วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สงกรานต์

สงกรานต์ 
------------------
.................ท่านที่เคยอ่านตำราดวงชะตาราศี คงจะคุ้นเคยกับคำว่า สิบสองราศี ที่มีชื่อคล้ายกับชื่อเดือน 12 เดือน คือ มกราคม ไปจนถึงธันวาคมนั่นเอง นักดาราศาสตร์และโหราศาสตร์สมัยก่อนท่านจำแนกกลุ่มดาวบนท้องฟ้า 12 กลุ่ม มีดวงอาทิตย์โคจรผ่านทีละกลุ่ม ๆครบสิบสองกลุ่มก็เป็นเวลา 1 ปี พอดี กลุ่มดาวฤกษ์จักราศีทั้ง 12 กลุ่ม คือ กลุ่มดาวราศี เมษ  พฤษภ เมถุน กรกฎ สิงห์ กันย์ ตุลย์ พิจิก
ธนู มังกรกุมภ์ และ มีน  ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนย้ายหรือผ่าน กลุ่มดาวต่าง ๆ โดยใช้เวลา 30 วัน  เดือนเมษายน มีการเคลื่อนย้าย หรือผ่านจากราศรี มีน ผ่านเข้าสู่ราศรีเมษ อันเป็นช่วง "สงกรานต์" ถือเป็นกรณีพิเศษ เป็นการเริ่มต้น ศักราชใหม่ตามแนวทางจันทรคติ ที่นับถือกันในอินเดีย พม่า จีน ไทย ลาว เขมร เป็นต้น ดังนั้นประเทศแถบนี้จึงมักจะมีประเพณี สงกรานต์คล้าย ๆกันคือ ถือว่าวันที่ 13 เมษายน
เป็นวันสุดท้ายของปีเก่า 14 เมษายน วันเนา เป็นวันกลางระหว่างศักราชเก่าและใหม่ ส่วนวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ทราบว่าประเทศไทยประกาศนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อพ.ศ. 2432 ในรัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ และได้เปลี่ยนมาเป็นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม เมื่อปี 2484
....................คนไทยเราเฉลิมฉลองวันสงกรานต์กันมาแต่เมื่อใด คงไม่อาจตอบได้ชัดเจน แต่ในประเพณีสิบสองเดือนไทยภาคกลางก็ดีประเพณีฮีตสิบสองเดือนไทยอีสานก็ดี กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ในเดือนห้า แสดงว่ามีมานานแล้ว จึงน่าสนใจว่าเมื่อถึงเดือนห้า ช่วงมหาสงกรานต์คนสมัยก่อนท่านทำอะไรกัน  ในเอกสารตำราเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ไทยอีสาน พูดถึงการทำบุญ การสรงน้ำผู้ใหญ่และการละเล่นพื้นบ้าน
...................การทำบุญ เห็นประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป ปีหนึ่งยกออกมาขัดสีฉวีวรรณครั้งหนึ่ง นับเป็นเรื่องสมควรทำ นอกจากจะเป็นการทำความสะอาดแล้วยังเชื่อว่าได้บุญได้กุศลด้วย สมัยเด็ก ๆเห็นผู้ใหญ่ท่านทำพิธีขออนุญาตยกพระพุทธรูปลงไปสรงน้ำ มีขันดอกไม้ธูปเทียนไปหน้าโต๊ะหมู่บูชา กล่าวคำภาษาบาลีเสียดายตอนนั้นฟังไม่รู้เรื่องเลยไม่ทราบท่านกล่าวอะไร เท่าที่สังเกตดูมีอยู่ 2 อย่างคือขอขมาโทษที่จะต้องแตะต้องพระพุทธรูป คือ ยก เคลื่อนย้าย และขออนุญาตสรงน้ำ วัตถุประสงค์การกล่าวคงจะมีเท่านี้ วันที่ท่านนำพระพุทธรูปลงมาสรงน้ำไม่ค่อยตรงกัน บางหมู่บ้าน วันที่ 12 เมษายน บางหมู่บ้านวันที่ 13 เมษายน  เมื่อนำพระพุทธรูปลงสรงน้ำแล้ว ทุกบ่ายวันต่อ ๆ มา จะมีการแห่ดอกๆไม้มาบูชาพระทุกวันจนกว่าจะนำพระพุทธรูปไปเก็บ ขบวนแห่จะมีพระภิกษุสามเณรร่วมขบวนเดินทางไปทุ่งนาหรือตามละแวกป่าที่มีดอกไม้ จากนั้นก็เดินทางเข้าหมู่บ้าน ผ่านเส้นทางหน้าบ้านใคร เขาจะนำถังใส่น้ำมาวาง
ให้ล้างดอกไม้ ไปถึงวัดก็นำไปบูชาพระพุทธรูป
............นอกจากทำบุญสรงพระแล้วยังมีการทำบุญทำทานอื่น ๆตามสมควร เพราะมีวันหยุดทำงานสามวัน ดังนั้นชาวบ้านมีเวลาจัดเครื่องไทยทานออกไปทำบุญที่วัด นอกจากทำทานเหมือนบุญอื่น ๆแล้วยังมีการสวดธาตุ ชักธาตุ ชักบังสุกุล  แล้วแต่จะเรียก สาระคือการทำบุญอุทิศให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวอีสานนิยมเก็บอัฐิไว้ในเจดีย์อิฐถือปูนเล็ก ๆ ฝากไว้ที่วัด เวลาจะทำบุญก็นำสิ่งของไปว่างที่เจดีย์แล้วนิมนต์พระชักบังสุกุลจนเกิดประเพณีชักธาตุ สวดธาตุกัน เป็นกิจกรรมน่าสนับสนุนเพราะเป็นการแสดงความเคารพบรรพบุรุษหรือแสดงความรักอาลัยญาติพี่น้อง วิธีทำก็ง่าย ๆ เพียงแต่เราจัดไทยทานไปให้พร้อม ก่อนนิมนต์พระมาทำพิธีก็ควรไปทำความสะอาดเจดีย์ให้เรียบร้อยก่อน ถ้าจะสรงน้ำกระดูกก็ควรสรงกันเอง ไม่ต้องรบกวนพระท่านสรงก็ได้ จัดเก็บเข้าที่เรียบร้อยแล้วนิมนต์พระสัก 4 รูป มาชักบังสุกุล จุด เทียนคู่หนึ่ง  ธูปสามดอก ดอกไม้คู่หนึ่ง บอกกล่าวว่าเราตั้งใจมาทำบุญให้ เสร็จแล้วจะรับศีล
ก่อนก็ได้ จะนิมนต์พระชักบังสุกุลเลยก็ได้ จากนั้นก็รับพร กรวดน้ำอุทิศกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับเป็นเสร็จพิธี
..............  สรงน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ได้แก่พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้อาวุโสอื่น ๆ สมัยก่อนเห็นนิยมสรงน้ำพระมากกว่า ส่วนการสาดน้ำกันมีพบเห็นทั่วไป แต่เคยได้ยินทางเหนือมีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ปัจจุบันนิยมทำกันทั่วไปเพราะเป็นประเพณีดีงาม วิธีทำก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เตรียมของฝากเตรียมดอกไม้ธูปเทียนและน้ำหอมไปด้วย แค่นี้ก็พอ  ไปถึงก็ขออนุญาตท่าน จุดธูปเทียนบอกกล่าวเทพยดาอารักษ์ว่าเรามาทำพิธีกราบไหว้ผู้ใหญ่เชิญมาร่วมเป็นสักขีพยานและช่วยดลบันดาลให้พิธีกรรมของเราศักดิ์สิทธิ์และสัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่เราปรารถนา จากนั้นก็พูดกับผู้อาวุโสว่า
.................  "วันนี้เราตั้งใจมาคารวะท่าน ที่เคยล่วงเกินท่านด้วยกายกรรม วจีกรรมหรือมโนกรรมก็ตาม ขอท่านได้โปรดอโหสิกรรมด้วย อย่าได้เป็นบาปกรรมติดตัวพวกเราไปเลย ขออำนาจสิ่งกดิ์สิทธิ์.....บันดาลให้ท่านมีอายุมั่นขวัญยืนยิ่งร้อยปี  มีฉวีวรรณผุดผ่องใส ประสบสุขทั้งกายและใจทุกเมื่อ มีพลังกายพลังใจเข้มแข็งชำนะอุปสรรคต่างๆได้ดังหวัง ขอให้ท่านตั้งมั่นดุจร่มโพธิ์ร่มไทรสำหรับลูกหลานสืบไปยิ่งยืนนาน" จบแล้วก็ยกขันดอกไม้มอบให้ท่าน พร้อมทั้งสิ่งของที่เตรียมมา และขออนุญาตสรงน้ำท่าน และรับพรเป็นอันจบพิธี
................การละเล่นพื้นเมือง สงกรานต์สนุกทำบุญดังกล่าวแล้วยังมีสนุกเพราะการละเล่นพื้นเมืองของพวกเด็ก ๆ และพวกหนุ่มสาวรวมทั้งพวกผู้ใหญ่ก็มีการละเล่นเป็นกลุ่ม ๆ ไป  เคยเห็นเขาเล่นกันหลายอย่างเช่น
               1. หมากเก็บ พวกเด็ก ๆ เราชอบ ใช้เปลือกหอยเล่นกัน โดยเฉพาะใครมีเปลือกหอยสวย ๆ ละก็มีแต่คนอยากเล่นด้วยนิยมเล่นชุด 5 หรือ 10 หมาก แล้วแต่ความชำนาญ
               2. สะบ้า ใช้ลูกสะบ้าขนาดใหญ่ คนละ 2 ลูก หรือไม่ก็เจียนไม้กลม ๆ หรือฝากระป๋องก็เคยเห็นเขาเล่นกัน
               3. หินอี่ หิงอี่ 
               4. ตี่จับ
               5. หัวกระโหลก ขีดเส้นเป็นตารางกระโดดไปตามกติกาที่กำหนดเล่นกัน
               6. โค้งตีนเกวียน
               7. มอญซ่อนผ้า
               8. ม้าหลังโปก
               9. รี ๆข้าวสาร
               10. งูกินหาง
              11. หนอน
              12. ซ่อนหา
              13. ดึงครกดึงสาก
              14. ชักคะเย่อ
              15. ตีคลี
              16. ปิดตาตีหม้อ
.................. ปัจจุบันการละเล่นพื้นบ้านไม่ค่อยได้เห็น มีการละเล่นสมัยใหม่เข้ามาแทน เช่นพวกกีฬา
ต่าง ๆ  แถมยังมีการละเล่นที่ไม่น่าสนับสนุนกำลังระบาดคือ ดื่มสุราฮาเฮและเล่นการพนัน อย่างไรก็ดีเชื่อว่าเป็นเพียงค่านิยมฉาบฉวย สักระยะหนึ่งคงเบื่อเองเพราะไม่ค่อยมีสาระ ฝากผู้ใหญ่ด้วยแล้วกันช่วยแนะนำเด็ก ๆ ด้วย อันไหนดีงามช่วยกันรักษาสืบทอดเอาไว้ สิ่งไหนไม่มีประโยชน์ละได้ก็ควรละเว้น
---------------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 2/8/59



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น