วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

ทำบุญมหาชาติ




........ทศชาติชาดก คือนิทานชาดก 10 เรื่อง ที่นิยมนำมาเทศนาให้ชาวบ้างฟัง เชื่อว่าเป็นเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ช่วงที่เป็นพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นมนุษย์สถานะต่าง ๆ เลือกมาแสดงเฉพาะที่เห็นว่าสำคัญ เป็นตัวอย่างการบำเพ็ญบารมี 10 เรื่องได้แก่เตมีย์กุมาร (เนกขัมมะ) มหาชนก (วิริยะ) สุวรรณสาม(เมตตา) เนมิราช(อธิษฐาน)มโหสถ (ปัญญา) ภูริทัต(ศีล) จันทกุมาร(ขันติ) นารท(อุเบกขา) วิฑูรบัณฑิต(สัจจะ)เวสสันดร(ทาน) 

............ที่นิยมนำมาเทศน์บ่อยมากคือ มหาเวสสันดรชาดก บาลีแต่งเป็นร้อยกรองจำนวน 1000 คาถา แยกเป้น 13 ตอน เรียก 13 กัณฑ์ 1000 คาถา ประกอบด้วย....
..........1. ทศพร 19 พระคาถา
...........2. หิมพานต์ 134 พระคาถา
...........3. ทานกัณฑ์ 209 พระคาถา
...........4. วนปเวส 57 พระคาถา
...........5. ชูชก 79 พระคาถา
...........6. จุลพน 35 พระคาถา
...........7. มหาพน 80 พระคาถา
...........8. กุมาร 101 พระคาถา
...........9. มัทรี 90 พระคาถา
...........10. สักกบรรพ์ 43 พระคาถา
...........11. มหาราช 69 พระคาถา
...........12. ฉกษัตริย์ 36 พระคาถา
...........13. นครกัณฑ์ 46 พระคาถา
...........เมื่อนำมาเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง มีการแปลเป็นสำนวนภาษาไทยแบบร่ายยาวหรือเรียกทำนองเทศน์ นิยมเทศน์ในเทศกาลทำบุญเดือนสี่ จนเกิดเป็นประเพณีเดือนสี่ ฟังเทศน์เรื่องมหาชาติชาดก การทำบุญเดือนสี่เพื่อฟังเทศน์นิยมกันทั่วไป ทุกหมู่บ้านที่นับถือพุทธศาสนาปัจจุบันเริ่มจะถดถอยไปมาก จึงจะขอเล่าเรื่องการทำบุญเดือนสี่ของช่าวบ้าน ให้ฟังพอสังเขป ดังนี้

………….การเตรียมการจัดงาน เนื่องการงานเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านถือเป็นงานใหญ่ ต้องเตรียมเครื่องสักการะบูชาจำนวนมาก เข้าเดือนสาม ก็เริ่มเตรียมงานแล้ว มีอะไรบ้าง
..........1) เครื่องบูชาอย่างละ 1000 ตามจำนวนคาถาของ 13 กัณฑ์เทศน์มหาชาติ นิยมใช้อะไรบ้าง เช่น ดอกไม้ อยางละ พัน ดอก เก็บมาตากแห้ง แล้วนำมารวมใส่ในชะลอมหรือสานกระติ๊บข้าวขนาดใหญ่เท่าตะกร้าบรรจุ ดอกไม้...พัน ธูป....พัน เทียน....พัน ข้าวพันก้อน เมี่ยงหมาก พลูบุหรี่ พันชุด วันงานจะนำมาวางบูชาใกล้ธัมมาสน์ที่พระเทศน์
..........2. เตรียมสถานที่ บริเวณวัด สะอาดเรียบร้อย ปักธุงปฏากผืนใหญ่ยาวหลายเมตรคันใช้ไม้ไผ่ตงทั้งลำ ธุงก็ใช้ของเดิม หรือทำใหม่ สมัยบวชพระ...เคยเห็นอุบาสิกาเขาทอธุงปฏากกันไปนั่งชมให้กำลังใจ เขาใช้ด้ายแนวตั้งยาวเท่าความยาวของธุง กว้างราว 1 ฟุต แถบสีสลับ 3-4 สี  ส่วนด้ายทอ ก็นิยมสีดำ แดง สลับขาว พวกผู้ชายจะเหลาไม้ไผ่สำหรับทำลวดลายถักสลับบนแผ่นธุง ทอเส้นฝ้ายคั่นไว้มิให้หลุด ถ้าเป็นรุ่นใหม่น่าจะเปลี่ยนไปใช้พลาสติค จะทนและเบาดี ธุงปฏากปักรายรอบศาลา ใครเห็นก็รู้จะมีงานเทศน์มหาชาติ
..........3 บนศาลาการเปรียญที่ใช้เป็นที่แสดงธรรมเทศนาและฟังเทศน์ มีธรรมาสน์และตกแต่งศาลาให้เป็นเหมือป่าในตำนาน มีการจัดวางอ่างน้ำใบใหญ่สมมติเป็นสระอโนดาต มีปู ปลาเต่า ปล่อยเอาไว้ (อ้ออย่าลืมให้อาหารมันล่ะ) มีต้นกล้วยต้นอ้อย มะพร้าว เต็มศาลายังกับป่าหิมพานต์ มีดอกไม้ ธงทิวระโยงระยาง ดอกโน ปาดจากลำต้นหม่อน ย้อมสี สวยงามมาก หลายคนสานใบมะพร้อาวเป็นรูป นก ปลาตะเพียน ห้อยตามเสา ตามผนัง เด็ก ๆ มาเห็นร้องไห้จะเอา ๆ ต้องบอกให้รอสองสามวันให้นกปลามันหากินก่อน วันหลังเสร็จงานก็มาเก็บเอาไปเล่นได้ ธงทิว ธงประดับ พวงมาลัย ดอกไม้เทียม สายรุ้งต่าง ๆ ใครมีฝีมือก็มาช่วยกันทำ ค่าใช้จ่าย หลวงพ่อมีสำรองให้ ใครจะสมทบก็เชิญมีบาตรตั้งไว้ให้หยอดมัคทายกมีหน้าที่ขอเบิกเงินให้ไปซื้อวัสดุมาให้ช่างฝีมือเขาจัดทำ
..........4. จัดศาลพระอุปคุตให้สะอาดเรียบร้อยสวยงาม เพราะจะเชิญพระอุปคุตมาจำวัดที่ศาลตลอดวันงาน มีผ้าไตรและบาตรวางไว้
..........5. พระจะเตรียมหนังสือใบลานสำหรับใช้เทศน์ ลำดับดูแต่เช้ามืด เทศน์สังกาส และ มาลัยหมื่นมาลัยแสน จะใช้ 2 คน จากนั้นก็จะเริ่มมหาชาติชาดก แบ่งหนังสือใบลานออกเป็นกันฑ์ย่อย สัก 3-5 ใบเรียก 1 ผูก ใช้เวลาเทศน์สัก 10-15 นาที จบ เริ่ม 7 โมงเช้าไปจบ สี่โมงเย็นติดต่อกัน 9 ชั่วโมงจัดให้พอดี บันทึกชื่อคนเทศน์เอาไว้ ให้ชาวบ้านนำบัญชีไปจัดคนอุปถัมภก์ แจกหนังสือให้พระเณรไปเตรียมอ่านล่วงหน้า เวลาเทศน์จะได้ไม่ติดขัด ถ้าเชิญวัดใกล้เคียง ก็ต้องส่งหนังสือไปนิมนต์ พร้อมผูกใบลานแนบไปด้วย  ในวัดพระอาจารย์ต้องแนะนำพระเณรบวชใหม่ให้รู้วิธีการแสดงเทศน์ การรับกัณฑ์เทศน์ การรับกันฑ์หลอน
..........6. นัดหมายเวลาไปแห่อุปคุต  การแห่ข้าวพันก้อน และการแห่พระเวสส์เข้าเมือง  การไปแห่อุปคุต เป็นการอัญเชิญพระเถระรูปหนึ่งชื่อ อุปคุต เชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ มีอภิญญา 6 แก่กล้า ขนาดพญามารยังเกรงกลัว เพียงได้ยืนชื่อก็หวาดหวั่น ท่านจำวัดอยู่ในมหาสมุทรจึงไปนิมนต์ท่านที่ท่าน้ำตอนเช้ามืดแห่เข้ามาที่วัด อัญเชิญไปสถิตที่ศาลพระอุปคุต เช้าวันทำบุญมหาชาตินั่นแหละ ให้บารมีท่านคุ้มครองงานทำบุญ มิให้เกิดเภทภัยใด ๆขึ้นในขณะทำบุญทำทาน

กิจกรรมต่าง ๆระหว่างการทำบุญมหาชาติ ชาวบ้านทำอะไรกันบ้าง
...........การแห่พระเวสส์เข้าเมือง จับเรื่องมาจากกัณฑ์นครตอนพระเจ้าสญชัยไปเยี่ยมเวสสันดรและพระนางมัทรี แล้วเชิญเสด็จกลับเข้าเมือง นิยมจัดตอนบ่ายก่อนวันเทศน์ 1 วันถือผ้าภาพเขียนเวสสันดรชาดก ไปแห่จากทุ่งนาหรือป่าใกล้บ้าน แห่มาที่วัด แล้วนำผ้าไปแขวนรอบศาลาการเปรียญ เสร็จก็จัดให้มีการเจริญปริตตมงคล เริ่มเทศน์สังกาส มาลัยหมื่นมาลัยแสน จบก็กลับบ้าน เช้ารุ่งขึ้นมาฟังเทศน์มหาชาติแต่เช้ามืด ไม่ต้องเทศสังกาส มาลัยหมื่นมาลัยแสนอีก ถ้ายังไม่ได้เทศน์ ต้องเทศน์ก่อนจะเริ่มเรื่องมหาเวสสันดรชาดก การแสดงธรรมเทศนาเรื่องมหาเวสสันดรต้อง ฟังให้จบในเวลา 1 วัน จึงนิยมนัดหมายกันมาแต่เช้ามืดก็จะจบราวสี่โมงเย็น ขอขมาพระรัตนตรัยแล้วกลับกัน
............การแห่ข้าวพันก้อน พร้อมดอกไม้ธูปเทียนราวตีสามจะมีขบวนแห่จากท้ายบ้าน ตีฆ้องกลองให้ได้ยิน ข้าวจะปั้นเป็นก้อนกลม ๆเท่าหัวแม่มือเตรียมไว้จนแห้ง ใส่จานมาไปดักรอเส้นทางขบวนจะผ่าน ขบวนมาถึงก็เข้าร่วมเดินไปยังวัด รอบศาลาจะมีเสาธุงปฏาก โคนเสาธุงมีกระจาดให้วางดอกไม้ธูปเทียน เอาข้าวก้อนวางบูชาไว้ก่อน เพราะยังไม่แห้งดี เสร็จงานค่อยมาเก็นบรวมรวมเอาไปบรรจุใส่กล่องเก็บไว้ใช้ปีต่อไป
............ลำดับกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการทำบุญมหาชาติ
............ขบวนแห่ข้าวพันก้อน คือคณะมาเปิดการแสดงเทศนาเรื่องมหาเวสสันดรแต่เช้ามืดพระจะได้ยินเสียงขบวนแห่ และลงมารอที่ศาลาการเปรียญแล้ว โยมเข้ามาเรียบร้อยก็ทำวัตรเช้า และขอรับศีล จบก็อาราธนาเทนศ์ขอฟังธรรมเทศนา การอาราธนาเทศน์แบบพื้นบ้าน มีการแต่งสำนวนอีสานยืดยาวมาก ถ้าจำไม่ได้ก็ใช้คำอาราธนาเทศน์ พรัมมา จ โลกา .....ฯ ก็ได้ พระเข้าใจและเริ่มการเทศน์ได้............เริ่มเทศสังกาสและมาลัยหมื่นมาลัยแสน ก่อนจะเทศน์มหาเวสสันดรชาดก ถ้าได้เทศน์แต่วันวานตอนแห่พระเวสส์เข้าเมืองมาวัด ก็ไม่ต้องเทศน์อีก เริ่มกัณฑ์ทศพร ได้เลยเจ้าอาวาสจะนั่งกำกับการเทศน์ เชิญพระเณรลงมาประจำ ตามช่วงเวลามิให้ขาด แม้เวลาฉันเช้าบนธรรมมาสน์ก็จะมีคนเทศน์อยู่มิได้ขาด เทสน์ติดต่อกันไปจนจบเรื่องตอนบ่าย ๆ
............การอุปัฏฐากพระเณรที่มาจากต่างวัดเพื่อช่วยแสดงเทศนา ก่อนวันงานมีการแบ่งกัณฑ์เทศน์ออกเป็น ผูก ๆ ส่งไปวัดใกล้เคียง นิมนต์ส่งคนมาเทศน์ เจ้าภาพจะจัดโยมรับอุปัฏฐากไว้ จัดที่หลับที่นอนหมอนมุ้งไปรับรอง เช้าก็จัดสำรับถวาย ก่อนกลับถวายกัณฑ์บูชาแล้วท่านก็กลับวัดท่านไป
...........การจัดแบ่งหนังสือใบลานออกเป็นผูก ๆ เพื่อให้คนเทศน์ประมาณ 10-15 นาที จบหนึ่งผูก แล้วเปลี่ยนคนต่อไป ไม่เหนื่อย ยิ่งถ้าได้ซ้อมล่วงหน้าก็อ่านได้ดีไม่ติดขัด พระเณรมีมากก็ช่วย ๆ กันไปสลับกันขึ้นธรรมมาสน์ ถ้าเชิญวัดอื่น ก็ควรดูแลอำนวยความสะดวกให้ตามควร ทุกกัณฑ์เทศน์ จะจัดโยมรับผิดชอบจัดเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ พอพระเทศน์จบลงมาก็นิมนต์ไปรับกัณฑ์เทศน์ทันที ช้าอาจถูกตัดหน้าได้
...........การถวายกัณฑ์หลอน นี่ไงตัดหน้าเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ได้ ถ้าชักช้า ถ้าเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์เขาถวายก่อนก็รอทีหลัง กัณฑ์หลอนก็คือการจัดเครื่องบูชา และเครื่องไทยทาน มาถวายพระที่กำลังแสดงธรรมเทศนา หนุ่มสาวนิยมจัดกันเองแล้วก็แห่มาวัด ทางวัดจะจัดชุดกลองยาวไปรับ แห่มายังบริเวณศาลาการเปรียญ แล้วก็ถวายพระรูปที่ท่านกำลังเทศน์อยู่นั่นแหละจึงเรียกว่ากัณฑ์หลอน พระก็ต้องรับสองกัณฑ์บูชาคือ เจ้าภาพกัณฑ์เทศน์และกัณฑหลอนถวายเสร็จกลับเข้าไปหมู่บ้าน จัดมาอีก กว่าจะจบตอนเย็นจัดได้หลายรอบ บางทีจัดเป็นคุ้มบ้าน หนุ่มสาวเขาสนุกกันทั้งวัน ได้แต่งชุดสวย ๆด้วย ได้รำฟ้อนกันชอบอกชอบใจ จบงานพระเวสส์ได้แต่งกันเลยก็มี
ฟังเทศน์มหาชาติ หรือเวสสันชาดก ได้ฟังอะไร
............1. ได้ฟังสังกาศ เป็นธรรมเนียมการแสดงธรรมเทศนาสำคัญ ๆ พระจะเทศน์สังกาศก่อนเริ่มธรรมเทศนาเสมอ เช่น นิมนต์พระแสดงธรรมสองธรรมมาสน์ แบบปุจฉาวิสัชชนาพระประจำที่ ญาติโยมไหว้พระรับศีลและอาราธนาเทศน์ รูปที่ 1 จะเทศน์สังกาศก่อน สังกาศก็คือการบอกศักราช เป็นภาษาบาลี ตัวอย่าง วันนี้ 3 มีนาคม 2561 ตรงกับวันเสาร์ บอกศักราชว่า ดังนี้
.........อิทานิ ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ปะรินิพพานะโต ปัฏฐายะ เอกะสัฏฐะยุตตะระปัญจะสะตาธิกานิ เทว สังวัจฉะระสะหัสสานิ อะติกกันตานิ ปจจุปปันนะกาละวะเสนะ ผัคคุณะมาสัสสะ ตะติยัง ทินัง วาระวะเสนะ ปะนะ โสระ วาโร โหติ เอวัง ตัสสะ ภะคะวะโต ปะรินิพพานา สาสะนายุกาละคะณะนา สัลลักเขตัพพาติ ฯ

............การที่พระประกาศบอกศักราชนี่เองที่ชาวบ้านเรียกฟังเทศน์สังกาศ
...........2. ฟังเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน เล่าถึงพระอรหันต์รูปหนึ่งนามว่าพระมาลัย ทรงอภิญญาสามารถท่องไปนรกสวรรค์ได้ มีโอกาสได้พบสัตว์นรกสนทนาถึงเหตุที่ต้องเสวยทุกข์และต้องการบอกข่าวไปยังญาติพี่น้องอย่างไรบ้าง เมื่อพบญาติโยมท่านก็บอกเล่าข่าวคราวให้ฟัง ชาวบ้านก็หมั่นทำบุญทำทานอุทิศให้ ไปสวรรค์ก็ได้พบเทพบุตรเทพธิดา ได้สนทนาถามถึงบุญบารมีที่ส่งผลให้ไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ กลับมาท่านก็เล่าให้ญาติโยมฟัง ทำให้ชาวบ้านสนใจทำบุญทำทานก็มากยิ่งขึ้น มีอยู่คราวหนึ่งท่านไปนมัสการพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีจุฬามณีบนดาวดึงส์ ได้พบสันดุสิตเทพบุตรนาม ศรีอาริยเมตตรัย ผู้จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ในภัททรกัปป์นี้ ก็ได้สันทนาธรรมกัน และถามปัญหาสำคัญว่า หากชาวบ้านประสงค์จะเกิดพบศาสนาของพระพุทธเจ้าสมัยนั้น จะทำบุญทำกุศลอย่างไร ถึงจะสมหวัง
.........พระศรีอาริยเมตไตยเทพบุตร มีพระดำรัสตรัสฝากพระมาลัยให้มาบอกมนุษย์ว่า ถ้าพวกเขาเหล่านั้นอยากเกิดทันศาสนาของข้าพระองค์ ก็จงอุตส่าห์ฟังธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดกให้จบทั้งหมดในวันเดียว แล้วบูชาด้วยเครื่องสักการะบูชาด้วยธูปเทียนดอกไม้อย่างละพัน และตั้งมั่นอยู่กับการทำบุญทำทาน ทำเช่นนี้แล้วจะได้เกิดในยุคสมัยที่พระศรีอาริย์ลงมาตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้านับเป็นองค์สุดท้ายในยุคสมัยภัทรกัปป์นี้ (กกุสันโธ โกนาคม กัสสปะ โคตมะ และศรีอาริยเมตตรัย)

....เล่าว่าในยุคพระศรีอริยเมตไตรย หรือ พระศรีอาริย์ เป็นสังคมที่มีความสุขอุดมสมบูรณ์ถึงพร้อมด้วยวัตถุและจิตใจ กล่าวคือ พื้นที่เต็มไปด้วยไม้ดอก ไม้ผล เครือเถาว์ ไม้พุ่มไม้ยืนต้นมีหมู่บ้านและนิคมที่อยู่ใกล้ๆกันขนาดไก่บินไม่พ้น ไม่มีโจร ไม่มีการถือทิฐิ มีความปลอดภัย รุ่งเรืองด้วยราชธานี สมบูรณ์ด้วยรัตนะทั้งปวง มีความสุข มีอาหารสมบูรณ์ด้วยข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของกิน มีปลา และเนื้อเป็นอันมาก ข้าวสาลีเมล็ดเดียวที่เกิดเอง บุคคลนำไปปลูกจะได้ข้าวสาร 227 เกวียน 16 หาบ 2 ทะนาน มีบ่ออันเต็มไปด้วยน้ำหวาน คนในสมัยนั้นสามีภรรยาไม่วิวาทกัน ไม่โกรธกัน ไม่ต้องทำกสิกรรมและค้าขาย ไม่ต้องปั่นด้าย ไม่ต้องทอหูก ได้นุ่งผ้าทิพย์ ชายพากันยินดีด้วยภรรยาของตน หญิงพากันยินดีด้วยภรรยาของตน พวกผู้ชายจะไม่คบกับภรรยาผู้อื่นผู้หญิงจะไม่คบกับชายอื่น สามีภรรยาจะพอใจรักใคร่ในกันและกัน มนุษย์ทั้งปวงจะไม่วิวาทเพราะทรัพย์สินไร่นาและสัตว์เลี้ยงเป็นเหตุ มนุษย์ทั้งปวงมีรูปร่างทรงหล่อ
เหลา พอใจรักใคร่เมตตาซึ่งกันและกัน 


...........เนื้อหาที่ได้จากการฟังเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ดังนี้

 
1.กัณฑ์ทศพร ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าหวนกลับบ้านเกิดเมืองนอนคือเมืองกบิลพัสดุ์ อยู่วัดต้นไทรย้อย ได้แสดงฤทธิ์แก่มวลญาติเกิดฝนตกลงมาห่าใหญ่ พระสาวกเห็นเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ จึงทูลถามพระองค์ทำไมฝนแปลก ๆสีออกแดง ๆ ฉ่ำเย็นสบาย ทรงทราบเป็นฝนโบกขรพัสต์ สมัยเป็นพระเวสสันดรก็เคยตกครั้งหนึ่งแล้ว และเล่าเวสสันดรชาดกให้ฟัง


กัณฑ์ที่ 1 ทศพร พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร แต่ปางก่อนนั้นผุสดีเทวีเสวยชาติเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์เมื่อจะสิ้นพระชนมายุจึงขอกัณฑ์ทศพรจากพระอินทร์ได้ 10ประการ ทั้งยังเคยโปรยผงจันทร์แดง ถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้าและอธิฐานให้ได้เกิดเป็นมารดาพระพุทธเจ้าด้วย พร 10 ประการนั้นมีดังนี้
...........1. ขอให้เกิดในกรุงมัททราช แคว้นสีพี
...........2. ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
...........3. ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
...........4. ขอให้ได้นาม "ผุสดี" ดังภพเดิม.
..........5. ขอให้พระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป
...........6. ขอให้พระครรภ์งาม ไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ.
..........7. ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง
...........8. ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ.
..........9. ขอให้ผิวพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
...........10. ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้


กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์ เทพธิดาผุสดีจุติลงมาเป็นธิดาของพระเจ้ามัททราช นามผุสดีเมื่อเจริญชนม์ได้ 16 ชันษา ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐนคร ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า "เวสสันดร" ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉันททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงได้นำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมีพระกุมาร ให้นามว่า "ปัจจัยนาค" เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ 16 พรรษา พระราชบิดาก็ยกราชสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี พระราชธิดาราชวงศ์มัททราช ต่อมามีมีพระโอรสชื่อ ชาลี พระธิดาชื่อกัณหา พระองค์ได้สร้างโรงทานไว้ทำทานบริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ กิจิศัพท์พระราชาผู้ใจบุญ แพร่กระจายไปทุกทิศ 

......เมือกลิงคราษฎร์แห้งแล้วติดต่อกันหลายปี ขณะเมืองสีพียังอุดมสมบูรณ์ปกติ ทราบว่าเป็นเพราะ
ช้างคู่บารมีพระเจ้าสีพีเวสสันดร จึงส่งทูตมาทูลขอช้างปัจจัยนาค ไปไว้เมืองกลิงคราชบ้าง พระราชา
พระราชทานให้ ทำให้เมืองกลิงคราชกลับมีฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล แต่ชาวเมืองสีพีไม่พอใจไปฟ้องพระเจ้ากรุงสีพีผู้บิดา ที่สุดก็สั่งเนรเทศพระเจ้ากรุงสีพีเวสสันดรออกจากเมือง


กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ พระเวสสันดรทรงมหาสัตตสดกทาน คือ การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี ชาลีและกัณหาออกจากพระนคร จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตตสดกทาน คือ การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่ อันได้แก่ ช้าง ม้ารถ โคนม นารี ทาสี ทาสา รวมทั้งสุราบาน อย่างละ 700 เสร็จแล้วก็ออกเดินทางมุ่งไปยังป่าเขาคีรีวงกตที่อยู่ห่างไกลผู้คน


กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศน์ เป็นกัณฑ์ที่สี่กษัตริย์เดินทางสู่เขาวงกต เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับหน้าศาลาพระนคร กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชเลื่อมใสบารมีเวสสันดรมานาน ทูลเชิญให้ครองเมืองเจตราช พระเวสสันดรปฏิเสธ มุ่งมั่นออกไปอยู่ป่าตามเดิม พระเจ้าเจตราชก็ไม่ได้ขัดข้องจึงมอบหมายให้พรานเจตบุตรผู้มีความเชี่ยวชาญการเดินป่า ให้ช่วยดูแลการเดินทางและการอยู่อศัยในป่าของสี่พระองค์ให้สะดวกปลอดภัย สี่พระองค์เดินทางต่อจนกระทั่งจุดพำนัก ได้พบอาศรมบทศาลาที่พระอินทร์สั่งวิษณุกรรมมาสร้างไว้ให้ พร้อมบริขารนักบวชฤๅษีชีไพรตามประสงค์ ทั้งสี่พระองค์จึงอธิฐานเพศเป็นดาบส ดาบสินี อาศัยอยู่ในเขาคีรีวงกตสืบมาทรงผนวชเป็นฤาษีพำนักในอาศรมสืบมา


กัณฑ์ที่ 5 ชูชก ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชกพำนักในบ้านทุนวิฐะเที่ยวขอทานตามเมืองต่าง ๆ เมื่อได้เงินถึง 100 กหาปณะ จึงนำไปฝากไว้กับเพื่อนพราหมณ์ผัวเมียแล้วออกเดินทางขอทานต่อไป สองผัวเมียเห็นชูชกหายไปนานจึงได้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว เมื่อชูชกเดินทางมาทวงเงินไม่มีให้ จึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูกชก นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชกได้ทำหน้าที่ภรรยาที่ดี ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาของตน หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตีนางอมิตดา นางขอให้ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหาชาลีเพื่อมาเป็นทาสรับใช้นาง ชูชกเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพรานเจตบุตรผู้รักษาประตูป่า


กัณฑ์ที่ 6 จุลพน พรานเจตบุตรหลงกลชูชก ที่ได้ชูกลักพริกขิงให้พรานดู อ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสญชัยจะนำไปถวายพระเวสสันดร พรานเจตบุตรจึงต้อนรับและเลี้ยงดูชูชกเป็นอย่างดีและได้นำทางไปส่ง มีคำบรรยายสภาพป่าได้อย่างเสนาะเพราะพริ้ง แม้เป็นป่าขนาดย่อม ยังไม่ใช่ป่าลึก พรานส่งชูชกจนพ้นเขตรับผิดชอบ 


7 . กัณฑ์มหาพน ว่าด้วยเรื่องป่าใหญ่ ที่ชูชกไปพบพระอจุตฤาษีลวงว่าตัวเองก็เป็นพราหมณ์ทูตแห่งพระเจ้ากรุงสีพี จะเดินทางไปพบพระเวสสันดร เพื่อแจ้งข่าวตามพระราขสาส์น ที่เก็บในกล่องไม้ไผ่(กล่องน้ำพริกที่เมียจัดให้) พระฤๅษีเชื่อเลยจัดรับรองท่านทูตอย่างดี ให้ที่พักให้อาหาร เช้ามาก็นำส่งพ้นเขตของตน


8 . กัณฑ์กุมาร ชูชกรู้นิสัยพระเวสสันดรที่เป้นคนเมตตา ใจบุญ ขออะไรก็ให้ แต่ขอบุตรธิดาคงยากเพราะมีมารดาอยู่ด้วย ชูชกรอจนพระนางมัทรีเข้าป่าไปหาผลไม้ ออกไปขอกัณหาชาลีที่สุดก็ได้รับพระราชทาน และรีบพาสองพี่น้องออกเดินทางจากไป


กัณฑ์ที่ 9 กัณฑ์มัทรี พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึกจนคล้อยเย็นจึงเดินทางกลับอาศรมแต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทางจนค่ำ เมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรสธิดาและถูกพระเวสสันดรได้กล่าวว่านางนอกใจ พระนางมัทรีเสียใจมาก จนลืมความเศร้าที่โอรสธิดาหายไป จึงออกเที่ยวหาโอรสธิดาและกลับมาด้วยความเหนื่อยอ่อนจนสลบสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์ พระองค์ทรงตกพรทัยลืมตนว่าเป็นดาบสจึงทรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและทรงกันแสง เมื่อพระนางมัทรีฟื้นจึงถวายบังคมและขอประทานโทษ พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสธิดาแก่ชูชกแล้ว หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบกัน พระนางมัทรีจึงได้ทรงอนุโมทนาในปิยบุตรทานนั้น


กัณฑ์ที่ 10 สักรบรรพ พระอินทร์เกรงว่าพระเวสสันดรจะประทานพระนางมัทรีให้แก่ผู้ที่มาขอ จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์เพื่อมาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรจึงประทานให้พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน ต่อผลสำเร็จ ปรมัตถทานบารมี พระอินทร์ในร่างพราหมณ์จึงฝากพระนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป แล้วตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร 8 ประการ

กัณฑ์ที่ 11 มหาราช เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตนเองปีนขึ้นไปนอนต้นไม้ เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมารจนเดินทางถึงกรุงสีพี พระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายนั้นนำมายังความปีติปราโมทย์ เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้า ทอดพระเนตรเห็นชูชกและกุมารทั้งสองพระองค์ ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน ต่อมาชูชกก็ถึงแก่ความตายเพราะกินอาหารมากเกินขนาดจนไม่ย่อย พระชาลีจึงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร ในขณะเดียวกันเจ้านครลิงคราษฏร์ได้คืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี


กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์ ขบวนทัพพระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา 1 เดือน กับ 23 วัน จึงเดินทางถึงเขตเขาวงกต เสียงโห่ร้องของทหารทั้ง 4 เหล่า ทำให้พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกยกขบวนผ่านมาจะไปโจมตีนครสีพี จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขา พระนางมัทรีทรงมองเห็นธงทิวต่าง ๆ ก็จำได้เป็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้กราบทูลพระเวสสันดร และเมื่อทั้งหกกษัตริย์ได้พบกัน เห็นสภาพความทุกข์ทรมานของสองดาบส ก็เศร้าพระทัยยิ่งนัก ทรงกันแสงร่ำไห้ระงมไปทั้งกองทัพ ที่สุดก็สลบไสลทั้งไพรพลช้างม้า น่าเวทนายิ่งนัก พระอินทร์อาสน์ร้อนทันไม่ไหว สอดส่องเห็นเหตุการณ์เข้า หากมิช่วยจะชิบหายกันทั้งเมือง เลยบันดาลให้ฝนโบกขรพัสตร์ตกลงมา (ฝนเม็ดสีแดง มีแต่ความฉ่ำเย็น ไม่มีเปียกชื้น ผู้คนและสัตว์ถูกฝนจะเกิดอาการชุ่มเย็นสบาย ที่สลบก็กลับฟื้นมีพลกำลังแข็งแรง เกิดความปิติยินดี)


กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ พระเจ้ากรุงสญชัยดีพระทัยมากที่ได้พบพระโอรสเวสสันดร และพระมัทรีทรงขออภัยในข้อผิดพลาด ขับไล่ออกจากบ้านเมือง ทั้งที่เป็นการบำเพ็ญทานบารมี และขอเชิญลูกทั้งสองกลับไปครองเมืองดังเดิม พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้ อมทั้งพระนางมัทรี และเสด็จกลับสู่สีพีนคร ขบวนเดินทัพเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ปีติยินดี เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้มีการทำบุญโดยให้ปล่อยสัตว์จากที่ กักขัง ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมาขอรับบริจาค ทาน พระองค์จะประทานสิ่งใดให้แก่ประชาชน ท้าวโกสีย์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว 7 ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนม าขนเอาไปตามปรารถนา ที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวงพระเวสสันดรครองนครสีพีจนอายุ 120 ปีจึงสวรรคต ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อว่าสันตุสิต อยู่สวรค์ชั้นดุสิตก่อนที่จะมาเกิดเป็นพระสิทธัตถะกุมารนั้นแล.


...........จบการฟังธรรมเทศนา ใน 1 วัน ตามความมุ่งหมายการจัดงานฟังเทศน์มหาชาติแล้ว ก็จะมีพิธีขอขมาพระรัตนตรัย เก็บข้าวของ ทำความสะอาดสถานที่ให้กลับคืนสภาพปกติ เป็นอันจบ
งานมหาชาติ ประเพณีเดือนสี่


                                                           จบเด้อ