วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เทียนพรรษา




                                                            เทียนไข ไปถวายพระได้


......................
เทียนพรรษา
.........ใกล้วันเข้าพรรษา นึกถึงสมัยก่อน ประมาณปี 2498 ผมเป็นนักเรียน ชั้น ป. 4 เอง แต่ก็พอจะจดจำเรื่องราวการทำบุญเขาพรรษาของชาวบ้านได้ ชัดพอจะนำมาเล่าให้คนสมัยใหม่ฟังได้ มีการทำบุญอะไรที่น่าสนใจบ้าง
..........การถวายผ้าอาบน้ำฝน การถวายผึ้งและเทียน การถวายน้ำมัน การจัดวาระทำโรงครัวจังหันและเพล การจำศีล การฟังเทศน์ ก็มีหลายอย่าง ที่ทุกวันนี้( 2591) อาจไม่เห็นแล้ว ขอหยิบมาเล่าย่อ ๆ พอรู้เรื่อง ดังต่อไปนี้
..........ถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นผ้าผืนที่ 4 ที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุมี ไว้ใช้ หลังจากอนุญาตผ้าไตรจีวรไปแล้ว ความจริงสมัยใหม่มีใช้เกินอนุญาต หลายชิ้น อังสะนี่ก็ชิ้นที่ 5 นะ รัดประคต ชิ้นที่ 6 แต่ชาวบ้านเห็นจำเป็นต้องใช้ ไม่ว่ากัน ใช้จนกลายเป็นบริขารที่ต้องจัดให้เวลาไปซื้อกองบวช ส่วนผ้า กราบนี่ ไม่จำเป็น กางเกงในก็ไม่ใช่บริขาร แต่เห็นนิยมใส่กัน คงเกรงว่าจะย่อหย่อนมั้ง ก็ต้องอาบัติตลอดเวลาที่ใส่แหละจนกว่าจะถอด อ้าวไปไกล แล้ว กลับมาก่อน ว่าจะเล่าตำนานที่ทรงอนุญาตผ้าอาบน้ำฝนให้ฟัง
........พระพุทธเจ้าอนุญาตเป็นผืนที่ 4 เรื่องมีว่านางวิสาขามหาอุบาสิกาไป เฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน แต่งตัวเต็มยศสมอัครมหาเศรษฐินี บิดาจัดสร้าง ให้เป็นชุดแต่งงานกับลูกชายอัครมหาเศรษฐี รวยกว่าบิดานางอีก ชุดจึงต้อง เลอเลิศ จ้างเข้าสร้างเป็นชุดคลุมที่ศีรษะ ยาวระพื้นทีเดียว ใช้เพชรนิลจินดา มากมาย ใช้ช่างทอง 500 คน สร้างนาน 4 เดือนเสร็จ ตีราคา 9 โกฏิ นางใส่ เครื่องประดับชุดนี้ไปฟังเทศน์ดูจะไม่เหมาะเลยถอดให้หญิงรับใช้ไปฝากแม่ชี ไว้แล้วไปฟังเทศน์ ตอนกลับรีบร้อนเพราะพายุฝนกำลังมา ถึงบ้านค่อยนึกได้ แม่ชีแจ้งพระอานนท์ว่านางวิสาขาลืมเครื่องประดับ จึงให้เก็บรักษาไว้ ไม่นาน นางคง ให้คนมาเอา 




........นางทาสีมาถึงวัดช่วงฝนกำลังตกหนัก คนอาบน้ำฝนกันเต็มลานวัด นางทาสีได้ของแล้วก็กลับ นางวิสาขาถามว่าเจอใครบ้าง ทาสีบอกเจอพระ อานนท์ที่ศาลา ส่วนลานวัดฝนตกหนักเปรตเล่นน้ำเต็มไปหมด นางวิสาขา ฟังแล้วก็รู้ว่ามีคนแก้ผ้าอาบน้ำกัน คงเป็นพระภิกษุ นั่นแหละไม่ใช่เปรตที่ ไหนหรอก วันต่อมานางมาทำบุญฟังเทศน์แล้วได้โอกาส เลยกราบทูลพระ พุทธองค์ให้ทราบ และขออนุญาตให้พระรับผ้าอาบน้ำฝน จะได้ไม่ต้องเปลือย กายอาบน้ำ พระพุทธเจ้าอนุญาต นางวิสาขาเลยถือโอกาสถวายผ้าอาบน้ำฝน ก่อนใคร ฉลาดนักนะคุณแม่ สวยด้วย รวยด้วย ใจบุญด้วย ไม่แปลกหรอก เพราะนางคือ พระโสดาบัน บรรลุตั้งแต่ยังเป็นสาว สงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะเป็นฆราวาส เนื่อง จาก อริยะบุคคลมี 4 จำพวกคือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ในบท สุปฏิปันโน ระบุไว้ชัดเจน ยทิทัง จัตตาริ ปุริสุยุคานิ ก็ 4 กลุ่มนี่เอง 
.......ถวายผ้าอาบน้ำฝนจบแล้วนะ ทีนี้ก็เหลือถวายอย่างอื่น เอาถวายน้ำมัน ก่อน เพราะคงจะหมดแล้วแหละ วัดไหนก็มีไฟฟ้าใช้กันแล้ว น้ำมันที่ถวาย วัดช่วงเข้าพรรษามี น้ำมันพืช น้ำมันก๊าด สมัยก่อนได้ใช้จุดให้แสงสว่าง น้ำมัน พืชใส่กระบอกไม้ไผ่ ใช้ผ้าฝ้ายทำใส้จุ่มลงในน้ำมันผ่าไม้คีบพาดปากกระบอก ไม้ไผ่จุดเหมือนตะเกียง สว่างนาน แสงสีนวล ชาวบ้านจะเก็บผลไม้ ป่าที่ทำน้ำมันได้เช่น กะบก ละหุ่ง ค้อแลน แกะเปลือกเอาแต่เนื้อมาตาก จนน้ำมันเยิ้ม ค่อยเอามาใส่ครกตำละเอียดน้ำมันเยิ้ม เอาออกมาบีบคั้นเอา น้ำมัน ผลไม้บ้าน ๆที่ทำน้ำมันได้แก่ละหุ่งเทศ มะพร้าว วันเข้าพรรษาก็ถือ ไปคนละขวดเล็ก ๆ ไปถวายรวมกันได้เป็นถังเหมือนกัน ใช้ตลอดพรรษาก็ ไม่หมด ต่อมามีน้ำมันก๊าด สะดวกมากจนลืมน้ำมันพืชไปเลย ตะเกียงก็ มีขายทั้งตะเกียงธรรมดา ตะเกียงโป๊ะ ตะเกียงเจ้าพายุ วัดก็ใช้น้ำมันมาก เพราะมี ทุกตะเกียง
.......ถวายเทียนพรรษา นอกจากไต้ ตะเกียง ก็มีเทียนให้แสงสว่างหน้าพรรษา ชาวบ้านหามาถวายให้พระได้ใช้ ปี 2506 ที่วัดยังมีอุปกรณ์จุดไต้ เป็นเขียงไม้ทรงสี่เหลี่ยมขุดเซาะเป็นกระบะสี่เหลี่ยม ฝังหลักมีตะปูแหลม ๆ ติดปลายไม้ไว้เสียบไต้ จุดไฟหัวไต้ยื่นไปตรงกระบะสี่เหลี่ยม ไฟลุก ขี้ไต้ หยดหล่นลงกระบะ ห้าหกวันขี้ไต้เต็มเอาไปเททิ้ง ให้โยมหาไต้มาให้ได้ ทดลองใช้ จุดไต้ดื่มน้ำชาหลังทำวัตรเย็น บรรยากาศโบราณดี พี่เณรชอบ เพราะมีน้ำตาลกรวดให้กินกับน้ำชา นึกว่าชอบแสงไต้ เทียนล่ะ พวกตีผึ่งเขา จะได้รังผึ้งส่วนที่เก็นน้ำหวาน มีสีผึ้งเยอะ เอามาใส่กระทะเคี่ยวไฟอ่อน ๆ ขึ้ผึ้งจะละลายเป็นน้ำ ตักเอาไปใส่แม่พิมพ์เป็นรูปเทียน ใส่ใส้หน่อยจะได้ จุดไฟง่าย หรือไม่ก็ใส่จานให้เป็นแผ่นไว้ก่อน ค่อยไปฟั่นเทียนทีหลัง เทียนจะถวายเป็นแท่งหรือเป็นแผ่นดีทั้งนั้นพระชอบ สมัยใหม่คงไม่ชอบ เท่าไรเพราะมีไฟฟ้าแล้ว เอาไปถูพื้นก็ไม่จำเป็น พื้นกุฏิมีแต่กระเบื้อง ใช้ น้ำยาขัดสวยกว่า ผึ้ง เทียน เลยไม่ค่อยได้ประโยชน์ บางแห่งเลยเอาทำ เป็นของเล่น เล่นแห่เทียนพรรษานั่นไง เล่นสนุกกันทั้งบ้านทั้งเมือง คนอื่น
ถือโอกาสไปเที่ยวเล่นสนุกสนานกัน ก็ดี
.........ทำโรงครัว วัดที่มีพระเณรจำนวนมาก บิณฑบาตมักไม่พอฉัน ชาวบ้านนิยมทำโรงครัวช่วยเหลือพระเณร ชาวบ้านจะมีโรงครัวเป็นที่เก็บวัสดุปกรณ์ ที่เป็นมีเครื่องทำครัวและวัตถุดิบต่าง ๆ ถ้าเป็นช่วงอาหารไม่พอฉัน ก็จะจัด วาระมาทำกับข้าว ขาดเหลืออะไรก็บอกมัคทายก บอกผู้ใหญ่บ้าน ข้าวสาร อาหารแห้งก็จะมีมาส่งโรงครัว บ้านที่ได้รับเวรก็จะจัดคนมาช่วยทำครัว เขามี กองทุนช่วยโรงครัว ฝากไว้กับมัคทายก แม่ครัวทำรายการซื้อไปเบิกเอาไป จัดซื้อของมาใช้ได้ วัดที่มีโรงครัวก็จะสะดวก พวกเข้าวาระจะจัดเตรียมสำรับ ถวายจังหัน ถวายเพล ชาวบ้านก็มาสมทบ วาระ 3 วัน ก็เปลี่ยนกลุ่มใหม่ วัดที่พระเณรจำนวนมาก เขาจัดกันแบบนี้
..........การฟังเทศน์ วัดที่กระผมบวช มัคทายกแกเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้แหละ เข้าพรรษาแกบอกจะพาชาวบ้านมาฟังเทศน์ทุกบ่าย วันพระจะมาแต่เช้ารับ ศีลแปด บ่ายฟังเทศน์ หลวงพี่เตรียมเทศน์อานิสงส์เล่มใหญ่ ๆ นั่นแหละ ผมรับหน้าที่เทศน์ตลอดพรรษา เทศน์แบบอ่านแล้วไปเทศน์เลยไม่อ่านหรอก หนังสือ เสียชื่อ ปรากฏโยมชอบแบบนี้มากกว่าอ่านหนังสือ ผลคือมีเรื่องเล่า ให้โยมฟังมากมาย เอาวันละเรื่องนะ เดี๋ยวหานิทานอ่านไม่ทัน โถไม่มีปัญหา หรอก นิทานเยอะจะตาย พวกนิทานชาดกในตู้เต็มไปหมด
..........การจำศีล ชื่อนี้ชอบจัง จำ...คือไม่ลืมไง จำศีล 5 ศีล 8 จำได้ก็ ไม่ลืม ไม่ลืมก็ละเมิดศีลไม่ได้ เดินจงกรมไปเจอมดกำลังเดินผ่านหน้า กำลัง จะเหยียบถู ๆ ๆ บี้ให้ตาย จำศีลข้อ 1 ได้ ถอยไม่เหยี่ยบดีกว่า นี่ไง จำมันดี อย่างนี้เอง ชาวบ้านชอบมาจำศีลที่ศาลาวัด นิมนต์เราไปเทศเมื่อใดก็เมื่อนั้น จะบอกเสมอว่า จำศีลที่บ้านได้บุญมากกว่า บนศาลาวัด ไม่มีอะไรให้ฆ่าหรอก ศีลเลยไม่ค่อยจะแข็งแรง ไม่มีอะไรให้ลักขโมย ไม่มีกิ๊กให้จีบอายุมาก ๆ กัน ทั้งนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องโกหกหลอกลวงอะไรกัน ไม่มีเหล้าให้ดื่มเฮฮา กลับไปบ้านดูสิมีสิ่งยั่วยุให้ศีลขาดมากมาย รักษาศีลที่บ้านศีลจะเข้มแข็งดี ได้บุญมากดี ก็คงฟังขำ ๆมั้งวันพระต่อไปก็แห่มาอีก เยอะกว่าเก่า เพราะลือ กันว่าหลวงพี่เทศน์เก่ง สนุกดี ถามก็ได้ไม่โดนดุ เป็นงั้นไป
........เข้าพรรษา พรรษา พัสสะ วัสสา วัสสะ คำเดียวกันนะ แปลว่าฝน หมายถึงหน้าฝน เข้าพรรษาก็เข้าหน้าฝนนั่นเอง เกี่ยวกับพระเพราะสมัย พุทธกาล พระภิกษุชอบจาริกแสวงบุญไปทั่ว ไม่ค่อยมีวัดอยู่ เลยไปแบบ ไม่มีห่วงกุฏิ เพราะมีสมบัติคือแค่ผ้า 4 ผืนและบาตร ก็จาริกไปได้ คำไหน นอนนั่น ปักกลดก็เป็นมุ้งกันยุงกันแมลงยามหลับนอน พอแล้ว เช้าเก็บ เข้าละแวกบ้านบิณฑบาตร ฉันเสร็จก็จาริกต่อ เมื่อพระภิกษุมากขึ้น การจาริก แบบไม่มีหยุดเลยเกิดปัญหาในหน้าฝน ชาวบ้านทำไร่ทำนาไม่สะดวกให้ การดู และพระภิกษุ หลายครอบครัวทิ้งไร่นามาดูแลพระ พระจากไป กำลัง จะลงนาอีก อ้าวมาอีกกลุ่ม ที่สุดก็บ่นว่าไม่เป็นอันทำไร่ทำนา พระพุทธเจ้าทราบ เลยกำหนดให้พระภิกษุหยุดจาริกหน้าฝน ให้อยู่เป็นที่เป็นทางตลอดฤดูฝน จนกลายเป็นประเพณีอยู่จำพรรษา 3 เดือน วิธีเข้าพรรษา ก็แค่อธิษฐานต่อ พระภิกษุรูปอื่นว่า ข้าพเจ้าตั้งใจจะอยู่จำพรรษาในอาวาสแห่งนี้ตลอดสามเดือน มีคำกล่าวเป็นบาลีด้วย แปลเป็นคำไทยด้วย ก็ดี จะได้เข้าใจว่าอธิษฐานอะไร
........พูดถึงเทียนพรรษาและนอกเรื่องจนยืดยาว มาจบลงตรงความหมาย ของเข้าพรรษา ก็เพื่อบอกคนรุ่นใหม่ว่าก่อนเราเคยคิดและทำอย่างนี้ บางอย่างเลือนหายไป บางอย่างเปลี่ยนสภาพไป แต่กาลเวลายังคงทำหน้าที่ ของมันอยู่ ผ่านไปแล้ววนเวียนมาบอกเราว่า หมดไปแล้ว หนึ่ง วัน หนึ่งเดือน หนึ่งปี หัวสูเจ้าเปลียนสีแล้ว ฟันลาหยุดไปหลายซี่แล้ว อ้าวคนรอบข้างก็หายไป ซักวันตัวเองก็คงจะหายไปด้วย อนิจจังสังสาระ มันเป็นแบบนี้แหละ



ภาพจากกูเกิล
อุปกรณ์การให้แสงสว่างสมัยยังไม่มีไฟฟ้าใช้


ฐานจุดกระบอง (ไต้นั่นแหละ)


ตะเกียงน้ำมันก๊าด ชอบใส่กองบวชดีนัก คงเพราะราคาถูกมั้ง


                   เจ้าพายุ สาว ๆลงวัด หามาจุดให้เขาช่วยดายหญ้าลานวัด หนุ่ม ๆชอบมาก

อันนี้ตะเกียงอ่านหนังสือหลวงพี่ ชอบหลับคาหนังสือบ่อย ๆ

ตะเกียงรั้ว หิ้วเดินไปทางหลังวัด เดินผ่านหลุมศพทั้งนั้น ตะเกียงธรรมดาดับง่าย ต้องแบบนี้ ดีหน่อย

เทียนสำหรับบูชาพระ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น