การละเล่นพื้นบ้าน(ต่อ)
.....................
เล่นหมาก โค้งตีนเกวียน หรือ วงตีนเกวียน
เสียงเฮฮาที่ดังไกลมาก ของพวกหนุ่มสาวที่เล่นสงกรานต์กัน กลุ่มนี้คือพวกเล่นโค้งตีนเกวียน หนุ่มสาวนั่งหันหน้าเข้ากัน เอาเท้ายันกัน 8-10 คน เลยทำให้เกิดเป็นวงกลมนิยมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ชาย หญิง เท่า ๆ กัน เริ่มเล่น ฝ่ายชายลุกยืน มือจับข้อมือฝ่ายหญิงที่นั่งติดกันแบบผสานข้อมือ
ให้มั่น ฝ่ายหญิงสองเท้ายันกันไว้แน่น เมื่อจะเริ่มเล่น ฝ่ายหญิงจะโหนยกก้นขึ้นโดยเหนี่ยวแขนฝ่ายชายไว้ เมื่อสาวยกตัวได้แล้ว ชายก็จะเดินวนไปรอบ ๆ จนกว่า จะมีคนหลุดมือทำให้วงแตกล้มทับกันระเนระนาด เฮฮากัน ขนาดฝ่ายชายยังอุตส่าห์ล้มทับกับเขาด้วย อ่อนแอเหลือเกิน นะพ่อคุณ ฝายหญิงแพ้ ต่อไปเปลี่ยนฝ่ายชายนั่ง ฝ่ายหญิงยืน
พร้อมแล้วหมุนอีกรอบ หมุนไปได้ไม่นานมีคนทำมือหลุด คราวนี้สาวถูกดึงล้มมากองกันแทบทั้งหมด เลยรู้กันว่าถูกแกล้ง แต่ไม่เห็นเขาโกรธนะ แค่ชี้หน้ากันว่าคนนั้นแกล้ง คนนี้แกล้ง แล้วก็เล่นกันต่อ มารู้ทีหลังว่าคนชอบ ๆกันทั้งนั้น บางหนุ่มล้มทับสาวไม่อยากลุก ยังมีเลย ผู้ใหญ่เจ้าเล่ห์ครับ ไม่เหมือนวงเด็ก ๆ เขาเล่นเฮฮาสนุกกันเฉย ๆ
การเล่น งูกินหาง
การละเล่นอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นกันมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คือเล่นงูกินหางสมัยก่อนแดดไม่ร้อนจัดเหมือนทุกวันนี้ เล่นกลางถนนในหมู่บ้านยังได้เลย แต่ตรงไหนมีต้นฉำฉา ต้นมะม่วงคนก็ไปออเล่นกัน เพราะมีร่มเงา งูกินหางเล่นกันวงละ 7 -8 คน หางจะได้ไม่ยาวเกินไป เลือกคนที่แข็งแรงออกมา 2 คน ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ถ้าได้คู่ที่ชอบพอกันอยู่ด้วยยิ่งดี เสี่ยงทายกันใครจะได้เล่นเป็นพ่องู แม่งู
แม่งูก็จะเป็นหัวแถว ให้สมาชิกเกาะเอวต่อ ๆกันไป แม่งูจะคอยกันมิให้พ่องูแย่งจับลูกงูได้ง่าย ๆ
อีกคนเป็นพ่องู ทำหน้าที่ชวนร้องเพลงและพยายามแย่งจับลูกงู เริ่มเล่น พ่องูและแม่งู ยืนประจันหน้ากัน และเริ่มร้องเพลง
พ่องู "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู "กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา" พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา
พ่องู "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู "กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา" พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา
พ่องู "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"
แม่งู "กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา" พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา
พ่องู "กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว"
เมื่อพ่องูกล่าวเสร็จพ่องูจะเริ่มไล่จับลูกงูที่กอดเอวแม่งูอยู่ ส่วนแม่งูก็ จะพยายามป้องกัน
ไม่ให้พ่องูไปแย่งลูกงูได้ เมื่อพ่องูจับลูกงูคนใดได้ลูกงูก็จะออกมายืนอยู่ต่างหากเพื่อรอเล่นรอบต่อไป ส่วนพ่องูจะพยายามแย่งลูกงูให้ได้หมดทุกตัวจึงจะถือว่าจบการเล่นรอบหนึ่ง เมื่อพ่องูจับลูกงูได้ทุกตัวแล้วก็จะเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูคนเดิมจะกลับไปเป็นแม่งูในรอบต่อไป
สนุกตรงไหน ต้องถามพ่องูแม่งู เห็นบอกสนุกตรงได้แย่งลูกงูกัน ลูกงูบอกสนุกตรงได้แกล้งให้พ่องูจับได้ เป็นกิจกรรมเสริมความสามัคคีที่ดีมากครับ จะเล่นสงกรานต์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ แล้ว นอกจากเล่นสาดน้ำแล้ว ยังมีการเล่นอื่น ๆอีกที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยเล่นกัน เพราะมัวแต่ไปสาดน้ำ หรือตามดูพริตตี้โชว์กัน ขอนำเอา เรื่องราวสมัยก่อนมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อไม่ให้มันเลือนหายไปจริง ๆ เสียดายน่ะครับ
เกมไม้หิงอี่.
................การเล่นแบบนี้ อีสานเราเรียกว่า "ไม้หิง" ภาคใต้เรียกว่า "ไม้ขวิด" หรือ "ไม้อี้" ทางภาคกลางเรียก ไม้หึ่ง อุปกรณ์การเล่นและกติกาการเล่นคล้าย ๆกัน ตอนเรียนอยู่ ป. 2 ประมาณพ.ศ. 2495 เคยวิ่งเล่นไปรอบ ๆ หมู่บ้าน เพื่อดูว่าผู้ใหญ่เขาเล่นสงกรานต์กันอย่างไร ตรงไหน เสียงเฮฮาดังลั่นก็ตรงไปดู รำวงนี่เยอะมาก ม้าหลังโปก งูกินหาง รีรีข้าวสาร เตะบอล ตีคลี ที่ชอบมากคือการเล่นไม้หิงอี่ ไปยืนดูหนุ่มสาวเขาเล่นจนลืมหิวข้าวไปเลย
...............อุปกรณ์ เขาใช้ไม้ไผ่ขนาดเท่าด้ามมีด ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 60-75 เซ็นติเมตร ใช้เป็นไม้แม่หิงอี่ สวนตัวลูกก็ตัดสั้นหน่อยซัก 20 เซ็นติเมตร แค่นี้เล่นกันได้แล้ว สนามเล่น เขาใช้ถนนกลางหมู่บ้าน กันไว้ ยาวสัก 300 เมตร ก็พอ จุดเริ่มต้น จะขุดหลุมเรียก"หลุมพอก" ขนาด 10 x 25 เซ็นติเมตร เซาะให้ลึกตรงกลางหลุมสำหรับสอดแม่ไม้ลงไปวัด ลูก ที่วางพาด ปากหลุมไว้ แค่นี้ก็พร้อมที่จะเล่นกันแล้ว
กติกาการเล่น
.................. 1. แบ่งคนเล่นเป็น 2 ทีม ทีมละ 3-5 คน
...................2. เสี่ยงทายว่าทีมไหนเล่นก่อน เรียกทีมรุก อีกทีมเป็นทีมรับ
.................. 3. เล่นทีละคน จนตาย ระหว่างเล่น แล้วเปลี่ยนคนต่อไปเล่น หรือเล่น จนจบเกม แล้วค่อยสรุปคะแนน
...................4. เล่นครบทุกคนในทีม นับแต้มคนที่เล่นจบเกมด้วยการให้เดาะลูกนับแต้ม ใช้แต้มสำหรับจำนวนครั้งที่จะตีลูกเอาระยะทางปรับให้อีกฝ่ายวิ่ง
วิธีการเล่น ฝ่ายรุกเล่นก่อน ฝ่ายรับคอยรับลูก
................... ตาที่ 1 เล่นไม้ดีด หรือไม้งัด โดยพยามยามดีดลูกให้กระเด็นไปไกล ๆเท่าที่จะทำได้ ทีมรับจะยืนดักทางอยู่ว่าลูกจะถูกดีดไปทางไหน และช่วยกันรับมิให้ตกดิน ถ้ารับได้ คนเล่น ก็ตาย เปลี่ยนคนเล่น ถ้ารับไม่ได้ลูกตกดิน ก็เล่นต่อไป โดย คนดีดลูกวางแม่ไม้ พาดปากหลุม ไว้ จากจุดลูกตก ทีมรับจะทอยลูก โยนให้ถูกแม่ไม้หิงอี่ ถ้าแม่นโยนถูก ผู้เล่นตาย เปลี่ยนคนต่อไปเล่น ถ้ายังไม่ตายเล่นต่อ
ตัวอย่าง ทีมรุก 5 คน เล่นตาที่ 1 ตายระหว่างการเล่น 2 คน เหลือเพียง 3 คน เล่น ผ่าน ไปต่อ ตาที่ 2 )
................... ตาที่ 2 เรียกตาตี จับปลายแม่ไม้กำให้แน่น วางลูกบนกำมือ เวลาจะตี โยนลูกขึ้น สูงสักศอก พอลูกร่วงลง ใช้ซ่นแม่ไม้หิง ตีให้ลูกกระเด็นไปทางฝ่ายรับ ถ้าตีไม่เก่ง ฝ่ายรับ เขารับลูกได้ก็ตาย ถ้าตีเก่งลูกข้ามหัวไปตกพื้น ได้เล่นต่อ โดยยืนหน้าปากหลุมพอก ถือแม่ไม้ คอยปัดลูกที่ฝ่ายรับ ทอยมา เป็นการป้องกันมิให้ลูกฝ่ายรับทอยมา ไถลมาใกล้ปากหลุม ได้ ระยะสั้นกว่า 1 แม่ไม้ ถือว่าตาย ออกจากการเล่น
.ตัวอย่าง มี 3 คน ผ่านมาเล่นตาที่ 2 ตาย ระหว่างเล่น 1 คน ต้องออกจากการเล่น เล่นผ่านได้เพียง 2 คน ไปเล่นตาที่ 3
...................ตาที่ 3 กลับหลังตี ผู้ตียืนหันหลังไปทางผู้รับ ผู้ตียกลูกขึ้นเหนือศีรษะด้วยมือซ้าย มือขวาจับแม่ไม้ตีให้ลูกลอยไปตกทางฝ่ายรับ ถ้าฝ่ายรับ รับได้ก็ ตาย ถ้ารับไม่ได้ แล้วเอาแม่ไม้ วางขวางรางไว้ให้ฝ่ายรับทอย เหมือนเล่นตาที่ 1
ตัวอย่าง สองคนผ่านมาเล่น ตาที่ 3 และเล่นผ่านทั้งสองคน แสดงว่าทีมนี้มีคนถึงหลักชัยเพียง 2 คน มีสิทธิ์เดาะนับแต้มเพื่อตีลูกเอาระยะทาง ให้อีกฝ่ายวิ่งย้อนมาจุดเริ่มต้น
................... ตา นับแต้ม ชนะการเล่น 2 คน ถือว่า ชนะ มีสิทธินับแต้มเพื่อใช้ในการ ตี ลูก โดยการเดาะลูก ให้กระดอนขึ้นจากการโยนครั้งเดียว เดาะได้กี่ครั้ง ก็นับไว้ เพื่อตีลูกเท่าจำนวนที่เดาะได้ เช่น เดาะ ได้ 2 ครั้งลูกร่วงลงดิน นับให้ 2 แต้ม อีกคนเดาะได้ 3 แต้ม ทีมนี้มีสิทธิ์ตีลูกเอาระยะทางให้ฝ่ายรับ วิ่ง 2 คน 2+3 ครั้ง
................... ตีเอาระยะทาง คนที่ 1 เดาะได้ 2 แต้ม เริ่มตีจากหลุม ไปทางที่หมายตาไว้ ฝ่ายรับ ไปยืนดักทางคอยรับมิให้ลูกตกดิน รับได้ การตีครั้งนั้นไม่ได้ระยะทาง ถ้าลูกตกดิน ฝ่ายรุกก็จะไปตีลูกครั้งต่อไปที่จุดลูกตก คนแรกหมดแต้ม คนที่สองมาตีต่อ จนหมดแต้ม 5 แต้ม ได้ ระยะทางที่จะปรับฝ่ายรุกให้วิ่งย้อนกลับไปที่หลุม ขณะวิ่งต้องออกเสียง "อี่ " ยาว ๆ ขาดเสียงก็เปลี่ยนคนใหม่มาวิ่งต่อ ถ้าวิ่งครบทุกคนแล้วยังไม่ถึงหลุม ฝ่ายรุก ปรับด้วยการตีลูก ย้อน 1 ครั้ง แล้วเริ่มวิ่งใหม่ จนกว่าจะวิ่งถึงหลุม เป็นอันจบเกม ต่อไปก็เปลี่ยนข้าง รับมาเป็นฝ่ายรุก
...................หมายเหตุ การเล่นไม้หิงอี่ หรือ ไม้หึ่ง นี้ มีเล่นทุกภาค อุปกรณ์เหมือนกัน แต่กติกาการเล่น อาจแตกต่างกันบ้าง ตาที่ 1 ตาที่ 2 คล้ายกัน บางถิ่น สรุปแต้มเดาะลูก เมื่อจบตาที่ 2 บางถิ่นก็เล่นครบ 3 ตา บางถิ่นถ้าฝ่ายรุกเล่นชนะ 1 หรือ 2 คน ให้สิทธิ์ ซ่อม คนที่เล่นไม่ผ่านแต่ละตา โดยให้คนที่เล่นชนะแล้ว ซ่อมให้ โดยซ่อมตั้งแต่ ตาที่ตาย ไปจนครบ 3 ตา ถือว่าซ่อมสำเร็จ คนที่ซ่อมให้มีสิทธิ์เดาะลูกนับแต้มได้ ถ้าซ่อมไปสำเร็จ ก็จบไปไม่ให้สิทธิ์อีก
-------------------
ขุนทอง ตรวจทาน 1/8/59
คลังบทความของบล็อก
- มกราคม (3)
- ธันวาคม (4)
- ตุลาคม (3)
- กันยายน (2)
- สิงหาคม (8)
- กรกฎาคม (11)
- มีนาคม (1)
- กุมภาพันธ์ (6)
- มกราคม (5)
- ธันวาคม (1)
- ตุลาคม (1)
- กันยายน (1)
- สิงหาคม (3)
- กรกฎาคม (2)
- มิถุนายน (8)
- พฤษภาคม (4)
- เมษายน (2)
- มีนาคม (2)
- กุมภาพันธ์ (4)
- มกราคม (1)
- ธันวาคม (7)
- พฤศจิกายน (5)
- ตุลาคม (1)
- กันยายน (2)
- สิงหาคม (8)
- กรกฎาคม (29)
- ธันวาคม (1)
- พฤศจิกายน (1)
- กรกฎาคม (2)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น