วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อัตตชีวประวัติ 2


ชีวิตช่วงรับราชการเป็นครู
............สึกแล้วยังอาศัยวัดอยู่ ถึงมีคนยินดีให้ไปพักอาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ไป   เพราะรู้ว่าไม่ใช่ให้พักฟรี ๆหรอก ลูกสาวตั้งสามคนจะไปพักด้วยได้อย่างไร เกรงใจเขา อยู่วัดก็ไม่ได้เอาเปรียบนะเพราะยังต้อง สอนพระเณรที่เรียนการศึกษาผู้ใหญ่ ส่วนนักธรรมและ บาลีขอพัก แต่พระเณรมาปรึกษาก็ยินดีแนะนำ  ไปทำงานนั่งรถโดยสาร 20 กิโลเมตรก็ไม่สะดวกนัก อาจารย์ขอร้องให้อยู่วัดไป สอนงานเลขาใหม่ให้ด้วย วันหนึ่งโยมทางบ้านหนองแคมท่าลี่มานิมนต์ไปเทศน์หกกระษัตริย์ พอเจอเราหัวเราะกันใหญ่ อีกกลุ่มก็พวกอำเภอปากชมมานิมนต์พระไปอยู่วัดในอำเภอ เจ้าคณะกลับกาฬสินธุ์ อยากได้พระเปรียญ    วัดเรามีสองคน รูปหนึ่งท่านไม่ไป คนที่ 2 คือเรา ลาสิกขาบทแล้ว เลยชวดไปอยู่อำเภอปากชม ว่าที่   เจ้าคณะอำเภอดี ๆ นี่เอง แต่ไม่เสียดายหรอก ผ้าเหลืองร้อนแล้ว
..... ....พ่อป่วยหนักเขาแจ้งข่าวมา ได้กลับไปดูอาการและพาไปคลินิก และโรงพยาบาล ได้ยาก็กลับ    ไปอยู่บ้าน หมอก็ไม่บอกเป็น อะไร เพียงบอกว่าโรคชรา กลับไปเยี่ยมแกก็ดีใจนะ ช่วงหลังนี่พ่อเปลี่ยน  ไปมาก จากคนชอบเข้าป่าหาปูหาปลา แกเลิกหันหน้าเข้าวัด จนเขาเรียกทายกพ่อมหา แม่ก็เข้าวัดจำศีลเป็น ขำ ๆนะอานุภาพลูกบวชแถมเป็นพระมหานี่แรงเหมือนกัน นี่แหละน้า..ที่เขา เรียกบวชจูงพ่อ แม่ไปสวรรค์ คือจูงใจให้ฝักใฝ่บุญกุศล ทางไปสวรรค์ชัด ๆ ไม่นานพ่อก็จากไป ก่อนหน้านั้นสามปีแม่ จากไปก่อนแล้ว ด้วยโรคมะเร็งหลอดลม ก่อนนี้เคยวิตกนะว่าพ่อแม่จากไปเราคงวังเวงมาก ลูกติดแม่นี่ พอได้บวชจิตใจมันเข้มแข็งมากกว่าเดิม ก็ทำใจได้ ท่านทำบุญมาแค่นั้น ได้เห็นลูกชายบวชก็ดีมากแล้ว ช่วยให้หันหน้าเข้าวัด ได้ทำบุญกุศลมากมาย พ่อนี่โชคดีกว่า ได้ เห็นลูกชายรับราชการเป็นครู ที่แกหวังมาตลอดชีวิต สาธุ ไปที่ชอบ ๆ ทั้งแม่และพ่อนะครับ
.........เป็นครูตอนอายุ 29 ปี แก่มากแล้วควรมีครอบครัวแล้ว อยากให้พ่อเห็นภรรยาเหมือนกัน แต่หาไม่ทัน จนพ่อเสียแล้วจึงพบ ว่ามีคนที่เราสนใจ 3 สาว เป็นคนดีทุกคนแหละ สองคนแรกเป็นลูกสาวอุบาสิกาชาวบ้านติ้วนั่นแหละ พ่อแม่ก็มาวัดบ่อยรู้จักเรา บ้าง พอทราบว่าเราสนใจลูกสาวเขา เขาก็ไม่รังเกียจนะ จุดอ่อนสองสาวนี่คือเรียนหนังสือน้อย แค่ ป. 6 คงทำอาชีพเหมือนพ่อแม่ คือการเกษตรเป็นหลัก ส่วนคนที่ 3 ก็ลูกสาวมัคทายกวัด เป็นครู น่าจะไปกันได้อาชีพครูเหมือนกัน พ่อแม่ก็รู้จักเราดีมาวัดบ่อย ดูแลเรื่องเงินของวัดทำงานกับเราประจำ มีแม่สื่อมาบอกให้รู้ว่ามีลูกสาวเป็นครู นัดให้ไปดูตัวตอนเขากลับมาเยี่ยมบ้าน ก็ดูเป็น คนเรียบร้อยนะ ถึงจะเป็นนักเรียนเพาะช่างก็ตาม อ้อมีแฟนทำงานอยู่กรุงเทพฯด้วย คงเพราะห่างไกลกันก็เลยค่อย ๆจางไป กองเชียร์หันมาเชียร์เราเยอะนี่ มีแม่ยายเป็นหัวหน้า เสร็จกันเลยได้แต่งงานกันกับ น.ส.กาญจนา สิริหล้า มีทายาท 3 คน หญิงสอง ชายหนึ่ง
.........เป็นครูที่รับใช้ศาสนาไปด้วย สงสัยว่าเพราะอาศัยวัดมานาน 7 พรรษา สึกแล้วยังต้องช่วยวัดต่อ การศึกษาผู้ใหญ่ก็ต้องสอน วิชาคณิตศาสตร์หาครูยากเหลือเกิน ส่วนมากครูเขาสอนพิเศษได้ค่า
ตอบ แทนดีกว่า เราเป็นครูแก้ขัดแต่สอนเข้าใจง่าย เด็ก ๆ ชอบ หลวงพ่อเลยให้สอนเรื่อยมา แต่ที่โรงเรียนเขายกวิชาศีลธรรมมาให้ ตั้งแต่ ม.1 ยัน ม. 6 รับเต็ม 24 ชั่วโมง มีครูเก่าช่วย อีก 1 คน นักเรียน 6-6-6--4-4-4 ก็ 30 ห้อง ศีลธรรม 30 ชั่วโมง เรารับไป 24 อีก 6 ครูเก่าช่วยสอน แผนการสอนเราทำเอง เอกสารสื่อเราทำเอง ครูเขาขอไปปรับใช้ก็ไม่ขัดข้อง ช่วงเข้าพรรษาจัดสอนพิเศษให้นักเรียนที่อยากสอบธรรมศึกษาตรี มีเด็ก สนใจมากร่วม 50 คน นิมนต์พระมาฉันเพลวันเสาร์และช่วยสอนเด็ก เด็กก็ชอบพระก็ชอบ สอบธรรมสนามหลวงร่วมกับวัด เจ้าคณะอำเภอ นักเรียนศรีสงครามวิทยาสอบได้ปีแรก 35 คน หลวงพ่อดีใจมาก บอกเราว่าปีหน้าให้ส่งมาเยอะ ๆ เพราะชื่อเด็ก เป็นนักเรียนสำนักเรียนของท่านเอง ด้วยเหตุนี้แหละเลยขอเปิดเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์เมื่อปี 2517 หลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอจัดพระเณรมาช่วย ทุกปี เวลาส่งชื่อนักเรียนสอบนักธรรม ส่งในนามสำนักเรียนวัดเจ้าคณะอำเภอ บางปีมากกว่า 100คน  สอบได้ 40 บ้าง 50 บ้าง แค่นี้ก็มากมายแล้ว อ้อโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีสงครามวิทยา กรม การศาสนาเคยส่ง เจ้าหน้าที่มาตรวจเยี่ยม ชอบใจที่อยู่นอกวัด กำชับว่าอย่ายุบเลิกนะ จะจัดงบอุดหนุนให้ เดือนกันยายน 2559 ไปงานเกษียณ ถามว่ายังเปิดสอนอยู่ และได้รับงบอุดหนุนมาตลอด สาธุอนุโมทนา 
........เป็นครูบรรณารักษ์ ตอนสอบวิชาชุด พก.ศ. หมวด ค มีวิชาพลานามัย วิชาบรรณารักษ์ พระภิกษุ ส่วนมากเลือกสอบวิชาบรรณารักษ์ เลยมีความรู้ห้องสมุดอยู่บ้าง ครูโรงเรียนนี้ต้องช่วยงานพิเศษนอกเหนือจากงานสอนประจำคนละอย่างสองอย่าง ตอนแรกเขาให้ช่วย งานการเงินแต่ไม่ถูกจริต ที่สุดเลย ได้งานห้องสมุด มีหนังสือ 1 ตู้ ตอนหลังได้ห้องค่อยหาคุรุภัณฑ์และสื่อต่างๆเพิ่มจนในที่สุด ก็ขึ้นป้าย"ห้องสมุดโรงเรียนศรีสงครามวิทยา" เคยจัดผ้าป่าหนังสือ ช่วงสอบเสร็จเด็กทิ้งหนังสือกันมากมาย ให้เอามาทำบุญผ้าป่า ทำบ่อย ๆหนังสือมากขึ้น ๆ เมื่อไปเรียนระดับปริญญาตรี เขาให้เลือกวิชาโท เราเลือกบรรณารักษ์ เพราะจะได้ใช้ แต่พอจบเขาได้ครู ครูคนใหม่จบบรรณารักษ์มาพอดี เลยยกห้องสมุด ให้น้องเขา
.............ว่างจากห้องสมุด เขาเตรียมเข้าสู่หลักสูตร 2521 จัดอบรมที่เขต ที่ส่วนกลาง บ่อยมาก ถูกส่งไปอบรมแนะแนว กลับมาก็เปิดห้องแนะแนว จัดระบบข้อมูลนักเรียน ตามที่วิทยากรแนะนำนั่นแหละ รู้ตัวดีนะว่าไม่มีความรู้เลยเน้นการให้ ข้อมูลข่าวสารมาก ๆ ส่วนเรื่องแก้ปัญหาเด็กก็ประสานกับฝ่ายปกครอง เพราะเขาทำอยู่ก่อนแล้ว สวนปัญหาการเรียนของเด็ก ได้จัดทำห้องแนะแนวมีมุมเอกสารคู่มือการศึกษาต่อ การหางานทำ อาชีพที่น่าสนใจ สะสมไว้ค่อนข้างมาก จนเป็นห้องสมุดย่อย ย่อย ๆ เด็ก ๆชอบแวะมาอ่าน แรก ๆ หนังสือหายเยอะ เลยจัดบริการหาหนังสือให้ห้องแนะแนว แจกซองผ้าป่าหนังสือให้นักเรียน
บอกผู้ปกครอง โรงเรียนอยากได้หนังสือไว้ห้องแนะแนวเพื่อ แนะแนวการเรียน แนะแนวด้านพฤติกรรมวัยรุ่น แนะแนวอาชีพ ได้หนังสือหลายร้อยเล่ม ได้เงินหมื่นกว่าบาท ก็ขออนุญาตจัดซื้อหนังสือเข้าห้องแนะแนวนั่นแหละ บรรณารักษ์มาต่อว่า ทำไม อาจารย์ไม่ชวนหนูบ้าง ก็ขอโทษเขานะลืมนึกถึงจริง ๆ เพราะอยากได้หนังสือแนะแนวเท่านั้น แต่หนังสือที่ได้มา ไม่เกี่ยวกับ งานแนะแนวก็มาก เลยฝากบรรณารักษ์ให้มาเลือกไปไว้ห้องสมุด ได้ไปสองร้อยกว่าเล่ม ต่อมาไม่นานก็ได้ครูแนะแนวมาบรรจุ
เลยส่งมอบงานแนะแนวให้เขาไปทำ
........ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี นิสัยชอบเรียนยังไม่หายไปจากใจ เมื่อมีสิทธิ์ลาศึกษาต่อก็ไปสอบดู ครั้งแรกตั้งใจจะเรียน ด้านเอกวิทย์-คณิต มช. หนังสืออ่านเยอะเกินอ่านจบไม่กี่รอบเองไม่มั่นใจ สังเกต  ดูคู่มือสอบวิชาภาษาไทยไม่ค่อยยาก ไปสอบ เอกภาษาไทยดู ปีต่อไปค่อยสอบวิทย์-คณิต ผลประกาศออกมาติดซะนี่ ผู้บริหารว่าเรียนเลย สอบใหม่อาจไม่ติดก็ได้นะ นั่นแหละ ที่ต้องเรียนวิชาเอกภาษาไทย ภาควิชาแนะแนวดูโปรไฟล์นักศึกษาใหม่ เรียกไปพบถามว่าทำไมเลือกเรียนเอกไทย พื้นฐานด้าน
ภาษาคะแนนต่ำมาก อาจารย์แนะแนวเอาโปรไฟล์ให้ดู ก็ขำ ๆ มันต่ำจริง ไปโด่งอยู่วิชาคณิตศาสตร์ เกือบเต็ม ก็เลยเรียนให้ อาจารย์ทราบว่าชอบวิทย์คณิต เตรียมสอบไม่ทัน วิชาภาษาไทยอ่านหนังสือรอบเดียวมาสอบเลย อาศัยมีพื้นฐานภาษาบาลีเลย พอตอบข้อสอบได้บ้าง อาจารย์แนะนำให้อ่านหนังสือมาก ๆ คนอื่นเขาคะแนนพื้นฐานภาษาไทยสูงทุกคน คงห่วงจะเป็นตัวถ่วง ในห้อง ก็ขอบคุณ  ท่านแล้วทำตามที่ท่านแนะนำคือ อ่านมาก ๆ ภาคเรียนแรก กวาดเกรด เอ ทุกวิชา ภาคเรียนที่ 2 กวาด
ได้อีก ค่าเฉลี่ย 3.75 เชียว ปีถัดมาลงทะเบียนเรียนคอร์สแนะแนว อาจารย์ชมว่าเก่งขยันดีนี่ ตอนจบ กศ.บ.เลยมีคำเกียรตินิยม พ่วงมาด้วย จบเมื่อ ปี 2519
.........หัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทยว่างลง เพราะเลื่อนไปเป็นผู้ช่วยผู้บริหาร ครูจบปริญญาตรีอาวุโสมากก็คือเรา ต้องไปรับหน้าที่ แทน แต่เราสอนศีลธรรมนะ หมวดภาษาไทยก็เกี่ยงให้สอนภาษาไทยบ้าง วิชาศีลธรรมคืนหมวดสังคมศึกษาไป หมวดสังคมก็ไม่ยอม เลยพบกันครึ่งทาง โรเงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์จะบริหารให้ สื่อสอนศีลธรรมได้แก่แผนการสอน เอกสารและสื่อต่างๆ ยกให้หมวดวิชาสังคม มีปัญหาคาบสอนศีลธรรมยินดีช่วย ส่วนภาษาไทยก็จัดมาได้วิชาวรรณคดีมาสิบชั่วโมง เป็นหัวหน้าหมวด
วิชาจะนิเทศครูไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะครูก็เหมือนแมว ดึงให้ไปหน้าแมวจะถอยหลัง ดึงให้ถอยหลังมันจะดันทุรังไปทางหน้า ดึงหลังยกขึ้มันจะหมอบลง ดึงหนังท้องลงมันจะโก่งหลังขึ้น ครูส่วนมากก็คล้าย ๆ กัน เว้นแต่เขาชอบและอยากจะพัฒนาเอง หัวหน้าหมวดแบบผมสบาย ๆ ไม่บังคับใครหรอก แต่เชื่อทุกคนอยากเป็นครูที่ดี พยายามพูดคุยกันเสมอแหละว่า ทำงานมีแผน ดีกว่าไม่มีแผน เตรียมการสอนดีกว่าไม่ได้เตรียมการสอน สอนแบบมีสื่ออุปกรณ์ง่ายกว่าสอนแบบไม่มีสื่อและอุปกรณ์ สอนไป วัดและประเมินผลไปด้วย ดีกว่าสอนโดยไม่รู้จักประเมิน ก็เลยต้องทำให้ดูว่าสิ่งที่หัวหน้าหมวดพูด เป็นสิ่งที่ทำได้ เอาแผนการสอน วิชาศีลธรรม สื่อการสอนนักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ แผนการสอนวิชาธรรมศึกษาตรี โท เอก คู่มือการสอนวิชาธรรมะ วิชา พุทธประวัติ วิชาวินัย เอาไปเย็บเป็นเล่ม ๆทำปกดี ๆแล้ววางไว้บนชั้น หยิบไปอ่านได้ไม่หวง ส่วนวิชาวรรณคดีไทยกำลังเขียน อยู่ในสมุดเบอร์ 2 มาขอดูก็ได้
..........ทำไมหนูต้องเขียนแผนการสอน ไม่เขียนก็สอนได้ เด็กเก่งยกชั้น ทำไมหนูต้องเตรียมการสอน   จำได้หมดแหละสอนสบาย ทำไมต้องทำสื่อ เสียเงินเสียงบประมาณ แล้วที่ว่าสอนไปวัดประเมินผลไปหัวหน้าทำได้เหรอ คำถามหาเรื่องทั้งนั้นแต่ไม่สนใจ หรอกเด็ก ๆจบใหม่ทั้งนั้น หัวหน้าคนเก่าโดนมาก่อนเขาเล่าให้ฟัง ประชุมประจำเดือนเจอคำถามก็บอกว่า พูดกันตามหลักการ ให้ฟังว่า ครูจะทำงานได้  ดีถ้ามีแผน มีการเตรียมการที่ดี มีสื่ออุปกรณ์ทำงานมันก็ง่าย หลักธรรมดา ๆ ครูทุกคนรู้จัก เวลาประเมิน
ว่าครูคนไหนทำงานเก่งไม่เก่งก็ดูตามนี้ จะดูแต่นักเรียนคะแนนสูงคะแนนต่ำไม่พอหรอก เด็กห้องคิง วิชาไหนมันก็คะแนนดีหมด เด็กห้องบ๊วยมันก็คะแนนต่ำทั้งห้อง ดังนั้นต้องดูอย่างอื่นด้วย ครูในหมวดวิชา 8 คน มีแผนการสอน 3 คน อีก 5 คนไม่มีแผนการสอน ก็ต้องให้เครดิตคนมีแผนก่อนว่า เขาทำงานมีแผน อยากดูแผนดีไม่ดีเขามาส่งก็ตรวจดูได้ เขียนส่ง ๆ หรือเขียนอย่างคนเรียนวิชาครูมา เจอเข้าแบบนี้อึ้ง

กิมกี่ไปเลย พอมีการประเมินเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง พวกมีเอกสารหลักฐานผ่านฉลุย พวกไม่มีวิ่งหา
จะหาที่ไหนมาได้ทัน
..........สอนไปประเมินไป ผมสอนต้องประเมิน เครื่องมือประเมินก็คำพูดไง สอนจบเนื้อหาตามจุดประสงค์ หยุดถามเข้าใจยัง ใครยังสงสัยอยู่ เอ้านายแดง บอกครูซิเรื่องนี้หมายถึงอะไร นายแดงมันตอบได้ฉะฉาน แสดงว่าคนอื่นรู้หมด นายแดงนี่อ่อนสุด ในห้อง สอนไปไม่ประเมินเด็ก จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเข้าใจสิ่งที่เราสอน ครูสาวมันมายกมือไหว้เรา บอกหนูขอโทษ หนูนี่แหละ ซักเด็กประจำทุกคาบ ไม่รู้ว่าหนูประเมินตลอดเวลาที่สอน เดิมเข้าใจการประเมินว่าคือการสอบซึ่งมันไม่ใช่ เอาข้อสอบมาสอบ ทำไม่ได้ทุกคาบสอนหรอก วิธีง่าย ๆมีเยอะแยะไป
..........เตรียมการสอน ไม่เห็นจำเป็นเลย ถามว่าเธอหอบไปสอนเป็นกระเป๋านั่นคืออะไร หนังสือค่ะ อ่านรึยัง อ่านแล้วค่ะ ไหนว่า จำได้แล้ว ก็อ่านเพื่อทบทวนกลัวหลงลืมค่ะ นี่ไงเธอเตรียมการสอนมาอย่างดี อันไหนลืมเธอก็ตรวจสอบ เพียงแต่การเตรียม การสอนของเธอไม่มีร่องรอยให้คนเห็น ไม่เหมือนผมนะ ผมคนขี้ลืมต้องบันทึกเป็นร่องรอยเอาไว้ว่า ไปเตรียมเรื่องอะไรไว้สอนเด็ก เบียนบันทึกเป็นเอกสารประกอบการสอน ไม่ต้องอ่านอีกเลยจำได้หมด แจกให้เด็กไปอ่านกันเลย อยากเห็นการเตรียมการสอน ของผม คุณเอาเอกสารพวกนี้ไปตรวจดูซิ ผมอ่านอะไรบ้างดูบรรณานุกรมท้ายเอกสาร นั่งงงใหญ่เลย ต่อมาก็ได้เห็นเอกสาร ประกอบการสอนของครูแทบทุกคน มาขอคำแนะนำวีธีเขียนเอกสารเชิงวิชาการ เราครูบรรณารักษ์เก่านี่นา เรื่องแบบนี้ถนัด
.........ปี 2521 หลักสูตรใหม่เข้ามา เราเรียนจะจบแล้วแหละ ภาคเรียนสุดท้ายแล้ว ผู้ช่วยฝ่ายวิชาการขอย้ายกลับภูมิลำเนา ที่จังหวัดชัยภูมิ เขาเลยสรรหาคนมาทำงานวิชาการกัน น้องในหมวดวิชาภาษาไทยเขียนจดหมายไปบอกว่า คณะครูเลือกพี่ไป ทำงานวิชาการ หัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทยให้ผู้ช่วยหัวหน้าหมวดทำแทน พอจบการศึกษา ยังไม่รับปริญญาเลย ก็ไปแบกงาน วิชาการ แถมเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรด้วย งานหินจริง ๆ
......
..ปี 2522 ผู้บริหารโรงเรียน ท่านสุเมธ กัปโก มอบหมายให้เป็นผู้แทนครูมัธยมร่วมเดินทางไปศึกษาและดูงานที่ ญี่ปุ่น เป็นเวลา 20 วัน ก็ดีใจนะ ไม่ต้องคิดนานตอบตกลงทันที กำหนดเดินทาง 27 พฤษภาคม 2522 ก่อนเดินทางต้องไปพบคณะที่ กรมสามัญศึกษา รองอธิบดีท่านสะอาด พิมพ์สวัสดิ์  เป็นหัวหน้าคณะ ได้รับรายชื่อคณะ 20 คน มีทั้งรองอธิบดี กรมอาชีวศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน ศึกษาธิการเขต ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ และครูประถม ครูมัธยม จุดประสงค์ต้องการ ไปดูระบบการจัดการศึกษาของญี่ปุ่น ที่รูปแบบหลักสูตรคล้ายที่เรากำลังใช้อยู่ ตอนค่ำสถานทูตญี่ปุ่นเลี้ยงส่งในฐานะเจ้าของ โครงการคือ มูลนิธิญี่ปุ่น ใช้สถานทูตเป็นที่จัดเลี้ยง นะนำโครงการและสถานที่ที่จะให้ไปดูงาน
.......27 พฤษภาคม 2522 วันเดินทาง แปลกนะที่เป็นสวิสแอร์ นึกว่าจะใช้แจแปนแอร์ไลน์ ออกเดินทางสามโมงเช้า แวะที่ ฮ่องกง ค่อยบินต่อ ถึงโตเกียวสนามบินนาริตะค่ำพอดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิมารับไปส่งที่โรงแรมไคโอปลาซ่า เป็นตึกเด่นของโตเกียว สูงที่สุดของช่วงเวลานั้น 48 ชั้น เราพักชั้นที่ 13 โรงแรมดูดีแบบพวกห้าดาวนั่นแหละ เขาจ่ายเบี้ยลี้ยงเป็นเงินเยน ค่าใช้จ่าย อื่น ๆ จัดจ่ายให้หมด ถ้าไม่ซื้อของฝาก ก็แทบไม่ต้องใช้จ่ายอะไร วันต่อมาก็พาไปเยี่ยมที่ทำงานของมุลนิธี เยี่ยมกระทรวง ศึกษาธิการ ฟังเขาบรรยายระบบการศึกษา ส่วนกลางรับผิดชอบแค่ไหน ท้องถิ่นรับผิดชอบอะไรบ้าง เป็นการพูดกว้าง ๆ การดูงาน คราวนี้มากัน 3 คณะจากมาเลย์ และจากสิงคโปร์ วันที่เยี่ยมกระทรวงศึกษาธิการ เจอกัน หลังจากนั้นก็จะแยกไปดูงานคนละเขต และจะกลับมาพบกันวันเลี้ยงส่งกลับ
........ปัญหาเรื่องภาษาก็มีบ้าง แต่เขาใช้ภาษาญี่ปุ่น ดีที่มีเอกสารภาษาอังกฤษให้ ก็ได้ให้เพื่อนอ่านให้ฟัง และซักถามล่ามใน ส่วนที่ไม่เข้าใจ มีล่ามประจำคณะ 5 คน ชาย 3 หญิง 2 พูดไทยเก่งกว่าเราอีก ดูงานแรกเป็นโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษา ชอบระบบสื่อและอุปกรณ์ ห้องส่งทีวีวงจรปิด ชอบระบบจัดอาหารเที่ยงที่มีโรงงานผลิตอาหารกล่องส่งให้เด็กทุกคน เขาให้ลอง ทานอาหารกับเด็ก ครูก็ทานกับเด็ก ห้องใครห้องมัน ไม่ต้องมีโรงอาหาร กินเสร็จขยะลงถังหมด ไม่ต้องสั่งเด็กรู้และทำเอง ต่อมาก็ได้ดูงานโรงเรียนมัธยม อาชีวศึกษา ดูเขตพื้นที่การศึกษา ดูศูนย์ฝึกอบรมครูก่อนให้ใบประกอบวิชาชีพ ดูศูนย์ฝึกนักเรียน อาชีวะก่อนจบ กว่าจะจบรายการก็ได้ข้อคิดต่าง ๆ มากมาย มีค่ามากต่อการทำงานในเวลาต่อมา
.........แหล่งเรียนรู้สำคัญในโรงเรียนคือห้องสมุด จุดแรกที่ต้องพัฒนา นักเรียนเราเกินพันคนแล้ว ห้องสมุดเท่าเดิม ห้องที่ว่าง ครูขอใช้เป็นห้องพักครู ก็เลยเปลี่ยนแนวคิดส่งเสริมให้ทุกหมวดวิชามีห้องพักครู มีมุมหนังสือในห้องพักให้เด็กมาอ่านและค้น คว้าได้ ทดลองที่หมวดภาษาไทยและสังคมศึกษาก่อน ครูเขาแบ่งห้องเป็นสองส่วน ปูเสื่อน้ำมันเต็มพื้นห้อง วางชั้นหนังสือเตี้ย ๆ เน้นพวกคู่มือสอบ แบบฝึกหัด เตรียมสอบศึกษาต่อ นิทานนิยาย ครูเอาหนังสือพิมพ์เก่าที่บ้านมาให้เด็กได้อ่านด้วย เลยกลายเป็น
ห้องสมุดย่อย ๆ ต่อมาก็เขียนป้ายว่าห้องสมุดเฉพาะวิชาภาษาไทย ครูเริ่มมองเห็นแนวพัฒนา เพียงสองปีเองทุกหมวดวิชาก็เอาอย่างและแข่งกันพัฒนา บางคนไปหาทีวี เครื่องเสียงมาไว้ ทราบว่าขอจากญาติพี่น้อง เลยขอความอนุเคราะห์จากทางพัสดุช่วย ลงทะเบียนให้ด้วย เด็กกระจายไปห้องสมุดเฉพาะมากขึ้น จนห้องสมุดกลางโล่ง บรรณารักษ์ต่อว่าหนังสือกระจายไปอยู่ที่หมวดวิชา ก็ไปเยี่ยมและคุยกัน ถามว่างบประมาณที่เคยได้รับ ยังได้รับเท่าเดิมหรือเพิ่ม เปิดแผนดู ไม่มีลด มีแต่เพิ่ม งบหมวดวิชาต่าง ๆ
ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ เพิ่มขึ้นตามวงเงินงบประมาณที่โรงเรียนมี แต่ก่อนหมวดวิชาใช้งบประมาณซื้อเอกสาร ซื้อกระดาษของใช้ แต่เดี๋ยวนี้ประหยัดเอาเงินมาซื้อหนังสือ ไม่กระทบห้องสมุดเลย แล้วไปวิตกทำไม บรรณารักษ์ควรขอบคุณเขาที่ช่วยแบ่งเด็กไป นั่งห้องหมวดวิชาอ่านหนังสือที่ครูเขาเตรียมไว้ คุณทำสมุดทะเบียนหนังสือแจกเขาซิ ปิดเรียนคุณก็ขอดูห้องไหนมีหนังสือกี่มาก น้อย ทุกห้องคือสมาชิกห้องสมุดของคุณ หนังสือของพวกเขาก็คือหนังสือโรงเรียนเหมือนกัน นับรวมกันแล้วคุณก็ประกาศได้เลย ว่าโรงเรียนมีหนังสือไว้บริการทั้งหมดเท่าไร กระจายอยู่ห้องเฉพาะวิชา 10 ห้องเท่าไร แบบนี้ดีไหม หัวเราะชอบใจขอโทษเรา หนูไม่รู้นึกว่าจะแย่งทำห้องสมุดหนู ประกาศครั้งแรกมีหนังสือรวม เกือบห้าหมื่นเล่ม มีทีวี 5 ห้อง หลายห้องใช้เป็นห้องเรียน ได้ด้วย
.............พัฒนาครูอาจารย์ หลักสูตรใหม่ 2521 ครูต้องมีแผนการสอนเน้นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ต้องมีการสอนซ่อมเสริม ต้องมีสื่อการสอนที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ มีเครื่องมือวัดและประเมินที่ดี เห็นแล้วเหนื่อยแทน ส่งครูไปบรมจนครบทุกวิชา กลับมาไม่มั่นใจ นัดประชุมหัวหน้าหมวดวิชา ขอให้เริ่มก่อนส่งแผนการสอนมาให้ตรวจ ขอซักเทอม ต่อไปให้ตรวจกันเอง ก็มี บางหมวดวิชาไม่ส่ง เพราะคิดว่าครูภาษาไทยอย่างเรา จะไปรู้วิชาที่เขาสอนเด็กอย่างไร ก็ไม่เป็นไร ปล่อยไปก่อน หมวดวิชาที่ ส่งตรวจ เจอคอมเมนท์เป็นแผ่นกระดาษ ชี้ให้เห็นว่า จุดประสงค์การสอนที่เขาเขียน เป็นจุดประสงค์มาจากหนังสือเรียน หรือ มาจากหลักสูตร จุดประสงค์ที่เขียนสำหรับแผนารสอนที่ใช้เวลา 1-3 คาบเรียนกว้างไปหรือแคบไป เป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ใช่ไหม จุดประสงค์ปลายทางและจุดประสงค์ย่อย สัมพันธ์กันหรือไม่ เจอแบบนี้ก็อึ้งสิครับ ขยันส่งมาให้ตรวจมากขึ้น มีของครูสอด มาด้วยพร้อมจดหมายน้อย ท่านช่วยตรวจให้หนูด้วย ผ่านไป2 ภาคเรียน มีคนส่งให้หัวหน้าหมวดวิชาตรวจกัน หัวหน้าที่เคยไม่ส่ง ตอนนี้มา ขอคำแนะนำวิธีตรวจแผนการสอน อายหมวดวิชาอื่นเขาน่ะซี
...........ตรวจนิเทศการเรียนการสอน ตรวจทุกวัน แต่ไปแค่ห้องพักครู พบครูที่ว่างการสอนเท่านั้นอยู่ห้องพัก ก็ชวนพูดคุยกันไป เช้าไปสองห้อง บ่ายอีก 2 ห้อง สัปดาห์หนึ่งก็ให้ครบ 10 ห้องพักครู ได้รับทราบอุปสรรคปัญหาของครู แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ปฏิบัติเช่นนี้ปีแล้วปีเล่าคุณภาพนักเรียนดีขึ้นมาก นักเรียนจบ ม. 6 สอบศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้จำนวนมากขึ้น พวกได้เรียน ที่มหาวิทยาลัยก็ขอกลับมาช่วยครูแนะแนวนิเทศรุ่นน้องทุกปี บรรยากาศโรงเรียนเป็นบรรยากาศที่อบอุ่น จนปี 2529 ต้องย้าย
ไปช่วยงานสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัด
...........งานที่ยังทำไม่สำเร็จพัฒนาครูให้สามารถทำวิจัยในชั้นเรียน จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำวิจัย และให้ปัญหาประเมิน ผลสัมฤทธ์การจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาที่หมวดวิชารับผิดชอบ ในช่วงปีการศึกษาที่ผ่านมา หมวดวิชาเปิดสอนกี่รายวิชา นักเรียนลงทะเบียนเรียนกี่คน ผลการเรียนครั้งแรก เป็นอย่างไร ผลการเรียนที่ต้องปรับซ่อมเท่าไร รายวิชาไหนคุณภาพดีเยี่ยม รายวิชาไหนผลการเรียนไม่น่าพอใจ ให้จัดใส่แฟ้มมาให้ดู ให้ประสานกับเจ้าหน้าที่ทะเบียนห้องวิชาการ ตรวจสอบตัวเลขให้ตรง กัน แปลกดีบางหมวดวิชามันเขียนรายงานแปะหน้าแฟ้มมาด้วย ตั้งชื่อโก้เลยว่า สรุปผลการจัดการเรียนการสอนวิชา........ปีการ ศึกษา............ก็เลยจัดสัมมนาให้ 1 วัน เช้าและบ่าย เชิญผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศมาร่วมฟังครูนำเสนอผลงาน เห็นดีใจ กันมาก ก็ได้สรุปให้ฟังว่า เป็นการวิจัยแบบง่ายๆ วิจัยเพื่อค้นหาปัญหาการเรียนการสอนว่ามีหรือไม่ ถ้ามีมันอยู่ตรงไหน หยิบ ผลงานมาวิเคราะห์ดูก็จะเห็นได้เอง เมื่อเห็นแล้วปีการศึกษาต่อไปก็หาวิธีการแก้ปัญหา อย่าให้มีอีก ถ้าไม่พบปัญหา ก็สามารถ นำไปใช้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้เช่นกัน ตอนแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนนี่เอง ที่เราจะได้ใช้การวิจัยในชั้นเรียน กันอย่างสุดฝีมือ ยังไม่ได้สานต่อเลย วางมือไปทำงานที่จังหวัดแทน
.............งาน Remedial teaching จุดเด่นของหลักสูตรที่ไม่ให้มีสอบตกซ้ำชั้น แต่สอบตกต้องซ่อมเสริมแล้วสอบใหม่ เคย ศึกษามาในระดับบัณฑิตศึกษาที่ ม.เกษตรศาสตร์ 1 คอร์ส ครูจะทำหน้าที่นี้ได้ดี ต้องรู้วิธีตรวจสอบประเมินได้ว่า เด็กมีปัญหา ตรงไหน ก่อนจัดสอบให้ใหม่ต้องสอนซ่อมเสริมอะไรบ้าง และใช้เครื่องมือประเมินสรุปว่าผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ การประเมินผล ดูคะแนนระหว่างภาคเรียน ครูจะเก็บคะแนนเป็นเรื่อง ๆ มา อันไหนคะแนนต่ำก็เห็นได้ ข้อสอบก็สอบตามจุดประสงค์ ข้อไหน คะแนนต่ำก็ดูออก จากนั้นก็สรุปให้ได้ว่า เด็กที่สอบยังไม่ผ่าน เพราะอ่อนเรื่องใดบ้าง สอนหลายครั้งครูก็บอกได้ว่าเด็กมักมีปัญหา เรื่องใดบ้าง อยากให้ครูมีสื่อการสอนไว้ให้นักเรียนซ่อมเสริมเรื่องพวกนี้ เมือเจอเด็กมีปัญหาจะได้ใช้สื่ิอตรง ได้แนะนำงานครูควร มีสื่อการสอน ทั้งที่เป็นเอกสาร และแบบสื้อคลิพเสียง ส่วนสื่อวีดิโอยังใหม่อยู่ ต้องอาศัยกล้องวีดีโอใหญ่ เอาแค่คลิพเสียงก็พอ เทปคาสเสทคำบรรยายสอนจุดประสงค์ที่เด็กสอบไม่ผ่านนั่นแหละ เช่นมีปัญหา 5 จุดประสงค์ ทำคลิพไว้ 5 ม้วน เด็กติด 0 ติด ร เพราะไม่ผ่านเรื่องใด เอาไปเปิดฟัง จบแล้วมาขอสอบ อันนี้ถึงจะเป็นการสอนซ่อมเสริมที่เหมาะที่ควร เสียดายเหมือนกัน พูดให้ฟังแล้วก็ออกมา
............งานพัฒนาศักยภาพครูด้าน ไอที ผมขวานขวายหาคอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงเรียนตั้งแต่สมัย 8 บิต จอโมโนสีเขียว ใช้ ระเบบ DOS ใช้ Cu-Writer RW-Writer ฮือฮากันมาก เป็นเครื่องแรกที่โรงเรียนในจังหวัดมีใช้ ก็เลยชวนครูมาทดลองใช้ สนใจก็ซื้อมาใช้กัน สำหรับผมซื้อรุ่น 16 บิต จอวีจีเอ มาไว้ที่บ้าน สนุกดีครูที่สนใจมาทดลองใช้ ต่อมาเมื่อมีเครื่องมากขึ้นก็จัด อบรมวิธีใช้งานให้ ห้องวิชาการเราจัดหาคอมพิวเตอร์มาให้ครูใช้ทำงานทะเบียนนักเรียน นายทะเบียนต้องเก่งคอม เลยมีคนอาสา มาเป็นนายทะเบียน ระดับชั้นละ 1 คน นายทะเบียนม.ต้น 1 คน ม.ปลาย 1 คน นอกนั้นก็เป็นผู้ช่วย ในด้านการเรียนการสอน อยากให้ครูสร้างเวบไซท์เป็น โดยเฉพาะเวบแบบออฟไลน์ กรมสามัญศึกษาจัดอบรมให้ กลับมาก็ชวนครูทำ ทำได้นะแต่ไม่นำ ไปพัฒนาต่อ ตอนนี้หลายโรงเรียนมีเวบไซท์ แต่ไม่ค่อยได้ใช้เพื่อการเรียนการสอน เพราะครูเขียนเวบไม่เป็น เสียดายนะ
...........งานระดับจังหวัด รับปากท่าน ผอ.สศ.จ ไว้ว่าจะมาทำงานด้านวิชาการให้ ส่วนงานอื่น ๆ ไม่ถนัด ท่านก็รับปาก กับงาน ด้านวิชาการ ดูแลการใช้หลักสูตร ติดตามงานวัดผลประเมินผลของโรงเรียน ติดตามแผนงานด้านวิชาการของโรงเรียน ติดตาม งานห้องสมุด งานแนะแนว งานฝึกอบรมครู งานนิเทศการเรียนการสอน งานกลุ่มโรงเรียน ถึงงานไม่หนัก แต่เกี่ยวข้องกับ โรงเรียน 33 โรง ค่อย ๆดูแลกันไป สองสามปีก็เริ่มเห็นโรงเรียนต่าง ๆพัฒนาตนเอง มีแผนงานด้านวิชาการชัดเจน ติดตามผล ง่ายขึ้น พอดี มีการยุบรวมเพื่อจัดตั้งเขตการศึกษา ปรับตัวไม่ทัน ทำงานที่เขตการศึกษาเพียง 3 ปีก็หมดเวลา เกษียณอายุราชการ มีคนชวนตั้งบริษัทรับประเมินมาตรฐานโรงเรียน แต่ดูแล้วคงทำงานยาก เพราะโรงเรียนที่พัฒนาถึงมาตรฐานที่เขากำหนดหายาก ให้ไปประเมินก็ทำใจยาก เราพวกตรงไปตรงมา เดี๋ยวผิดใจกันเปล่า ๆ เลยหยุดบทบาทด้านการศึกษาไปเลย
...........เปิดโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ ที่บ้าน หลักสูตรเน้นการใช้คอมพิวเตอร์พัฒนาเวบไซท์แบบออฟไลน์ การผลิตสื่อประเภท อีบุ๊ก การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยงานวัดผลประเมินผล การศึกษาค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลช่วยงานวิจัย การวิเคราะห์ค่าสถิติต่าง ๆ เจตนาอยากให้ครูอาจารย์มาฝึกอบรม เสียดายเราคิดเองเออเอง ผ่านไป 1 ปี มีคนมาสมัครเรียนไม่ถึง20 คน เลยรู้สึกเบื่อ ขอยุบกิจการ เก็บเครื่องไว้ให้ลูกใช้    หันมาทบทวนผลงานที่เคยสร้างเอาไว้ หลายอย่างยังใช้ประโยชน์ได้ น่าจะเอามาตรวจชำระ คงใช้  เวลาหลายปี เพราะส่วนมากเป็นงานเขียน
------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น