คลังบทความของบล็อก
- มกราคม (3)
- ธันวาคม (4)
- ตุลาคม (3)
- กันยายน (2)
- สิงหาคม (8)
- กรกฎาคม (11)
- มีนาคม (1)
- กุมภาพันธ์ (6)
- มกราคม (5)
- ธันวาคม (1)
- ตุลาคม (1)
- กันยายน (1)
- สิงหาคม (3)
- กรกฎาคม (2)
- มิถุนายน (8)
- พฤษภาคม (4)
- เมษายน (2)
- มีนาคม (2)
- กุมภาพันธ์ (4)
- มกราคม (1)
- ธันวาคม (7)
- พฤศจิกายน (5)
- ตุลาคม (1)
- กันยายน (2)
- สิงหาคม (8)
- กรกฎาคม (29)
- ธันวาคม (1)
- พฤศจิกายน (1)
- กรกฎาคม (2)
วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ฮีตสิบสอง ชุดที่ 1 เดือนที่ 1-4
........ข้อเขียนชุดฮีตสิบสอง นับวันแต่จะไม่มีคนเล่าให้ลูกหลานฟัง ว่าทำไมมีตั้ง 12 เรื่อง แต่ละเรื่อง มันเกี่ยวกับอะไรบ้าง ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบกันบ้าง เผื่อลูกหลานถามจะตอบกันได้ แบ่งเป็น 3 ชุด แต่ละชุดมี 4 เรื่อง แล้วกัน ลองอ่านดูครับ จะได้มีเรื่องบอกเล่าคนอื่นได้
ขุนทอง ศรีประจง
6 มค.2561
เดือนอ้าย หรือเดือนเจียง งานบุญเข้ากรรม
.......บุญเข้ากรรม คือบุญที่มีการเข้ากรรมของพระภิกษุ เกี่ยวข้องกับที่พระภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสอาบัติคือการละเมิดศีล เรียกต้องอาบัติ ศีลมีหลายประเภท เช่น ปาราชิก 4 ข้อ ต้องอาบัติแล้วมีโทษ
คือขาดจากความเป็นพระทันที ไม่มีผ่อนผัน ผิดก็จบไปเลย สังฆาทิเสส 13 ข้อ ผิดแล้วต้องอยู่กรรม
และขอให้สงฆ์ 20 รูป สวดระงับอาบัติให้ อาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 ข้อ ต้องอาบัติต้องสละสิ่งที่ทำ
ให้ต้องอาบัติก่อน จึงแสดงอาบัติได้ อาบัตินอกจากนั้น เพียงแสดงอาบัติต่อภิกษุอื่นก็เป็นอันออก
จากอาบัติได้ การเข้ากรรมเป็นวิธีออกอาบัติสังฆาทิเสส มีหลักการสำคัญคือ
.......1. การนับจำนวนวันที่ปกปิด ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ปกปิดไว้มีได้บอกภิกษุอื่น จนกล้าบอก
ปิดไว้เท่าใด จะนับเป็นเวลาสำหรับการอยู่กรรม ไม่ปกปิดก็ไม่ต้องนับ
.......2. การอยู่มานัติ 6 ราตรี เป็นการอยู่กรรมสำหรับทุกคนที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แม้คนที่อยู่กรรม
ตามข้อ 1 แล้ว ก็ต้องอยู่มานัติ 6 ราตรีก่อน จึงจะขออัพภาณ ระงับอาบัติได้
.......3. คณะสงฆ์ 20 รูปเป็นคณะสวดอัพภาณออกอาบัติสังฆาทิเสสให้
........แนวปฏิบัติ เช่น ภิกษุต้องอาบัติ 1 ข้อ ปิดไว้ 15 วัน หรือต้องหลายข้อ ปิดไว้ 5 วัน 10 วัน 15 วัน
เมื่อไปขอปริวาสต่อคณะสงฆ์ ก็จะได้เวลาอยู่ปริวาส 15 วัน สำหรับกรณีแรก แต่กรณีต้องหลายข้อจะได้
เวลามากขึ้นเป็น 5+10+15 รวม 30 วัน สงฆ์จะมอบหมายพระอาจารย์คุมการอยู่ปริวาสให้ 1 รูป ต้องรายงานพระอาจารย์ทุกวัน ปกติการอยู่ปริวาส จะหา กลด มาปักอยู่ใกล้ ๆ กุฏิอาจารย์ ชั่วขว้างก็อนดินตก 2 ครั้ง ปฏิบัติตามกฏระเบียบการอยู่กรรมเคร่งครัด สมัยพุทธกาลทรงกำหนดข้อจำกัดที่ผู้อยู่ปริวาสกรรม ถูกจำกัด 94 ข้อ ในเวบลานธรรมวัดโบสถ์แจ้ง ได้สรุปเป็นหัวข้อสำคัญ ๆ 10 ข้อได้แก่...
1.. ไม่ให้ทำการในหน้าที่พระเถระ แม้ตัวเป็นพระเถระมีหน้าที่อย่างนั้นอยู่ ก็เป็นอันระงับ ชั่วคราว เช่น
ห้ามบวชให้ผู้อื่น, ห้ามให้นิสสัย เป็นต้น.
2. กำลังถูกลงโทษเพราะอาบัติใด ห้ามต้องอาบัตินั้นซ้ำ หรือต้องอาบัติอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
3. ห้ามถือสิทธิแห่งภิกษุปกติ เช่น ไม่ให้มีสิทธิ ห้ามอุโบสถ หรือปวารณาแก่ภิกษุปกติ ห้ามโจท
ท้วงภิกษุอื่น ๆ เป็นต้น.
4. ห้ามถือสิทธิอันจะพึงได้ตามลำดับพรรษา เช่น ไม่ให้เดินนำหน้า ไม่ให้นั่งข้างหน้าภิกษุปกติ
เมื่อมีการแจกของ พึงยินดีของเลวที่แจกทีหลัง ทั้งนี้หมายรวมทั้งที่นั่ง ที่นอน และที่อยู่อาศัย
5. ห้ามทำอาการของผู้มีเกียรติหรือเด่น เช่น มีภิกษุปกติเดินนำหน้า หรือเดินตามหลัง แบบพระ
ผู้ใหญ่ หรือพระแขกสำคัญ หรือ ให้เขาเอาอาหารมาส่ง ด้วยไม่ต้องการจะให้ใครรู้ว่ากำลังถูก
ลงโทษ.
6. ให้ประจานตัว เช่น ไปสู่วัดอื่น ก็ต้องบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุในวัดนั้น เมื่อภิกษุอื่นมาวัดก็ต้อง
บอกอาบัติของตนนั้นแก่ภิกษุผู้มา จะต้องบอกอาบัติของตนในเวลาทำอุโบสถ
7. ห้ามอยู่ในวัดที่ไม่มีสงฆ์อยู่ (เพื่อป้องกันการเลี่ยงไปอยู่วัดร้าง ซึ่งไม่มีพระ จะได้ไม่ต้องทำการ
ประจานตัวแก่ใคร ๆ).
8. ห้ามอยู่ร่วมในที่มุงอันเดียวกับภิกษุปกตินี้ เพื่อเป็นการตัดสิทธิทางการอยู่ ร่วมกับภิกษุ อื่นชั่วคราว.
9. เห็นภิกษุปกติ ต้องลุกขึ้นจากอาสนะ ให้เชิญนั่งบนอาสนะ ไม่ให้นั่ง หรือยืน เดินในที่ หรือ
ในอาการที่สูงกว่าภิกษุปกติ.
10. แม้ในภิกษุผู้ถูกลงโทษด้วยกันเอง ก็ไม่ให้อยู่ร่วมในที่มุงเดียวกัน รวมทั้ง ไม่ให้ตีเสมอกัน
และกัน (ทางที่ดีไม่ให้มารวมกัน ให้ต่างคนต่างอยู่).
..........หมายเหตุ..ตั้งแต่ข้อ ๖ ถึงข้อ ๑๐ ถ้าภิกษุฝ่าฝืน การประพฤติตัวของเธอเพื่อออกจากอาบัติ ย่อม เป็นโมฆะ มีศัพท์เรียกว่าวัตตเภท (เสียวัตร) และรัตติเฉท (เสียราตรี) วันที่ล่วงละเมิดนั้นมิให้นับ เป็นวันสมบูรณ์ในการเปลื้องโทษจะต้องทำใหม่และนับวันใหม่ในการรับโทษแก็ไขตัวเอง
………..ข้อสังเกต การอยู่ปริวาสกรรม เป็นกิจของภิกษุผู้ต้องอาบัติ ต้องพึงปฏิบัติ ในฐานะคนที่ได้
กระทำความผิด กำลังรับโทษ เหมือนรับผลกรรมที่ทำผิดมา ไม่ใช่กิจกรรมที่จะเป็นบุญเป็นกุศลมากมาย
ที่โยมจะต้องไปแสดงความชื่นชม อนุโมทนาสาธุ เพราะคิดว่าทำบุญกับพระอยู่กรรมจะได้บุญกุศลมาก
ดีไม่ดีอาจไปทำให้การอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุบกพร่อง เสียเวลาย้อนกลับไปเริ่มใหม่ อาจให้ให้พระพระแหกกฏกติกา บาปกรรมเปล่า ๆ
.........แนวปฏิบัติของชาวพุทธ ถ้ามีคนชักชวนไปงานประเภทนี้ ติดต่อเจ้าอาวาส ช่วยสนับสนุน
จตุปัจจัยตามกำลังศรัทธา พอแล้ว ประเภทไปเข้าค่ายทำครัวเลี้ยงพระภิกษุที่กำลังถูกลงโทษนี่
แปลก ๆอยู่นะ คุณโยม
เดือนยี่ งานบุญคูนลาน
.........วันนี้ 7 มกราคม 2561 ตรงกับแรม 6 ค่ำ เดือนยี่ นึกถึงฮีตสิบสองคลองสิบสี่ของไทยอีสานครับ เดือนอ้ายประเพณีปริวาสกรรม ช่วยพระท่านเข้ากรรม ส่วนเดือนยี่มีคำผญาเล่าว่า
“เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมงคล เอาบุญคูณข้าวเข้าป่าหาไม้เห็ดหลัว อย่าได้หลงลืมทิ่มฮีตเก่าคองเดิมเฮาเด้อ”
.......หมายความว่า เมื่อถึงฤดูเดือนยี่มาถึงให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมงคลทำบุญคูณข้าว ให้จัดหาไม้มาไว้ทำฟืนสำหรับใช้ในการหุงต้มประกอบอาหาร อย่าได้หลงลืมประเพณีเก่าแก่แต่เดิมมาของเรา ฟืนจำเป็นต้องหาทั้งปี เพราะยังไม่มีเชื่อเพลิงอย่างอื่น ถ่านไม้ก็ทำไม่เป็น ฟืนจึงเป็นของจำเป็น แต่ไม่เล่าเรื่องฟืนละ จับแต่เรื่องข้าวพอ
........จับใจความได้ว่ามีกิจกรรม ทำบุญคูณข้าว และหาไม้มาไว้ทำฟืน การทำบุญคูณข้าวเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของการทำนา ผลก็คือได้ข้าวที่เห็นกองอยู่ที่ลานข้าวนั่นแหละ ก็เฉลิมฉลองด้วยการทำบุญ กัน ขอเล่าย้อนไปนิดหนึ่งว่าข้าวในลานสมัยก่อนมีความยุงยากพอสมควรกว่าจะเห็นกองข้าวในลาน
.........เราทำนาฤดูกาลเดียว จะเก็บเกี่ยวก็ประมาณเดือนสิบสอง เดือนอ้ายก็เสร็จ และนวดข้าวกัน หลายคนเสร็จทันไปเที่ยวปีใหม่ หลายคนหลังปีใหม่นิดหน่อยก็นวดเสร็จ มีกิจกรรมที่อยากเล่าให้ฟังว่า งานที่ชาวนาชนบทเราทำ มีอะไรกันบ้าง
.........ช่วงปลายฝน ไผ่จะมีลำไผ่ใหม่ออก ให้เราเลือกตัดมาจักตอกมัดข้าว กระผมไปกับเพื่อนบ้านที่ริมฝั่งลำน้ำพอง สมัยยังไม่มีเขื่อนอุบลรัตน์ ราวปี 25065 กอไผ่ป่าหนาแน่นมาก พวกผู้หญิงหาหน่อไม้ เราหาตัดไม้ไปจักตอก ตัดท่อนละสองปล้อง มัดให้แน่น หาบกลับมาจักที่บ้าน ที่บ้านจักตอกเป็นทุกคนช่วยกันจักตอกวันเดียวก็หมดไม้ ไปหามาอีก ได้เพียงพอก็หยุด คนจะบอกได้พอไม่พอก็พ่อและพี่ ๆ ตอกแห้งดีก็มัดเก็บไว้ใช้ตอนเกี่ยวข้าว
..........ใกล้เดือนสิบเอ็ด-สิบสอง ข้าวเบาเริ่มแก่พร้อมจะเก็บเกี่ยว หลายบ้านลงข้าวเบาไว้ทำข้าวเม่า และข้าวใหม่ ตอกที่จักไว้ก็ได้ใช้ ช่วงปลายฝนยุ่งยากมากถ้าฝนตกมาทำให้ข้าวเปียก เก็บไม่ทัน จึงลงข้าวเบากันสองสามแปลงก็พอ นอกนั้นเป็นข้าวหนัก การเก็บเกี่ยวส่วนมากก็ทำกันเอง เว้นแต่พวกนาหลายสิบไร่ ก็จ้างคนช่วย การเก็บเกี่ยว จะตัดต้นข้าวเป็นกำ ๆ แล้ววางเป็นฟ่อน ๆ ละ 4-5 กำ เด็กกำเล็กก็เพิ่มเป็นหกกำ ฟ่อนหนึ่งจะมัดข้าวได้ 1 มัดพอดี ถ้ายังมีน้ำ เขาจะหักตอฟางทำเป็นร้านสำหรับวางกำข้าว ดูแล้วสวยงามมากผมดูพี่เขาทำอยากลองบ้าง แหมฝีมือเราไม่ได้เรื่องเลย กว่าจะทำพอดูได้ก็หัดหายวันแบบนี้ฝนตกก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้แห้งดีค่อยมามัดเก็บ ถ้าช่วงฝนขาดก็ไม่ต้องทำ เกี่ยว
เสร็จทิ้งไว้วันสองวันก็มามัดได้
..........เช้า ๆ มีหมอกลงบาง ๆ พวกผุ้ชายมีไม้ตอกมัดติดด้านหลัง เดินเลาะไปตามแปลงนาที่เกี่ยวข้าวและแห้งดีแล้ว มัดไปทีละฟ่อน ตอกเส้นเดียว ม้วนสองรอบและบิดเกลียวขมวดปมให้แน่น มัดเสร็จก็รอพวกผู้หญิงมาหาบไปส่งลานนวดข้าว เขาจะเอาไปวางกองไว้รอเราไปจัดทำลอมข้าว เพราะเราจะเก็บเกี่ยวเสร็จทั้งผืนนา ค่อยจะนวดข้าวกัน เลยต้องทำลอมข้าวก่อน เป็นการเก็บด้วย กันฝนด้วย ข้าวไม่มากก็จะจัดทำแบบหน้าจั่วธรรมดา ๆถ้าข้าวมากก็ก่อแบบตีนช้างแล้วต่อด้วยแบบหน้าจั่วอีกที ทำเป็นทั้งสองแบบเลยนา ไม่ได้โม้ ช่วงนี้แหละบางคนทำบุญลานข้าว มีข้าวมากองเต็มลาน จัดเก็บเป็นลอมข้าวสวยงามมากดีใจก็ทำบุญฉลอง บางคนยังไม่ทำบุญตอนนี้ จะทำตอนนวดข้าวเสร็จ
..........กองข้าวเสร็จคนที่รู้ประเพณีจะนำข้าวจากตาแฮก มาทำเป็นขวัญข้าว เก็บเกี่ยวแยกไว้แล้ว เคยเห็นนะเวลาจะทำขวัญข้าว จะดึงข้าวมามัดหนึ่งนวดให้เมล็ดข้าวหลุดเหลือแต่ฟาง เอาฟางมัดนี้แหละหุ้มเครื่องบูชาขวัญข้าว กระติ้บไบเล็ก ๆ ใส่เครื่องบูชา มีของกินไข่ต้ม ข้าวเหนียว หมากพลูบุหรี่ ดอกไม้ธูปเทียน มัดแน่นดีแล้ว สานตาแหลว 4 -5-6 มุมมัดทาบแล้วห้อยข้าวตาแฮกประดับ ไม้หลาวเสียบ ไปทำพิธีไหว้ที่หน้าลอมข้าว แล้วปักตรงกลางทิ้งไว้ จนกว่าจะมาเริ่มนวดข้าวกัน
.........บางคนทำบุญตอนนี้เลย ข้าวมากองลานเรียบร้อย จัดเก็บสวยงาม อยากให้คนมาเห็นมาชม แต่บางคนไปทำบุญตอนนวดข้าวเสร็จ ก็เรียกทำบุญคูณลานเหมือนกันการทำบุญคูณลานนิยมทำสองแบบคือ มีการสู่ขวัญข้าวด้วย และมีการทำบุญเลี้ยงพระด้วย การสู่ขวัญข้าว นิยมเชิญหมอสู่ขวัญมาช่วยทำพิธี เครื่องบูชาก็มักประกอบด้วย บายศรีปากชาม ไก่ต้มทั้งตัว ไข่ต้ม เหล้าขาว หมากพลูบุหรี่ ของหวาน ต้มเผือก มัน หมอขวัญจะทำพิธีที่ลานข้าวนั่นเอง ส่วนพิธีทางพระจัดเหมือนการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน
เพียงแต่ไปจัดที่ทุ่งนาข้าวเท่านั้นเอง
..........การนวดข้าว กรณีที่ทำบุญคูณลานขณะที่กองข้าวยังไม่ได้นวด ทำบุญเสร็จก็นวดข้าวกัน มีการขอขมาพระแม่โพสพ ขอขมาพระแม่ธรณี ที่ต้องนวดมัดข้าวให้เม็ดหล่นกระจาย ต้องฟาดพื้นธรณีกระทบกระเทือน ขอขมาเสร็จก็เริ่มนวดข้าวกัน สมัยก่อนเราใช้แรงคนมีไม้นวด คีบมัดข้าวฟาดลงกับพื้น บางทีก็ใช้ฟาดกันแผ่นกระดานให้ร่วงง่าย สมัยใหม่มีเครื่องจักรช่วยนวดก็สะดวกขึ้น ฟางข้าวที่มาจากการนวดด้วยแรงคน มักมีเมล็ดข้าวหลงเหลืออยู่ ชาวบ้านจะนำไปตัดตอกมัด จับปลายเขย่าให้เมล็ดข้าวและฟาง
บางส่วนหล่นลงพื้น ได้กองใหญ่พอก็นำไม้ไผ่ขนาดนิ้วมือ ยาวเมตรครึ่ง เรียกชื่อไม้ตีข้าวสะนุ สาว ๆ ชอบ ถือไม้ยืนคนละฟากกองฟาง หวดดังขวับ ๆ เรียกตีข้าวสะนุ ข้าวหล่นลงพื้นเกลี้ยง จากนั้นก็เขี่ยฟางไปกอง รอจัดการเก็บเป็นลอมฟาง การนวดข้าวมักมีคนมาช่วยเอาแรงกัน เสร็จลานนี้ไปช่วยลานถัดไป ก็สนุกตามประสาชาวบ้าน
.........กรณีทำบุญกองข้าวที่นวดเสร็จแล้ว หลังทำบุญก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้งฉางกันสมัยก่อนใช้วิธีหาบด้วยตะกร้าสองใบ หาบเดินตามคันนา มองดูสวยงามมาก เพราะเป็นการเอาแรงกัน ส่งลูกสาวลูกชายไปช่วยลานที่เขานวดเสร็จ หาบข้าวเดินแถวยี่สิบสามสิบคน แต่ละรอบก็หาบได้สัก ห้าสิบตะกร้า ถ้าตวงก็น่าจะซักสามสิบสี่สิบถัง บางลานข้าวเยอะจนมืดค่ำถึงเสร็จ หมดเหล้าไปเป็นลัง ต้มไก่หมดไปหลายตัว คนไปช่วยสนุก โดยเฉพาะหนุ่มสาวชอบมาก เสร็จหน้านาก็เสร็จไปหลายคู่เพราะมันสนุก จนถึงแต่งกันไปก็มี
.........ก็จบแหละครับประเพณีทำบุญคูณลาน สมัยใหม่ใช้เครื่องจักรกลมาทำแทนคนคงหาดูยาก ได้แต่ฟังคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง อ้อผมเล่านี่ก็เพราะแก่แล้วเหมือนกัน ถือซะว่าอ่านที่คนแก่เขียนเล่าสู่กันฟังแล้วกัน ขอบคุณครับ
เดือนสาม บุญข้าวจี่
.........ข้าวจี่เป็นอาหารของคนทานข้าวเหนียวเป็นหลัก ปกติข้าวเหนียวนึ่งใหม่ ๆจะหอม อุ่นมือพ่อแม่นิยมปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ โรยเกลือนิด ๆ แจกเด็ก ๆ คนละปั้น ๆ แค่นั้นก็อร่อยมาก ยิ่งหน้าหนาวมีตั่งให้นั่งล้อมวงรอบกองไฟ ได้ข้าวเหนียวคนละปั้น ลืมหนาวไปเลย ให้ดีกว่าโรยเกลือ ก็ต้องมีของแถม คือนอกจากปั้นข้าวเหนียวจะมีปลาแส้ เนื้อแดดเดียว โยนใส่กองไป คลุกขี้เถ้าไปมา สุกดีก็แจกคนละชิ้น มือหนึ่งถือปั้นข้าว อีกมือกัดเนื้อย่าง หรือปลาแส้ที่สุกแล้ว อ้อต้นฉบับต้องคลุกขี้เถ้านะไม่ใช่ย่าง ถึงจะได้รสเต็มร้อย...จะให้อร่อยมากขึ้นก็ข้าวจี่+ไข่ ถือเป็นที่สุดของการกินข้าวเหนียวปั้น
........จากธรรมชาติการกินอยู่ของชาวบ้านที่กระผมเคยเห็นมา การทำข้าวจี่กินมีมาแต่สมัยปู่ย่าตาทวดการเอาข้าวจี่ไปถวายพระก็นิยมหน้าหนาว ๆ เดือนสามอากาศเย็น ๆ เป็นเดือนที่เขา"ตุ้มปากเล้า"เดือนสามออกใหม่สามค่ำ ทำขวัญเล้า เปิดประตู้เล้า นำข้าวใหม่ไปถวายพระ 1 ถัง เริ่มนำข้าวมาตำเอาข้าวสารไปบริโภคกันได้ นอกจากถวายข้าวเปลือก ข้าวสุก แล้วก็ข้าวจี่นี่แหละนิยมทำบุญกัน จนกลายเป็นเดือนสามบุญข้าวจี่
........มีเรื่องเล่าว่าได้แบบอย่างจากอินเดีย โยงไปไกลมากหรือเปล่า เล่าถึงเรื่องนางปุณทาสี ทำแป้ง
จี่ถวายพระพุทธเจ้าแต่กังวลว่าพระองค์อาจไม่รับประทาน เพราะเป็นแค่แป้งจี่ อาหารที่คนอื่นถวายอร่อยกว่ามีมากมาย พระพุทธเจ้าทราบที่นางวิตก จึงให้พระอานนท์ลาดอาสนะลงแล้วนำแป้งจี่มาถวาย
ทรงรับประทานเสร็จก็เทศนาโปรดนาง จบเทศนานางได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อานิสงส์แห่งการทำบุญ
มิได้เล็กน้อยอย่างที่นางคิด
........วิธีทำข้าวจี่ ข้าวเหนียวควรแช่ข้าวสารแต่ทุ่มสองทุ่ม ข้ามคืนรุ่งขึ้นค่อยนึ่ง จะได้ข้าวเหนียวนึ่ง
ที่อ่อนนิ่ม ปั้นรูปทรงง่าย นึ่งเสร็จใหม่ ๆ เทใส่กระด้ง กระบม แล้วส่ายข้าวหน่อย เอาไม้ค่อนด้าม หรือ
ใบพายเล็ก ๆ ตักแล้วพลิกไปมา ข้าวจะเย็นลงและเหนียวติดกันดี เห็นคนสมัยใหม่เทข้าวร้อน ๆใส่กระติกน้ำแข็ง บอกให้มันร้อนนาน ๆ เสียดายเนาะ ได้ข้าวเหนี่ยวร้อนจริง แต่ความเหนี่ยว นุ่ม ลดลง
ข้าวเหนียวเราเก็บใส่กระติ๊บไว้ เอาไปใช้สะดวกดี ปั้นข้าวทำข้าวจี่ จะมีไม้เสียบจับย่างไฟ ต้องหามา
ไว้ก่อน ตัดเรียวกิ่งไผ่ มาทำก็ได้ หรือไม้ไผ่ 2 ปล้อง ผ่าเหลาขนาดดินสอดำก็ได้ นิยมปั้นติดไม้ เป็น
ก้อนกลม ๆ เรียวหัวและท้าย ยาวตามพอใจ กดให้ติดไม้แน่น ไม้ตรงบีบข้าวเหนียว เหลาแบน ๆหน่อย
เวลาพลิกจะได้ไม่หลุดง่าย ขณะปั้น โรยเกลือนิดหน่อย ปั้นได้รูปทรง แน่นดี วางใส่ถาดไว้ จะเอา
ไปย่างไฟ
........ปกติย่างทีละปั้น นั่งผิงไฟไปก็ย่างไป หมุน ๆ ให้มันสุกเกรียมทั่วถึงแล้วค่อยทาไข่ แต่คนสมัยใหม่เขาทำขาย ทำเป็นก้อนแบน ๆ เสียบไม้แล้วย่างบนตะแกรง ต้องดูตะแกรงให้สะอาด แล้วเฝ้าให้ดีคอยพลิกไปมาให้สุกเกรียมทั่วถึง ข้าวจี่ต้องเกรียมนะถึงจะอร่อย ไม่ทาไข่ก็อร่อย แต่ทาไข่เพิ่มรสหอม อร่อยมากขึ้น ไข่ที่นำมาทาข้าวจี่ ตีให้ไข่ขาวไข่แดงเคล้ากันให้ดี เติมซีอิ้วขาว นิดหน่อย แล้วใช้ทาข้าวจี่ที่สุกเกรียมแล้ว นำไปย่างไฟ หมุน ๆ ๆ ให้ทัน ไข่สุกแล้วเอามาทาอีก ย่างไฟอีก 2 รอบนี่กินเถอะมันหอมมากแล้ว แต่ผมต้องสามรอบนะ
........นอกจากทาไข่ แล้วอย่างอื่นมีอะไรบ้างที่ทาข้าวจี่แล้วอร่อย หลังจากย่างข้าวจี่สุกเกรียมดีแล้ว
สิ่งที่ใช้ทา ถ้าต้องการก็หามาซิครับ บางคนต้องการทาน้ำมันหมู ย่างให้น้ำมันสุกหอมก็ใช้ได้ บอกว่าหอมอร่อย เหมือนกินขนมพอง บางคนป้ายน้ำอ้อยด้วย บอกว่าเหมือนกินตังเม ก็แล้วแต่จะชอบครับ ส่วนผมถ้าไม่ใช่ไข่ ขอเป็นแจ่วบอง เผ็ดน้อย ปลาร้านัวมาก ๆ สับเละ ๆ นะ ทาข้าวจี่รอบเดียวพอ
สุด ๆ เลย ไม่มีคำบรรยาย อยากรู้อร่อยไหม ลองดูเองครับ
.......ทีนี้พูดถึงบุญข้าวจี่ ก็คือการทำบุญด้วยข้าวจี่ ก่อนอื่นต้องทำข้าวจี่ให้อิ่มก่อน เรื่องจริง ทำข้าวจี่
ใครไม่อิ่มก่อนไม่มีหรอก ส่วนจะทำบุญก็แยกไว้ จะไปทำที่ไหนล่ะ ถวายตอนพระบิณฑบาตก็ได้ แบบ
นี้แหละผมชอบ ตัดกำลังพี่เณรก่อนฉันเช้าน่าแหละ ไปถวายที่วัด นิยมวันพระ มีสวดปริตตมงคล ไชยมงคลคาถา ถวายสังฆทาน ก็ข้าวจี่นี่แหละเป็นสังฆทานด้วย ก็จบกันได้ครับ
.......มีเล่าอีกไหม ได้สิ ข้าวจี่ที่ช้าวบ้านทำพร้อมกันนี่ เป็นการลงโทษพระทางอ้อมนะ เพราะได้แต่ทำตาปริบ ๆ มองเข่งใส่ข้าวจี่ จนต้องวานโยมช่วยคนละไม้ละมือ โยมก็น้อยอีกต้องโทรตามครูมาช่วยทีนี้เรียบร้อยมีเท่าไรลูกหลานที่โรงเรียนจัดการได้หมด อีกประการหนึ่งที่เกิดปัญหานี้ก็เพราะขอบทำพร้อมกันในวันมาฆบูชานั่นเอง อย่าลืมพิธีมาฆะบูชาด้วยล่ะ สำคัญไม่แพ้ข้าวจี่หรอก
........จบจริงนะทีนี้ บุญข้าวจี่เป็นประเพณีทำบุญด้วยข้าว บรรพบุรุษเราอาชีพทำไร่ทำนา ปลูกข้าวกิน
เลยขยันทำบุญด้วยข้าว ทำกันตั้งแต่ข้าวมีน้ำนม เอาข้าวอ่อน ๆ มาบีบได้แป้งน้ำขาว ๆแกมเขียว เรียก
น้ำนมข้าว เอาไปกวนเรียกข้าว ปายาส มันไม่ไหวานเติมน้ำผึ้ง เรียก มธุปายาส ถวายทานครั้งแรกพอข้าวแก่มากขึ้น เป็นเม็ดเขียว ๆ เอาไปคั่วให้สุกก่อนค่อยมาตำกระเทาะเปลือกออก ฝัดเปลือกแยก
ออก ได้ข้าวเม่า ก็เอาไปถวายพระอีก เกี่ยวข้าวใหม่อยากกินข้าวใหม่ ก็อ้างอยากทำบุญด้วยข้าวใหม่
จับข้าวสี่ห้ามัดมาใส่กระด้ง ฝ่าเท้ายีไปยีมา ให้เม็ดหลุดจากรวง ฝัดฟางออก ได้ข้าวใหม่สักถังสองถัง
เอาไปตำเป็นข้าวสาร ตอนนี้ได้ข้าวเหนียวใหม่ถวายพระสมใจ ทำบุญคูณลานก็ได้ทำบุญอีกครั้ง จากนั้น
ก็มาข้าวจี่นี่แหละเป็นคำรบที่ 4 มั้ง เห็นว่าจะพยายามทำให้ได้ 9 ครั้ง ไม่ไหวละ จบก่อนดีกว่า
เดือนสี่ บุญพระเวส
..........เขียนประเพณีบุญเดือนสี่หลายครั้งแล้ว วันนี้ 28 มค.2561 จะเขียนอีกเพราะหาของเก่าไม่เจอ ครั้งก่อนเขียนเน้นวิธีปฏิบัติชาววัดทำอะไร ชาวบ้านทำอะไร และลำดับกิจกรรมที่ทำแต่ต้นจนจบบุญเดือนสี่ คราวนี้ไม่อยากเล่าซ้ำ เอาเป็นมารู้จักเรื่องพระเวสส ดีกว่า จะได้มีความรู้มากขึ้น ส่วนวิธีทำบุญ ก็อาจเล่าแทรกไว้พอหอมปากหอมคอ ไม่เน้น
.........พระเวสสันสันดร เดิมคือเจ้าชายเวสสันดร โอรส พระเจ้าสญชัย ผู้ครองกรุงสีพี พระมารดาชื่อพระนางผุสสดี ธิดาเจ้าเมืองมัทราช พระนางประสูติเจ้าชาย ระหว่างเสด็จผ่านย่านการค้าขาย จึงมีการถวายนามเจ้าชายว่า เวสสันดร พร้อมกันนี้สิ่งที่เป็นคู่บุญบารมีก็บังเกิดมาพร้อมกับเจ้าชาย คือช้างเผือกคู่บารมีนาม ปัจจนาคนาเคนทร์ และขุมทรัพย์ทั้งสี่ทิศ เป็นเจ้าชายที่ใจบุญสุนทาน เจ้าชายมีพระชนมายุ 16 ปี พระบิดาสู่ขอพระนางมัทรี ธิดาเจ้ากรุงมัทราช มาอภิเษกเป็นพระชายา และมอบราชสมบัติให้เป็นพระเจ้ากรุงสีพีราชคนใหม่ และต่อมาได้มีพระโอรสและธิดาคือ กัณหาและชาลียังความปิติยินดีแก่พระบิดาพระมารดายิ่งนัก ประชาชนก็ชื่นชมพระบารมีของพระองค์ โดยเฉพาะพระทัยฝักใฝ่การทำบุญทำทาน เคยทูลขอพระบิดาให้สร้างโรงทานไว้ที่ประตูเมืองทั้ง สี่ ทิศ ให้พระราชทานสิ่งของไปไว้แจกทานคนยากคนจนไม่ได้ขาด บางครั้งก็เสด็จไปเยี่ยมโรงทาน และช่วยแจกทานด้วยพระองค์เอง จนเลื่องลือไปทั่วแผ่นดีนว่าเป็นเจ้าชายที่มีน้ำพระทัยเมตตากรุณาต่อคนยากคนจนยิ่งนัก ยิ่งเป็นพระเจ้าสีพี การทำบุญทำทานก็ยิ่งทำมากยิ่งขึ้น
..........ครั้งหนึ่งเมืองกลิงคราช แห้งแล้งติดต่อกันหลายปี เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า แต่ทางเมืองสีพีกลับมีฟ้าฝนอุดมสมบูรณ์ ส่งคนไปสอดแนมดูว่าเป็นเพราะเหตุใด ที่สุดก็ทราบว่าเพราะช้างคู่พระบารมีพระเจ้ากรุงสีพี ช่วยให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ไม่เดือดร้อนด้วยภัยแล้ง จึงได้ส่งคนมาทูลขอช้าง ปัจจนาคนาเคนทร์ เจ้าชายขณะนั้นสืบราชสมบัติแทนพระราชบิดา ได้พระราชทานให้ตามประสงค์มีผลให้เมืองกะลิงคราชมีฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขสืบมาหลายปี และได้นำช้างกลับไปถวายคืนแก่เจ้าชายในกาลเวลาต่อมา
..........การพระราชทานช้างครั้งนั้น ถึงจะเป็นช้างคู่พระบารมี แต่ประชาชนหวงแหนมาก ไม่พอใจ จึง
พากันเดินชบวนไปฟ้องพระเจ้าสญชัย มีเรียกประชุมอำมาตย์มนตรี ต่างก็เห็นไปทางเดียวกันว่า พระเจ้า
กรุงสีพีทำไม่ถูกสมควรเนรเทศออกจากบ้านเมือง พระเจ้ากรุงสีพีเวสสันดร ยอมรับโทษโดยดี ขอโอกาส
ทำ มหาสัตตสตกทาน คือมหาทาน สิ่งของวัตถุ อย่างละ 700 เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ทาง ทาสีข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ หลังจากนั้นก็เดินทางออกจากเมืองสีพี พร้อมด้วยนางมัทรีและกัณหาชาลีพระองค์ตั้งใจจะไปยังเขาคีรีวงกฏที่ทราบว่าห่างไกลบ้านเมืองผู้คน เดินทางมาไม่นานก็เข้าเขตเมืองเจตราช พระเจ้าเจตราชเลื่อมใสบุญบารมีพระเจ้าสีพีเวสสันดรมานาน ทูลเชิญปกครองเมืองเจตราชพระองค์ปฏิเสธขอเดินทางต่อไป พระเจ้าเจตราช เรียกนายพรานเจตบุตรมาสั่งให้คุ้มครองการเสด็จของทั้งสี่พระองค์ และคอยระวังมิให้ใครไปรบกวนการบำเพ็ญพรตของพระองค์
..........สี่กษัตริย์เดินทางเข้าป่าลึกจนถึงสถานที่แห่งหนึ่ง เต็มไปด้วยเขาวกวน ร่มรื่น และมีอาศรมสองหลัง พร้อมบริขารที่วิษณุกรรมมาเนรมิตไว้ตามบัญชาของท้าวสักกะ และมีสารถึงพระองค์ด้วยแจ้งมอบบริขารและบรรณศาลาให้เป็นที่บำเพ็ญบารมีของพระองค์ ทั้งสี่พระองค์จึงได้อธิษฐานบวชเป็นดาบสดาบสินี ณ สถานที่แห่งนั้นสืบมา
..........กล่าวถึงชูชกพรามณ์เฒ่าเมืองกลิงคราช ขอจนรวยเอาเงินไปฝากเพื่อนไว้ เพื่อนเอาเงินไปใช้
จ่าย เมื่อชูชกมาขอเงินไปทำมาค้าขาย ไม่มีเงินให้ เลยยก น.ส.อมิตตา ให้ชูชกไปเป็นภรรยาสาว
นางเป็นคนดีทำหน้าที่ภรรยาได้ดีจนชาวบ้านเดือดร้อน ต่างอยากให้ภรรยาเอาอย่างนางอมิตตา พากัน
ประท้วงด่าว่า ขว้างปาสิ่งของใส่ จนนางอมิตดาไม่กล้าออกจากบ้าน ขอให้ชูชกหาเด็กรับใช้มาให้เป็นเหตุให้ชูชกตามหาใครจะบริจาคทานลูกให้คนอื่นได้บ้าง มีคนบอกว่าในโลกนี้มีคนเดียวที่อาจให้ทานลูกได้คือพระเวสสันดร ชูกชกตามหาพระเวสสันดร ทราบข่าวหนีไปบวชอยู่เขาคีรีวงกตจึงตามเข้าป่าไปพบพรานเจตบุตร ถูกหมาล่าเนื้อไล่กัดปีนไปอยู่บนต้นไม้ลงไม่ได้ พรานมาเห็นถามจะไปไหนชูชกบอกจะไปหาพระเวสสันดร พรานจะยิ่งทิ้งเพราะคิดว่าจะไปรบกวนพระเวสสันดร ชูชกล้วงหาอาวุธปกป้องลูกธนูเผื่อพรานจะยิ่ง เจอกล่องน้ำพริกที่เมียทำให้เป็นเสบียงเดินทาง นึกได้เลยบอกว่าฉันนำ
สารพระเจ้าสัญชัยมา ในกล่องนี่จะไปมอบให้พระเวสสันดร พรานก็อานหนังสือไม่ออกและไม่รู้ด้วยว่าสารเป็นอย่างไรเลยหลงเชื่อ เลยต้อนรับอย่างดี ให้พักด้วยคืนหนึ่งแล้วบอกทางไปเขาคีรีวงกฏให้.
.......ชูชกเดินทางต่อหลายวันมาพบอาศรมอจุตฤาษี ใช้วิธีเดิมหลอกจนพระฤาษีหลงเชื่อ ให้ที่พักแรม
และบอกทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร ทำให้การไปขอบุตรธิดาพระเวสสันดรสำเร็จด้วยดีเพราะความ
ฉลาดของชูชก รอจังหวะพระนางมัทรีออกเดินป่าหาเสบียงอาหารแกก็ดอดเข้าไปขอและได้รับพระราช
ทานสมใจ กัณนหาชาลีได้ยินคำสนทนาระหว่างบิดากับชูชก พากันหลบไปซ่อนในสระบัวครั้นได้ฟังคำ
อธิบายของบิดาเรื่องการบำเพ็ญบารมีก็จำยอมให้ชูชกพากลับออกจากป่าไป คล้อยหลังพระนางมัทรี
กลับมาไม่พบลูกและทราบว่าถูกให้ทานแก่ชูชกไป พระนางเสียใจแทบหัวใจแหลกสลายจนสลบแล้ว
สลบอีก ที่สุดก็จำยอมทำอะไรไม่ได้ เพราะเหตุนี้ทำให้พระอินทร์วิตกพระเวสสันดรจะพระราชทาน
นางมัทรีแก่คนที่มาขอ จะทำให้การอยู่บำเพญพรตมีปัญหา เลยจำแลงตนเป็นพราหมณ์มาขอนางมัทรี
พระเวสสันดรก็ชี้แจงให้นางทราบถึงความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ของทานบารมี จะสำเร็จได้ก็อาศัยน้ำใจ
ของพระนาง ที่สุดพระนางก็ยอมไปกับพราหมณ์ปลอม ครูหนึ่งก็นำนางมาคืน สั่งห้ามมิให้ประทานนาง
แก่ใครอีก พระเวสสันดรรับคำ ในป่าจึงเหลือสองพระองค์ดูแลกันสืบมา
...........กล่าวถึงชูกพากัณหาชาลีเดินทางกลับบ้าน ดิ้นหลุดหนีกลบมาหาบิดาครั้งหนึ่ง ชูกชกตามมา
พาออกไปอีก คราวนี้มัดมือแน่นหนา ลากจูงแบบทาส ไม่พอใจก็เฆี่ยนตี เทวาอารักษ์สงสารบางตน
แปลงเป็นมารดาหาของมาให้กิน แถมยังบันดาลให้หลงทางไปยังเมืองสีพี ชูกชกถูกจับ แต่กัณหาชาลี
ก็เป็นพยานว่า พระบิดาพระราชทานให้เป็นทาสชูชกจริง พระเจ้าสญชัยเลยเจรจาขอไถ่ตัวหลานทั้งสอง
อยากได้อะไรก็ขนมาให้ ชูกชกตื่นเต้นกับสมบัติมากมายมหาศาล ข้าทาสชายหญิงบำรุงบำเรอด้วยข้าว
ปลาอาหารชั้นเยี่ยม แกกินไม่บันยะบันยัง จนเกิดอาการท้องเสีย รักษาไม่ได้ เสียชีวิตไป ไม่มีคนขน
สมบัติไปให้แก พระเจ้าสัญชัยให้ขนไปเก็บตามเดิม และจัดการศพให้ชูชกตามสมควร และได้จัดพิธี
สมโภชหลาน แล้วพาเดินขบวนทัพกลับไปเยี่ยมพระบิดาและมารดา
..........ผ่านมาเป็นเดือนก็มาถึงอาศรมที่เขาคีรีวงกต หกพระองค์ทั้งปิติที่ได้พบกันทั้งโทมมนัสต่อชตา
กรรมตกทุกข์ได้ยาก ต่างร่ำไห้จนหัวใจสลาย สิ้นสติสมปฤดี ทั้งหกพระองค์ เสนาอามาตย์ พลทัพช้าง
ม้า ต่างก็ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน สลบไสลทั้งป่าเขาคีรีวงกต เดือดร้อนถึงองค์อมรินทราธิราชบันดาล
ให้ฝนโบกขรณี ฝนที่มีเม็ดสีแดง ใครถูกฝนนี้อยากให้เปียกชุ่มก็เปียก ไม่อยากให้เปียกก็แค่เย็นฉ่ำ
ทั้งกาย ผลทำให้ทุกคนฟื้นได้สติกลับมา ได้พูดสนทนากันได้เป็นปกติ ทั้งสองฝ่ายต่างขอโทษและยก
โทษให้กันและกัน พระเวสสันดรยอมกลับไปครองเมืองสีพี ขบวนอัญเชิญพระเวสสันดร ก็ออกจาก
เขาคีรีวงกฏ กลับถึงเมืองสีพี มีพิธีราชาภิเษกและเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ สองพระองค์ครองกรุง
สีพีราช ด้วยความสงบสุขร่มเย็นสืบมาช้านาน
..........ข้อสังเกตการจัดงานบุญพระเวสส
...........1. เดือนสี่เป็นเดือนที่ข้าวขึ้นยุ้งฉางเรียบร้อยแล้ว เป็นช่วงพักผ่อนจากการทำไร่ทำนา เดือนห้า
ก็จะเริ่มงานทำไร่ทำนาอีกแล้ว เหมาที่จะทำกิจกรรมสนุกสนาน เป็นบุญกุศลด้วย พระเวสสันดรชาดก
เป็นเรื่องราวแสดงให้เห็นการบำเพ็ญทานบารมีตั้งแต่ทานธรรมดา ไปจนถึงทานที่ทำได้ยากยิ่ง เลือก
ชาดกเรื่องนี้มาให้ชาวบ้านฟังในเดือนสี่ ถือว่าเหมาะสมย่างยิ่ง ทำกันมาช้านานจนกลายเป็นประเพณี
เดือนสี่ทำบุญมหาชาติ ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดร
..........2. เวสสันดรชาดก ต้นฉบับภาษาบาลี ร้อยกรองไว้ 13 กัณฑ์ รวม1000 พระคาถา เวลาแต่ง
เครื่องสักการะบูชานิยมแต่งให้มีจำนวนเท่าพระคาถา เช่น ธูป เทียน ดอกไม้ ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน
ฯลฯ จะจัดอย่างละ 1000 เสมอ เช่นเอาข้าวมาบูชา แห่มาจากบ้านที่เขาเรียก แห่ข้าวพันก้อน
..........3. ศาลาบริเวณพระเทศน์และชาวบ้านมาฟังเทศน์ นิยมแต่งให้เป็นสภาพคล้ายป่า เพราะเรื่อง
ที่ฟังเกี่ยวข้องกันการเดินทางไปในป่า บำเพ็ญพรตในป่าเขาคีรีวงกต จะเห็นชาวบ้านนำต้นกล้วย อ้อย
มะพร้าวไปตกแต่งศาลา ทำดอกไม้ สิงสาราสัตว์ สระโบกขรณี เอามาจากเนื้อหาที่บรรยายในเนื้อเรื่อง
นั่นเอง
..........4. มีการเชิญอุปคุต มาไว้ที่ศาลในบริเวณวัด บนศาลวางบริขารที่พระใช้ เช่นร่ม รองเท้า กาน้ำ
ผ้าไตร เดี๋ยวนี้มีรูปปั้นจำหน่าย เห็นหลายแห่งมีรูปปั้นในศาลด้วย ก่อนนั้นจะใช้ก็อนหินแทน เอาไปจม
ไว้ที่ท่าน้ำ จุดที่จะไปอัญเชิญ ถึงเวลาก็ไปกันจำนวนมาก มีคนกล่าวคำอัญเชิญ เสร็จก็ลงไปงมก้อนหิน
สมมติเป็นอุปปคุต แห่มาที่วัดแล้วเอาไปไว้ที่ศาลอุปคุตต์ มีเรื่องเล่าว่าท่านเป็นพระอรัหันต์ที่มีสมาบัติ
สูง มารทั้งหลายหวาดกลัว เชิญท่านมาเรื่องไม่ดีงามก็จะน้อยลงเพราะมารไม่กล้ารบกวน
..........5. นิยมนิมนต์พระจากวัดใกล้เคียงมาช่วยเทศน์มหาชาติ พระมาโยมก็จะติดตามมา 4-5 คน
จะเห็นการรับรอบแขกพระ แขกที่ติดตามพระ ทำให้เกิดสัมพันธ์ดีงามต่อกัน เวลาบ้านโน้นจัดงาน
เขาเชิญมา ก็จะไปช้วยงานทั้งพระและโยมเช่นกัน
.........6..เนื้อหาใบลานสำนวนอีสาน คล้ายจะเป็นคำกาพย์ เคยฟังพระท่านเทศน์ทำนองต่าง ๆ
เพราะมาก โดยเฉพาะทำนองลมพัดพร้าว โยมชอบฟังมาก
.........7. เวสสันดรชาดก เป็นเรื่องที่แสดงถึงทานบารมี ชาวบ้านนิยมแต่งข้าวของที่จะใช้ในการทำทาน
ข้าวเกรียบ ขนมจีน ข้าวต้มมัด จัดทำกันทุกครอบครัว บนศาลาวันฟังเทศน์จะมีขอพวกนี้เต็มไปหมด
พระฉันไม่หมดก็ยกให้โยมที่มาฟังเทศน์ช่วย เลยสนุกไม่ต้องกลับไปทานข้าวที่บ้านยาก
.........8. นิยมจัดทำกัณฑ์เทศน์ ไปถวายพระที่กำลังเทศน์บนธัมมาสน์ เรียกกัณฑ์หลอน พวก
หนุ่มสาวนิยมจัดทำ ได้ชวนกันแห่ไปวัด ถวายทาน
..........ปีนี้เขียนยาวหน่อย เพราะอยากเล่าให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รู้ว่าสมัยก่อนเราทำอะไรกัน ทุกอย่าง
มีสาระสำคัญของมันอยู่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น