วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วิธีสอนของพระพุทธเจ้า


พุทธวิธีสอน
................พูดถึงการสอน ทุกคนรู้จักกันดีว่า การสอนเป็นการทำให้ผู้ได้รับการสอนเกิดปัญญา ขจัดความไม่รู้ออกไป สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ตามสภาพปัญญาที่เกิดขึ้น  เมื่อมีใครถามถึงวิธีสอน
ทั่ว ๆ ไปก็สามารถพูดคุยกันได้ด้วยความรู้สึก สบาย ๆเป็นธรรมดา ไม่ค่อยจะเครียด  แต่พอมีผู้ขอให้พูดถึงการสอนวิชาพระพุทธศาสนา รู้สึกเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะเป็นการพูดถึงการสอนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ใคร ๆ ก็รู้จักท่านในฐานะที่เป็นครูที่ดีที่สุดเท่าที่เคยได้ยินได้ฟังมา  ยังไม่เคยเห็นใครสอนโจรดุ ๆอย่างองคุลีมาลให้วางดาบได้โดยไม่ต้องออกแรง ไม่เคยได้ยินครูที่ไหน สอนคนให้ละกิเลสได้เด็ดขาดจนเป็นพระอรหันต์คราวละนับสิบนับร้อยคน  วิธีสอนหลักธรรมพุทธศาสนาที่ดีที่สุดก็วิธีที่พระพุทธองค์ท่านใช้นั่นเอง ดังนั้นในข้อเขียนฉบับนี้ตั้งใจจะศึกษาถึงพุทธวิธีที่ท่านใช้ประกาศศาสนากระจายไปทั่วโลกมาแล้ว  ว่าทำไมบุคคลผู้หนึ่งที่เกิดเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว ที่เราท่านคิดว่าเป็นยุคสมัยที่โลกยังไม่เจริญ  แต่ท่านประสบผลสำเร็จในการสอนอย่างน่าอัศจรรย์ และสิ่งที่ท่านประกาศ ที่ท่านสอน เป็นเรื่องที่ท้าทายคนยุคนั้นสมัยนั้น ที่ส่วนมากเลื่อมใสศรัทธาลัทธิพราหมณ์ เชื่อศรัทธาในพระเป็นเจ้า เคารพเทวะ พร้อมที่จะยอมพลีชีพเพื่อเทวะ บวงสรวงด้วยสิ่งมีชีวิต เพื่อทำความพึงพอใจแก่เทวะ  คำสอนพระพุทธเจ้า ลบล้างความเชื่อเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง เหตุใด บุรุษผู้หนึ่งจึงกระทำการอันน่าอัศจรรย์เช่นนั้นในสถานการณ์สังคมเช่นนั้นได้
                อะไรคือปัจจัยที่ทำให้พระพุทธเจ้าประสบผลสำเร็จในการเป็นครูจนได้รับยกย่องว่า  ปุริสธัมมสารถี สัตถาเทวามนุสสานังเป็นครูแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งปลาย  หากเราจะสังเกตบุคคลที่เราเคารพศรัทธา หรือเลื่อมใสที่พบเห็นได้ทุกวันนี้จะพบว่า
          เรามักจะศรัทธาคนที่มีบุคลิกดีได้ง่ายกว่าคนที่บุคลิกไม่ดี
          เรามักจะศรัทธาคนที่พูดจาดีง่าย กว่าคนที่พูดจาไม่น่าฟัง
          เรามักจะศรัทธาคนที่มีเมตตาต่อเราโดยสนิทใจไม่คลางแคลง
          เรามักศรัทธาคนที่เข้มแข็งกว่าเรา และอาจให้เราพึงพาได้ ง่ายกว่าคนที่อ่อนแอกว่าเรา
          เรามักจะศรัทธาคนเก่งง่ายกว่าคนที่ไม่เก่ง
           จาก 5 ประเด็นที่เลือกมา เพราะได้ทราบมาว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนที่ใครได้พบเห็นก็มักเลื่อมใสศรัทธาได้ ง่าย การที่คนผู้หนึ่งมีคนอื่นเลื่อมใสศรัทธา หากคนผู้นั้นจะแนะนำสั่งสอนผู้ที่เลื่อมใสตนเอง ย่อมทำได้ง่าย ดังนั้นจึงจะใช้ 5 ประเด็นที่เลือกนี้ไปศึกษาคุณลักษณะพระพุทธเจ้า คิดว่า 5 ประเด็นก็น่าจะพอที่จะหาข้อสรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านมีคุณสมบัติที่ทำให้ผู้คนศรัทธาเลื่อมใสได้ง่าย จริงหรือไม่เพียงใด
                บุคลิกภาพของพระพุทธเจ้า หลังประสูติไม่กี่วันพราหมณ์ที่ได้รับเชิญมาร่วมงานรับขวัญพระกุมาร ตัวแทน 8 คน ทำนายลักษณะสิทธัตถกุมารโดยอาศัยตำรามหาปุริสลักษณะ 32 ประการ  แล้วทำนายคติ 2 อย่างว่า ถ้าเป็นฆราวาสมีโอกาสเป็นจักรพรรดิ เป็นบรรพชิตจะได้เป็นศาสดาเอก  ตำราที่
ว่านี้มีอยู่จริง ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ทั้งหลายเชื่อถือมาก่อนที่สิทธัตถกุมารจะประสูตินับร้อยนับพันปี  เป็นข้อมูลประการแรกที่ยืนยันว่า พระพุทธเจ้ามีบุคลิกที่ไม่ใช่ธรรมดา       นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับบุคลิกที่สง่างามของพระองค์อีกมากมายในพระไตรปิฎก บางครั้งมีพระภิกษุหนุ่มติดตามเพื่อจะได้เผ้าใกล้ชิด ได้เห็นรูปกายของพระองค์  บางครั้งมี พราหม์ที่มีธิดารูปโฉมงดงาม ไม่ยอมยกให้ชายหนุ่มคนใด พอได้เห็นพระพุทธเจ้าก็ยินดีอยากจะยกลูกสาวให้เป็นชายา ดังนี้เป็นต้น เรื่องเล่าขานตำนานต่าง ๆ เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้า มีบุคลิกลักษณะสมกับที่เล่าลือกันมาว่า ครบมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ ทำให้ผู้ได้พบเห็นเลื่อมใสศรัทธาได้ง่าย
                ประการที่ 2 ถ้อยคำวาจาที่น่าเลื่อมใส การมีเสียงกังวาน   นุ่มนวล ไพเราะ ชวนฟัง เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในมหาปุริสลักษณะ  แต่ถ้อยคำที่น่าเลื่อมใสนั้น นอกจากจะไพเราะ ยังจะต้องมีประโยชน์แก่ผู้ฟังด้วย ในประเด็นนี้คงไม่มีอะไรน่าสงสัยเพราะถ้อยคำทั้งมวลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ล้วนเป็นไปเพื่อสั่งสอนให้ ศาสนิกชน ให้พ้นจากทุกข์ พ้นจากกิเลสตัณหา  ปัญจวัคคีย์ยอมออกบวช 5-6 ปีติดตามเฝ้าพระสิทธัตถะ เพียงหวังจะได้ฟังคำสอนที่มีสาระประโยชน์แก่ตน ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง  ปฐมเทศนาชื่อธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ทรงเทศนาที่ป่าอิสิปตน มิคทายวัน เป็นหลักฐานสำคัญว่าวาทะของพระ พุทธเจ้า เป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้ฟังทั้งยังทำให้ผู้ฟังบรรลุจุดประสงค์การสอนทีละคน ๆ จนครบทั้ง 5 ถ้าถ้อยคำไม่ดีจริง ทั้ง 5 ท่านคงไม่ยอมขออุปสมบทเป็นสาวกแน่นอน  ยังมีอีกมากมายตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าถ้อยคำของพระสิทธัตถะนั้น เป็นถ้อยคำที่มีคุณค่ายิ่งกว่าเพชรนิลจินดา สามารถทำให้ผู้ฟังอย่าง
องคุลีมาลวางดาบประหารมาเป็นลูกศิษย์จนชั่วชีวิต สามารถทำให้เจ้าชายรัชทายาทกษัตริย์หลาย
ราชวงศ์ ละทิ้งราชสมบัติมาเป็นศิษย์ตถาคต  สามารถทำให้บุตรเศรษฐีร่ำรวยมหาศาล ละทิ้งบ้านเรือน
ข้าทาสบริวารมาเป็นนักบวชศิษย์ตถาคตมีผ้านุ่งห่มเพียงสามผืน หากินด้วยบาตร 1 ใบ ถ้าถ้อยคำไม่ดี
จริง ไม่น่าเลื่อมใสจริง เหตุการณ์เหล่านั้นคงไม่เกิดขึ้น
                ความมีเมตตา คือปรารถนาดีต่อผู้อื่น พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเมตตากรุณาสูงส่ง  ตรัสรู้แล้วพระองค์เข้าถึงนิพพานอันเป็นบรมสุขที่แท้จริง  ท่านจะเสวยวิมุติสุขของท่านไปตลอดอายุขัยก็ไม่มีใครไปตำหนิท่านได้ แต่ท่านต้องยอมลำบาก ด้วยเมตตากรุณาของท่าน ทำงานตลอด 45 ปี จนถึงวินาทีสุดท้าย เพื่อสั่งสอนผู้อื่นให้ได้พบวิมุติสุข มีผู้บรรลุธรรมหลายร้อยหลายพันคน ทั้งยังวางหลักคำสอนที่เป็นอมตะไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ได้ปฎิบัติ สืบต่อกันมากว่าสองพันห้าร้อยปี  มีผู้ได้รับประโยชน์จาก
คำสอนของท่านนับหมื่นนับพันล้านคน  ยังจะมีใครอีกที่มีโอกาสสร้างคุณงามความดีแก่ชาวโลกมากมายขนาดนี้ ขนาดล่วงลับไปแล้วยังมีคุณค่าแก่อนุชนรุ่นหลังไม่รู้จบ  เมตตากรุณของท่านยิ่งใหญ่เกินจะกล่าวยกย่องได้ครบถ้วน
                ความเข้มแข็งที่หาได้ยาก  พลังกายที่แข็งแรง พลังจิตที่แกร่งกล้า คือความเข้มแข็งที่น่าเคารพน่าศรัทธา พระสิทธัตถะท่านมีครบบริบูรณ์ ในวัยหนุ่มท่านมีปราสาทสามฤดู มีนางสนมที่เลือก
สรรแล้วบำรุงบำเรอ ทั้งวันทั้งคืน มีชายาที่เลือกสรรว่างดงามไม่มีที่ติอย่างเจ้าหญิงยโสธรา  เจ้าชายหนุ่มผู้บริบูรณ์ด้วยอิสริยยศ เพียบพร้อมด้วยศิริราชสมบัติ ถ้าพลังจิตไม่เข้มแข็งจริงออกบวชไม่ได้แน่นอน  การบำเพ็ญทุกกรกิริยา 6 ปี ถ้าจิตใจไม่หนักแน่นมั่นคง เลิกไปแล้ว ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแน่นอนถ้าเจ้าชายสิทธัตถะอ่อนแอ  มีอุปสรรคหลายอย่างขัดขวางการสั่งสอนของท่าน ไม่เคยย่อท้อ เขาจ้างชาวบ้านมายืนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายสองข้างทางที่เสด็จไปบิณฑบาต ไม่หนี  เขาจ้างสาว ๆ มาสมอ้างว่าตั้งท้องกับพระสิทธัตถะ ท่านไม่หวาดหวั่น เขาหาช้างตกมันมาปล่อยให้ไล่กระทืบ ท่านไม่กลัว  เขาจ้างมือ ปืน(ธนู) ดักยิง ก็ไม่เกรง คนเข้มแข็งอย่างนี้ แม้แต่ศัตรูตัวฉกาจ อย่างพระเทวทัต ยังต้องยอมแพ้ ท่านเข้มแข็งสุดยอดมนุษย์จริง ๆ
                  เจ้าชายสิทธัตถะเป็นคนเก่ง สมัยเป็นวัยรุ่นท่านเรียนหนังสือก็เก่งที่สุดในรุ่น   จนอาจารย์ก็ชมเชย ออกบวชไปเรียนหนังสือกับพระดาบส ใช้เวลาไม่นานพระดาบสก็ต้องบอกว่า อาตมาก็รู้แค่นี้คือสมาบัติ 8 ทั้งที่คนอื่นศึกษาฝึกอบรมหลายสิบปี ยังไม่เคยมีใครเรียนจบความรู้เท่าพระดาบสที่เป็นอาจารย์เลย เจ้าชายเรียนไม่นานก็จบแล้ว เก่ง จริง ๆ   ตรัสรู้ใหม่ ๆ คนเดียวแท้ ๆท่านไปเหยียบถิ่นนักบวชต่างลัทธิอย่างชฎิล ผู้มีบริวารนับพัน เป็นนักบวชคนละลัทธิ เหมือนพุทธกับคริสต์ทำนองนี้ กล้าหาญมากนอกจากกล้าไปนอนค้างบ้านเขาแล้วยังสอนให้เขาเลิกบูชาไฟหันมาบวชเป็นลูกศิษย์ของตนได้   คือได้ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์นับพันมาเป็นสาวก แบบนี้ต้องยอมรับว่ายอดเก่งจริง ๆ
                จากบทวิเคราะห์ทั้ง 5 ประเด็น น่าจะเพียงพอสำหรับที่จะสรุปว่า พระพุทธเจ้านั้น ท่านมีคุณลักษณะความเป็นครูที่ยอดเยี่ยม  มีบุคลิกทางกายภาพที่สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ  มีสำเนียงถ้อยคำที่นุ่มนวลน่าฟัง แถมเป็นถ้อยคำที่มีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ฟังด้วย  ท่านมีน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ซึ่งมิใช่ธรรมดา เป็นเมตตากรุณาที่สัตว์โลกนับพันล้านหมื่นล้านได้ประโยชน์  ท่านเป็นคนเข้มแข็ง ทำสิ่งที่คนธรรมดา ๆ ไม่อาจจะทำ แต่ท่านทำได้  ทั้งยังมีความเก่งกล้าออกจะบ้าบิ่นด้วยซ้ำไป
จนฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรูไม่น้อยต้องหันมาสยบให้ เพียงแค่นี้ก็ไม่สงสัยแล้วว่าทำไมท่านจึงมีคุณสมบัติที่ทำให้ใครได้พบเห็น ได้คบหา ได้ฟัง ได้ร่วมกิจกรรมกับท่าน จึงเกิดศรัทธาเลื่อมใส และเชื่อฟังคำสอนของท่านแต่โดยดี
                พทุธวิธีการสอน  จากการศึกษาบุคลิกภาพความเป็นครูของพระพุทธเจ้าแล้ว เราพบว่าท่านมีทุกองค์ประกอบบริบูรณ์นับว่าได้เปรียบครูคนอื่น ๆ อย่างมาก ต่อไปก็จะศึกษาวิธีสอนว่าพระพุทธเจ้าท่านใช้วิธีสอนอย่างไรบ้าง ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่าผู้เขียนมีความเชื่อว่าวิธีสอนของท่านน่าสนใจ สอนคราวใดมักจะมีผู้บรรลุจุดประสงค์คือเกิดดวงตาเห็นธรรมจำนวนมาก ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าท่านทำได้อย่างไร โดยจะพยายามศึกษาจากข้อเขียนของท่านผู้รู้ เช่น พระธรรมปิฎก (ประยุต ปยุตโต)สุชีพ ปุญญานุภาพ เสฐียรพงศ์ วรรณปก พุทธประวัติ และพระไตรปฎิฎก เป็นต้น ซึ่งพอสรุปความและนำเสนอ ได้ดังนี้
                1 .  พระพุทธเจ้ามีปกติจะสอนคนอื่นในเรื่องใด ๆ สิ่งนั้น ๆ ท่านมักจะปฏิบัติได้ ทำได้ มาก่อน เช่นท่านจะสอนอริยสัจ 4ท่านก็บรรลุมาก่อนแล้วจึงสอน ปัญจวัคคีย์เฝ้าอยู่ 5 ปี 6 ปี ไม่เคยเห็นท่านสอนมาก่อน พอตรัสรู้แล้วท่านจึงยอมสอน  สอนให้มักน้อยสันโดด ท่านปฏิบัติให้ดูเห็นชัดว่าอยู่ได้ ทำได้ ให้พระสาวกถือผ้าสามผืน ท่านก็ทำเป็นแบบอย่าง  ครูที่มีปฏิปทาแบบนี้ลูกศิษย์เชื่อฟังแน่นอน
                2.   รู้จักลูกศิษย์ดี เรียกได้ว่ามองทะลุไปถึงก้นบึงเลยทีเดียว เพียงพบปะทักทายนิดเดียวท่านรู้จักแล้ว ว่าเป็นใคร มาจากไหน มีอุปนิสัยเป็นอย่างไร เป็นบัวประเภทไหน สอนได้หรือสอนไม่ได้ เช่นตอนแยกทางกับสาวกไปประกาศศาสนา ท่านไปพบภัททวัคคีย์พาสาว ๆ มาเที่ยวกัน กำลังพากันตามหาสตรีนางหนึ่งที่แอบลักเครื่องประดับหนีไป พวกหนุ่ม ๆ ผ่านมาพบและถามท่าน สนนากันครู่เดียวท่านรู้ว่าหนุ่มพวกนี้เป็นพวกบัวโผล่พ้นน้ำ จึงแนะนำให้หาตนเองแทนที่จะไปหาสตรีที่หลบไป  พอได้ฟัง
คำสอนไม่นานก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ขออุปสมบททั้ง 30 คน  
                 3. เป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนเป็นรายบุคคล สมัยหนึ่งพระเถระนักเทศน์ใหญ่ท่านหนึ่งนามพระมหาปันถกเถระ มีน้องชายมาบวชศึกษาธรรมอยู่ด้วยชื่อ จูฬปันถก  พระรูปนี้ขึ้นชื่อว่ายอดปึก  คาถาบทเดียวพระเถระพี่ชายให้ท่อง ตลอดพรรษาท่องไม่จบ จนตัวเองก็เบื่อหน่าย โดนพระเถระพี่ชายดุด่าเข้าก็เสียใจจะเลิกล้มการบวช พระพุทธเจ้าทราบเข้าก็เรียกไปพบสอนว่าไมต้องเสียใจให้ผ้าขาวสะอาดผืนหนึ่ง สั่งให้ไปนั่งในที่สงัดแล้วบริกรรมว่า รโช หรณัง   ๆ  ๆ บริกรรมไปก็ลูบผ้าไปเรื่อย ๆนานเข้าผ้าขาวก็สกปก พระจุฬปันถกเกิดดวงตาเห็นธรรม ซึ่งต่อมาก็บรรลุอรหันต์ตัดกิเลสอาสวะได้
                   4. ทรงสอนโดยยึดหลักการสอนจากสิ่งที่เข้าใจง่ายไปหาสิ่งที่เขาใจยาก   วิชาครูที่เราภูมิใจนักหนา ว่าฝรั่งคิดได้ยอดเยี่ยมนั้น  บรมครูท่านใช้อยู่เมื่อสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว  ท่านสอนปัญจวัคคีย์เรื่องทางสามสาย  ที่บรรพชิตปฏิบัติ กามสุขัลลิกานุโยค สายแรกพวกที่ยังยินดีในกามคุณ  ปัญจวัคคีย์รู้จักดีเพราะท่านก็เป็นนักบวชมาก่อน สายที่สอง อัตตกิลมถานุโยคพวกชอบทรมานตนเองให้ได้รับความลำบาก สายนี้ก็มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เข้าใจได้ไม่ยาก สุดท้ายสายมัชฌิมาปฏิปทาของบรมครูสิทธัตถะเอง ยากกว่าสองสายแรก คนฟังก็สนใจอยากรู้ว่ามันต่างจากสายที่เคยรู้จักอย่างไร ฟังไป ฟังมาก็เกิดดวงตาเห็นธรรม
                4. หลักการศึกษาที่เรียกไตรสิกขา เป็นอีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าทรงสอนจากเรื่องพื้น ๆ ไปหาเรื่องยาก ๆ ศีลสิกขาปฏิบัติง่ายที่สุด สอนให้ปฏิบัติก่อน สมาธิสิกขา ฝึกสมาธิยากกว่ารักษาศีล ฝึกในลำดับถัดมา  ปัญญาสิกขา ศึกษาให้เกิดปัญญาเฉลียวฉลาด  ยากกว่า 2 อย่างแรกให้ฝึกเป็นขั้นสุดท้าย
                5.  สอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  บรมครูท่านให้ความสำคัญต่อผู้ที่ท่านจะสอนมาก  หากเห็นว่าผู้เรียนไม่พร้อมท่านจะไม่สอน เจ้าหญิงรูปนันทา ลือกันว่าทรงศิริโฉมงดงามมาก ภายหลังออกบวชเป็นภิกษุณี ไม่กล้าเข้าเฝ้าพระศาสดา เพราะทราบกิติศัพท์ว่า พี่ชายคนนี้ชอบตำหนิว่ารูปไม่เที่ยง ไม่งาม ไม่จีรังยั่งยืน น่าเบื่อหน่าย เธอเป็นคนรักรูปโฉมตนเองว่างดงามล้ำกว่าใครพระสิทธัตถะก็ไม่สนใจจะเรียกมาสั่งสอน แม้นางจะเป็นธิดาของนางประชาบดีโคตมี พระมารดาเลี้ยงของพระองค์ พระเถรี
รูปนันทาจึงมีศักดิ์เป็นน้องสาว จนกระทั่งเห็นว่านางมีอุปนิสัยแก่กล้าแล้วพอจะสอนได้ จึงถือโอกาสสอน ซึ่งเป็นไปตามจุดประสงค์พระเถรีรูปนันทาเกิดดวงตาเห็นธรรม และบรรลุอรหันต์ในที่สุด
                 6.  สอนตามสภาพจริง มีตัวอย่างมากมายที่พระพุทธเจ้าสอนโดยใช้สภาพจริงที่เกิดขึ้นเป็นสื่อการสอน  คราวหนึ่งมีสตรีคนหนึ่งบุตรน้อยเธอเสียชีวิตลง มีคนแนะนำให้เธอมาเฝ้าพระศาสดาบอกว่ามียาดีรักษา พระพุทธเจ้าบอกว่า ยาดีรักษาได้มี แต่ต้องได้เมล็ดผักกาดสักหยิบมือหนึ่งมาผสมเครื่องยา ให้ไปตระเวนหาขอจากบ้านที่ไม่มีใครตาย ไม่มีญาติที่น้องตาย ได้แล้วนำมาจะจัดยาให้  เธออุ้มศพลูกน้อยเที่ยวขอเมล็ดผักกาดไปทำยา ไปบ้านไหนเขาก็บอกว่า พ่อตาย แม่ตาย ญาติตาย พี่ตาย น้องตาย ลูกตายหลานตาย นานวันเข้าศพก็เน่าเปื่อย ในที่สุดเธอก็ได้คิดกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า  ได้ฟังธรรมเทศนาจนเกิดดวงตาเห็นธรรมและบรรลุอรหันต์
                7. สอนให้ผู้รับการสอนมีส่วนร่วม  มีกรณีตัวอย่างมากมายในพระไตรปิฏกที่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้ามักจะชักชวนผู้ที่ท่านสอนให้มีส่วนร่วมในการสนทนา จนทำให้เกิดความเข้าใจหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง ดังเช่น  ในเล่มที่ 12 หัวข้อที่ 27….97เล่าว่าสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแลชาณุโสณีพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค  และสนทนาถึงความน่ากลัวของการอยู่ในป่า พระพุทธเจ้าได้นำสนทนาถึงความน่ากลัวเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ มีกาย วาจาและจิตที่ยังไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่มีความน่ากลัวสำหรับผู้ที่กายวาจาใจบริสุทธิ์แล้ว จากนั้นก็สอนหลักธรรมให้ฟัง ในที่สุดชาณุโสณีพราหมร์ก็ออกบวชและบรรลุอรหันต์ในเวลาต่อมา
                 อีกตัวอย่างในอักโกสกสูตรที่ ๒ เล่มที่ 19 ข้อ 631634 เล่าว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน  พระนครราชคฤห์ ฯ   อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาช โคตรหลายคนจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระสมณโคดมแล้ว  โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มี พระภาคด้วยวาจาอันหยาบคาย    พระพุทธเจ้าชวนสนทนาว่า เมื่อมีแขกมาเยี่ยมพราหมณ์ต้อนรับด้วยสิ่งของหลากหลาย เมื่อแขกไม่รับ ไม่บริโภคสิ่งของที่จัดให้ สิ่งของนั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ตอบว่ายังเป็นของตนเองเหมือนเดิม พระพุทธเข้าก็สรุปว่า เช่นเดียวกัน เรามาเยือนถึงบ้านเมืองท่าน  พราหมณ์ต้อนรับเราผู้เป็นแขกด้วยถ้อยคำหยาบคาย เราไม่รับ ไม่บริโภคคำหยาบคายของท่าน ทุกถ้อยคำยังเป็นของท่านเช่นกัน จากนั้นก็ถือโอกาสสอนโทษแห่งความโกรธและคุณประโยชน์ของการไม่โกรธ ในที่สุดพราหมณ์ชื่มชมเลื่อมใสขอบวชในพระพุทธศาสนา
                 จากกรณีตัวอย่างที่นำเสนอนี้ เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นถึงความเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ของพระ พุทธเจ้า เป็นครูที่มีพฤติกรรมการสอนที่น่าอัศจรรย์  ยิ่งศึกษาชีวประวัติและผลงานท่านยิ่งจะพบเห็นเทคนิควิธีสอนแปลก ๆ ที่ท่านใช้ ซึ่งมักจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพผู้รับคำสอน  เราจะได้เห็นบางคราวท่าน ใช้วิธีตอบปัญหาที่ผู้มาเฝ้าถาม บางทีสอนให้เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมโดยอาศัยสิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นสื่อให้เกิดความเข้าใจ  มีมากมายหลายอุทาหรณ์ที่ท่านใช้วิธีสาธก อ้าง
เหตุการณ์ ประวัติ   หรือชาดกสอนให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้งในอรรถธรรม นับว่าท่านเป็นครูที่บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติของครูอย่างแท้จริง ได้แก่  ปิโย เป็นบุคคลที่ใครได้พบเห็นก็มีความรู้สึกรักใคร่เป็นมิตร  คุรุ เป็นผู้มีจิตใจหนักแน่นไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคปัญหา  ภาวนีโย เป็นผู้มีจริยะธรรมน่าเคารพนับถือ  วัตตา มีคำพูดที่แหลมคมกระทบใจคนฟัง  วจนักขโม มีความอดกลั้นสูงถูกคนดุด่าว่ากล่าว ยังมีน้ำในสั่งสอนให้เขาได้เข้าใจหลักธรรมโดยไม่โกรธ  คัมภีรกถัง กัตตา สามารถขยายความสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย   โนจัฎฐาเน นิโยชเน  ไม่ชักนำใคร ๆ ไปทางเสียหายพุทธัง สรณัง คัจฉามิ  
......................
ขุนทอง ตรวจทาน 1/8/59





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น