วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ลอยกระทง

ลอยกระทง
..............."วันเพ็ญเดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง...."
ใกล้วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12  เสียงเพลงลอยกระทงดังให้ได้ยินบ่อย ๆ จากวิทยุ จากโทรทัศน์  ทำให้ทราบว่าใกล้วันสำคัญของชาวบ้านอีกวันหนึ่ง  คนไทยเรามีกิจกรรมสนุกสนานรื่นเริงกันตลอด 12 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการทำบุญเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอปกติเดือนสิบสองมีประเพณีทอดกฐินเป็นหลัก และมีการลอยกระทงเสริมเข้ามาอีกกลายเป็นสองงานในเดือนสิบสอง
         ประเพณีลอยกระทง ดูตามคำบอกเล่า ตำนานกล่าวขานกันมาเน้นการบูชาเทพเจ้ามากกว่าจะเป็นการบูชาพระรัตนตรัยเช่นบอกว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคาขอขมาที่ล่วงเกินไป บ้างก็ว่าเป็นการบูชาพระนารายณ์ที่บรรทมสินธุ์อยู่กลางสมุทร  บูชาท้าวพกาพรหม เป็นต้น ประกอบกับพิธีการบูชาไฟเป็นคติของพราหมณ์ จึงน่าเชื่อว่าเดิมการจุดโคมไฟบูชาได้แนวคิดมาจากพราหมณ์แม้ใน ตำนานลอยกระทงที่กล่าวถึง ท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยที่เล่ากันว่าเป็นผู้คิดกระทงรูปดอกบัวจุดไฟลอยบูชา ก็ทราบว่านางเป็นผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์ปุโรหิต คงได้แนวคิดแบบพราหมณ์มาประยุกต์ใช้ในพิธีลอยโคมไฟบูชา ต่อมาเมื่อการลอยโคมไฟบูชาแพร่ขยายไปทั่ว มีการนำคติทางพุทธศาสนามาผสมผสานเข้า ทำให้มีจุดประสงค์การบูชาเน้นการบูชาบุคคลสำคัญของพุทธศาสนา เช่น
              1.  บูชาพระพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา
              2. การลอยกระทงเพื่อ บูชารอยพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัม
มทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดพญานาค
              3. การลอยกระทงเพื่อ บูชาพระอุปคุตตเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลหรือสะดือทะเล
              เมื่อศึกษาตำนานลอยกระทรง ทำให้ทราบว่ามีจุดประสงค์การบูชาแตกต่างกันดังกล่าวแล้ว อาจมีผู้สงสัยว่าใครถูกใครผิด ก็คงสรุปไม่ได้ เพราะการบูชาเป็นเรื่องของเจตนาเราจุดธูปเทียนบูชา จะเหมาว่ากำลังบูชาพระรัตนตรัยไม่ได้จนกว่าจะทราบว่าเรามีเจตนาอะไร อาจกำลังขอหวยจากต้นโพธิ์ หรือกำลังบนศาลพระภูมิก็ได้ ดังนั้นการลอยกระทงบูชาที่มีเรื่องเล่าขานว่า เป็นการบูชา เทพบ้าง บูชาพระรัตนตรัยบ้าง จึงไม่มีผิดไม่มีถูกเป็นเพียงจุดประสงค์ของผู้กระทำการบูชา แต่ที่สำคัญคนสมัยก่อนท่านมักจะมีเหตุผลเสมอ
              บูชาพระแม่คงคา เทพประจำแม่น้ำ  เป็นการรำลึกถึงคุณแห่งน้ำ  ความเชื่อทางศาสนาอธิบายว่า ร่างกายคนเรามีพื้นฐานมาจากธาตุ 4 คือ ปฐวี  อาโป วาโย และ เตโช  ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และ ไฟ เมื่อใดธาตุทั้ง 4 สลายตัวก็จะคืนสู่สภาพเดิมท่านเรียกว่าการตาย นอกจากจะมีธาตุน้ำในร่างกายแล้ว การดำรงชีวิตอยู่ก็อาศัยน้ำทุกวัน ต้องดื่ม ต้องบริโภค ประกอบอาชีพซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรมก็อาศัยน้ำ คมนาคมก็แม่น้ำคำคลอง เพราะน้ำมีคุณมากมายอย่างนี้เองท่านจึงยกให้มีฐานะเป็นเทพ มีพระแม่คงคาเป็นเจ้าแห่งลำน้ำ การลอยกระทงจุดไฟบูชาพระแม่คงคา เป็นการแสดงออกถึงความมีกตัญญูรู้คุณแห่งน้ำเป็นกุศโลบายสอนให้คนรักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อมที่ลึกซึ้งมาก
              บูชาพระนารายณ์ที่นอนหลับอยู่กลางมหาสมุทร เชื่อกันว่าพระนารายณ์เป็นเทพนักปกครองฝ่ายปราบปราม ดูแลจัดระเบียบสังคมให้เกิดความสงบเรียบร้อย โลกเกิดผู้ก่อการร้าย เป็นภาระต้องลงมาปราบปราม สมัยทศกัณฐ์ตั้งตัวเป็นผู้มีอิทธิพลชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว พระนารายณ์ลงทุนอวตารมาเกิดเป็นพระลักษม์พระรามรบกันอยู่นานจนสงบและเล่าขานเป็นตำนานรามเกียรติ์ เพราะเชื่อว่าเทพองค์นี้มีพระคุณมาก การลอยกระทงบูชาพระนารายณ์ก็เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ปกครองที่มีคุณธรรม ทำให้บ้านเมืองสงบสุข
              การลอยกระทงบูชาท้าวพกาพรหม  ไม่แน่ใจว่าพรหมชื่อนี้มีอยู่ในสารบบ พรหมโลก 16 ชั้นไหน เคยได้ยินแต่ชื่อท้าวมหาพรหม ความชื่อคติพราหมณ์เล่าว่า พระพรหมได้รับการเคารพนับถือในฐานะที่เป็นเทพผู้ให้ ให้ชีวิตร่างกายแก่ทุกคนซึ่งเชื่อกันว่าต่างก็แบ่งภาคมาจากพรหม วิถีชีวิตแต่ละคนก็ถูกกำหนดโดยพรหมเรียกว่า พรหมลิขิต จะสุขจะทุกข์ ร่ำรวยหรือยากจน ล้วนเป็นไปตามพรหมบัญชา เพราะพรหมมีอิทธิพลต่อชีวิตมากอย่างนี้เอง จึงมีการแสดงความเคารพนับถือพรหม  การจุดโคมไฟลอยกระทงบูชาพรหมก็คงอาศัยเหตุผล แสดงความเคารพนับถือ ซึ่งนับเป็นการแสดงออกถึงความมีกตัญญูด้วยเช่นกัน
              การลอยกระทงบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี อ้างว่าเจ้าชายสิทธัตถะ ออกบวช ได้ตัดพระเกศา ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมาพระเกศามีเทพนำไปบรรจุไว้ที่พระธาตุบนสวรรค์ ชื่อพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี  วันเพ็ญเดือนสิบสองชาวพุทธไปงานลอยกระทงแทนที่จะบูชาเทพเจ้าก็ปรับมาบูชาพระพุทธเจ้าแทน อย่างน้อยก็ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่ริมฝั่งน้ำอโนมานทีที่ทำให้มี พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก ก็เป็นการแสดงความเคารพนับถือในพระพุทธเจ้า
             การลอยกระทงระลึกถึงวันพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ เล่าว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา ออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน สิบเอ็ด เสด็จกลับปรากฏพระองค์ที่เมืองสังกัสส ตอนเช้าตรู่เวลาบิณฑบาตพอดี มีศาสนิกชนมากมายไปรับเสด็จ  ถัดมา 30 วันเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสองชาวพุทธส่วนหนึ่งลอยกระทงและบอกว่าเพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าลงจากสวรรค์ ก็ยังไม่เข้าใจชัดเจนนัก แต่ก็ยอมรับได้ว่าต้องการบูชาพระพุทธเจ้า
             การลอยกระทงบูชารอยพระพุทธบาทริมฝั่งแม่น้ำ นัมมทานที มีเรื่องเล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมเทศนาโปรดพญานาคที่เมืองบาดาล ตอนเสด็จกลับขึ้นฝั่งที่แม่น้ำนัมมทานที พญานาคทูลขออนุสสรณเจดีย์ จึงประทับพระบาทไว้ที่ริมฝั่ง ทำให้พญานาคและชาวพุทธ ใช้เป็น อนุสรณ์เจดีย์ การจุดโคมไฟลอยกระทงบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะเกิดอยู่ริ่มฝั่งแม่น้ำ ก็ดูสมเหตุผลดี เจตนาที่แท้จริงก็คือบูชาพระพุทธเจ้า
             การลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตตเถระ เล่าว่าพระเถระรูปนี้เป็นพระอรหันต์ มีอภิญญาสูงสามารถเอาชนะหมู่มารได้ปกติท่านจำพรรษาอยู่ที่มหาสมุทร เมื่อมีงานสำคัญ ๆ ที่อาจมีมารมาผจญ ก็จะนิมนต์ท่านมาปราบ เมื่อพระเถระมาหมู่มารรู้จักฤทธิ์เดชท่านดีก็จะะหลบหน้าหายไป งานก็สงบเรียบร้อย ความเชื่อเช่นนี้ยังมีมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเวลาชาวบ้านจัดงานมหาชาติหรือบุญพระเวสส์ จะมีการตั้งศาลพระอุปคุตต์ มีการจัดขบวนแห่ไปเชิญมาจากท่าน้ำ เสร็จงานก็แห่ไปส่งที่เดิม  การจุดโคมไฟลอยกระทงบูชาพระอุปคุตตเถระ ก็คงเพราะเชื่อถืออย่างนั้น เชื่อว่าพระเถระมีคุณทำให้เกิดความสงบ จึงบูชาคุณท่าน
            ตำนานลอยกระทงต่าง ๆตามที่กล่าวขานมา ก็คงมีเหตุมีผลดังที่ได้นำเสนอไว้ ส่วนจะเชื่อตำนานไหนก็ตามใจตัวเราเองครับ เพราะแต่ละตำนานต่างก็ทำให้มีงานลอยกระทงได้ทำให้เรามีโอกาสไปร่วมงานรื่นเริง ได้ทำบุญ ได้พบญาติ ได้พบเพื่อนบ้าน ยิ่งหนุ่มสาวไม่ต้องห่วง งานนี้พลาดไม่ได้ บางคู่เขาใช้กระทงเสี่ยงทายว่าจะได้เป็นเนื้อคู่กันหรือเปล่า ลืมบูชาเทพเจ้าลืมบูชาพระรัตนตรัยไปเลยก็มี นอกจากนี้ยังได้ชมมหรสพต่าง ๆมากมาย
 จะไปลอยกระทง
          วันที่ 8 พฤศจิกายน 2546 ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองตลิ่งหรือไม่ไม่สำคัญ แต่พวกเราจะชวนกันไปลอยกระทงครับ  ตอนเช้าวันนี้เป็นวันพระคงต้องหาโอกาสทำบุญตักบาตร รักษาศีลห้าและฟังเทศน์ ให้ครบ บุญกิริยาวัตถุ 3 คือทาน ศีล และภาวนา อย่าเพิ่งประท้วงล่ะว่า ภาวนาต้องไปนั่งหลับตา ทำสมาธิเท่านั้น ชาวพุทธเราทำบุญเพื่อ กำจัดกิเลส ได้แก่โลภะ โทสะ และ โมหะ ให้เบาบางลง พระท่านสอนให้ใช้ ทาน ศีล และภาวนา นี่แหละเป็นตัวกำจัด ทานมาก ๆ โลภะ จะลดลงเรื่อย ๆ ถือศีลเคร่งครัด โทสะจะน้อยลง ภาวนาคือฝึกอบรมมาก ๆ จะได้ฉลาด เมื่อฉลาด โมหะคือความหลงผิด จะได้เบาบาง
ลงไป โมหะไม่ใช่โมโหนะครับ อย่าสับสนกัน ที่เราเรียกโมโหนั่นคือ โทสะ ส่วน แบบที่นั่งลูบคลำเปลือกต้นได้หาหวยนั่นแหละโมหะตัวจริง  ถ้ามีปัญญา มีความฉลาด โมหะจึงเบาบางลง  แต่ถ้าต้องการตัดให้เด็ดขาดกันไปเลย ต้องพึ่งสมาธิวิปัสสนาครับ
                หลังจากทำบุญแล้วก็คงเตรียมกระทงไปลอยกันตอนเย็น ปัจจุบันครูที่โรงเรียนเขาสอนเด็กทำกระทงกันสวย ๆทั้งนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหาทำกระทงไม่เป็น  มีข้อสงสัยว่าในกระทงจะใส่อะไรลงไปบ้าง คำตอบก็คือเราบูชาอะไรก็ใส่เครื่องบูชาสำหรับผู้ที่เราบูชาลงไปนั่นเอง  พรหมหรือเทพก็ดี พระรัตนตรัยก็ดี มีดอกไม้ธูปเทียนก็พอแล้ว  ไม่ต้องใส่กับข้าวคาวหวาน ยิ่งเงินทองยิ่งไม่ต้องใส่เพราะหล่นลงไปในน้ำแล้วจมหายไปเลย และยังเป็นสาเหตุให้กระทงเราพังง่ายขึ้น เพราะถ้าเด็ก ๆ เห็น เขาจะจดๆจ้องๆไล่จับกระทงเราเพื่อเอาสตางค์แน่นอน
                การแต่งตัวสวยงามตามประเพณีไทยเหมาะสำหรับเที่ยวงานลอยกระทง เพราะคนมากถ้าเขามีพิธีร่วมกันจะไปร่วมกับเขาก็ได้ ถ้าไม่ร่วมพิธีก็ชวนกันไปลอยกระทงได้ที่ท่าน้ำที่เห็นเหมาะสม ก่อนวางกระทงก็อธิษฐานกันหน่อย ว่าเรานำกระทงมาลอยวันนี้เพื่อบูชาอะไร  มีอธิษฐานจิตว่าอย่างไรบ้าง ว่าดัง ๆ หรือ นึกในใจก็ได้ เสร็จแล้วปล่อยกระทงไป ยืนดู กระทงลอยจากฝั่งไปแล้วก็กลับไปชมมหรสพ พอสมควรแก่เวลาก็กลับ
                มีคนเคยถามเหมือนกันว่า ลอยกระทงมีคำกล่าวเป็นภาษาบาลีแบบสังฆทานไหม แล้วคำอธิษฐานล่ะ ว่าอย่างไรจึงจะถูกจะควร  ได้ยินแล้วก็ขำเหมือนกันว่า เราคงไม่มีคำตอบจะให้ จากตำนานเล่าขานก็รู้แล้วว่าเขาบูชาเทพกันมาก่อน แล้วเราปรับปรุงเป็นการบูชาพระรัตนตรัย จะเกณฑ์ให้มีขั้นตอนพิธีกรรมก็เคยเห็นครับ ทางวัดเป็นคนจัดงาน มีพระเป็นประธานเขานำไหว้พระสวดมนต์อย่างย่อ รับศีล แล้วกล่าวคำบูชา ได้ฟังแล้วจำได้เป็นคำบูชาที่ดัดแปลงมาจากคำบูชาวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชานั่นเอง เขา แก้คำบาลีให้เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทแทน จบแล้วท่านประธานก็นำหน้าไปวางกระทงลงน้ำ สมาชิกก็ตามไปวางกระทงของตนเป็นจบพิธีลอยกระทงตามที่ถามมา
               คำอธิษฐาน เป็นเรื่องความปรารถนา ไม่มีใครยอมบอกกันหรอกครับ ยกเว้นหนุ่มสาวแค่ลูกตามองกันก็บอกได้แล้วว่าปรารถนาอะไร ส่วนกระผมอธิษฐานด้วยหลักการแบบชาวพุทธครับคือ แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์จงอยู่เย็นเป็นสุข  แผ่กุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ขอให้ทุกท่านสุขกายสุขใจอย่าได้มีภัยมีเวร แผ่กุศลให้ผู้มีพระคุณ ให้ญาติพี่น้อง อธิษฐานให้ญาติพี่น้อง และคนที่เรารักประสบโชคชัยกันถ้วนหน้า ก็ประมาณนี้ครับ ส่วนถ้ามีสาว ๆ ไปลอยกระทงด้วยจะอธิษฐานว่าอย่างไร  คงไม่ต้องบอก
เพราะทุกคนเก่งอยู่แล้ว
              โดยสรุปแล้วประเพณีลอยกระทงเป็นเรื่องสร้างสรรค์ ฝึกคนให้เป็นผู้กตัญญูรู้คุณธรรมชาติ รู้คุณผู้มีพระคุณ และเป็นโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมรื่นเริงกัน แต่ปัจจุบันน่าเป็นห่วงเพราะมีกิจกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป กระทงกลายเป็นของราคาแพงทุ่มกันเป็นหมื่นเป็นแสน มีประกวดประชันกัน  มีการจุดประทัดจุดพลุไฟเสียงดังน่ารำคาญ สำหรับชาวสุราบานก็ถือโอกาสเมากัน เมาแล้วพักผ่อนไม่มีปัญหา แต่พวกเมาแล้วเกะกะระรานคนอื่นก็ไม่เข้าท่าหมือนกัน เรื่องเหล่านี้เองจะทำให้งาน
ลอยกระทงเสื่อมความนิยมลงไปได้ เพราะค่าใช้จ่ายแพงไปจัดบ่อย ๆ ก็ไม่ไหว จัดแล้วหนวกหูรำคาญ ลอยที่ริมน้ำข้างบ้านสบายใจกว่า นาน ๆ เข้างานลอยกระทงก็จะจืดชืด ไม่ยืนยาว ใช่ไหมขอรับ
.......ข้อความเก่าเอามาเก็บ
-------------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 1/8/59

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น