วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เล่าประสบการเรียนแต่งโคลง

ขุนทอง ศรีประจง
         ผมหัดแต่งกาพย์ยานี 11 ก่อนแต่งกลอนและโคลง ส่วนฉันท์มาอันดับสุดท้าย เวลาจะ
เรียนเรื่องโคลงเมื่อไร ครูจะยกโคลงตัวอย่างอยู่ 2 บท คือจากลิลิตพระลอ..เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย เสียงย่อมยอมยศใคร ทั่วหล้า สองเขือพี่หลับใหล ล่มตื่น ฤๅพี่ สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ ......หรือไม่ก็จากเรื่อง นิราศนรินทร์ บทว่า จากมามาลิ่วล้ำ  ลำบาง บางยี่เรือราพลาง  พี่พร้อง  เรือแผงช่วยพานาง เมียงม่าน มานา  บ่างบ่รับคำคล้อง คล่าวน้ำตาคลอ จนจำได้ เวลาครูให้เขียนแผนผังก็ท่องมาทีละคำ  คำละ 1 วงกลม มันจะได้รูปแผนผัง วรรคแถวหน้า 5 คำ วรรคแถวหลัง 2 คำ เว้นวรรคสุดท้าย 4 คำ บาทที่ 1 และ3 มีสร้อยได้ 2 คำ  แค่นี้ก็ครบ เอก 7 โท สี่ คำที่ท่อง คนแต่งท่านวางไว้ตรงแผนบังคับ ไม่ขาดไม่เกิน เขียนแผนผังแล้วก็เติม เอก โท สุดท้ายก็สัมผัสเสียงสระคำท้ายบาทที่ 1 สัมผัสท้ายวรรคหน้า บาทที่ 2 และ 3 สองจุด คำท้ายบาทที่ 2 เป็นคำโท ก็สัมผัสคำโทท้ายวรรคหน้า บาทที่ 4 เรียบร้อยครับ

            (บาทที่  4 วรรคหลังมี 4 คำ มีสร้อยได้อีก 2 คำนะ แผนผังส่วนมากไม่ลง เพราะเห็นว่า 4 คำ
ก็เพียงพอแล้ว  เอาไว้แต่งโคลงสอง โคลงสาม ค่อยใส่เต็มที่)

..........คำเอกคำโทคือด่านสำคัญที่กระผมไม่ยอมหัดแต่งโคลง คือขี้เกียจนึกหา วันหนึ่ง
รู้สึกรำคาญ ก็เลยจะลองนึกหาคำเอกโทคู่กันให้ได้มาก ๆ เอาสัก 100 คู่ เขียนลงสมุด 
พี่น้อง พี่ข้า พี่บ้า พี่แป้ง พี่น้อม พี่สร้าง  พี่อ้าง พี่น้อย พี่ป้า พี่ป้อน  พี่ให้ พี่ใช้  เออนึก

ได้เหมือนกัน  สมุดเล่มละบาท เต็มพอดี มีแต่คำเอกโท  รู้สึกพอใจนะ แสดงว่าคงไม่ติดคำเอกคำโทแน่  ต่อไปก็ลองนึกหาคำตาย ถ้าจำเป็นต้องใช้แทนคำเอก ไปท่องกฎก่อน ข้อแรก คำประสมสระเสียงสั้นในแม่ ก กา ทุกคำเป็นคำ ตาย สบายมาก จะ ริ ลุ เละ และ
ก็ดีนะ  คำที่สะกดด้วยแม่ กก  กด กบ  ปก ปิด ปบ  นก นัด นบ ไม่ยากนักพอหาได้
ตรงนี้มีข้อสังเกตคือ คำตายใช้แทนคำเอก เป็นคำตายก็ใช้ได้ ส่วนเสียงคงไม่ต้องเคร่ง
ถึงขนาดต้องเสียงเอก เพราะคำเอกจริง ๆ ก็ไม่ได้มีเสียงเอกเสมอไป เช่น ต่าง (เอก)
ช่าง (โท) ค่าง(โท) ล่าง (โท)
................ผ่านสองด่านนี้ได้ ก็ลงมือหัดแต่งโคลงได้แล้ว ใช้หลักเดียวกับแต่งกลอน
คือเรียบเรียงด้วยร้อยแก้วไปก่อน ค่อยมาขัดเกลาให้เป็นโคลง(ผมไม่ไดคิดเองนะวิธีนี้ ครูผม ดร.อัมพร  สุขเกษม ตอนนั้นเรียน มศว.มหาสารคามท่านแนะนำไว้ รวมทั้งเรื่องวิเคราะห์แผนผังโคลงชนิดต่าง ๆด้วย)
...............ไปเรียนหนังสือ................โรงเรียน บ้านเรา
.........คุณครูใจดีมาก........................ดีใจ
.........เพื่อนเพื่อนรู้จักกัน..................หลายคน นะนี่
.........เพื่อนใหม่มีหลายคน...............ได้รู้จักกัน


ปรับแต่งให้มีคำเอกคำโทบ้าง

 ..........ไปเรียนที่บ้าน......................โรงเรียน  เราแล
 ...........ครูท่านใจดีมา.....................บอกให้
 ..........เพื่อนเรานี่หลายคน...............รู้จัก  กันนา
 ..........คนบ่เคยรู้ได้.........................ได้รู้จักกัน


บาทที่ 1 คำ  ที่บ้าน ตรงตำแหน่งแล้ว 
บาทที่ 2 คำ ท่าน ตรงตำแหน่งคำเอก  บอก คำตายแทนคำเอก ให้ คำโท ครบ 3 ตำแหน่ง
บาทที่ 3 คำ นี่ บังคับ เอก ตรงแล้ว รู้จัก คำจัก คำตายแทนคำเอกได้
บาทที่ 4 รื้อแรงมาก บ่ คำเอก คำ ได้ ตำแหน่งคำ โท  ได้ ตำแหน่งคำเอก ต้องแก้ รู้ตำแหน่งโท ตรงแล้ว
แนวทางแก้รอบ 2  บาทแรกท้ายบาทคือคำ เรียน บาท 2 วรรคหน้าคำท้ายคือ มา
บาท 3 คำท้ายวรรคหน้า คน ไม่รับทั้งสองคำ แก้ไข มา ใช้คำว่า เวียน แทน คน แก้ไขเป็น เพียร บาทสุดท้ายแก้ ได้เป็นย่อม ออกมาเป็นดังนี้


.............ไปเรียนที่บ้าน.......................โรงเรียน  เราแล
 ...........ครูท่านใจดีเวียน.....................บอกให้
 ..........เพื่อนเรานี่หลายเพียร.... .........รู้จัก  กันนา
 ..........คนบ่เคยรู้ได้............................ย่อมรู้จักกัน


ตรวจทาน  บาทแรก ครบเอกโท มีสร้อยด้วย 2 คำ
บาทที่ 2 เอกโทครบ รับสัมผัสถูกที่ ความขัด ๆ บ้าง ปล่อยไปก่อน
บาท 3 คำเอก 2 ที่ ครบ สัมผัสรับแล้ว สร้อยก็ใช้ได้
บาท 4 เอกโทครบ สัมผัสคำโทก็ใช้ได้แล้ว 


-
ขัดเกลาให้ไพเราะ
              ปอหนึ่งเรียนที่บ้าน...............โรงเรียน เราแล
          ครูท่านคอยวนเวียน................สั่งให้
          หลายคนเพื่อนเดิมเพียร...........พบบ่อย  แลนา
          มีบ่เคยพบได้..........................ย่อมรู้จักกัน  


..........น่าจะปรับมากพอแล้ว จากข้อความธรรมดา ขัดเกลาจนเป็นโคลง สังเกตดูเนื้อหาที่นำเสนอเป็นเรื่องเป็นราว เกี่ยวข้องกัน เพราะเทคนิคเรียบเรียงร้อยแก้วก่อนนั่นเองส่วนความ ไพเราะของโคลง  ดูจากตรงไหน 
.......1. โคลงไพเราะที่ จังหวะเวลาอ่านออกเสียง  วรรคหน้า มี 5 คำ ถ้าอ่านแบบจังหวะ  2-3ได้จะดูรื่น มากกว่าอ่าน 3-2  หรือไม่มีจังหวะเลย ดังนั้นแต่งจบให้ลองอ่าน 2 – 3 ดู ถ้าอ่านได้ไม่ติดขัดแสดงว่าจังหวะ ใช้ได้  ส่วนวรรคหลัง 2 คำ 4 คำ อ่าน 2 -2 ได้ก็ดีแล้ว


.......2.  เสียงสัมผัสบังคับ ส่งเสียงสามัญ รับด้วยเสียงสามัญ ก็ดูเรียบร้อยดี ส่งด้วยเสียงเอก เสียงโท รับด้วยระดับเสียงเดียวกัน ก็อ่านรื่นดีกว่าส่งด้วยต่างระดับเสียง  การรับส่งที่ต่างระดับเสียง ไม่ได้ผิดฉันทลักษณ์ เพียงแต่เวลาอ่านมันดูรื่นดีกว่ากันเท่านั้นเองเช่น


               นาง ส่ง รับด้วย  จาง  ปาง ทาง คราง (ห่าง ช่าง ค้าง ต่างระดับ)
               ห่าง ส่ง รับด้วย อ่าง  ต่าง  สร่าง  (หาง  บ้าง ค้าง ต่างระดับ)
               อ้อย ส่ง รับด้วย ถ้อย  ห้อย  ก้อย  (ร้อย ช้อย ค้อย ต่างระดับ)


........3..สัมผัสในในการแต่งโคลงนิยมใช้ทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะ ที่นิยมมากคือสัมผัสพยัญชนะ โดยเฉพาะคำเชื่อมต่อระหว่างวรรคในแต่ละบาท  คือคำที่ 5-6 สัมผัส
พยัญชนะได้ถือว่ามีฝีมือ ตัวอย่างเช่น ถ้าวรรคหน้า ลงด้วยคำพยัญชนะต้นเสียงใด เราก็จะนึกหาคำมาเริ่มวรรคหลัง เสียงเดียวกัน สมมติวรรคหน้าแต่งว่า........


สัมผัสโคลงส่งให้.....................หากเห็น      (คำพยัญชนะต้น ห)
เสียงส่งรอยต่อวรรค................ว่าไว้            (คำพยัญชนะต้น ว)
เสียงเดียวสัมผัสเสียง...............สวยส่ง.        (คำพยัญชนะต้น ส)
เสียงส่งรับเช่นนี้..................... หนึ่งแท้ควรทำ (คำพยัญชนะต้น น)


 ..............ในวรรคจะเล่นสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ เพิ่มให้โคลงไพเราะมากกว่าปกติ
ฝึกแต่งบ่อย ๆ ก็จะทำได้เอง เช่น......เล่นสัมผัสพยัญชนะ  


              เขียนโคลงคำคล่องขึ้น...........ขีดเขียน
พึงเพ่งพอพากเพียร..............................พิศแพร้ว
จำใจจ่อจดเจียน...................................จักจอด  จริงแล

ลองเล่นลิงโลดแล้ว...............................เล่นแล้วลวดลาย 


……
4. การเล่นคำ แต่งโคลงบางทีเห็นกวีท่านเล่นคำบางคำ หลายความหมาย ถือเป็นความสามารถเฉพาะตัว ทำได้ก็ช่วยให้โคลงน่าอ่านมากขึ้น คำเดียวเอาไปใช้ให้เกิด มีหลายความหมาย เช่น   ความรัก  รักเพื่อน รักพ่อแม่ รักตนเอง  รักชาติ รักดี  ฯลฯ  เห็นใจ  เห็นชอบ  เห็นงาม  เห็นต่าง    พอใจ พอเพียง  พอพบ  พอพราก พอค่ำ


...........5. การแทรกเนื้อหาสาระ  คำร้อยกรองทุกชนิด นิยมใช่สื่อสาระเช่น ความรู้ หลักการ ค่านิยม นิทาน คำสอน ดีกว่าเขียนลอย ๆ
ผู้เขียนควรฝึกบ่อย ๆ จะชำนาญเอง โคลงกระทู้เหมาะสำหรับฝึก สื่อสาระ เพราะเอากระทู้เป็นหัวข้อขยายความ
ฉันทะ.......พึงชอบด้วย.................ก่อนทำ
วิริยะ........กิจกรรม.......................มั่นไว้
จิตตะ.......คิดตรองนำ...................ลุล่วง แลนา
วิมังสา.....แลล้วน.........................รอบด้านจึ่งควร


ขอควรระวังในการแต่งโคลง

               1.  สัมผัสบกพร่อง  เกิดจากเอาคำเสียงสั้น รับส่งสัมผัสกันกับคำ เสียงยาว โดยเฉพาะคำที่ใช้สระลดรูป เห็นเผลอกันบ่อย   ขัน-----นาน  (อะ+ น กับ อา+น)  ใคร ----กาย   ใคร
= อัย(อะ+ย)  กาย (อา+ย)  เห็น---เกณฑ์ เห็น  (เอะ+น)  เกณฑ์  (เอ+น)   น้ำ—ยาม
น้ำ(อะ+ม) ยาม (อา+ม)


............2. ใช้คำอนุโลมจนเสียงเกินพอดี คำเดียวมีหลายพยางค์ ครูบอกอนุโลมนับเป็น 1 คำได้  ซัก 2 พยางค์ มีเสียงสั้น ๆ จะดูดีกว่า เสียงยาว ๆ เช่น จตุ  อริ ระบำ  ละมุด  ขนาดนี้ พอไหว ถ้ายาว ๆอาจไม่ดี  โรงเรียน  บ้านเกิด  แม่วัว  บัวแดง  แมงมุม  ยิ่งมากพยางค์ยิ่งไม่ควรใช้ เช่น กรณีย์ กิริยา  วิริยะ  ใช้แต่นับคำเดียว ไม่ดี


............3.  คำภาษาปาก ครูสอนว่าไม่ควรใช้ในการแต่งร้อยกรอง คงดูว่าไม่เรียบร้อย โดยส่วนตัวเห็นแย้ง บางครั้งต้องใช้ กรณีที่การตอบโต้หรือสนทนากันโดยใช้ร้อยกรองเหมือนศรีปราชญ์เกี้ยวสาวชาววัง อ่านแล้วนึกภาพออกทันที     หรือการเล่าเรื่องที่มีการสนทนา ตอบโต้กัน อาจจำเป็นต้องแทรกภาษาพูด ไม่ถือเสียหายอะไร แต่ประเภทภาษาปากหยาบคายจะเลี่ยง ๆบ้างก็ดี เพราะเวลาพูดกันยังละไม่พูดคำหยาบคาย
............4. คำซ้ำเสียงใช้รับสัมผัสคำพ้องเสียง  ขาย.....ข่าย   ค่าย    คลาย   คล้าย ทั้งหมดนี่คือ เสียง ข ประสมสระ อา สะกดแม่เกย ผันวรรณยุกต์แตกต่างกันไป เป็นคนละคำคนละความหมาย เคยทักท้วงผู้แต่งที่เป็นครูอาจารย์ เขาตอบว่าใช้ได้ คนละคำ คนละความหมาย ซึ่งก็จริง เรามันมือสมัครหัดแต่งใหม่ ไม่ควรนำมาใช้ในการรับส่งสัมผัส  ถือว่าคนแต่งจนแต้ม หักคะแนนได้ด้วยนะเออ


............5. สัมผัสลัด ชิงสัมผัส  ในโคลงเกิดได้เช่นกัน ที่เห็นได้ง่ายคือ คำท้ายบท โดยมรรยาทจะใช้คำท้ายบาทที่ 1 บทถัดไป คือคำที่ 7 รับสัมผัส อย่าให้มีเสียงเดียวกันในตำแหน่งคำที่1- 6 เลย ถ้ามีถือว่าลัดสัมผัสหรือชิงสัมผัส ถือว่าบกพร่อง


              ภายในบทปกติในบทคำท้ายบาทที่ 1 คือคำที่ 7 จะส่งสัมผัสให้คำที่ 5 ของบาทที่ 2 และบาทที่ 3  ดังนั้นอย่าให้มีลัดหรือชิงสัมผัสปรากฏในตำแหน่งคำที่ 1 2 3 และ 4  ให้คำที่ 5 เขาได้ทำหน้าที่เต็ม ๆ  จะดีกว่า


............สรุปดีกว่าเพราะยาวแล้ว ที่พูดมาทั้งหมดคือโคลงสี่สุภาพ เป็นต้นแบบที่จะนำไปขยายไปแต่งเป็นโคลงชนิดอื่น ๆ ได้มากมายจะนำแผนผังมาแสดงให้ดู ก่อนจบจริง ๆ ดังนี้

ที่ตั้งใจเขียนโคลงสี่สุภาพ จบแล้วนะ แต่มีพวกขอ ต่ออีกหน่อยโคลงสุภาพยังมีอีกหลายชนิดนี่ พวกไหน พวกจะเอาไปสอนเด็กน่ะซีรู้นะ  ได้ไม่หวงหรอก..........มาดูกัน
---------------------
................จากแผนผังโคลงสี่สุภาพโปรดสังเกตให้ดี บาทที่ สี่ มีคำสร้อยได้ 2 คำนะ แต่ไม่นิยม ถ้าเราตัดเอาวรรคที่ 1 บาทที่ 1 เฉพาะวรรคหน้า 5 คำ มาวางหน้าบาทที่ 4 จัดเรียงใหม่จะได้ 14 คำ แถมสร้อย 2 คำ ลากคำที่ 5 กลุ่มแรกสัมผัสสระกับคำที่ 5 กลุ่มที่ 4 อ้าวมันกลายเป็น โคลงสองสุภาพไปแล้ว ง่าย ๆเอง แบบนี้ไง



……………เห็นโคลงสองแล้ว ลองเติมมาอีก 5 คำ ให้คำที่ 5 ส่งสัมผัสให้โคลงสองคำที่ 1/2/3 จัดเรียงใหม่จะเป็นโคลงสามทันที แบบนี้


……………เห็นโคลงสามที่เกิดจากโคลงสองไปแล้ว ให้เติมแค่ 5 คำนะถึงจะได้โคลงสาม ถ้าเติมมากกว่า 1 กลุ่ม 5 คำ คือเพิ่มมาอีก 5 คำ โยงสัมผัสต่อเนื่องกันไว้ เช่นโคลงสองดี ๆนี่แหละ เพิ่ม 1 กลุ่ม 5 คำ เรียกโคลงสาม เพิ่มอีก 1 กลุ่ม เป็นร่ายสุภาพไปเลย ไม่ใช่โคลงแล้ว แถมร่าย เติมได้ไม่จำกัดซะด้วย ดังนั้นจะพบว่าบางที 15 วรรค ยังไม่จบ



.............สรุปก็จริงแต่พูดยาวนะ เพราะแถมมา 3 เรื่องสำคัญ ๆ ด้วย อ่านแล้ววิเคราะห์ดูเอง จะได้หลักการของโคลงสุภาพและร่ายสุภาพเอาไว้ใช้ได้อย่างดีเลยแหละ จบครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. ช่วยแต่งร่ายสุภาพให้ดูสัก1ตัวอย่างได้ไหมครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ได้มาดูนานแล้ว มีท่านที่ขอให้แต่งรายสุภาพ ไม่ยากครับร่ายเป็นร้อนกรองที่นิยมว่าปากเปล่า อ้อร่ายยาวนะครับ เวลาแสดงธรรมเทศนา ต้องฝีกสำนวนร่ายยาวให้เป็น เทศน์เป็นสำนวนคำสละสลวย จังหวะไม่ยืดยาวเกินไป เมืาอจบวรรค ขึ้นวรรคใหม่ไม่ลืมร้อยสำนวนคำให้ต่อเนื่องกันไปทุกวรรค ลองแต่งร่ายสุภาพ แผนผะงคือ บทหนึ่งยาวกี่วรรคไม่จำกัด ตอนจบต้องจบด้วยโตลงสอง กำหนดมีแค่นี้
    .....ลองแต่งร่ายสุภาพ....ทราบแผนผังบังคับ...จับความยาวตามสบาย....ร่ายสิกสามสิบวรร..มักแต่งกันสนุก....ทุกผู้คนชอบใจ.....แบ่งให้พวกชายหญิง....ชิงกันโต้วาที....มีสารสำคัญ...ใครกันเก่งกว่ากัน....ใครสำคัญคือหญิง...หรือไม่จริงเป็นชาย....ฯลฯ...ยาวมากนักแล้วจ้า...ลงก่อนนะไม่ช้า
    จบได้สบายใจ

    ตอบลบ