วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ออกพรรษา

ออกพรรษา
...................10 ตุลาคม 2546 ตรงกันวันออกพรรษา เวลาผ่านไปอีก 1 ปี หลวงพี่หลวงพ่ออายุพรรษาเพิ่มขึ้นอีก 1 พรรษา เราชาวบ้านไม่ค่อยได้คิดอะไรมากมีกิจกรรมอะไรผ่านมาก็ทำ ๆ กันไป ไม่เคยสนใจด้วยซ้ำว่า ออกพรรษามีกิจกรรมอะไรน่าสนใจบ้าง กระผมลองนึกทบทวนดูพบว่ามีหลายอย่างน่าสนใจ น่าศึกษาไม่น้อย เช่น พิธีปวารณาของพระภิกษุ การถวายผ้าจำนำพรรษา ทอดกฐิน ตักบาตรเทโวการจุดประทีปตามไฟ ไต้น้ำมัน ชมบั้งไฟพญานาคเป็นต้น ตั้งตนเป็นชาวพุทธทั้งทีมีคนถามควรบอกเขาได้ใช่ไหมขอรับ อย่ากระนั้นเลยลองทบทวนดูว่าเรารู้จักเรื่องเหล่านี้สักกี่มากน้อย
............พิธีปวารณา พระที่ท่านอยู่จำพรรษาในอาวาสเดียวกันมาร่วมสามเดือนวันออกพรรษาท่านจะนัดประชุมกันสวดมนต์ไหว้พระจบก็ทำพิธีปวารณากัน โดยใจความก็คือต้องการบอกกันและกันว่า ออกพรรษาแล้วต่างคนต่างมีศาสนกิจที่ต้องทำ ต้องแยกย้ายกันจาริกไปในที่ต่าง ๆ หากพบเห็นทำผิดพลาดบกพร่องในธรรมวินัย กรุณาวากล่าวตักเตือนให้ด้วย จะไม่โกรธไม่โทษไม่เคืองกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่
ผู้ใหญ่ตักเตือนผู้น้อย หรือผู้น้อยว่ากล่าวตักเตือนผู้ใหญ่ เป็นพิธีที่ประหลาดมากสำหรับคนสมัยสองพันห้าร้อยปีล่วงแล้ว ทำไมท่านคิดได้ทำได้ คุณธรรมเรื่องนี้สูงส่งมากสำหรับการอยู่ร่วมกัน หน่วยงานใด สังคมใด มีคุณธรรมเช่นนี้อยู่ การทะเลาะเบาะแว้งจะไม่มีเลย มีแต่ความรักใคร่ใยดีต่อกัน เอื้ออาทรต่อกัน คนสมัยปัจจุบันเสียอีกที่ไม่ค่อยใช้คุณธรรมแบบนี้ ทำให้ใบปลิว บัตรสนเท่ห์แพร่สะพัดไปทั่ว
............การถวายผ้าจำนำพรรษา นี่ก็แปลกนึกไม่ออกทำไมท่านเรียก "จำนำ" แต่ก็เข้าใจได้อยู่ว่า ชาวบ้านต้องการถวายผ้าให้แก่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบสามเดือน สืบสาวความหลังพบว่าพระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระภิกษุแสวงหาผ้ามาตัดเย็บไตรจีวรผัดเปลี่ยนได้ปีละครั้ง กำหนดเวลาไว้เพียง 1 เดือน หลังออกพรรษาเท่านั้น เว้นแต่วัดใดรับกฐินจะขยายเวลาออกไปได้อีกสามเดือน การแสวงหาผ้าสมัยก่อนลำบากมากเพราะไม่มีโรงงานทอผ้า ชาวบ้านทอผ้าเองในครอบครัว ผ้าที่พระภิกษุพอหาได้คือผ้าที่เขาทิ้ง ผ้าห่อศพ เป็นผ้าสกปรกเปื้อนฝุ่นที่ภาษาบาลีเรียกว่า "ปังสุกุละ"เก็บได้ก็เอามาทำความสะอาดแล้วไปตัดเย็บเป็นจีวร การเก็บผ้าเปื้อนฝุ่นนี่เองเป็นที่มาของการ ชักบังสุกุล ชาวบ้านสงสารนำผ้าดี ๆ ไปทิ้งไว้ให้ หักกิ่งไม้พาดไว้เพื่อให้รู้ว่าเขาเจตนาทิ้ง พระท่านมาพบเข้าใจก็ชักบังสุกุลหยิบเอาไป ก็เลยเกิดประเพณีทอดผ้าป่ากัน ส่วนบ้านเราไม่ต้องอ้อมค้อมครับ จัดผ้าไปถวายเป็นผ้าจำนำพรรษากันโดยตรง สะดวกดีทั้งพระทั้งโยม
..............การทอดกฐิน สืบเนื่องมาจากการหาผ้ามาทำไตรจีวรช่วงออกพรรษานี่เอง มีผู้ศรัทธาปรารภความยากลำบากของพระภิกษุต้องการนำผ้ามาถวาย พระพุทธเจ้าอนุญาตให้รับผ้าที่เขานำมาถวาย และให้พระภิกษุช่วยกันเย็บผ้าให้เสร็จ 1 ผืน ในเวลา 1 วัน แล้วจะให้รางวัลหลายอย่างเช่น ขยายเวลาหาผ้ามาทำไตรจีวรออกไปอีก 3 เดือน งดเว้นพระวินัยบางข้อให้ มีผลทำให้พระภิกษุสนใจช่วยกันด้วยความสามัคคี ได้รับความสะดวกสบายทั่วกัน ชาวบ้านก็นิยมทำบุญกฐินแต่นั้นมา
..............ตักบาตรเทโว ชื่อเต็มว่า เทโวโรหณะ เล่าว่าสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาที่ดาวดึงส์ วันออกพรรษาเสด็จลงที่เมืองสังกัสสนคร มีประชาชนไปต้อนรับจำนวนมาก เลยมีผู้คิดทำบุญตักบาตรเพื่อระลึกถึงวันนั้น โดยจัดให้คนอุ้มพระพุทธรูปนำขบวนพระภิกษุสามเณรรับบิณฑบาตร ชาวบ้านจะนำข้าว สารอาหารแห้ง ดอกไม้ธูปเทียนไปทำบุญกัน เคยเห็นเขาทำข้าวต้มมัดมีหางคือใบมะพร้าวใช้จับโยนใส่บาตร เคยถามว่าทำไมต้องโยน เขาบอกว่าสมัยพระพุทธเจ้าลงจากสวรรค์คนเยอะ พวกอยู่แถวหน้าก็ไม่ยอมหลบไม่ยอมแอบ  จะเฝ้าพระพุทธเจ้ากัน พวกอยู่หลังก็ต้องโยน ฟังแล้วก็พอเข้าใจ แต่คนมาตัก บาตร แค่สิบยี่สิบคนก็ทำข้าวต้มโยนด้วย ไม่เข้าใจพิลึกจริง ๆ
..............จุดประทีป ตามไฟ ไต้น้ำมัน คืนวันออกพรรษาหลายวัดเขาจัดทำโรงเรือนไว้เฉพาะ เสาทำด้วยต้นกล้วย มีก้านมะพร้าวมาประดับตกแต่งเหมือปราสาทผึ้ง ตกตอนเย็นชาวบ้านมาวัดฟังเจริญปริตตมงคล ถวายผ้าจำนำพรรษา แล้วก็ลงไปจุดประทีปตามไฟไต้น้ำมัน ประทีปเราเรียกธูปที่ทำกันเองจากผงไม้และยางบง เหลาก้านธูปมาม้วนเป็นแท่งกลม ๆ ไว้จุดบูชาวันออกพรรษา เทียนก็ทำจาก สีผึ้งฟั่นเทียนใช้กันเอง ส่วนน้ำมันทำจากผลไม้เช่น หมากบก งา ถั่ว ตะคร้อ ค้อแลน เป็นต้น นำมาบีบเอาน้ำมันผสมเครื่องกระแจะทำไส้เหมือนตะเกียง จุดแล้วหอมฟุ้งแบบเขาจุดกำยาน เป็นการจุดบูชาพระรัตนตรัยครับ
...............บั้งไฟพญานาค เป็นเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นกลางลำน้ำโขงแถวอำเภอโพนพิสัยและอำเภอบึงกาฬจังหวัดหนองคาย ถึงวันออกพรรษาจะมีลูกไฟสีแดง ๆ ผุดขึ้นจากกลางน้ำและพุ่งขึ้นไปท้องฟ้าเหมือนคนยิงลูกไฟ พุ่งขึ้นสูงมาก และพุ่งทีละหลาย ๆ ลูก จำเพาะมีเกิดขึ้นในวันออกพรรษาเท่านั้น ชาวบ้านพยายามดูแล้วดูอีกหลายชั่วอายุคนตั้งแต่รุ่นปู่ทวดตาทวดมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ยังไม่เคยมีใครพบว่าใครเป็นคนยิงลูกไฟขึ้นจากลำน้ำโขง แล้วทำไมจำเพาะวันออกพรรษาและบริเวณแถบนั้น แม่น้ำโขงยาวหลายร้อยกิโลเมตร ที่อื่นทำไม่ไม่เกิด ในที่สุดก็เดาว่าพญานาคนั่นแหละคือจำเลย เพราะนาคอยู่ในบาดาล ไม่มีพญานาคมาแก้ตัวว่าไม่ได้ทำ ชาวบ้านจึงเชื่อกันจริง ๆว่าเป็นอย่างนั้น พอมีหนังมีนักข่าวบอกเล่าทำนองว่าเป็นเรื่องคนทำขึ้นแหกตากันเอง ชาวบ้านจึงโกรธมาก กระผมเคยไปดู 2 ครั้ง เชื่อด้วยตาที่เห็นแหละครับว่า มันผุดขึ้นกลางน้ำไม่ใช่ทหารยิงลูกไฟ แต่ทำไมมันผุดขึ้นมา จนปัญญาอธิบายครับ นี่ก็เพิ่งไปดูมาหยก ๆเมื่อคืนวันที่ 10 ตุลาคม 2546 นี่เองที่อำเภอโพนพิสัย เห็นแล้วก็ยังมึนอยู่ว่าทำไม และแล้วก็ทำไม ???? ใครรู้แจ้งเห็นจริงช่วยบอกหน่อยนะครับ ส่วนพวกรู้ไม่จริงไม่ต้องบอกก็ได้ 5555
.................พูดถึงวันออกพรรษาเรื่อยเปื่อยยาวพอสมควรแล้ว เพียงฝากความคิดเห็นสำหรับคนรุ่นใหม่ว่า คนสมัยก่อนท่านเก่ง ท่านมีเหตุมีผลทั้งนั้นว่าทำไมทำอย่างนั้น ทำไมปฏิบัติอย่างนี้ คนรุ่นหลังควรศึกษาให้เข้าใจและได้ปฏิบัติถูกต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่ปฏิบัติแบบไม่เข้าใจ เคยเห็นบางคนเขายึดเข้าพรรษาออกพรรษาเป็นเกณฑ์สำหรับการดิ่มเหล้าไม่ดื่มเหล้า นึกว่าจะคิดสร้างสรรค์กว่านั้น คนเรานี่บางทีก็แปลกพิลึก ดีเหมือนกันใช่ไหมขอรับ
-----------------
ขุนทอง ตรวจทาน 2/8/59




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น