วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นับถือพุทธศาสนา

                                         

                                                             ขุนทอง ศรีประจง (ผู้เขียน) ..................กระผมเคยถูกถามเกี่ยวกับแนวปฎิบัติที่เหมาะสมของชาวพุทธในช่วงที่บวชเป็นภิกษุบวชนานถึง  7 พรรษา บางคำถามมีเอกสารตำราอ้างอิง สามารถตอบได้ง่าย แต่บางคำถามต้องไปเรียนถามท่านผู้รู้เช่น หลวงพ่อสีหนาถภิกขุ หลวงพ่อพระศรีอรรถเมธี หลวงพ่อพระรัตนกวี  ทั้งสามท่านคืออดีตเจ้าคณะจังหวัดเลย  โดยเฉพาะรูปที่สามเป็นพระอาจารย์สอนธรรมกถึกให้กระผมเอง ทุกวันนี้แม้จะห่างวัดมาหลายสิบปีแล้วก็ยังมีคำถามทำนองนี้อยู่เรื่อย  โดยเฉพาะคุณครูสอนวิชาพระพุทธศาสนา มักจะยุลูกศิษย์ให้มาสัมภาษณ์อยู่บ่อย ๆ ก็เลยเกิดแนวคิด ว่า จะรวบรวมคำถามที่เป็นลักษณะแนวปฏิบัติของชาวพุทธ มาไว้ที่ตรงนี้ โดยจะนำเลือกคำถามเดิม ๆ ที่เคยปุจฉาวิสัชชนาสองธัมมาสน์สมัยก่อนบางส่วนมาลงไว้ด้วย คิดว่าน่าจะ ได้ประโยชน์อยู่บ้าง สาระคำถามคำตอบจะเน้นในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์โดยอาศัยหลักธรรมปฏิบัติ สำนวนเขียนขอเป็นแบบสนทนาธรรมแล้วกันเพราะเขียนง่ายดี
.............ถามว่า ท่านว่าท่านเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ ถามว่าเป็นตั้งแต่เมื่อได มีหลักฐานอะไร ยืนยันว่าเป็นชาวพุทธ ?
.............ถ้าท่านเจอคำถามแบบนี้ กรุณาดูหน้าคนถามให้ดี ถ้าเป็นประเภทเอาชนะคะคานก็อย่าไปต่อปากต่อคำ แต่ถ้าเป็นพวกอยากรู้ ก็คงต้องช่วยหาคำตอบให้ ก่อนตอบอย่าลืมนะครับว่า แนะนำให้รู้จักกับ ผู้นับถือพุทธศาสนาซึ่งมีหลายเหล่าหลายพวก    4 กลุ่มครับ คือ


1 . ภิกษุ (สามเณร)
2 . ภิกษุณี (สามเณรี )
3 . อุบาสก
4 . อุบาสิกา (แม่ชี)


............เมื่อรู้กลุ่มศาสนิกชนแล้วก็ไม่ยากที่จะพิจารณาว่า อยากเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธประเภทนั้น ๆ จะเป็นได้อย่างไร กลุ่มบรรพชิตคือ ภิกษุ ภิกษุณี ถือเป็นพุทธบริษัทประเภทบรรพชิต  มีผู้เตรียมจะเข้ารับอุปสมบทเมื่อคุณสมบัติครบคือ สามเณร และสามเณรี ส่วนอุบาสกอุบาสิกา เป็นฆราวาสรวมทั้งแม่ชีด้วยแม้จะอุ้มบาตรเดินตามหลังพระก็ไม่ใช่บรรพชิต กลุ่มบรรพชิตมีระเบียบวินัยกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องผ่านสังฆกรรม คือการบรรพชา และอุปสมบทเท่านั้น วิธีอื่นไม่มี
............กลุ่มอุบาสกอุบาสิกา ก็มีระเบียบปฏิบัติชัดเจนครับว่า ต้องแสดงตนยอมรับนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา หนังสือพุทธประวัติกล่าวถึงสองพ่อค้าชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ทีเดินทางผ่านมาพบพระพุทธเจ้าช่วงตรัสรู้ใหม่ ๆ เลื่อมใสในบุคลิก ชอบใจในธรรมสากัจฉา นอกจากถวายก้อนข้าวแล้วยังได้ปฏิญานตนนับถือพระพุทธเจ้า และพระธรรม เป็นที่พึ่ง (พระสงฆ์ยังไม่มี)  ก็เลยได้ชื่อว่าเป็นอุบาสกรุ่นแรก พุทธประวัติในช่วงต่อ ๆ มา เมื่อฆราวาสเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คงใช้วิธีกล่าวคำปฏิญานตนขอยึดถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน ได้ปรับปรุงให้เป็นระเบียบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ก็ยังมีข้อสงสัยอีกว่า...ชาวบ้านหลายสิบล้านคนไม่เคยรู้จักพิธีแสดงตนเป็น พุทธมามกะ จะถือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาในพุทธศาสนาด้วยไหม ประเด็นนี้ไม่มีปัญหา 

............ถึงไม่ได้เข้าพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ แต่ส่วนมากเคยร่วมพิธีแสดงตนว่าเป็นคนนับถือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง มามากกว่า 1 ครั้งแน่นอน.... ถ้าเราไปดูคำกล่าว เพื่อ ปฏิิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เขาใช้ในพิธีมีอยู่ว่า
..........."เอเต มยํ ภนฺเต สุจิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควันฺตํ สรณํ คจฺฉาม ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ พุทธมามกาติ โน สงฺโฆ ธาเรตุ"   ใจความว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า ทั้งหลายขอปฏิญาณตนนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่งขอพระสงฆ์โปรดจำข้าพเจ้าทั้งหลายว่าเป็นพุทธมามกะ  จากนั้นพระท่านก็แสดงการต้อนรับด้วยการให้รับศีลห้า และให้โอวาท ตามสมควรเป็นอันจบการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  
.........ทีนี้มาดูชาวบ้านเวลาทำบุญไม่ว่าจะทำบุญบ้าน ที่วัด หรือที่ป่าช้า ทุกพิธีกรรมจะเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ไหว้พระ แบบย่อ ๆ ว่า
.....อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ ภควา พุทธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ
.....สวากฺขาโต ภควตา ธมโม ธมฺมํ นมสฺสามิ
.....สุปฏิปน์โน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ มามิ

..............อาการที่พนมมือแต้ยกมือท่วมหัวนั่นแหละแสดงว่ายินยอมรับนับถือพระรัตนตรัยแล้ว แต่ยังไม่พอ เพื่อให้ การนับถือมั่นคงยิ่งขึ้น พระจะให้รับศีล โปรดสังเกต คำให้ศีลก่อนให้ปฏิญาณตนรักษาศีล 5 ข้อ หรือศีล  8 ข้อ พระท่านจะให้รับไตรสรณคมน์ก่อน ดังนี้
.....พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
.....ทุติยมฺปิ (พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ)
.....ตติยมฺปิ (พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ)
..................การรับไตรสรณคมน์ก็คือ การเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าจะ ยอมรับพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยอมรับพระธรรมเป็นที่พึ่ง  และยอมรับพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง รอบแรกยังไม่พอทุติยัมปิ คือรอบที่2 และ ตติยัมปิ คือรอบที่ 3 สมบูรณ์แบบพอ ๆ กับการแสดงตนเป็นพุทธมามกะนั่นเอง
.............ตอบได้นะครับว่าชาวบ้านเราเคยแสดงตนเป็นพุทธมามกะโดยกล่าวพร้อมการรับศีลนั่นแหละ แถมทำบ่อยมาก รับศีลเมื่อไรก็เมื่อนั้น หลังจากนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง(สรณะ)แล้ว ต้องปฏิบัติตน
อย่างไร เรื่องนี้สำคัญครับ ตรงนี้ต้องศึกษาภาระหน้าที่ ฝ่ายฆราวาสเราก็มีอาชีพการงานของเรา ก็ทำ
ไปตามปกติ ที่แถมมาคือหน้าที่พึงปฏิบัติในฐานะเป็นศาสนิกชน 
.............ปฏิบัติศีลครับ ศีลเป็นระเบียบวินัยแบ่งแยกกลุ่มศาสนิกชน ปฏิบัติศีล 5 ข้อ ก็เป็นอุบาสกอุบาสิกาทั่วไป 8 ข้อ ก็พวกอุบาสกอุบาสิกาเหมือนกัน แต่ขยันมากกว่า  มีศีล 10 ข้อ ก็สามเณร มี 227 ข้อ ก็พวก
พระภิกษุ  กลุ่มใครกลุ่มมันปฏิบัติศีลให้ถูกกลุ่ม การปฏิบัติศีล ต้องถือปฏิบัติ 24 ชั่วโมงนะครับ เว้นยามหลับนอน ปล่อยวางไว้ ตื่นมาก็ถือปฏิบัติศีลต่อ เรื่องนี้อาจสงสัยคิดว่าพูดเกินไป ไม่หรอกครับเรื่องจริง ยกตัวอย่างพระเณร เช้าจนเย็นถือศีลตลอด หลับค่อยวางได้ ตื่นมาตี 2 ถือศีลต่อ หลับก็วาง ตื่นตีสี่ถือศีลต่อ...ว่างจากศีลไม่ได้ ไม่เชื่อลองซดข้าวต้มตอนตีสามสักชามสิ ศีลจะขาดไหม ครับถือศีลมันต้องถือ แบบนี้ อยู่วัดก็ถือศีล ออกไปนอกวัด ก็ถือศีล นั่งรถลงเรือปล่อยวางไม่ได้ สรุปว่าทุกสถานที่ ชาวพุทธต้องปฏิบัติศีลตลอดเวลา ทำอย่างนี้ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับอานิสงส์ สีเลน สุคตึ ยันตึ สีเลนโภคสัมปทา สีเลน นิพพุตึ ยันติ ....
............ปฏิบัติธรรม คือปฏืบัติตามคำสอนเบื้องต้นที่ท่านสอนว่า สัพพปาปัสส อกรณัง  กุสลัสสูปสัมปทา สจิตตปริโยทัปปนัง เอตัง พุทธสาสนัง  ละชั่ว ทำดี หมั่นชำระใจให้หมดจด เป็นหลักกว้าง ๆ ใช้เป็นแนว ปฏิบัติธรรม ในทุกสถานที่ ทุกกาลเวลา  
............ก็คงจะเพียงพอครับ สำหรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจวิธีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ปฏิบัติแบบนี้ได้ ก็ได้ชื่อเป็นพุทธศาสนิกชนได้ อยากพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นก็ลองศึกษาเพิ่มเติมดูได้ครับ มีหนทางปฏิบัติที่ชัดเจน ถนนทุกสายจะมุ่งไปสู่พระนิพพาน จุดเดียวเท่านั้น อย่างอื่นไม่ใช่นะครับอย่าหลง
ทางล่ะ จะเสียเวลา เหมือนพระพุทธเจ้าท่านต้องการ โมกขธรรม(นิพพาน) ใครว่าอะไรดีท่านก็ไปลองดู ไป ฝึก สมถะกับพระดาบส  2 สำนัก ได้สมาบัติ 8 ปรากฏว่าไม่ใช่โมกขธรรม จนท่านบรรลุอริยสัจ 4 ถึงเข้าสูห้วงพระนิพพาน เสียเวลาตั้ง 6 ปี ถึงบรรลุพระนิพพาน....จบนะครับ ขอบคุณ


















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น