วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

เดือนอ้ายบุญเข้ากรรม


                                               Related image
                                                                                               ภาพจากกูเกิล



เดือนอ้ายบุญเข้ากรรม   
โดยขุนทอง ศรีประจง

........เป็นการทำบุญของชาวพุทธ ถวายภัตตาหาร ถวายสิ่งอำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุใน โอกาสที่พระมีกิจกรรม ปริวาสกรรม เรียกเต็มยศหน่อยว่า "ทำบุญเนื่องในโอกาสพระภิกษุ อยู่ปริวาสกรรม" แต่แปลกนะทำกันทุกปีแหละ แต่บอกไม่ได้ว่าทำไมเรียก "ปริวาสกรรม" บอกแต่ว่าพระท่านมาอยู่กรรมกัน ทำบุญกับพระออกกรรมได้บุญมาก ต้องไปหาข้อมูลเพิ่ม เติมเองแหละ เพราะรู้จักอยู่
........ปริวาสกรรม
เป็นบทลงโทษตามพระวินัยสงฆ์ ศีล ๒๒๗ ข้อนั่นแหละท่านแบ่งออก เป็น ปาราชิก ๔ อนิยต ๒ สังฆาทิเสส ๑๓ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ปาจิตตีย์ ๙๒ เสขิยวัตร ๗๕ ปาฎิเทศนีย ๔ อธิกรณ์สมถะ ๗ หมวดอาบัติสังฆาทิเสส มีข้อกำหนดไว้ว่า ต้องอยู่กรรม 6 วันเรียก มานัต 6 ราตรี จึงจะขอให้สงฆ์ 20 รูป สวดระงับอาบัติให้ได้ แต่ถ้ามีการปกปิดไว้ ไม่ได้บอกพระภิกษุรูปอื่น นานกี่วันค่อยบอก ให้ปรับโทษ อยู่ปริวาสกรรมนานเท่าวันที่ปกปิด ก่อน ค่อยอยู่มานัต 6 ราตรี ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงปริวาสกรรม จึงหมายถึงการลงโทษพระผู้ต้อง อาบัติสังฆาทิเสส การอยู่กรรมมี 2 อย่าง ถ้าไม่ได้ปกปิด อยู่แค่มาณัติ 6 ราตรี ถ้าปกปิด ต้อง อยู่ปริวาสเท่าวันที่ปกปิด ค่อยอยู่มานัติอีก 6 ราตรีและขอให้สวดระงับอาบัติต่อไป
........จากความหมายตามพระวินัยที่นำมาอธิบายความหมายคำว่า ปริวาสกรรมคง เข้าใจได้ไม่ยากว่า เป็นกิจกรรมปรับโทษพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อใดข้อหนึ่งหรือ หลายข้อแล้วแต่กรณี อาบัติทั้ง ๑๓ ข้อ ห้ามอะไรบ้าง .....
1. ทำน้ำอสุจิเคลื่อน
2. แตะต้องสัมผัสกายสตรี
3. พูดเกี้ยวพาราสีสตรี
4. พูดจาให้สตรีบำเรอกามให้
5. ทำตัวเป็นพ่อสื่อ
6. สร้างกุฏิด้วยการขอ
7. มีเจ้าภาพสร้างกุฏิให้แต่ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ก่อน
8. ใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
9. แกล้งสมมติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
10. ทำสงฆ์แตกแยก(สังฆเภท)
11. เข้าข้างภิกษุที่ทำสงฆ์แตกแยก
12. ภิกษุทำตนเป็นคนหัวดื้อ
13. ประจบสอพลอคฤหัสถ์
........มีคำอธิบายว่า ล่วงอาบัติแล้วต้องรีบบอกพระภิกษุรูปอื่นทันที อย่างนี้เรียกไม่ปกปิด อยู่ปริวาสกรรมแค่ 6 วันเรียกประพฤติมานัต ถ้าปกปิดกว่าจะบอกก็นานหลายวัน อย่างนี้ ปกปิดไว้นานเท่าใด ให้นับจำนวนวันที่ปกปิด เป็นการปรับให้อยู่ปริวาสเพิ่มนานเท่าจำนวน วันที่ปกปิด ครบแล้วค่อยรับมานัต

ปริวาสอีก 6 วัน ถึงจะขอระงับอาบัติจากสงฆ์ได้ การ ออกอาบัติสังฆาทิเสส ต้องมีพระภิกษุ20 รูป จึงจะทำสังฆกรรมสวดระงับอาบัติได้
........แนวปฏิบัติ เช่น ภิกษุต้องอาบัติ 1 ข้อ ปิดไว้ 15 วัน หรือต้องหลายข้อ ปิดไว้ 5 วัน 10 วัน 15 วัน เมื่อไปขอปริวาสต่อคณะสงฆ์ ก็จะได้เวลาอยู่ปริวาส 15 วัน สำหรับกรณีแรก แต่กรณีต้องหลายข้อจะได้ เวลามากขึ้นเป็น 5+10+15 รวม 30 วัน สงฆ์จะมอบหมายพระอาจารย์คุมการอยู่ปริวาสให้ 1 รูป ต้องรายงานพระอาจารย์ทุกวัน ปกติการอยู่ปริวาส จะหา กลด มาปักอยู่ใกล้ ๆ กุฏิอาจารย์ ชั่วขว้าง ก้อนดินตก 2 ครั้ง ปฏิบัติตามกฏระเบียบการอยู่กรรมเคร่งครัด สมัยพุทธกาลทรงกำหนดข้อจำกัด ที่ผู้อยู่ปริวาสกรรม ถูกจำกัด 94 ข้อ ในเวบลานธรรมวัดโบสถ์แจ้ง ได้สรุปเป็นหัวข้อสำคัญ ๆ 10 ข้อได้แก่...
1.. ไม่ให้ทำการในหน้าที่พระเถระ แม้ตัวเป็นพระเถระมีหน้าที่อย่างนั้นอยู่ ก็เป็นอันระงับ ชั่วคราว เช่น
ห้ามบวชให้ผู้อื่น, ห้ามให้นิสสัย เป็นต้น.
2. กำลังถูกลงโทษเพราะอาบัติใด ห้ามต้องอาบัตินั้นซ้ำ หรือต้องอาบัติอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
3. ห้ามถือสิทธิแห่งภิกษุปกติ เช่น ไม่ให้มีสิทธิ ห้ามอุโบสถ หรือปวารณาแก่ภิกษุปกติ ห้ามโจท
ท้วงภิกษุอื่น ๆ เป็นต้น.
4. ห้ามถือสิทธิอันจะพึงได้ตามลำดับพรรษา เช่น ไม่ให้เดินนำหน้า ไม่ให้นั่งข้างหน้าภิกษุปกติ
เมื่อมีการแจกของ พึงยินดีของเลวที่แจกทีหลัง ทั้งนี้หมายรวมทั้งที่นั่ง ที่นอน และที่อยู่อาศัย
5. ห้ามทำอาการของผู้มีเกียรติหรือเด่น เช่น มีภิกษุปกติเดินนำหน้า หรือเดินตามหลัง แบบพระ
ผู้ใหญ่ หรือพระแขกสำคัญ หรือ ให้เขาเอาอาหารมาส่ง ด้วยไม่ต้องการจะให้ใครรู้ว่ากำลังถูก
ลงโทษ.
6. ให้ประจานตัว เช่น ไปสู่วัดอื่น ก็ต้องบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุในวัดนั้น เมื่อภิกษุอื่นมาวัดก็ต้อง
บอกอาบัติของตนนั้นแก่ภิกษุผู้มา จะต้องบอกอาบัติของตนในเวลาทำอุโบสถ
7. ห้ามอยู่ในวัดที่ไม่มีสงฆ์อยู่ (เพื่อป้องกันการเลี่ยงไปอยู่วัดร้าง ซึ่งไม่มีพระ จะได้ไม่ต้องทำการ
ประจานตัวแก่ใคร ๆ).
8. ห้ามอยู่ร่วมในที่มุงอันเดียวกับภิกษุปกตินี้ เพื่อเป็นการตัดสิทธิทางการอยู่ ร่วมกับภิกษุ อื่นชั่วคราว.
9. เห็นภิกษุปกติ ต้องลุกขึ้นจากอาสนะ ให้เชิญนั่งบนอาสนะ ไม่ให้นั่ง หรือยืน เดินในที่ หรือ
ในอาการที่สูงกว่าภิกษุปกติ.
10. แม้ในภิกษุผู้ถูกลงโทษด้วยกันเอง ก็ไม่ให้อยู่ร่วมในที่มุงเดียวกัน รวมทั้ง ไม่ให้ตีเสมอกัน
และกัน (ทางที่ดีไม่ให้มารวมกัน ให้ต่างคนต่างอยู่).
..........หมายเหตุ..ตั้งแต่ข้อ ๖ ถึงข้อ ๑๐ ถ้าภิกษุฝ่าฝืน การประพฤติตัวของเธอเพื่อออกจากอาบัติ ย่อม เป็นโมฆะ มีศัพท์เรียกว่าวัตตเภท (เสียวัตร) และรัตติเฉท (เสียราตรี) วันที่ล่วงละเมิดนั้นมิให้นับ เป็นวันสมบูรณ์ในการเปลื้องโทษ........ต้องเริ่มต้นใหม่ และนับวันใหม่ในการรับโทษแก้ไขตัวเอง
…..ข้อสังเกต การอยู่ปริวาสกรรม เป็นกิจของภิกษุผู้ต้องอาบัติ ต้องพึงปฏิบัติ ในฐานะคนที่ได้กระทำ  ความผิด กำลังรับโทษ เหมือนรับผลกรรมที่ทำผิดมา ไม่ใช่กิจกรรมที่จะเป็นบุญเป็นกุศลมากมาย
ที่โยมจะต้องไปแสดงความชื่นชม อนุโมทนาสาธุ เพราะคิดว่าทำบุญกับพระอยู่กรรมจะได้บุญกุศลมาก
ดีไม่ดีอาจไปทำให้การอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุบกพร่อง เสียเวลาย้อนกลับไปเริ่มใหม่ อาจไปทำให้
พระแหกกฏกติกา บาปกรรมเปล่า ๆ
.........แนวปฏิบัติของชาวพุทธ ถ้ามีคนชักชวนไปงานประเภทนี้ ติดต่อเจ้าอาวาส ช่วยสนับสนุน จตุปัจจัยตามกำลังศรัทธา พอแล้ว ประเภทไปเข้าค่ายทำครัวเลี้ยงพระภิกษุที่กำลังถูกลงโทษนี่  แปลก ๆอยู่นะ คุณโยม......

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2562

อนุชีวประวัติช่วงอุปสมบท





                                                  ไปตราดปีที่แล้ว 2561 ถ่ายที่ตราดโฮเทล

..............เขียนเล่าความหลังวันเด็ก ค้างไว้ตอนจะจบ อ่านดูยังคลุมเคลือเลยหยิบมาเขียนต่อ จะเรียก อนุชีประวัติตอนที่ 2 คงได้ วันหลังนึกสนุกค่อยมาเติม เป็น อนุชีวประวัติตอนที่......ไปเรื่อยตามอารมณ์ครับ
                                                                      ขุนทอง ศรีประจง
                                                                            15 มค. 2562

                                                            
                                                             อนุชีวประวัติ ตอนที่ 2

ปีสองห้าหนึ่งศูนย์พูนสวัสดิ์ อัตคัตชีวิตที่ผิดหวัง
ถึงคราวเปลียนทางดีคงจีรัง ได้ขึ้นฝั่งโลกธรรมบรรพขา
ได้เข้าบวชเป็นพระละเคหาสน์ ฝึกฉลาดทางธรรมนำศึกษา
ตรีโทเอกเปรียญพากเพียรมา เป็นมหาสี่ประโยคโชคชำนาญ
มีโอกาสช่วยศาสนกิจ สั่งสอนศิษย์นักธรรมนำประสาน
สอนเปรียญสองสามกระทำการ รักทำงานตอบแทนคุณธรรม
สืบเนื่องจากประวัติมิชัดแจ้ง จักแสดงเพิ่มเติมเดิมฉนำ
ก่อนจะบวชอยู่บ้านการกิจกรรม ดำเนินชีพเฉกเช่นชนทั่วไป
สอบบรรจุมิมีประกาศรับ  เลยต้องจับกิจบ้านการสิ่งไหน
ช่วยพ่อแม่กระทำประจำไป คือทำไร่ทำนาประสาจน
ตื่นเช้าเข้านาสวนล้วนทำกิจ จนประสิทธิ์ทุกงานการฝึกฝน
ตั้งใจทำให้ดีเกินผู้คน ที่เคยบ่นหันหน้ามาชื่นชม
ฝึกกิจบ้านการเรือนเหมือนคนอื่น มิยากฝืนอดทนกลเหมาะสม
ลงทำสวนทำไรใจนิยม วิชาคมเกษตรกรรมเรียนสามปี
เอามาใช้ย่อมดีมีคุณค่า พัฒนาไร่สวนมวลวิถี
เคนที่เคยดูหมิ่นกลับยินดี บ้างก็มีคิดไกลใคร่ผูกพัน
ชวนรู้จักมักคุ้นก็มีมาก ดูมิยากคิดอะไรให้นึกขัน
มิสนใจตั้งหน้าทำงานกัน ผ่านเดือนวันยิ่งชำนาญการนานา
งานถักถอฟั่นเชือกเลือกทำได้ ปอปลูกไว้เต็มสวนควรเสาะหา
เล็นเชือกป่านสานแห่ฝึกปรือมา หนักหน่อยถ้าเชื่อกล่มผูกวัวควาย
ฟั่นเชือกคร่าวเส้นใหญ่ไถครากดึง วัวลากตึงเหนี่ยวแน่นมิขาดหาย
ต้องฟั่นเองทั้วนั้นมันวุ่นวาย ล้วนสบายฝึกได้ไม่ยากเย็น
งานจักสานสนุกเอาทุกอย่าง พ่เป็นช่าวชั้นดีตามที่เห็น
พี่ชายยิ่งชอบช่างทุกอย่างเป็น มาเคี่ยวเข็นให้ฝึกลองตรึกตรอง
แรกให้สานลายขัดตอกแข็งแข็ง นี่มาแกล้งหรือไฉนได้ลายสอง
ท้ายก็เป็นตะแกรงร่อนรำกรอง พี่สาวมองบอกเขิงไว้ร่อนรำ
สานกระด้งกระจ่อพอทำได้ จะสายไซถักลอบชอบนึกขำ
งานไม้ไผ่มิง่ายหลายกิจกรรม ฝึกกระทำมากมายสบายดี
หนักสานฝาลายคุบสี่ปล้องยั้ง ห้าปล้องผังทางยาวตามวิถี
เปลี่ยนฝาบ้านของเก่านานหลายปี ควรจักมีฝาใหม่ไว้เปลี่ยนกัน
เปลี่ยนสามด้านเจ็ดแผ่นช่วยกันทำ จักตอกนำไม้ไผ่ลำใหญ่สรรพ์
ไผ่ตงบ้านเหนียวดีนี่สำคัญ พ่อตัดมันมาไว้ให้ฝึกปรือ
แจกมีดให้ลับคมเป็นหรือยัง ลับระวังเบาเบาจับแน่นถือ
สักครูมองเห็นคมมันยังทือ ลับต่อคือสองข้างลับเบาเบา
จนไม่เห็นสันคมแหละใช้ได้ นำมาใช้จักตอกตัดผ่าเหลา
สะดวกงานระวังมือจะบาดเอา โดนบากเราได้แผลเป็นประจำ
จักตอกเสร็จก็สานผ่านยากหน่อย แต่เรียบร้อยคนขยันกิจกรรม
มีโอกาสฝึกงานจักสานทำ  ของใช้นำมาบอกเหมือนหลอกกัน
ชินแรกสานฝากแตะตกตั๊กแตน อย่าดูแคลนมิง่ายขายหน้าสรรพ์
หมดด้ามลองฝึกไปได้สามอัน ก็น่าขันสานยากเอาเรื่องเชียว
สานพัดบ้างกระด้งแลกระจ่อ ยังมิพองานละเอียดยากแหลเหลียว
สานกระเช้าครุตะกร้าเรียงมาเชียว ทำงานเดี่ยวครูปล่อยไม่ลอยนวล
เสร็จนำส่งพ่อพี่มีคนตรวจ ชอบมากกวดขันครุจนนึกสรวล
ตอกกลมกลมเหลี่ยมๆตามกระบวน สานแล้วชวนชันยาทาให้ดี
ต้องขังน้ำไม่รั่วแหละใช้ได้ เขาเอาไปตัดน้ำตามวิถี
ครุกะแป๋งมิรู้ยังมิมี สังกะสีป๋องนมเพิ่งเกิดมา
เก่งมากขึ้นลอบไซให้ทำเป็น มิยากเย็นครูฝึกท่านบิดา
เตรียมเครื่องมือมากมายจะจับปลา ยากนักหนาจักสานมิขาดมือ
ลอบไซเผียกถักไว้มิได้ว่าง ฝนมาช่างพอดียามนี้หรือ
จะทำต้อนทำต่งนั่นแหละคือ มิต้องซื้อหาใครได้ใช้การ
ไซ อุปกรณ์ดักปลา ทางน้ำไหล มีงาเข้าได้ออกไม่ได้ ต้องเปิดปากเทออก
ลอบ ซี่ไม้ไผ่ขนาดดินสอยาว สอง-สามปล้อง ถักเป็นแผ่นม้วนเป็นวงกลม
       กั้นเป็นสองช่อง ปากติดงาเป็นทางเข้า ตรงกลาง มีงาผ่านไปช่อง
       ที่สอง ท้ายมีช่องเปิดเทเอาปลา วางดักทางปลายผ่านไปมา
เผียก คล้ายเสื่อลำแพน ใช้ซี่ไม้ไผ่ เหลาค่อนข้างแข็ง เดิมใช้เครือไม้
       ถักเป็นแผ่น เอาไว้กั้นทางน้ำไหล มิให้ปลาผ่าน ต้องว่ายเลาะไป
       จนถึงช่องที่เปิดไว้ ตรงนั้นจะมี ลอบ หรือ ไซ ดักไว้
ต้อน  ที่ดักทางน้ำไหล มิให้ปลาผ่านโดยงาย ปลาจะถูกต้องให้ว่ายเลาะ
        ไปยังช่องที่กำหนด ใช้เผียกยาวสักเมตรเศษ กันทางน้ำให้ไหล
        ผ่านเผียก ตกเสียงดัง ทำให้ปลาได้ยินว่ายมา โดนดักด้วยลอบไซ
ต่ง   อุปกรณ์จับปลาสานด้วยเชือกเหนียวคล้ายตา แห แต่ทำเป็นถุงยาว
       3-4 เมตร ก้นต่งผูกไซติดไว้ดักปลา ปากต่ง กางตรงทางน้ำไหลที่
        ทำคันกั้นไว้ บังคับให้น้ำไหลเป็นช่องที่จะดักด้วยต่ง ได้ปลาทุกขนาด
        ที่ว่ายลงตามน้ำ

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562

รวมงานร้อยกรองเรื่องยาว


                                         
                                     ขุนทอง ธนัญธร ป้าทุม ถ่ายที่หนองกองเหนือ กำแพงเพชร 
                                                                 -----------------

.....................เมนูรายการงานแต่งบทร้อยกรอง ผลงานของกระผม นายขุนทอง ศรีประจง เฉพาะที่เป็็น เรื่องยาว และยังเก็บสะสมไว้ไม่ได้ลบทิ้ง
.......ใช้เมาส์ระบาย คลิกขวา 1 ครั้ง แถบ URL จะปรากฏ คลิกที่ URL จะเปิดได้


------------------------
นางแตงอ่อนคำฉันท์
ขุนทึงขุนเทืองคำฉันท์
ท้าวก่ำกาดำ คำฉันท์
ปลาบู่ทอง คำฉันท์
นิทานอีสป 51-100
นิทานอีสป 1-50
โตเกียวแห่งความหลัง เพจ 4
โตเกียวแห่งความหลังเพจ 3
โตเกียวแห่งความหลัง เพจ 2
โตเกียวแห่งความหลัง เพจที่ 1
โคลงนิราศเมืองเหนือ เพจที่2
โคลงนิราศเมืองเหนือ เพจที่ 3
โคลงนิราศเมืองเหนือ เพจที่ 1
พระราชประวัติ รัชกาลที่ 9
เซียงเหมี่ยง3 ตอน 41-60
เซียงเหมี่ยง 61-76
นางผมหอมกลกลอน
เซียงเหมี่ยง 2 ตอน 21-40
เซียงเหมี่ยงตอน1-20
นิราศดอยอ่างขาง1
นิราศไทรโยค1
นิราศไทรโยค 2
เซียงเหมี่ยงคำโคลงชุดที่ 4
คำโคลงสอนหลาน
บันทึกการอ่านพระราชประวัติ ร 9
ภูกระดึงรำลึก 2
ภูกระดึงรำลึก 1
ท้าวขูลูนางอั้ว 2
ท้าวขูลูนางอั้ว 1
นางผมหอมกลกลอน
ท้าวขูลูนางอั้วคำโคลง