเที่ยวที่โรงเรียนที่สอนอยู่ นั่งรถไปส่งแม่ก่อน แล้วก็กลับมาโรงเรียนที่ เราทำงานอยู่ ทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ แต่ช่วยสอนวิชาพุทธศาสนา 8 ชั่วโมง กิจกรรมชุมนุมร้อยกรองอีก 1 ชั่วโมง มีสมาชิกชุมนุม 15 คน ชั่วโมง กิจกรรมลูกสาวก็ไปนั่งรวมกับพี่ ๆ ยุ่งแย่งทำกิจกรรมกับเขา เด็ก ๆหัวเราะ ชอบใจช่วยต่อปากต่อคำกับน้อง สนุกเฮฮากัน เพราะกิจกรรมที่สอนให้เด็ก
ปูพื้นฐานคือการต่อคำ ปกติครูวิชาอื่นเล่นกันอยู่แล้ว เด็ก 15 คน ล้อมวง ต่อคำกัน เล่น ....กิจกรรม....คำกลอน...สอนด้วย..ช่วยหน่อย.......... วันหลังลูกสาวอยากเล่นกับพวกพี่ ๆ เลยให้นั่งแทรกวงเป็นคนที่ 16 แรก ๆ พี่ที่นั่งข้างแอบกระซิบบอก ต่อได้หัวเราะชอบใจ ฟังพ่ออธิบาย ให้พูดได้ สองคำนะ ฟังพี่คนนี้พูดจบ เสียงอะไร หนูก็พูดคำอื่นที่เสียงคล้ายกัน อีกคำพูดอะไรก็ได้ สามรอบเอง ไม่ต้องกระซิบแล้ว เวรจริง ๆ เลิกเรียนไปรับแม่ ชวนต่อคำไปตลอดทาง รับแม่เสร็จกลับบ้านเอาอีก จนแม่ยอมแพ้ ต้องซื้อ ขนมแจกถึงยอมเลิก
.........แกล้งลูกสาว ชอบต่อปากต่อคำ นึกสนุกเลยบอกว่ามากกว่าสองคำ ได้ไหม นั่นควายดำ ทำอะไร ไล่นกหน่อย ค่อยเดินไป นึกว่าจะยอม เล่น ต่อปากต่อคำทีละ 3 คำได้ ไปชั่วโมงกิจกรรม ไปเล่นกับพี่ ๆ แล้ว งง กันทั้งกลุ่ม พอถึงช่วงสามคำ เล่นกับพี่ ๆ ได้เลย ขั้นต่อทีละ 5 คำ 6 คำ สมาชิกรอน้องหมูก่อน น้องก็ไม่ให้รอยากหรอก เห็นพี่ ๆ เดินผ่านหน้าห้อง วิชาการวิ่งไปกะเขาเลย เสียงเฮฮาที่ห้องกิจกรรม รู้แล้วว่าลูกสาวอยู่นั่น ให้เล่นพลิกแพลงไปเรื่อย เดิมรับด้วยคำที่ 1 เปลี่ยนกติกาใหม่ ใครรับด้วย คำที่ 3 ถือว่าเยี่ยม การต่อคำเลยหลากหลาย 

..........วันนี้ชวนน้องหมู..........ดูพวกพี่ต่อปาก.......ลำบากหน่อยนะคะ.... จะลองหน่อยไหมหมู........จะลองดูคะพี่.....ฮาตึงเลยเพราะหมูน้อยเล่นต่อ ด้วยคำที่สาม....คนอื่นคงแปลกใจ แต่เรารู้เล่นกันมาตลอดทาง กติกาตอน อยู่บนรถ อะไรก็ได้ต้อง 5 คำ ตอบก็ต้องต่อแบบการต่อคำ เอาคำที่สามรับ ........โน่นพ่อมีวัวควาย........มันลับหายไปแล้ว......นั่นนกแก้วใช่ไหม.......นก อะไรเป็นแก้ว.......หิวข้าวแล้วยังหมู..........ถามแม่ดูมีขนม......ฯลฯ
.........เด็กชุมนุมเราเก่งขึ้นทั้งการกำหนดจำนวนคำ และกำหนดตำแหน่ง คำรับก็เลยเข้าสู่การแต่งกาพย์ยานี 11 จัดกลุ่มได้ 3 กลุ่ม 4 คน ยืมรุ่นพี่ ที่เก่งแล้วมาช่วย 1 คนได้เพิ่มอีก 1 กลุ่ม วันไหนลูกหมูมา ใช้ลูกหมูเสริม กติกาติด เบอร์ 1 2 3 และ 4 เบอร์ 1 เริ่มเขียนตามสบาย 5 คำและส่งให้ เบอร์ 2 ต่อคำรับด้วยคำที่ 3 ใช้หกคำ เสร็จส่งต่อให้เบอร์ 3 ต่อคำด้วยใช้คำ สุดท้าย 5 คำ ส่งไปเบอร์ 4 จบตามสบาย 6 คำ ไม่รับสัมผัสใด ๆ น้องหมู พี่ ๆเขาให้อยู่เบอร์ 4 พี่เบอร์หนึ่งช่วยเขียนให้ตามน้องบอก....
.........ส่งมาครูตรวจ ไม่ผิดฉันทลักษณ์ซักบทเดียว คำเพราะดีทุกกลุ่ม แต่นั้นมาเวลานั่งรถไปกับพ่อเป็นต้องต่อปากต่อคำด้วยกาพย์ยานี 11 สด ๆ
.......นั่นควายทำไรพ่อ.......ลูกร้องมอคงหิวนม
........น่ารักและน่าชม.........แม่มันยืนรอลูกมัน ฯ
.......แล้วนั่นต้นอะไร..........มะม่วงไงหมูรู้น่า
.......อีกต้นที่ใหญ่กว่า.........นั่นต้นโพธิ์นี่ต้นไทร ฯ
........เล่นกับลูกจนเปิดเทอมไปส่งเข้าเรียนอนุบาล ก็ยังมีเล่นสนุกกันอยู่ ไปส่ง ผอ.โรงเรียนท่านจะไปเยี่ยมลูกหลานที่เชียงคาน ลูกสาวไปด้วยชวน พ่อคุยเป็นกาพย์ยานี ผอ.ครูภาษาไทยเก่า ฟังก็รู้ ขอลองเล่นด้วย สนุกกัน ไปตลอดทาง 49 กิโลเมตร ขากลับลูกสาวหลับ ผอ.ประหลาดใจทำไมเด็ก อนุบาลเองว่ากาพย์ปากเปล่าได้ อย่าว่าแต่ ผอ.เลย ศึกษานิเทศก์ เพื่อนแม่น้องหมูมาเยี่ยมบ้าน ได้ทดลองเล่นกับลูกหมู หัวเราะชอบใจ ชวนไปออก รายการทีวี ขอนแก่นเขามีห้องส่ง มีรายการประเภทเด็กอัจฉริยะ แต่ประเภท ว่ากลอนสดปากเปล่า แบบเด็กอนุบาลยังไม่มี แต่เราไม่ให้ไป เพราะไม่ใช่ อัจฉริยะจริง ๆ ศน.คนนั้นก็ยังเป็นเพื่อนทักทายเฟซกันจนทุกวันนี้ ส่วนลูกสาว ไปเรียนเทคโนสารสนเทศ ม.มหาสารคาม เป็นโปรแกรมเมอร์ ทำงานอยู่ กรุงเทพ ฯ เห็นว่าทำงานรับจ้าง อสมท.เจอพ่อคุยว่าเจอดาราบ่อย ๆ ก็ขำ ๆ นะ โม้กับ คนอื่นพอไหว นี่มาโม้กับพ่อ แกสู้ไม่ได้หรอก เพราะดาราสวย ๆ หล่อ ๆ ไปเยี่ยม พ่อถึงบ้านทุกวัน อาหมูงง ก็ต้องเฉลย เขามาทางทีวีจ้า
..........จากกาพย์ยานีกิจกรรมชุมนุมรอยแก้วก็พัฒนาไปถึงกลอน ด้วยวิธี เดียวกันเด็ก ม. 2-3 แต่งกลอนคล่องยังกะผู้ใหญ่ รู้จักการวางระดับเสียง ท้ายวรรค รูจักสัมผัสเลือน สัมผัสลัด รู้จักละลอกทับละลอกฉลอง กลอนก็ งดงามเหมือนผู้ใหญ่แต่ง เขามีประกวดโต้กลอนสดแบบเขียนใส่กระดาษ โรงเรียนขอยืมเด็กไปแข่ง เขามีแข่งระดับ ม.ปลาย ได้รองชนะเลิศมา เด็ก มาต่อว่าเรา ทำไมทีมนั้นเขียนกลอนผิด ๆ ยังชนะพวกหนู เราน่ะรู้ กรรมการ ไม่รู้จักสัมผัสเลื่อน สัมผัสลัด ยิ่งละลอกทับ ละลอกฉลอง ไม่กระดิก ไปแย้ง ก็ไม่มีประโยชน์หรอก ก็แถมรางวัลพิเศษให้ ไปทานข้าวกับน้องหมูที่บ้าน ลืมประกวดไปเลย ชอบ ใจได้เจอน้อง อนุบาล 2 แล้ว
........ผมเขียนถึงเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่า อัจฉริยะ มันหายาก แต่ความสามารถ ของคนเราฝึกได้ แต่อย่าไปตั้งธงไว้ก่อน เอาให้เป็นกิจกรรมการเล่นสนุก ๆ ไม่เครียด ก็จะเล่นไปได้เรื่อย พอคล่องตัวแล้วค่อยปรับเข้าสู่แบบแผน เหมือน หัดขี่จักรยาน แรก ๆ ก็เล่นสนุก ๆ ล้มบ้าง ไปได้บ้าง พอขี่ได้ก็สบาย ไปทาง
ราบเรียบก็ได้ ไปตามคันนาก็ได้ จบล่ะนะ

หน่อย หมู นก

หมู

วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เล่าประสบการเรียนแต่งโคลง

ขุนทอง ศรีประจง
         ผมหัดแต่งกาพย์ยานี 11 ก่อนแต่งกลอนและโคลง ส่วนฉันท์มาอันดับสุดท้าย เวลาจะ
เรียนเรื่องโคลงเมื่อไร ครูจะยกโคลงตัวอย่างอยู่ 2 บท คือจากลิลิตพระลอ..เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย เสียงย่อมยอมยศใคร ทั่วหล้า สองเขือพี่หลับใหล ล่มตื่น ฤๅพี่ สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ ......หรือไม่ก็จากเรื่อง นิราศนรินทร์ บทว่า จากมามาลิ่วล้ำ  ลำบาง บางยี่เรือราพลาง  พี่พร้อง  เรือแผงช่วยพานาง เมียงม่าน มานา  บ่างบ่รับคำคล้อง คล่าวน้ำตาคลอ จนจำได้ เวลาครูให้เขียนแผนผังก็ท่องมาทีละคำ  คำละ 1 วงกลม มันจะได้รูปแผนผัง วรรคแถวหน้า 5 คำ วรรคแถวหลัง 2 คำ เว้นวรรคสุดท้าย 4 คำ บาทที่ 1 และ3 มีสร้อยได้ 2 คำ  แค่นี้ก็ครบ เอก 7 โท สี่ คำที่ท่อง คนแต่งท่านวางไว้ตรงแผนบังคับ ไม่ขาดไม่เกิน เขียนแผนผังแล้วก็เติม เอก โท สุดท้ายก็สัมผัสเสียงสระคำท้ายบาทที่ 1 สัมผัสท้ายวรรคหน้า บาทที่ 2 และ 3 สองจุด คำท้ายบาทที่ 2 เป็นคำโท ก็สัมผัสคำโทท้ายวรรคหน้า บาทที่ 4 เรียบร้อยครับ

            (บาทที่  4 วรรคหลังมี 4 คำ มีสร้อยได้อีก 2 คำนะ แผนผังส่วนมากไม่ลง เพราะเห็นว่า 4 คำ
ก็เพียงพอแล้ว  เอาไว้แต่งโคลงสอง โคลงสาม ค่อยใส่เต็มที่)

..........คำเอกคำโทคือด่านสำคัญที่กระผมไม่ยอมหัดแต่งโคลง คือขี้เกียจนึกหา วันหนึ่ง
รู้สึกรำคาญ ก็เลยจะลองนึกหาคำเอกโทคู่กันให้ได้มาก ๆ เอาสัก 100 คู่ เขียนลงสมุด 
พี่น้อง พี่ข้า พี่บ้า พี่แป้ง พี่น้อม พี่สร้าง  พี่อ้าง พี่น้อย พี่ป้า พี่ป้อน  พี่ให้ พี่ใช้  เออนึก

ได้เหมือนกัน  สมุดเล่มละบาท เต็มพอดี มีแต่คำเอกโท  รู้สึกพอใจนะ แสดงว่าคงไม่ติดคำเอกคำโทแน่  ต่อไปก็ลองนึกหาคำตาย ถ้าจำเป็นต้องใช้แทนคำเอก ไปท่องกฎก่อน ข้อแรก คำประสมสระเสียงสั้นในแม่ ก กา ทุกคำเป็นคำ ตาย สบายมาก จะ ริ ลุ เละ และ
ก็ดีนะ  คำที่สะกดด้วยแม่ กก  กด กบ  ปก ปิด ปบ  นก นัด นบ ไม่ยากนักพอหาได้
ตรงนี้มีข้อสังเกตคือ คำตายใช้แทนคำเอก เป็นคำตายก็ใช้ได้ ส่วนเสียงคงไม่ต้องเคร่ง
ถึงขนาดต้องเสียงเอก เพราะคำเอกจริง ๆ ก็ไม่ได้มีเสียงเอกเสมอไป เช่น ต่าง (เอก)
ช่าง (โท) ค่าง(โท) ล่าง (โท)
................ผ่านสองด่านนี้ได้ ก็ลงมือหัดแต่งโคลงได้แล้ว ใช้หลักเดียวกับแต่งกลอน
คือเรียบเรียงด้วยร้อยแก้วไปก่อน ค่อยมาขัดเกลาให้เป็นโคลง(ผมไม่ไดคิดเองนะวิธีนี้ ครูผม ดร.อัมพร  สุขเกษม ตอนนั้นเรียน มศว.มหาสารคามท่านแนะนำไว้ รวมทั้งเรื่องวิเคราะห์แผนผังโคลงชนิดต่าง ๆด้วย)
...............ไปเรียนหนังสือ................โรงเรียน บ้านเรา
.........คุณครูใจดีมาก........................ดีใจ
.........เพื่อนเพื่อนรู้จักกัน..................หลายคน นะนี่
.........เพื่อนใหม่มีหลายคน...............ได้รู้จักกัน


ปรับแต่งให้มีคำเอกคำโทบ้าง

 ..........ไปเรียนที่บ้าน......................โรงเรียน  เราแล
 ...........ครูท่านใจดีมา.....................บอกให้
 ..........เพื่อนเรานี่หลายคน...............รู้จัก  กันนา
 ..........คนบ่เคยรู้ได้.........................ได้รู้จักกัน


บาทที่ 1 คำ  ที่บ้าน ตรงตำแหน่งแล้ว 
บาทที่ 2 คำ ท่าน ตรงตำแหน่งคำเอก  บอก คำตายแทนคำเอก ให้ คำโท ครบ 3 ตำแหน่ง
บาทที่ 3 คำ นี่ บังคับ เอก ตรงแล้ว รู้จัก คำจัก คำตายแทนคำเอกได้
บาทที่ 4 รื้อแรงมาก บ่ คำเอก คำ ได้ ตำแหน่งคำ โท  ได้ ตำแหน่งคำเอก ต้องแก้ รู้ตำแหน่งโท ตรงแล้ว
แนวทางแก้รอบ 2  บาทแรกท้ายบาทคือคำ เรียน บาท 2 วรรคหน้าคำท้ายคือ มา
บาท 3 คำท้ายวรรคหน้า คน ไม่รับทั้งสองคำ แก้ไข มา ใช้คำว่า เวียน แทน คน แก้ไขเป็น เพียร บาทสุดท้ายแก้ ได้เป็นย่อม ออกมาเป็นดังนี้


.............ไปเรียนที่บ้าน.......................โรงเรียน  เราแล
 ...........ครูท่านใจดีเวียน.....................บอกให้
 ..........เพื่อนเรานี่หลายเพียร.... .........รู้จัก  กันนา
 ..........คนบ่เคยรู้ได้............................ย่อมรู้จักกัน


ตรวจทาน  บาทแรก ครบเอกโท มีสร้อยด้วย 2 คำ
บาทที่ 2 เอกโทครบ รับสัมผัสถูกที่ ความขัด ๆ บ้าง ปล่อยไปก่อน
บาท 3 คำเอก 2 ที่ ครบ สัมผัสรับแล้ว สร้อยก็ใช้ได้
บาท 4 เอกโทครบ สัมผัสคำโทก็ใช้ได้แล้ว 


-
ขัดเกลาให้ไพเราะ
              ปอหนึ่งเรียนที่บ้าน...............โรงเรียน เราแล
          ครูท่านคอยวนเวียน................สั่งให้
          หลายคนเพื่อนเดิมเพียร...........พบบ่อย  แลนา
          มีบ่เคยพบได้..........................ย่อมรู้จักกัน  


..........น่าจะปรับมากพอแล้ว จากข้อความธรรมดา ขัดเกลาจนเป็นโคลง สังเกตดูเนื้อหาที่นำเสนอเป็นเรื่องเป็นราว เกี่ยวข้องกัน เพราะเทคนิคเรียบเรียงร้อยแก้วก่อนนั่นเองส่วนความ ไพเราะของโคลง  ดูจากตรงไหน 
.......1. โคลงไพเราะที่ จังหวะเวลาอ่านออกเสียง  วรรคหน้า มี 5 คำ ถ้าอ่านแบบจังหวะ  2-3ได้จะดูรื่น มากกว่าอ่าน 3-2  หรือไม่มีจังหวะเลย ดังนั้นแต่งจบให้ลองอ่าน 2 – 3 ดู ถ้าอ่านได้ไม่ติดขัดแสดงว่าจังหวะ ใช้ได้  ส่วนวรรคหลัง 2 คำ 4 คำ อ่าน 2 -2 ได้ก็ดีแล้ว


.......2.  เสียงสัมผัสบังคับ ส่งเสียงสามัญ รับด้วยเสียงสามัญ ก็ดูเรียบร้อยดี ส่งด้วยเสียงเอก เสียงโท รับด้วยระดับเสียงเดียวกัน ก็อ่านรื่นดีกว่าส่งด้วยต่างระดับเสียง  การรับส่งที่ต่างระดับเสียง ไม่ได้ผิดฉันทลักษณ์ เพียงแต่เวลาอ่านมันดูรื่นดีกว่ากันเท่านั้นเองเช่น


               นาง ส่ง รับด้วย  จาง  ปาง ทาง คราง (ห่าง ช่าง ค้าง ต่างระดับ)
               ห่าง ส่ง รับด้วย อ่าง  ต่าง  สร่าง  (หาง  บ้าง ค้าง ต่างระดับ)
               อ้อย ส่ง รับด้วย ถ้อย  ห้อย  ก้อย  (ร้อย ช้อย ค้อย ต่างระดับ)


........3..สัมผัสในในการแต่งโคลงนิยมใช้ทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะ ที่นิยมมากคือสัมผัสพยัญชนะ โดยเฉพาะคำเชื่อมต่อระหว่างวรรคในแต่ละบาท  คือคำที่ 5-6 สัมผัส
พยัญชนะได้ถือว่ามีฝีมือ ตัวอย่างเช่น ถ้าวรรคหน้า ลงด้วยคำพยัญชนะต้นเสียงใด เราก็จะนึกหาคำมาเริ่มวรรคหลัง เสียงเดียวกัน สมมติวรรคหน้าแต่งว่า........


สัมผัสโคลงส่งให้.....................หากเห็น      (คำพยัญชนะต้น ห)
เสียงส่งรอยต่อวรรค................ว่าไว้            (คำพยัญชนะต้น ว)
เสียงเดียวสัมผัสเสียง...............สวยส่ง.        (คำพยัญชนะต้น ส)
เสียงส่งรับเช่นนี้..................... หนึ่งแท้ควรทำ (คำพยัญชนะต้น น)


 ..............ในวรรคจะเล่นสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ เพิ่มให้โคลงไพเราะมากกว่าปกติ
ฝึกแต่งบ่อย ๆ ก็จะทำได้เอง เช่น......เล่นสัมผัสพยัญชนะ  


              เขียนโคลงคำคล่องขึ้น...........ขีดเขียน
พึงเพ่งพอพากเพียร..............................พิศแพร้ว
จำใจจ่อจดเจียน...................................จักจอด  จริงแล

ลองเล่นลิงโลดแล้ว...............................เล่นแล้วลวดลาย 


……
4. การเล่นคำ แต่งโคลงบางทีเห็นกวีท่านเล่นคำบางคำ หลายความหมาย ถือเป็นความสามารถเฉพาะตัว ทำได้ก็ช่วยให้โคลงน่าอ่านมากขึ้น คำเดียวเอาไปใช้ให้เกิด มีหลายความหมาย เช่น   ความรัก  รักเพื่อน รักพ่อแม่ รักตนเอง  รักชาติ รักดี  ฯลฯ  เห็นใจ  เห็นชอบ  เห็นงาม  เห็นต่าง    พอใจ พอเพียง  พอพบ  พอพราก พอค่ำ


...........5. การแทรกเนื้อหาสาระ  คำร้อยกรองทุกชนิด นิยมใช่สื่อสาระเช่น ความรู้ หลักการ ค่านิยม นิทาน คำสอน ดีกว่าเขียนลอย ๆ
ผู้เขียนควรฝึกบ่อย ๆ จะชำนาญเอง โคลงกระทู้เหมาะสำหรับฝึก สื่อสาระ เพราะเอากระทู้เป็นหัวข้อขยายความ
ฉันทะ.......พึงชอบด้วย.................ก่อนทำ
วิริยะ........กิจกรรม.......................มั่นไว้
จิตตะ.......คิดตรองนำ...................ลุล่วง แลนา
วิมังสา.....แลล้วน.........................รอบด้านจึ่งควร


ขอควรระวังในการแต่งโคลง

               1.  สัมผัสบกพร่อง  เกิดจากเอาคำเสียงสั้น รับส่งสัมผัสกันกับคำ เสียงยาว โดยเฉพาะคำที่ใช้สระลดรูป เห็นเผลอกันบ่อย   ขัน-----นาน  (อะ+ น กับ อา+น)  ใคร ----กาย   ใคร
= อัย(อะ+ย)  กาย (อา+ย)  เห็น---เกณฑ์ เห็น  (เอะ+น)  เกณฑ์  (เอ+น)   น้ำ—ยาม
น้ำ(อะ+ม) ยาม (อา+ม)


............2. ใช้คำอนุโลมจนเสียงเกินพอดี คำเดียวมีหลายพยางค์ ครูบอกอนุโลมนับเป็น 1 คำได้  ซัก 2 พยางค์ มีเสียงสั้น ๆ จะดูดีกว่า เสียงยาว ๆ เช่น จตุ  อริ ระบำ  ละมุด  ขนาดนี้ พอไหว ถ้ายาว ๆอาจไม่ดี  โรงเรียน  บ้านเกิด  แม่วัว  บัวแดง  แมงมุม  ยิ่งมากพยางค์ยิ่งไม่ควรใช้ เช่น กรณีย์ กิริยา  วิริยะ  ใช้แต่นับคำเดียว ไม่ดี


............3.  คำภาษาปาก ครูสอนว่าไม่ควรใช้ในการแต่งร้อยกรอง คงดูว่าไม่เรียบร้อย โดยส่วนตัวเห็นแย้ง บางครั้งต้องใช้ กรณีที่การตอบโต้หรือสนทนากันโดยใช้ร้อยกรองเหมือนศรีปราชญ์เกี้ยวสาวชาววัง อ่านแล้วนึกภาพออกทันที     หรือการเล่าเรื่องที่มีการสนทนา ตอบโต้กัน อาจจำเป็นต้องแทรกภาษาพูด ไม่ถือเสียหายอะไร แต่ประเภทภาษาปากหยาบคายจะเลี่ยง ๆบ้างก็ดี เพราะเวลาพูดกันยังละไม่พูดคำหยาบคาย
............4. คำซ้ำเสียงใช้รับสัมผัสคำพ้องเสียง  ขาย.....ข่าย   ค่าย    คลาย   คล้าย ทั้งหมดนี่คือ เสียง ข ประสมสระ อา สะกดแม่เกย ผันวรรณยุกต์แตกต่างกันไป เป็นคนละคำคนละความหมาย เคยทักท้วงผู้แต่งที่เป็นครูอาจารย์ เขาตอบว่าใช้ได้ คนละคำ คนละความหมาย ซึ่งก็จริง เรามันมือสมัครหัดแต่งใหม่ ไม่ควรนำมาใช้ในการรับส่งสัมผัส  ถือว่าคนแต่งจนแต้ม หักคะแนนได้ด้วยนะเออ


............5. สัมผัสลัด ชิงสัมผัส  ในโคลงเกิดได้เช่นกัน ที่เห็นได้ง่ายคือ คำท้ายบท โดยมรรยาทจะใช้คำท้ายบาทที่ 1 บทถัดไป คือคำที่ 7 รับสัมผัส อย่าให้มีเสียงเดียวกันในตำแหน่งคำที่1- 6 เลย ถ้ามีถือว่าลัดสัมผัสหรือชิงสัมผัส ถือว่าบกพร่อง


              ภายในบทปกติในบทคำท้ายบาทที่ 1 คือคำที่ 7 จะส่งสัมผัสให้คำที่ 5 ของบาทที่ 2 และบาทที่ 3  ดังนั้นอย่าให้มีลัดหรือชิงสัมผัสปรากฏในตำแหน่งคำที่ 1 2 3 และ 4  ให้คำที่ 5 เขาได้ทำหน้าที่เต็ม ๆ  จะดีกว่า


............สรุปดีกว่าเพราะยาวแล้ว ที่พูดมาทั้งหมดคือโคลงสี่สุภาพ เป็นต้นแบบที่จะนำไปขยายไปแต่งเป็นโคลงชนิดอื่น ๆ ได้มากมายจะนำแผนผังมาแสดงให้ดู ก่อนจบจริง ๆ ดังนี้

ที่ตั้งใจเขียนโคลงสี่สุภาพ จบแล้วนะ แต่มีพวกขอ ต่ออีกหน่อยโคลงสุภาพยังมีอีกหลายชนิดนี่ พวกไหน พวกจะเอาไปสอนเด็กน่ะซีรู้นะ  ได้ไม่หวงหรอก..........มาดูกัน
---------------------
................จากแผนผังโคลงสี่สุภาพโปรดสังเกตให้ดี บาทที่ สี่ มีคำสร้อยได้ 2 คำนะ แต่ไม่นิยม ถ้าเราตัดเอาวรรคที่ 1 บาทที่ 1 เฉพาะวรรคหน้า 5 คำ มาวางหน้าบาทที่ 4 จัดเรียงใหม่จะได้ 14 คำ แถมสร้อย 2 คำ ลากคำที่ 5 กลุ่มแรกสัมผัสสระกับคำที่ 5 กลุ่มที่ 4 อ้าวมันกลายเป็น โคลงสองสุภาพไปแล้ว ง่าย ๆเอง แบบนี้ไง



……………เห็นโคลงสองแล้ว ลองเติมมาอีก 5 คำ ให้คำที่ 5 ส่งสัมผัสให้โคลงสองคำที่ 1/2/3 จัดเรียงใหม่จะเป็นโคลงสามทันที แบบนี้


……………เห็นโคลงสามที่เกิดจากโคลงสองไปแล้ว ให้เติมแค่ 5 คำนะถึงจะได้โคลงสาม ถ้าเติมมากกว่า 1 กลุ่ม 5 คำ คือเพิ่มมาอีก 5 คำ โยงสัมผัสต่อเนื่องกันไว้ เช่นโคลงสองดี ๆนี่แหละ เพิ่ม 1 กลุ่ม 5 คำ เรียกโคลงสาม เพิ่มอีก 1 กลุ่ม เป็นร่ายสุภาพไปเลย ไม่ใช่โคลงแล้ว แถมร่าย เติมได้ไม่จำกัดซะด้วย ดังนั้นจะพบว่าบางที 15 วรรค ยังไม่จบ



.............สรุปก็จริงแต่พูดยาวนะ เพราะแถมมา 3 เรื่องสำคัญ ๆ ด้วย อ่านแล้ววิเคราะห์ดูเอง จะได้หลักการของโคลงสุภาพและร่ายสุภาพเอาไว้ใช้ได้อย่างดีเลยแหละ จบครับ

วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กว่าจะพบโพธิ์


ต้นโพธิ์ทอง วัดเตาอิฐ พนมสารคาม แปดริ้ว




                                            (คลิพนี้ถ่ายเอง สังเกตต้นโทรมมาก)
กว่าจะได้พบโพธิ์
…..วานนี้ 24 สิงหาคม 2560 ยายที่บ้านชวนไปหาซื้อของใช้เพิ่มเติม เห็น ว่าจะมีเพื่อน ๆแวะมาเยี่ยม อยากให้ชิมน้ำมะพร้าวอ่อน ขนมตาลแล้วก็ข้าว เกรียบว่าว โห ตะละอย่างอยู่ไม่ไกลหรอก แต่มันอยู่คนละทิศ จะเที่ยงแล้ว ขอทานข้าวเที่ยงก่อนเถอะ ยายว่าจะเอาหมาไปด้วย อาบน้ำแต่งตัวให้มัน ก็คงเสร็จพอดี แม่บ้านเขาจัดการให้เรื่องอาบน้ำให้หมา
.......ดูเวลา 12.35 น. ก็ออกรถได้ แหล่งมะพร้าวน้ำหอมลูกละ 7-10 บาท ต้องไปที่สวนเขา เขตอำเภอบางคล้า รอบ ๆอุทยานพระพิฆเณศ ยืน มีคน ทำสวนมะพร้าวหลายร้อยไร่ ออกไปทางบ้านใหม่ วัดจีน ถึงคลองชลประทาน เลี้ยวขวาออกนอกเมืองละ น้ำในคลองช่วงนี้ค่อนข้างเยอะเพราะฝนตกบ่อย ไม่ต้องสูบน้ำใส่นา บ่อปลา บ่อกุ้ง มีสวนกล้วย มะม่วง ปะปนไปกับทุ่งนา คล้ายชนบทบ้านเรา แต่แถวนี้ชนบทสมัยใหม่ ว่างจากทำนาทำสวนก็ไม่ว่างจริง มีเลียงกุ้งเลี้ยงปลา ฐานะก็คงดีเพราะเห็นมีเครื่องจักรกลใช้งานกันแทบทุกบ้าน มีรถนั่งไว้ไปธุระในเมือง มีร้านรับซื้อกุ้งปลา หลายร้าน ไม่กล้าแวะถามกลัว เขาถามว่าจะเอากี่ลัง ซื้อกิโลสองกิโลเขาก็คงขายให้แต่เรารู้สึกอายเอง
.....ผ่านปากทางเข้าวัดสมาน อ้อวัดนี้เข้าทางนี้ก็ได้ อีกทางถนนสาย 304 ที่มาจากโคราชก็เข้าได้ เลยมานิดหนึ่งก็เลี้ยวขวาตามป้ายบอก ไปสวนปาล์ม ฟาร์มนก ของอดีตรองนายกโภคิน เขาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวบัตร 60-100 บาท เคยมาเที่ยว มีรถไฟฟ้าให้เช่า สองแถว จักรยานยนต์ สองล้อ เพราะที่กว้างเดินเหนื่อย ก็สวยน่าเที่ยว สมราคานั่นแหละ วันนี้ผ่านไปไม่ได้มาเที่ยว ออกตามป้ายบอกทางไปอุทยานพระพิฆเนศ เป็นองค์แรกมั้ง น่าจะดูแลโดยสมาคมชมรมคนนับถือเทพแบบอินเดีย เพราะได้ยินเสียง สวดมนต์ แบบภาษาแขก เคยมาเที่ยวนะ ถามคนที่ขายเครื่องบูชา เขาเล่า ให้ฟังว่าคนนับถือเทพองค์นี้กันมาก เพราะเป็นเทพที่ได้ชื่อว่าฉลาดปัญญาดี และมีฝีมือเป็นเลิศทางช่างและศิลปะ และชอบประทานพรให้เกิดผลโดยเร็ว แต่มีเคล็ดในการขอนะ เห็นรูปหนูอยู่ด้านหน้าองค์เทพไหม นั่นแหละเคล็ดละ หนูน่ะเป็น เทพบริวารคนสนิทของท่านเทพ ช่วยจดจำสิ่งที่คนมาบนบานและ คอยเตือนท่านเทพ เหมือนเวลาไปพบผู้ใหญ่ ต้องไม่ลืมทักทายเลขาหน้าห้องนั่นแหละ แต่ต้องใช้วิธีกระซิบข้างหูนะ มือปิดหูอีกข้างและกระซิบเบา ๆ ถามว่าทำไมต้องปิด แกบอกว่าไม่ทราบเขาทำกันแบบนี้ทุกคน เลยต้องเดา ว่าคง กลัวกระซิบหูซ้ายทะลุออกหูขวาแบบที่คนชอบเป็นกันมั้ง สังเกตดูเขา ไปไหว้เทพองค์ใหญ่ ออกมาแวะเทพมุสิกา กระซิบบอกสิ่งที่บนเอาไว้ บ้างมีข้าวของมาบูชาด้วย แสดงว่าพวกบนแล้วได้รับพร กลับมาแก้บน ยายเร่ง บอกรีบ ๆหน่อยไม่แวะอุทยานหรอก เข้าสวนมะพร้าวเลย ครับ ๆคุณนาย
........เขาตัดมะพร้าวกองเต็มหน้าบ้าน มีคนมาขอซื้อไปขาย เอาเป็นคันรถ แวะถามขอซื้อ นับลูกขาย ปอกให้ชิมคนละลูกอิ่มพอดี กินน้ำเสร็จสับให้ กินเนื้อด้วย หวานอร่อยดี ลูกละสิบ ถึงมือแม่ค้าริมถนน แช่เย็นขาย 15 บาท ทำวุ้น 20 บาท ได้มา 5 ทะลาย 75 ลูก เลยสวนมะพร้าวไป สาม กิโลเมตร ทางเข้าตลาดอำเภอบางคล้า สวนตาลเต็มสองข้างทาง มีป้ายบอกหมู่บ้าน สวนตาล มีแผงขายของข้างทางเรียงรายอยู่สิบกว่าแผง บางแผง น้ำตาลสด ลอนดาล ลูกตาล ขนมดาล เลือกซื้อเอา ยายเขามาบ่อยเลยซื้อไม่ยาก ได้ของตามต้องการแล้ว ต่อไปก็อุปกรณ์ทำข้าวเกรียบว่าว และข้าวหมาก อันนี้ต้องที่ไปที่ตลาดสนามชัยเขต ทางไปเขื่อนสียัด เกื่อบยี่สิบกิโลเมตร
........จากหมุ่บ้านต้นตาลผ่านเข้าในตลาดอำเภอบางคล้า ที่นี่ก็มาบ่อย เขามีตลาดน้ำ ที่ท่าน้ำหน้าอำเภอ เป็นท่าน้ำบางปะกง มองข้ามไปเป็นเกาะ ลัดที่แม่น้ำบางปะกงไหลวนรอบเลยเรียกเกาะ เห็นต้นจากขึ้นเต็มไปหมด เขาว่ามีคนอาศัยอยู่ด้วย เคยนั่งเรือหงยาววนรอบชมวิว มีป้ายบอกนี่บ้าน ท่านชื่อนี้ นั่นบ้านท่านชื่อโน้น มีสองสามแห่ง ส่วนชาวบ้านไม่เห็นมีป้ายบอก บางจุดเรือแวะมีของสดขายพวกกุ้ง ปลา ผัก ขนม ช่วงวันหยุดจะมีงาน ตลาดนัดตลาดสดบริเวณตลาดน้ำ อ้อลืมบอกเขาทำแพขนาดใหญ่ 3-4 ลำ
ลอยลำติดกันตามทางยาว พ่อค้าแม่ค้าจองที่ขายของกิน ผัก ผลไม้ และพวก สินค้าโอทอป คนมาเที่ยวกันเยอะมาก เทศกาลมะม่วงก็จัดงานมะม่วง มี พันธุ์ไม้ต่าง ๆมาขายด้วย
.........ผ่านไปพนมสารคาม ไม่นานก็ทะลุออกถนนสาย ฉะเชิงเทราไปสัตหีบ ระยอง วัดเซียน เขาชีจันทร์ ผมมาใช้บ่อย ไม่ต้องเข้าเมืองชล ตรงไปที่เที่ยว ได้เลย เราวิ่งตัดผ่านเฉย ๆ เพราะสนามชัยเขตอยู่ข้างถนนสายนี้ เลยไป 5 กิโลเมตรจอดตรงข้ามร้านขายข้าวเกรียบดิบ มัดละ 10 บาท ประมาณ 15 แผ่น
ไปย่างเอง ได้มาสิบมัด ส่วนแป้งข้าวหมากเขาขายลูกละ 5 บาท ข้าวสุก 1 กิโลกรัมใช้ 3 ลูก ไม่ใช่สูตรนะ แม่ค้าเขาคำนวนให้ จะเอาไปทำมากน้อย นับให้พอ โหยายแกซื้อมา 60 ลูก ตายละ ไม่อยากเชื่อเลย จะทำอะไรกัน นักหนา กินไม่หมดหรอกยาย เถียงเราอีก กินไม่หมดก็ขายสิ อ๋อจะทำไปขายนี่เอง นึกว่าจะทำไว้แจกเพื่อที่มาเยี่ยม
.......จบนะยาย ยังหรอก ไหน ๆก็มาพนม ใกล้วัดเตาอิฐ 7 กิโลเมตรเอง จากตลาดพนมออกไป น้องชายยายบวชอยู่ที่วัดนี้ อยากแวะถามสุขทุกข์ หน่อย ไปก็ไป ไหน ๆ ก็ทำหน้าที่สาระแทกซี่แล้วนี่ ออกจากตลาดพนมสารคาม มาทางไปอำเภอบ้านสร้าง 7 กิโลเศษ ถึงทางเข้าวัดเตาอิฐ แวะไป ชมสวนป่าร่มรื่นดี แต่ใต้ร่มไม้ มีแต่เจดีย์แน่นไปหมดคงถึงร้อย กลางคืน คงเย็นยะเยือกน่าดู โบสถ์หลังเล็ก ๆ เคยมาดูวันบวชน้องชาย ยังสวยงาม เหมือนเดิม ใกล้ ๆโบสถ์ก็เป็นเมรุเผาศพ ไม่ค่อยเรียกฌาปนสถาน คงไม่รู้
ว่ามันมีชื่อเรียกเพราะ ๆ ด้วย ยายแยกตัวไปกุฎิพระ บอกมีธุระจะคุยด้วย เราจะไปดูสวนดอกไม้รอ ก็อยู่ใกล้ๆกุฏิพระนั่นแหละ ดูกล้วยไม้ ไม้กระถาง ไม้กระเช้า สวยงาม ฝนตกชุกเลยงามทุกต้น สุดท้ายมาหยุดที่ต้นไม้สำคัญ เพราะล้อมกรงเหล็กไว้ เสียดายมีแต่ต้นไม้ ไม่มีการพรวนดิน ไม่มีปุ๋ย มี แต่ใบแห้งหล่นกองอยู่ อยากเข้าไปเก็บกวาดให้ แต่ติดกุญแจ
......ลืมบอกมันคือต้นโพธิ์ขนาดเท่าต้นหมาก สูงสองเมตรได้ มีกิ่งก้านไม่มาก ใบก็นับได้ น่าเป็นห่วงว่าจะไปได้สักกี่ปี กลัวจะแห้งเฉาตายในหน้าแล้ง ตอน นี้ฝนชุกคงช่วยได้อยู่ ถ้าทำได้นะ อยากได้โอ่งน้ำสวย ๆซักใบ ถังพลาสติค ใส่น้ำซักใบ จากถังพลาสติด ทำน้ำหยดให้ต้นโพธิ์ พรวนดินหาปุ๋ยคอกมาใส่ เชื่อว่า จะช่วยให้มีกิ่งก้านสวยงาม มีใบดกมากขึ้น ส่วนโอ่ง ใช้น้ำใส ๆ ดอกไม้ ธูปเทียนเอามาไว้ใกล้ๆ ทำที่จุดธูปเทียนไว้นอกกรง ทำกระบวยด้ามยาว ๆ ยื่นไปตัดน้ำในโอ่ง เอามาล้างหน้า พรมศีรษะ ตามใจชอบ อ้าวลืมอีกแล้ว ใบโพธิ์ต้นนี้สีขาวบริสุทธิ์ครับ ชาวบ้านเรียนต้นโพธิทอง แหมกว่าจะได้ชื่อต้น ไม้สำคัญ ก็จวนจบแล้ว 

........ยายหน้าหงิกกลับมาบอก พระไม่อยู่ ยังไม่ออกพรรษาไปค้างที่อื่น ได้ไง เราก็ขำนะเพราะยายแกไม่รู้ จำพรรษา ไม่เหมือนจำคุกนะยาย มีกิจ จำเป็นก็ไปค้างได้ พระวินัยอนุญาตไว้ไปได้คราวละ 7 วัน กรณีที่ไปได้เช่น งานของคณะสงฆ์ เพื่อนสหธรรมิกเจ็บป่วยต้องไปดูแลการรักษาพยาบาล ญาติโยมนิมนต์ไปแสดงธรรมหรือไปรับไทยทาน หรือบิดามารดาเจ็บป่วย อนุญาตไปค้างที่อื่นได้ไม่เกิน 7 วัน เรียกว่า สัตตาหกรณียะเราก็เลยออกจากวัด มาเพื่อเดินทางกลับ ไม่อยากย้อนกลับทางเดิมเลยผ่านไปทางอำเภอบ้านสร้าง ปราจีนบุรี ผ่านบางปลาร้ามีตลาดสดกำลังตั้งแผงกัน ยายชวนไปดู ได้ จิ้งหรีด แมงตับเต่า ดักแด้ 50 บาทสามอย่าง สด ๆนะ ถามว่าเอามาจากไหน จิ้งหรีดมีคนเพาะเลี้ยงขาย อีกสองอย่างไม่รู้ซื้อต่อเขามา เดินไปอีกจะกลับ เจอหน่อไม้เลี้ยงถุงละ 20 บาท ซื้อมาสองถุง เห็ดฟางและผักสำหรับใส่แกง หน่อไม้ แค่นี้ก็กลับได้แล้ว
.......ถึงแยกบ้านสร้างเลี้ยวซ้ายจะกลับแปดริ้ว แต่ยังกลับไม่ได้ผ่านหน้า ตลาดสดโครงการ ฯ ขาประจำอย่างยายมาบ่อย ช่วงสี่โมงเย็นนี่ แม่ค้ามา เต็มทุกแผง ก็ปล่อยตามสบาย เราขอปล่อยหมาลงไปฉี่ซะหน่อย ปล่อยตรง ข้างคลองน้ำ เป็นดงหญ้ากำลังงาม หมาเยี่ยวเสร็จมันก็กินหญ้า เขาชอบนะ กินแล้ว

อ๊วก ยังกะพวกขี้เมา ที่บ้านปลูกตะไคร้มันยังชวนกันไปกิดกิน จน ตายหมด เคยเอาหญ้าไปปลูกให้ ตาย หมด มันไม่กินเฉย ๆ มันรดปุ๋ยเกลือ แอมโมเนียสูงเข้ม 6 ตัว จะเหลือหรือเฉาตายหมด เสร็จก็พาหมามานั่งฟัง เพลงรอบนรถ อ้อฟังเพลงน่ะเราไม่ใช่หมา มันก็หาของกินไปทั่วรถแหละ สงสัยได้กลิ่นลูกชิ้น ยายเขาซ่อนไว้ ต้องให้มาหาเอง
.......สุดท้ายยายก็หอบของมาเติมท้ายรถ แล้วบอกกลับได้ เราข้ามสะพาน แม่น้ำบางปะกงเข้าเขตของจังหวัดแปดริ้ว วิ่งไม่ถึงสิบนาทีก็เป็นบางน้ำเปรี้ยว ผ่านมาทางสามแยกสตาร์ไลท์ มาเจอตลาดสดใหญ่ใกล้ทางเข้าวัดต้นตาล ตลาดนี้ก็ของเยอะ ยายเคยมาเลยแกล้งถามว่า เดินอีกไหม เห็นส่ายหน้า แสดง ว่า เหนื่อแล้ว คุณยายธนัญธรนี่เวลาออกจากบ้าน เขามีเป้าหมายเดียวแหละ แต่ยังไม่จบง่ายหรอก มี
อะไรเพิ่มมาเรื่อย เลยแถมสร้อยให้ ธนัญธร หลายออพชั่น แต่แกไม่รู้หรอก แกถามออพชั่นอะไร เราก็บอกว่าเหมือนที่ เขาขายรถยนต์ไง ได้รถแล้วยังมีของแจกของแถมอีกมากมาย เวลาซื้อรถ เขาจะถาม
หาออพชั้นไง จบไว้ จนผลายวันถัดมาค่อยมาด่าว่าเรากล่าวหาว่าเขาเป็นคนหลายออพชั่น เลยขยาย
ความให้ฟังว่า หลายออพชั่นของแกหมายถึงไม่ ค่อยหยุดเมื่อบรรลุจุดหมายที่ 1 มักจะแถมไปต่อจุดที่
 2 - 3 จนค่ำโน่นแหละ เห็นหัวเราะชอบใจ จบได้แล้วเนาะยาวเกินแล้ว


cr. ภาพกูเกิล 




ถ่ายเอง
ถ่ายเอง

ถ่ายเอง

ถ่ายเอง

ถ่ายเอง

ถ่ายเอง

แกงเอง





วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

หัดแต่งกลอน

หัดแต่งกลอน 



..................แต่งกลอนใคร ๆ ก็หัดแต่งกันได้ มี 2 วิธี คือ เขียนข้อความร้อยแก้วก่อนค่อยปรับแก้ไขให้เป็นกลอนภายหลัง กับวิธีศึกษาแผนผังกลอนแปดแล้วแต่งตามแผนผัง 
........วิธีแรกเขียนข้อความถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นถ้อยคำธรรมดา ๆก่อน พยายามให้มีใจความต่อเนื่องเป็นเรื่องราว แก้ไขเรียบร้อยแล้วค่อยนำมาจัดกลุ่มทีละแปดคำคล้ายกลอนแปด ทีนี้ไป ดูแผนผังกลอนแปด เราต้องปรับแก้ตรงไหนให้มีสัมผัสระหว่างวรรค ระหว่างบท อาจต้องลบบางคำออก เติมคำใหม่แทนสุดท้ายจะได้กลอนแปด
ตัวอย่าง
..........1. เขียนข้อความธรรมดาความยาว 8 x 8 = 64 คำ
........อยากเดินชมสวนดอกไม้หลังบ้าน....ลูกหลานวิ่งตามอยากไปกับตา.....นั่นดอกเล็บมือนางกำลังบาน ...กลิ่นหอมจับใจมีผึ้งตอมอยู่.....นั่นดอกกระดังงาหอมเย็นชื่นใจ   นกกางเขนมันกำลังหาหนอน นึกว่ามันกำลังชมดอกกระดังงา  นึกอิจฉานกจริงจริง
...........2. จับมาจัดวรรคตอน ใหม่
 ........อยากเดินชมสวนดอกไม้หลังบ้าน....ลูกหลานวิ่งตามอยากไปกับตา
.นั่นดอกเล็บมือนางกำลังบาน ...................กลิ่นหอมจับใจมีผึ้งตอมอยู่.
.นั่นดอกกระดังงาหอมเย็นชื่นใจ................นกกางเขนมันกำลังหาหนอน 
 นึกว่ามันกำลังชมดอกกระดังงา...............  นึกอิจฉานกจริงจริง
นึกว่ามันกำลังชมดอกกระดังงา ............. นึกอิจฉานกแมลงเสียจริง ๆ

วรรคแรก ย้ายคำ สวน ไปไว้หน้าคำ หลังบ้าน อ่านง่าย ดี  
วรรค 2 คำ หลาน รับสัมผัสคำ บ้าน ได้ อัตโนมัติ คำไม่ค่อยรื่นไหล แก้เป็น ลูกหลานวิ่งตามไปกับคุณตา
วรรค 3 จังหวะติดขัด ต้องลงท้ายเสียง อา แก้เป็น  เล็บมือนางผลิบานลมพัดมา
วรรค 4 รับสัมผัส อา แก้เป็น  กลิ่นหอมพาภู่ผึ้งเที่ยวบินจร
วรรค 5 จังหวะติดขัด แก้เป็น กระดังงา หอมรื่น ชื่นดวงจิต
วรรค 6 แก้ไข....กางเขนคิด ทำอะไร ใช่จับหนอน
วรรค 7 แก้ไข....นึกว่าชม ดวงดอกบินแวะวอน
วรรค 8 หักคอจบ อยากแรมรอนดังแมลงเสียจริง ๆ
แก้เป็นดังนี้
อยากเดินชมดอกไม้สวนหลังบ้าน...........ลูกหลานวิ่ง ตามไป กับคุณตา
.เล็บมือนาง ผลิบาน ลมพัดมา.................กลิ่นหอมพา ภู่ผึ้ง เที่ยวบินจร

.กระดังงาหอมรื่นชื่นดวงจิต......................กางเขนคิด ทำอะไร ใช่จับหนอน
 นึกว่าชม ดอกไว้ เทียวแวะวอน................อยากแรมรอน ดังแมลง เสียงจริงจริง ฯ 

 ..........2.  ศึกษาแผนผังบังคับกลอนก่อน ค่อยลองแต่ง  .. ท่องบทกลอนมา 4 บรรทัด
 แล้วมาเขียนแผนผังกัน  เช่น บทอาขยานจากเรื่องพระอภัยมณี

 ....แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์       มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด         ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

มนุษย์นี่ที่รักอยู่สองสถาน              บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน              เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา

กลอนแปด บทหนึ่งมี 4 วรรค ตัวอย่างนี้มี 8 วรรคคือ 2 บทนั่นเอง 
............วรรคแรก จบตรงคำว่า มนุษย์............วรรคสองรับสัมผัสด้วยคำ สุด และจบคำว่ากำหนด
............วรรค 3 คำท้ายวรรค ลด รับสัมผัส.....  วรรค 4 คำ คด รับสัมผัส เป็นอันจบทที่ 1
............คำสุดท้ายบทที่1 คือคำ คน ส่งสัมผัสให้บทถัดไปคือบทที่ 2
............ในบทที่ 2 การแต่งสัมผัสในบทคล้ายกับบทที่ 1   บทที่ 2 ต้องแต่รับสัมผัสจากบทที่ 1 ซึ่งส่ง
คำว่าคนมาให้ บทที่ 2 ใช้คำท้ายวรรคที่ 2 รับสัมผัสคือคำ ผล
............มาดูสัมผัสภายในบทที่ 2 กัน
            วรรคแรกจบวรรคด้วยคำ สถาน.............. ...วรรคที่ 2 รับด้วยคำ  มาร..ดา จบวรรคด้วยคำ ผล ............วรรคที่ 3 ใช้ท้ายวรรคคือคำ ตน รับสัมผัส...วรรคที่ 4 รับด้วยคำ คน
ฝึกแต่งกลอนแปดคำจำแผนแล้ว............นึกหาคำสัมผัสเสียง แอว..(แนว แถว แคล้ว  แวว ) 
ถือเป็นแนวจัดครบจบวรรคหนา.............นึกหาคำสัมผัสเสียง อา.(มา พา ลา กา ทา ครา วา ยา)
ตรวจสัมผัสไปด้วยช้วยจัดมา.......หาคำเสียง อา      (มา พา ลา กา ทา ครา วา ยา)
เสียงเพราะพาเป็นกลอนสอนตนเอง    หาคำเสียง อา      (มา พา ลา กา ทา ครา วา ยา)  

อันนี้แค่เบื้องต้น แต่งเป็นกลอนให้ได้ก่อน ส่วนแต่ให้เพราะ อ่านข้อเขียนอีกบท  ครับ      




พื้นฐานการศึกษาหลักภาษาไทยเพื่อการแต่งร้อยกรอง 


-----------------

........ผมเป็นคนเรียนหนังสือที่ไม่ชอบท่องจำ วิชาที่ได้คะแนนแย่มาก ๆคือไวยากรณ์ไทย ซึ่ง พัฒนามาเป็นวิชาหลักภาษาไทย ในปัจจุบัน แต่ผมก็เอาตัวรอดได้นะ โดยพยายามทำความเข้าใจ และหาข้อสังเกตให้ได้ว่าทำไมเป็นอย่างนั้น แล้วก็ไม่ลืมบันทึกไว้ เวลาหลงลืมก็เอาออกมาอ่าน ทบทวน บันทึกชุดนี้คือเรื่องที่ต้องเปิดดูบ่อย ๆ เวลาแต่งร้อยกรอง ใครอยากอ่านก็ลองดูครับ อาจได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย อ้อ ไม่ใช่ตำรานะครับ อย่าไปคิดว่านี่ถูกต้องแล้ว 

ขุนทอง ศรีประจง 
(ปรับปรุง 15 มิย.2560)
.......1. เสียง พยางค์ คำ
.......1.1 เสียงสระ เสียงที่เปล่งออกมาได้โดยอิสระ แต่ในความเป็นจริง สระออกเสียงตามลำพัง ไม่ได้ คนจะรู้สระอะไร ต้องพึ่ง พยัญชนะ อ นักภาษาเขาเล่าว่าสระทุกตัวเป็น นิสัย คือยอมให้ พัญชนะเข้ามาอาศัยออกเสียงได้
.......1.2 เสียงพยัญชนะ ทุกตัว เป็นนิสิต ต้องพึ่งสระ ถึงออกเสียงได้ กิจกรรมท้าทาย (มีคำถามเล่น ๆ ลองออกเสียงสระ โดย ไม่ต้องอาศัย ตัว อ ถ้าทำได้  ดูซิ ออกเสียงได้ไหม เป็นเสียงอะไร ) (ลอง ใช้ อัก กลาง ตัวอื่น ๆ คือ ก จ ด ต บ ป ฎ ฏ ประสมสระ แทน ตัว อ ดู ได้เสียงอะไร ถามว่า งั้นเราเรียก สระ กะ สระ กา แทน อะ อา ดีไหม ขอเปลี่ยนชื่อบ้าง คนยังเปลี่ยนชื่อกัน บ่อย ๆ)
.......1.3 พยัญชนะไทย สังเกตการออกเสียงประสมเสียง ออ เช่น กอ ขอ คอ จะจำแนก พยัญชนะที่มีเสียงสามัญ กับเสียงจัตวา มีข้อควรสังเกตคือ ตัวมีพื้นเสียงเสียงจัตวามี 11 ตัว เป็นอักษรสูงครบ 11 ตัวพอดี เหลืออีก 33 ตัว สามารถแยกได้สองกลุ่มคือ กลุ่มที่ประสม เสียง ออ แล้วผันด้วย วรรณยกต์ เอก ตัวไหนผันแล้วอ่านออกเสียงเอกได้ กลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มผันวรรณยุกต์เอก แต่อ่านออก เสียง โท กลุ่มอ่านออกเสียงเอก มี 9 ตัว คือ อักรกลางนั่นเอง ส่วนที่ออกเสียงโท มี 24 ตัว เป็นกลุ่มที่เรียกชื่อ เป็นอักษาต่ำ ตัวอย่าง  กอ ขอ คอ กลุ่มออกเสียงแบบ ขอ เช่น ฉอ ถอ ผอ เป็นต้น กลุ่ม กอ กับ คอ ต้องใช้วรรณยุกต์เอกช่วยแยกเช่น ก่อ...ค่อ จอ่.... ต่อ ช่อ ท่อ แบบนี้ ผมแยกอักษรสามหมู่ได้โดยวิธีนี้ ไม่ต้องท่องจำยาก
........1.4 เสียงพยัญชนะไทย 44 ตัว แจงนับเสียงที่ไม่ซ้ำกันได้เพียง 21 เสียง ที่เสียงโดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อน ได้แก่ ก ง จ บ ป ม ร ว และ อ รวม 9 ตัว ที่เหลือ12 ตัว มีเพื่อน อย่างน้อย 1 ตัว และ มากสุด 5 ตัว ได้แก่ ข (ขอขวด ค  คอคน ฆ) ฉ ( ช ฌ) ซ (ศ ษ ส) ญ (ย) ฎ(ด) ฏ (ต) ณ(น) ฐ ถ(ฑ ฒ ท ธ) ผ(พ ภ) ฝ(ฟ) ห (ฮ) ความเข้าใจเรื่องนี้เอาไว้ใช้ตอน สงสัยเสียงที่ใช้ รับส่งสัมผัส เช่นคำรูปพยัญชนะต่างกัน แต่เสียงคล้ายกัน เข่น ขน...คน ฉัน...ชัน ซน...สน ไม่ควรใช้ รับส่งสัมผัสบังคับ
        2. สัมผัส ในการแต่งร้อยกรอง ใช้สัมผัส 2 อย่างคือ สัมผัสนอก กับสัมผัสใน สัมผัสนอกเป็นสัมผัสสระ บังคับให้แต่งตาม ข้อบังคับของคำร้อยกรองชนิดนั้น ๆ ส่วนสัมผัสในเป็นสัมผัสที่แต่งเสริมเพิ่มเข้าไป ไม่ได้บังคับ ใช้กันทั้งสัมผสสระและพยัญชนะ (สัมผัสนอก สัมผัสใน คืออะไร  หมายถึงการที่คำหนึ่งไปสัมผัสกับคำอื่น ถ้าอยู่นอกวรรคเรียกสัมผัสนอก อยู่ในวรรคเดียวกันเรียกสัมผัสใน)
.........2.1 สระในภาษาไทย มี 32 เสียง แยกเป็น สระเดี่ยวที่เรียกสระแท้ จับคู่ สั้น-ยาว ได้ 9 คู่ สระประสม เกิดจากการนำสระเดี่ยวมาประสมกันได้เสียงใหม่ จัดเป็นคู่เสียงสั้นและยาว ได้ 3 คู่ นอกนั้นจัดกลุ่มยากรวม ๆ เรียกสระเกิน รายละเอียด ดังนี้
........สระเดี่ยว 9 คู่ได้แก่ อะ-อา/ อิ-อี/ อึ-อือ/ อุ-อู/ เอะ-เอ/ แอะ-แอ/ โอะ-โอ /เอาะ-ออ/ เออะ-เออ
........สระประสม 3 คู่ได้แก่ เอียะ(อิ+อะ) - เอีย(อี+อา) เอือะ(อึ+อะ) - เอือ(อือ+อา) อัวะ(อุ+อะ) - อัว(อู+อา)
........สระเกิน อำ(อะ+ม) ไอ(อะ+ย) ใอ(อะ+ย) เอา(อะ+ว) ฤ(ร+อึ) ฤๅ(ร+อือ) ฦ(ล+อึ) ฦๅ(ล+อือ) มีเสียงยาว คือ รื กับ ลือ
........การสร้างคำในภาษาไทย จะต้องใช้พยัญชนะประสมสระถึงจะได้ พยางค์และคำ ดังนั้นทุกคำ/พยางค์ จึงมีเสียงสระแทรกอยู่ จะปรากฏหรือลดรูปก็ตาม เสียงต้องคงอยู่ เว้นแต่จะถุก ฆาต มิให้ออกเสียง เช่น จันทร์ สิงห์ ในการแต่งร้อยกรองจึงต้องรู้ว่าคำ หรือพยางค์ที่ใช้นั้น ประสมสระอะไร เสียงสั้นหรือยาว อาจต้องลงลึกไปถึงระดับเสียงวรรณยุกต์ รู้ชัดเจนแล้วค่อยน้ำไปใช้
........2.2 สัมผัสสระ ได้แก่คำที่ประสมสระเสียงเดียวกัน ในแม่ ก กา หรือคำประสมสระเดียวกันในแม่ กง กน กม เกย เกว กก กด และกบ มีข้อสังเกตคือ ต้องออกเสียงสระตัวเดียวกัน ถ้ามีตัวสะกด ก็ต้องมาตราเดียวกันด้วย เช่น
......กา ขา กา มา นา อา เสียงอา ในแม่ก กา พยัญชนะต้นต่างกัน เอาไปใช้ ส่ง-รับ สัมผัสในตำแหน่งสัมผัสนอก ได้ แต่กรณีต่าง ระดับเสียงสั้นยาว ห้ามมิให้ใช้เช่น กะ-ขา ริ-รี รึ-ฤๅ กัด-กาด ใคร-คาย พบ-โลภ
......พยัญชนะต้นที่เป็นอักษรคู่ ประสมสระเดียวกัน หรือมีตัวสะกดก็มาตราเดียวกัน ถือว่าเป็นคำมีเสียงซ้ำกัน ไม่ควรเป็นสัมผัสนอก เช่น ใส ไทร ไซ อาศัย กษัย เสียง อัย แถมพยัญชนะเสียง ซอ เหมือนกัน หรือ คำ คา ขา ฆ่า ถือเป็นคำมีเสียงซ้ำคือ พยัญชนะต้นเสียง คอ ประสม สระอา
......คำพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน ประสมสระเสียงเดียวกัน หรือมีตัวสะกดมาตราเดียวกัน ต่างระดับวรรณยุกต์ ถึงเป็นคนละคำ ก็ไม่ควรใช้สัมผัสนอกคือสัมผัสบังคับ เช่น (กา---ก่า---ก้า---ก๋า) ( การ...ก่าน...ก้าน) ( คา...ข่า...ฆ่า...ค้า...ขา)
…….คำที่มีเสียงอ่านทำให้เข้าใจผิดบ่อย ๆ ได้แก่ คำที่ประสมเสียงสระ อำ ไอ ใอ เอา
........2.3 สัมผัสอักษร ความจริงควรเรียก สัมผัสพยัญชนะ ทบทวนให้ก็ได้ อักษรไทยจำแนกออกเป็น สระ พยัญชนะ ตัวเลข วรรณยุกต์และเครื่องหมายต่าง ๆ เมื่อมีสัมผัสระ ก็ควรเรียกสัมผัสอักษรเป็น สัมผัสพยัญชนะ จะได้ตรงกับลักษณะที่เรียก สัมผัสพยัญชนะนิยมใช้เป็นสัมผัสใน ของร้อยกรอง
.......3. คณะ ร้อยกรองประเภทฉันท์ มีคำนำนำเรื่อง กลุ่มคำครุลหุ 3 พยางค์ ว่า ครุ-ลหุ วางอย่างไร มีแนะนำไว้ 8 คณะ คือ   ม คณะ (ครุ-ครุ-ครุ) น คณะ (ลหุ-ลหุ-ลหุ) ภ คณะ (ครุ-ลหุ-ลหุ) ย คณะ (ลหุ-ครุ-ครุ) ช คณะ (ลหุ-ครุ-ลหุ) ร คณะ (ครุ-ลหุ-ครุ)   ส คณะ (ลหุ-ลหุ-ครุ) ต คณะ (ครุ-ครุ-ลหุ)
.....4. วรรณยุกต์ เป็นเครื่องบอกระดับเสียงของ อักษรและคำ มี 4 รูป 5 ระดับเสียง กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า
จัดได้ 2 ประเภท
.....4.1 วรรณยุกต์ แสดงรูป วรรณยุกต์ที่ปรากฏเห็น จ่า จ้า จ๊า จ๋า
.....4.2 วรรณยุตต์ไม่แสดงรูป แต่มีระดับเสียงอยู่ เช่น พยัญชนะทุกตัว จะมี 2 กลุ่มเมื่อประสมสระ
อ คือกลุ่มเสียงสามัญ กับกลุ่มเสียงจัตวา เช่น ก อ จอ ดอ ตอ และ ขอ ฉอ ถอ ผอ หอ
......คำที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายวรรณยุกต์ มีระดับเสียงวรรณยุกต์อยู่ทุกพยางค์ ผู้ออกเสียงต้อง วิเคราะห์ดูเองถึงจะทราบเช่นคำว่า กาด (เอก) คาด (โท)คะ (ตรี) ควรฝึกวิเคราะห์บ่อย ๆ ร้อยกรอง บางชนิดกำหนดให้ใช้ระดับเสียงวรรณยุกต์ด้วย
.......5. ครุ ลหุ คำร้อยกรองประเภทฉันท์ ระบุให้แต่งตามกรอบคำครุลหุ ผู้แต่งควรศึกษาเรื่องคำที่มีเสียง ครุ ลหุ ด้วย
......5.1 คำครุ เป็นคำที่ออกเสียงหนัก หรือค่อนข้างยาว ได้แก่
...........คำ/พยางค์ ประสมสระเสียงยาวในแม่ ก กา
...........คำ/พยางค์ ที่มีตัวสะกด
......5.2 คำลหุ ออกเสียงเบา สั้น ๆ ได้แก่ คำ/พยางประสมสระเสียงสั้นในแม่ ก กา
.......6. คำเป็น คำตาย คำไทยบางคำออกเสียงง่าย โดยเฉพาะผันวรรณยุกต์ได้หลายเสียง แต่บางคำ
ก็ออกเสียงยาก ยิ่ง ผันวรรณยุกต์ก็ยิ่งยาก ก็เลยเรียกคำเป็น กับคำตาย
..........6.1 คำเป็น ได้แก่คำ/พยางค์ ประสมสระเสียวยาวแม่ ก กา และคำที่สะกดในแม่ กง กน
กม เกย เกว
..........6.2 คำตาย ได้แก่ คำ/พยางค์ที่ประสมสระเสียงสั้น แม่ ก กา และคำสะกด แม่ กก กด กบ
.......7. คำพ้อง 
.......7.1..คำพ้องรูป ได้แก่คำที่บังเอิญ สะกดเหมือนกัน แต่อ่านออกเสียง ต่างกัน ความหมายต่างกัน เรียก พ้องรูป เช่น เพลา อ่านเพ-ลา หมายถึงเวลา อ่านเพลา หมายถึงตัก ล้อเกวียน เสลา อ่านเส-ลา หมายถึงหิน อ่านสะเหลา หมายถึงต้นไม้ ฯลฯ
.....7.2 ..คำบางคำออกเสียงเหมือนกัน แต่สะกดต่างกัน ความหมายก็ต่างกัน เรียกคำพ้องเสียง เช่น เสียง จัน สะกดได้หลายรูป จัน จันทร์ จันทน์ ออกเสียงสัน สะกดเป็น สัน สรรพ์ สรรค์ เป็นต้น
.......8. คำนำ คำประพันธ์หลายชนิด มีกำหนดใช้คำนำ แตกต่างกันไปตามเนื้อหา และชนิดของคำ ประพันธ์ เช่น เมื่อนั้น บัดนั้น. มาจะกล่าวบทไป ...เอ๋ย...สักวา.... ผู้แต่งต้องศึกษาและเลือก ใช้ให้เหมาะสม
.......9. คำสร้อย คำร้อยกรองประเภท โคลงร่าย นิยมใช้คำสร้อย ท้ายวรรค บางวรรค หรือตอนจบ มีคำ ทิ่นิยมใช้ เช่นพ่อ แม่ พี่ เลย นา นอ บารนี รา ฤๅ เนอฮา แฮ แล ก็ดี อา เอย เฮย ส่วนสร้อย เจตนัง เป็นสร้อยที่ผู้แต่งเจตนาใช้ กรณีที่ร้อยกรองไม่ใช่แต่งเป็น แบบแผน
......10. คำแนะนำจากกวีรุ่นเก่า แนะนำไว้ สัมผัสเลือน สัมผัสซ้ำ สัมผัสเกิน (สองคำในที่รับ) สัมผัส แย่ง สัมผัสเผลอ สัมผัสเพี้ยน … เป็นอย่างไร
......สัมผัสเลือน จุดรับสัมผัสนอก ปกติใช้คำเดียว ในวรรค รองและวรรค ส่ง ถ้ามีมากกว่า 1 คำ เรียกว่าสัมผัสเลือน คือเลือนลาง หรือจางลงไป
......สัมผัสซ้ำ....จุดรับสัมผัสนอก ใช้เสียงสระเดียวกัน แต่พยัญชนะต้องต่างเสียงกัน ถ้าเป็น พยัญชนะตัวเดียวกันถึงต่างระดับ เสียงวรรณยุกต์ก็ไม่ควรใช้เช่น ขัน ขั้น แม้พยัญชนะคู่ ก็ไม่ควร ใช้ เช่น คัน คั่น คั้น
......สัมผัสเกิน ...จุดรับสัมผัสนอก ปกติใช้คำเดียว ถ้ามีสองคำติด ๆ มันก็เกินนั่นแหละ พวก คำยมก เห็นได้ง่ายเช่นรับสัมผัสด้วย คำ นานา ดีดี
......สัมผัสแย่ง สัมผัสนอกเขากำหนดตำแหน่งไว้แล้ว ดันมีคำอื่นดักตัดหน้าไปก่อน เรียกว่า แย่งสัมผัส หรือชิงสัมผัส ในวรรค รอง เกิดบ่อย
......สัมผัสเผลอ เกิดจากคำที่ประสมสระเสียงสั้นกับเสียงยาว จับมาสัมผัสกัน เช่น น้ำ--ความ
เจ้า--จ้าว ใจ--กาย ริด--รีด
.......สัมผัสเพี้ยน รูปและเสียงอาจใกล้กัน จนลืมเอามารับส่งสัมผัสกันเช่น เล็ก---เผ็ด เวร--เป็ด
แข็ง--แรง
........ละลอกทับ ละลอกฉลอง เป็นข้อห้ามของคนสมัยก่อนบอกต่อ ๆกันมา ว่า คำลงท้ายวรรค กลอนแปด ไม่ควรลงด้วยคำ ที่มีรูปวรรณยุกต์ เอก/โท ที่ท้ายวรรค ที่ 2 /3/4 ในแผนผังกลอนแปด ไม่ได้มีข้อบังคับเรื่องวรรณยุกต์แบบโคลง ถ้ามีละลอก ทับละลอกฉลอง น่าจะเป็นเพียงทำให้กลอนไม่สวยงาม อ่านไม่รื่นหู ประมาณนี้มากกว่าจะไปชี้ว่า ผิดฉันทลักษณ์ การอธิบาย ละลอกทับละลอกฉลอง จากข้อมูลที่ได้มาพอ สรุป 4 ประเด็นคือ
........คำเอกโท ท้ายวรรคที่ 4 เรียกละลอกทับ
........คำเอก/โท ท้ายวรรค 2 หรือวรรค 3 ละลอกทับ
........คำเอก/โท ท้ายวรรค 2 เรียก ละลอกฉลอง
........คำเอก/โท ท้ายวรรค 3 เรียก ละลอกฉลอง
......(มีสับสนในคำอธิบายที่ 2 และ 3/4 มีเวลาจะตามสืบค้นดูอีกที) 


------------------



รักจะเล่นแต่งกลอนแบบมีสัมผัสใน

                                                                        ---------------
-----------------------
...............ได้อ่านบทกลอนที่นักกลอนรุ่นใหม่เขียน เก่งครับเขียนได้ดีทีเดียว น่าอ่าน สำนวนหวือหวาดี สัมผัสในแพรวพราว เคยทักท้วงว่ามันมากไป อาจผิดแผนผังบังคับได้นะ ก็โดนค้านว่าไม่ผิดหรอก เอาอย่างมาจากกลอน  กวีโบราณ ก็เลยอยากนำบทกลอนสุนทรภู่มาแฉให้ดู ว่ากวีโบราณ ที่เล่นสัมผัสในเก่ง ๆ  คือกวีท่านนี้ ท่านเล่นแบบมีหลักมีเกณฑ์ ไม่ผิดแบบแผนหรอก มาดูกันครับ   จะหยิบกลอนนิราศภูเขาทอง มาเป็นตัวอย่างแล้วกัน
----------------
..........ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด             คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร            แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น 
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด          ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น                      ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จึงสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย        ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา                       ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป ฯ
-----------------
..............บทกลอนจากนิราศภูเขาทอง กระผมชอบมาก ขนาดเอามาใช้ทำสื่อการสอนตอนทำวิทยานิพนธ์ เลยต้องอ่านหลาย ๆ รอบ สุนทรภู่ท่านแต่งได้ยอดเยี่ยมจริง ๆ อ่านเล่นก็เพราะ อ่านทำนองเสนาะก็รื่นไหลไม่ติดขัด ถ่ายทอดอารมณ์กวีได้ดีมาก ๆ 
------------------
.......1. เสียงเสนาะทุกวรรคตอน ที่นักกลอนรุ่นหลัง ๆ พูดถึงคำลงท้ายวรรคกลอน กลอนท่านสุนทรภู่
นี่เองที่พอจะยกมาเป็นตัวอย่างการเลือกใช้คำลงท้ายวรรคได้เป็นอย่างดี
------------------
สังเกตดูกลอนที่นำมาเป็นตัวอย๋าง 3 บท จะพบการใช้คำลงท้ายวรรคต่าง ๆ ดังนี้

บทที่ 1 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง เอก........จัตวา   สามัญ......สามัญ
บทที่ 2 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง เอก..... . จัตวา   สามัญ......สามัญ
บทที่ 3 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง จัตวา... ..จัตวา   สามัญ......สามัญ

.............แค่ 3 บทที่ยกมา เห็นได้ชัดว่า วรรคแรก ชอบใช้เสียงสูงกว่าสามัญ ใช้เสียง เอก กับจัตวา 
อ่าน รื่น ๆ ดี คำท้ายวรรค 2 ชอบ เสียงจัตวา มากกว่าเสียงอื่น วรรคที่ 3 และ 4 ชอบ เสียงสามัญ
----------------
.......2...การใช้สัมผัสในไม่มีผิดฉันทลักษณ์ พยายามจะใส่สัมผัสในวรรคละ 2 แห่ง มาดูกัน

บทที่ 1 

1.1 วรรคสดับ   วัง...ดัง   ใจ....จะ  (สัมผัสพยัญชนะ)   มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.2 วรรครับ      บาท...บพิตร (สัมผัสพยัญชนะ)  บพิตร..อดิศร มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.3 วรรครอง  เกล้า...เจ้า  คุณ......สุนทร มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.4 วรรคส่ง    ก่อน......(ไม่มี)    เฝ้า.....เช้า มีสัมผัสใน 1 คู่


บทที่ 2 

2.1 วรรคสดับ  พาน......ปาน .....ช่วงหลังไม่มีสัมผัสใน วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่
2.2 วรรครับ     ญาติ....ยาก (สัมผัสพยัญชนะ) แค้น....แสน วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
2.3 วรรครอง   ซ้ำ......กรรม  ซัด.....วิบัติ วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
2.4 วรรคส่ง     เห็น.....(ไม่มี) ซึ่ง......พึ่ง วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่

บทที่ 3 

3.1 วรรคสดับ พรต.......อต  ส่ง...ส่วน (สัมผัสพยัญชนะ) วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
3.2 วรรครับ    ฝ่าย.......(ไม่มี) สมถะ.....วสา วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่
3.3 วรรครอง  ของ.......ฉลอง คุณ...มุลลิกา วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
3.4 วรรคส่ง   ข้า... .....เคียง (สัมผัสพยัญชนะ) บาท.....ชาติ วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่

...........บทกลอนที่มหากวีสุนทรภู่ท่านแต่ง แม้ท่านจะชอบแต่งสัมผัสใน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมี วรรค
ละ 2 แห่งเสมอไป เพราะกลอนต้องมีเนื้อหาที่กวีต้องการสื่อ สัมผัสในอาจตกหล่นไปบ้างก็ไม่เป็นไร 
เพราะสัมผัสในมิใช่สัมผัสบังคับ มีข้อควรสังเกตคือ วรรครับ และวรรคส่ง ถ้าจะใส่สัมผัสใน 2 คู่ คู่แรก
คือคำที่ 3 และคำที่ 4 เป็นสัมผัสพยัญชะเท่านั้น เล่นสัมผัสสระไม่ได้ เพราะคำที่ 3 เป็นสัมผัสบังคับ มี
แนวทางแก้ไข ถ้าจะเล่นสัมผัสสระ คำที่ 3...4ต้องย้ายสัมผัสบังคับเป็นคำที่ 1 หรือ 2 แทน ปล่อยคำที่ 
3 ไว้เล่นสัมผัสใน ตัวอย่าง

                  อันความรักปักอกเหมือนตกเหว...............ซ้ำถูกเปลวปานไฟลามไหม้สุม
                     รัก...ปัก   อก....ตก                                    เปลว...ปาน ไฟ...ไหม้ (วรรคละสองคู่)

.............วรรคที่สอง เปลวกับปาน เป็นสัมผัสพยัญชนะ อยากเล่นสัมผัสสระ ต้องใช้คำที่ 1 หรือคำที่ 2 
รับสัมผัสบังคับ เพื่อ  ให้คำที่ 3 ว่าง จะได้ใช้เล่นสัมผัสใน เช่น

                    อันความรักปักอกเหมือนตกเหว...............ปานเปลวไฟไหม้สุมร้อนรุ่มเหลือ
                               รัก...ปัก อก....ตก ย้    ายคำรับสัมผัส คือคำ เปลว มาอยู่ตำแหน่งคำที่ 2 คำที่ 3 
คือ ไฟ เลยว่าง เล่นสัมผัสสระได้คือคำที่ 3...4 เป็น ไฟ...ไหม้ ร้อน...รุ่ม (สัมผัสพยัญชนะ) รุ่ม....สุม ได้สัมผัสใน
3 คู่ ไปเลย

................ถ้ารักชอบสัมผัสในก็อย่าให้ผิดฉันทลักษณ์ ถ้าปล่อยคำที่ 3 ที่เป็นสัมผัสบังคับตามแผนผัง แล้ว ยังสัมผัสสระกับคำ ที่ 4 อีก ก็จะมีคำรับสัมผัสบังคับ 2 คำ ก็คือผิดฉันทลักษณ์นั่นเอง

                           อันความรักปักอกเหมือนตกเหว..............ซ้ำถูกเปลวเหวนรกไฟตกสุม
                                                                                            ดูคำ เปลว...เหว นรก...ตก 
สัมผัสใน 2 คู่ จริงแต่เป็นการแต่งผิดฉันทลักษณ์

.................จะคัดกลอนบทต่อ ๆไปให้อ่านดู เพื่อจะได้สังเกตว่า มหากวีสุนทรภู่ ท่านเล่นสัมผัสใน
วรรครับ และวรรคส่ง อย่างไร ไม่มีผิดฉันทลักษณ์หรอก สังเกตคำรับสัมผัสบังคับ ใช้คำที่ 3 ตามปกติ 
ดูว่าสัมผัสในตรงนี้ ถ้าเล่น เล่นอย่างไร 

O..ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง.............คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล         ครั้ง.........ไม่เล่น
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย...............แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง    ใน......ไม่เล่น
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ.............เคยรับราชโองการอ่านฉลอง      ราช......ไม่เล่น
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง................มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา ข้อง.... ..เคือง (สัมผัสพยัญชนะ)
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ..........ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา อบ.........ไม่เล่น
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา.....................วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ฯ วาสนา......ไม่เล่น

O..ดูในวังยังเห็นหอพระอัฐิ....................ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล        สติ......เติม (สัมผัสพยัญชนะ)
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล...............ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน      หลัก... ลือ....เล่า(สัมผัสพยัญชนะ)
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน...............มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา                สิ้น.....สุด (สัมผัสพยัญชนะ)
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย..................แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา      ม้วย....ไม่เล่น
อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา....................อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง ฟ้า.....  ..ไม่เล่น
ไปพ้นวัดทัศนาริมท่าน้ำ....................แพประจำจอดรายเขาขายของ    จำ........จอด (สัมผัสพยัญชนะ)
มีแพรผ้าสารพัดสีม่วงตอง..................ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภาฯ   ของ...ขาว(สัมผัสพยัญชนะ)

O..ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง......มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา         โพง....ผูก (สัมผัสพยัญชนะ)
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา..........ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย  เมา...เหมือน (สัมผัสยัญชนะ) 
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ.............สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย  เพชญ..โพธิ (สัมผัส พยัญชนะ)
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย...................ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป        กราย..แกล้ง (สัมผัส พยัญชนะ)

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก..........สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน               หัก.....ห้าม (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป...............แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ         ใจ.....ประจำ (สัมผัสพยัญชนะ)
..............
O..ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง.........มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน       หมอง...ม้วน (สัมผัสพยัญชนะ)
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน...............จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง       ขืน.............ไม่เล่น
ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง.............เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง    ซอง.........ส่ง (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง....ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน  เมือง......สมร (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์.............ร่มริโรธรุกขมูลให้พูนผล              นิโรธ....รุกข (สัมผัสพยัญชนะ)
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล...............ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกายฯ    พ้น...ภัยพาล (สัมผัสพยัญชนะ)

..............สังเกตดู วรรครอง และวรรค ส่ง ท่านแต่งด้วยความระมัดระวัง มิให้มีคำรับสัมผัสเกินมา ด้วย
ไม่เล่นสัมผัสสระ ถ้าจะแต่งให้มีสัมผัสใน ก็เลี่ยงไปเล่นสัมผัสพยัญชนะแทน หวังว่าท่านที่ได้อ่าน
ข้อความที่นำเสนอนี้ จะเข้าใจลีลากลอนที่ไพเราะแบบของสุนทรภู่ ได้ดีขึ้น ถึงท่านจะชอบเล่นสัมผัส
ใน ท่านก็เล่นไม่ผิดฉันทลักษณ์ นะครับ  ฝากบทกลอนเตือนนักกลอนร่วมสมัย ด้วยนะครับ อาจนำไปใช้
พัฒนาการแต่งกลอนของท่านได้ (อ้อจริญญา แสงทอง ชื่ออีเมล ที่ใช้สมัครเวบบลอก ร้อยกรอง บลอกของผมเอง  มี 3 เวบบลอกคือ เยี่ยมยามอีสาน วิถีชีวิตอีสาน และร้อยกรอง)

                             -------------คำเตือนของครูเมือหนูจะเขียนกลอน-----------------
-------------------------
 ............ครูสอนภาษาไทย อยากใด้บทกลอนแนะนำการเขียนกลอน  พูดให้ฟังแล้ว อยากได้เอกสาร แถมเอาแบบเป็นคำกลอนด้วย  บังอาจสั่งให้ครูแต่งกลอนให้  ก็เคยสอนมาแต่มัธยม ได้โอกาสเอาใหญ่เลย เอ้า เขียนก็เขียน
----------------------
กลอนสุภาพ

......................เริ่มฝึกเขียนกลอนกานท์มานานโข...........ตั้งนโมไหว้ครูผู้สั่งสอน       
.................สมัยอยู่มัธยมยินแต่งกลอน.........................สุดรุ่มร้อนทุกข์หนักยากจักกรอง
.................สมัยเรียนธรรมศึกษาตรีโทเอก.....................เหมือนปลุกเสกจรินยาพาสนอง
.................อ่านบาลีไวยากรณ์ชอบครรลอง...................มันสอดคล้องหลักภาษาน่ายินดี
.................แถมมีกาพย์โคลงฉันท์ให้หัดแต่ง.................พอเห็นแสงลางลางทางวิถี
.................ได้เรียนครูเหมาะเลยร้อยกรองมี...................สนุกตีแตกกระจายมิอายใคร
.................คุณครูมีเมตตาพาฝึกฝน..............................แนะกลอนกลเทคนิคพลิกแพลงไฉน
.................จนวันนี้เขียนง่ายสบายใจ............................จดจำได้คำสอนกลกลอนครู
.................สัมผัสนอกบังคับตามแบบแผน.....................อย่าหมิ่นแคลนขาดเกินเพลินนะหนู
.................ส่งคำเดียวรับคำเดี่ยวทุกจุดชู......................ขอจงรู้สัมผัสซ้ำอย่าให้มี
.................ถ้ารับสองหรือสามเรียกมันเลื่อน...................กลอนเลยเปื้อนแปดปนหม่นหมองศรี
.................วรรครองใช้คำท้ายรับเข้าที..........................แต่มิดีหากลักดักหน้ากัน
.................เขาเรียกพวกนักวิ่งชิงสัมผัส.........................แบบนี้จัดผิดแผนมิสร้างสรรค์
.................กลอนด้อยค่าหมดลายเสียดายครัน...............ความสำคัญสัมผัสนอกพึงระวัง
.................สัมผัสในสองอย่างข้างครูเล่า.......................จดจำเอาพยัญชนะเสียงจะขลัง
.................เสียงเดียวกันจัดได้ตามกำลัง.......................ตราบที่ยังมิเฝือตามสบาย
.................สัมผัสเสียงสระระวังหน่อย...........................ดูร่อยรอยสัมผัสนอกเขามีสาย
.................อย่ากระทบของเขาพลอยวุ่นวาย..................เป็นตัวร้ายเกิดเลื่อนเคลื่อนลัดชิง
.................สัมผัสเผลอเจอสระยาวกับสั้น......................เสียงคล้ายกัน อัย-อายหมายบอกหญิง
.................เอ็นกับเอนต่างกันนั่นต่างจริง.......................อย่าแอบอิงสัมผัสขัดคำครู
.................สัมผัสเพี้ยนแบบไหนจะได้เห็น....................ดูอย่างเช่นตาม-น้ำนั่นแหละหนู
.................เป็ดกับเณรเล็กกับเผ็ดเด็ดยามดู...................วิเคราะห์รู้ต่างสระอย่ากระทำ
.................อีกละลอกทับแลฉลองควรละเว้น.................ตัวอย่างเช่นเอกโทโผล่มิหนำ
.................ท้ายวรรคหนึ่งถึงสามความจงจำ...................เขาเรียกคำละลอกฉลองมิควรมี
.................อยู่ท้ายบทละลอกทับขับห่างหาย................จักทำลายกลอนมิงามตามวิถี
.................ส่วนเรื่องเสียงระดับไหนจึงจักดี....................เหมือนเติมสีท้ายวรรคจักงดงาม
.................วรรคสลับคำท้ายควรเสียงเต้น......................คืองดเว้นเสียงสามัญครั้นลองถาม
.................ท้ายวรรครับจัตวาน่าติดตาม.........................โทเอกงามเช่นกันสรรแต่งดู
.................วรรครองเสียงสามัญงดงามนัก.....................บางคนรักเสียงตรีก็ดีหนู
.................วรรคส่งเสียงสามัญมือชั้นครู........................คนที่รู้ว่าตรีดีคำกลอน
.................ขอหยุดไว้แรกเขียนเพียรเสนอ....................ใครอ่านเจอสารประจักษ์ตามอักษร
จริญญา แสงทอง : 3 /12/2558  

-----------------------