วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ตอนที่ 1 ชีวิตคนบ้านนอก



                                                                ดื่มกาแฟที่บางแสน
                                                                    30 สค.2561 เขามาอ่านตรวจทานครั้งที่ 1 ตอนที่ 1 ชีวิตคนบ้านนอก
.......เหลนสาว ครูสุรีรัตน์ หาญบัญญัติ คงใช่นะ เพราะแม่เขาเป็นลูกของพี่สาวเรา พี่สาวเราเองเขา
ชื่อ
พุด   
ศรีประจง เราน้องชายคนเล็กชื่อ ขุนทอง ศรีประจง พี่มีลูกคนเดียว ชื่อสุวรรณทา ศรีประจง แต่งงานแล้วนามสกุลเป็นหาญบัญญัติ มีลูกชายหญิงหลาย คน คนสุดท้องครูสุรีรัตน์ หาญบัญญัติ 
แต่เราก็ดูแลเขาเหมือนหลานนะ ให้ลูกสาวคน โต"ครูนก ศศิธร ศรีประจง" เอามาอยู่ด้วย จนเขาได้เป็นครูแหละถึงแยกจากพี่นกไป ต้อง พูดยาวหน่อย เพราะเริ่มด้วยคำเหลน
.....ครูหน่อยอยากฟังเรื่องวิถีชีวิตคนบ้านนอก สมัยที่ ยังต้องหาบน้ำดื่มน้ำใช้ นานนะ ประมาณปี 2498 
ที่อพยพมาอยู่บ้านหนองลุมพุก ตำบล หนองเรือ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี ตอนนี้หมูบ้านเขาหนี
อุดรมาขึ่นจังหวัดหนองบัวลำภูแล้ว 
......ก่อนหน้าปี 2498 ครอบครัวเราอยู่ที่บ้านแก ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัด กาฬสินธุ์ 
ตาเรียนประถมจบ ป.4 ที่โรงเรียนบ้านแก ดังมาก เพราะสอบไล่ ป. 4 ได้คะแนน สูงสุดของอำเภอ ที่ 2 
ก็โรงเรียนเดียวกัน เขามีทุนการศึกษาให้เรียนต่อมัธยม 6 ปี ก็สละ ไม่เอา คนได้ที่ 2 ก็ถูกหวยไป เขาได้เรียนไปจนจบ ป.กศ.สูง ที่สวนดุสิต เราสละเพราะ ครอบครัวอพยพไปอยู่ที่บ้านหนองลุมพุก จะให้เราอยู่กับครอบครัวพี่สาว พี่เขย ไม่ไหว คิดถึงแม่ ลูกแหง่น่ะ ลูกชายหล่า กินนมแม่จนเข้าเรียน ป.1 ตอน 5 ขวบ (เข้าเรียนก่อนเกณฑ์ เพราะครูประจำชั้นมาเห็นอ่านเขียนได้คล่องที่บ้าน เพราะพี่เขาสอน)หย่านมได้เพราะ ครูประจำชั้นมาบ้าน เห็นดื่มนมแม่อยู่แกด่าเอา
......พ่อกลับมารับหลังสอบเสร็จ ครูมาต่อว่าอยากให้รับทุน ที่สุดพ่อก็รับปากจะให้เรียนต่อ ครูมอบสมุดปกแข็งให้ 1 โหล กำชับให้เรียนต่อจริง ๆ นะ จากนั้นก็มาปรากฏกายที่บ้าน หนองลุมพุก แบบนั้นจริง ๆ เมารถหลับตลอด มาถึงบ้านก็หลับต่อใครเขานั่งล้อมวงรอบ ๆ อยากดูมันเป็นคนยังไง กิติศัพท์มันยังกะลูกเทวดา พ่อแม่พี่น้อง โฆษณาชวนเชื่อไว้เยอะ พ่อซื้อบ้านพร้อมที่ดิน บ้านก็หลังปัจจุบันนี่แหละ คาน ตง ยังของเดิม หลังคาตอนนั้นมุงด้วยหญ้าแฝก ฝาเรือน ตับตองกุงทั้งหลัง ทำด้วยตอกไม้ไผ่ สานลายขัดตาห่าง ประมาณ 2.5X2.5 เซ็น ขนาด 1.5 เมตร คูณ 2.0 เมตร ใบตองกุง (พลวง) เก็บมาตากแห้ง เอามาวางซ้อน กันดี ๆ หัวขั้วใบ หางใบ ไปทิศทางที่ถูก ฝนตกสาด จะได้ไหลลงพื้นง่าย วางเต็มแล้วใช้ ปิดด้วยฝาอีกแผ่น ตอกมัดเป็นเปราะ ๆ ให้แน่น เสร็จเรียก "ฝาแขบตอง แคบตอง

" ใช้สำหรับทำฝา เรือน หรือทำหลังคากระท่อมนาก็ได้ บ้านหลังที่พ่อซื้อมีฝาเป็นฝาแขบตอง สามด้าน ส้วนด้านสำคัญคือหัวนอน ฝาแขบก้านกล้วย ยาวทั้งสามห้องเลย  อ้อที่เรียกแขบก้านกล้วย เพราะทำจากก้านกล้วยแห้ง ตัดเอายาว ๆ ตากแห้ง เขาตัดไม้ไผ่ลำเท่าแขน ยาวสักสองเมตร เจาะรู 4 รูห่างกันสักศอก เหลาไม้ไผ่ขนาดสามนิ้ว ยาว สองเมตร  สอดไปแล้วเอาก้านกล้วยวาง สลับโคนไว้ด้านบนและล่าง เรียงหนาทึบดีก็เอาไม้ไผ่อีกอันสอดหนีบก้านกล้วยเอาไว้ เสาจะมีไม้ก้ันทุกห้าสิบเซ็นต์  ไม้ที่เหลาสอดคีบหนีบก้านกล้วยไว้แน่น เอามาทำฝาบ้านได้อย่างดี หัวนอนผมก็คือฝาแขบก้านกล้วยนี่แหละ กลางคืนเสียงหนู แมลงมันวิ่งเพลินยังกะอยู่กลางป่า  ผมกับพี่ชาย นอนห้อง เปิง เป็นห้องพระด้วย วันพระต้องสวดมนต์กับพ่อแม่ แต่สวดไม่เป็นหรอก นั่งหลับมากกว่า 
.......ก่อนสงกรานต์ 3 วัน คงเป็น 10 เมษายน 2498 ตื่นสายเชียว ทั้งคนแก่ คนหนุ่ม คนสาว และเด็ก ๆ รออยู่ที่ข่วง พ่อทำร้านไม้ไผสำหรับสาว ๆนั่งเข็นฝ้าย ใต้ร่มมะม่วง ตื่นเช้าแม่หาข้าวให้กินบนเรือน อิ่มข้าวที่แม่หาให้ก็ลงมา เจอพวกรอดูหน้า เสียงทักเซ็งแซ่ "บักขุน"  จับความได้บางคำ ......."มันมาโตดำแถะ บักห่ามึง"......"บักนี่บ้อเฮียนป่องหลายเกินบ้านเกินเมืองเขา"... "มันกะเป็นตาเก่งเนาะ หัวโต หูกาง ตาตี่" "มา ๆ มานี่ ให้กูจับหำเบิ่งแหน่ เป็นจั่งได๋ คนเฮียน เก่ง หำดำหรือหำด่าง"...........สาระพัดญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านทั้งนั้นแหละ พ่อแม่ครอบครัวอพยพมาก่อน ส่วนตาเองรอบสอบไล่ ป. 4 เลยมาทีหลังก็ห่าง
กันเกือบสองเดือน เพื่อนบ้านเลยรู้จักเราดีจาก ราคาคุยของพ่อแม่พี่น้องเรานั่นแหละ 
.......เด็กก็คือเด็กนะ เจอเพื่อนเด็ก ๆ เขาชวนไปเดินป่า ก็เรียบร้อยหายไปทั้งวัน เขาพา ไปเดินป่า จั๊กจั่นกำลังออกพอดี สนุกมาก เขามี"บั้งตัง" "ไม้ต้อย" เรามีตะข้องคอยรับเอา ที่เขาต้อยได้ยื่นมาให้ ใส่ตะข้องมันยังร้องอยู่นะ เอามาส่องดูเรื่อย แปลกไม่เคยเห็นนี่นา เพื่อนบอกเอาไม้ตีเอาก็ได้ ไปหักกิ่งมะขามป้อมยาวสักวา รูดกิ่งและใบออก เหลือตรงปลาย สองสามแขนง ปอมัดรวมแน่น ๆ ยังกะไม้กวาด หวดขวับ ๆ โดนบ้าง ไม่โดนบ้าง เก็บได้เพื่อน มันกินสด ๆให้ดู มึงลองดูสิแล้วบอกกูว่าเหมือนอะไร ครับลองก็ลอง เหมือนกุ้งเนาะ...มัน หัวเราะ มึงเก่ง กินตัวเดียวรู้เลย เพราะงี้แหละจึงเอาไปก้อยลาบเหมือนกุ้ง แต่อร่อยกว่า กลับมาบ้านเขาแบ่งจักจั่นให้โดยยกจั๊กจั่นทั้งตะข้องให้หมด ขอตะข้องคืน น้ำใจคนบ้านนอก เขารู้เราไม่เคยเห็น เขากินทุกวันจนเบื่อ
               หาบน้ำต้องมีลีลาการเดินแลการโยกให้ได้จังหวะ น้ำไม่กระฉอก ต้อฝึกฝน
กันครับ รุ่นพี่จะสอนรุ่นน้อง จนทำได้เอง

.......วันหลังเพื่อนมาชวนไปตักน้ำ มันบอกสาว ๆเยอะนะ ที่หนองลุมพุก ชื่อเหมือนชื่อหมู่บ้าน กูหาบน้ำไม่เป็น เรา
บอก เพื่อนมันหัวเราะ หัดเอาซิวะ ครุหาบน้ำบ้านเรามี 3 หาบ พ่อทำ ให้เป็น ครุไม้ไผ่ จักสานอย่างดี ใช้ไม้หูลิงทำ "ฮวง"ครุ หาไม่ได้ก็ใช้ตอไม้ไผ่ รูปร่างคล้าย ตะกร้า แต่ใช้ตอกเส้นกลม สานเสร็จแน่นหนาดี แห้งดีแล้วก็ยาด้วยชัน ชันนี่ทำจาก"ขี้ซี" เกิิดจากยาง ไม้เต็ง-รัง ด้วงเจาะเป็นรู ยางจะไหลเยิ้มออกมา หยดย้อยลงก็เหนียวเกาะกันเป็นแท่ง ใหญ่ขึ้น ๆ หนักมากเข้า ก็หักหล่นลงดิน เรียก"ขี้ซี" คนไทยเขาเรียกชัน ไปเดินป่าเจอก็เก็บมาไว้ใช้ ต้องมีน้ำมันยาง ผสมจึงจะเหนียวพอใช้ยาครุมิให้น้ำรั่วซึมได้ เดินหาต้นยางใหญ่ขนาดสามคนโอบ จะเจอ รอยเขาขุดเอาน้ำมันยาง ถ้ารอยเก่า แต่เล็กอาจใช้ขวานฟันซ้ำ ให้ดูเป็นรอยใหม่ ใช้หญ้า หรือฟาง สุม ให้ไหม้เนื้อไม้เป็นรอยดำ ไหม้ดีแล้วก็ปัดฝุ่นไฟออก 
ทิ้งไว้คืนสองคืนจะมียาง ไหลออกมาขังอยู่ที่รอยบากนั่นแหละ เรียกน้ำมันยาง ได้ต้นละเล็กละน้อย สะสมไว้ก็เต็ม กระบอกไม้ไผ่ เก็บไว้ใช้งาน ไม่มีก็เร่หาขอซื้อคนที่เขามี
........ครุสังกะสี ไม่มีหรอก ครุตักน้ำต้องทำเอง ลูกผู้ชายต้องหัดจักสานให้เป็น ไม่เป็นอย่าไปจีบลูกสาวเขา พ่อแม่เขารังเกียจคนไม่มีฝีมือ เมื่อสานเสร็จตากให้แห้ง เหลา"ฮวง" ก็ ห่วงสำหรับหาบ หิ้ว นั่นแหละ เขาเหลากลม ๆ โค้งแล้วเสียบจนถึงก้นครุ เสร็จแล้วก็ถึงตา เอา"ขี้ซีมาทาครุ" ก็ใช้ชันมาบดเป็นผงกรองละเอียดด้วยผ้ามุ้ง ผสมน้ำมันยาง เหนียวได้ที่ก็ ทานอกใน ชันจะเป็นเหมือนกาว พอแห้งจะจับตัวเป็นแผ่นบาง ๆ แข็งและเหนียว จับตอกไม้ไผ่ดีมาก สีน้ำตาลเข้ม ทำให้ครุใหม่สวยมาก เอาผึ่งลมไว้ให้แห้ง ทาชันสักสองรอบก็ หนาพอจะใช้เป็นครุตักน้ำได้ 

 .........กะป่อมตักน้ำ คงเคยเห็นนะครับ เขาเอาแกลลอนน้ำมันเครื่องเปล่ามาเจาะด้านบน เหลือมือ จับไว้ผูกเชือก หย่อนลงไปบ่อน้ำลึก ๆ กระตุกเชือกให้มันจมน้ำ แล้วสาวเชือกขึ้นมา เทเอา น้ำใส่ถัง ใส่กะละมัง ปี 2498 ไม่มีหรอกแกลลอนน้ำมันเครื่องเปล่า ๆ น้ำมันก๊าดเพิ่งจะมี แกลลอนตักน้ำนั่นแหละเราเรียก "กะป่อม" บ่อน้ำลึก ๆต้องพึ่งมัน อันนี้ก็ต้องสานเหมือนครุ ตักน้ำย่อส่วน ชันยาเหมือนกัน มีกะป่อมก็ง่ายเวลาไปตักน้ำบ่อลึก ๆ 
.........ชนบทแถวบ้านหน้าแล้งมันแล้งจับใจจริง ๆ น้ำหนองประจำหมู่บ้าน ก็แห้งขอด เริ่ม ไม่สะอาด ก็เสาะหาบ่อน้ำดื่ม น้ำใช้กัน หาบมาใส่ตุ่มไว้บ้านใครบ้านมัน ปกติบ่อจะลึกไม่เกิน สามเมตรหรอก ก็จะมีน้ำขังประมาณเมตรเศษ เขาขุดบ่อกลม ๆ ปากบ่อเอาไม้มาตีเป็นปล่อง คล้ายประตูสี่เหลี่ยมสำหรับยืนและตักเอาน้ำ อุปกรณ์ก็ไม้ขอ ตะขอ ส่วนเชื่อกหามาเอง ตะขอตักน้ำจากบ่อ  เขาใช้ไม้ไผ่เลี้ยงลำเล็ก ๆ ยาว ๆ มาลนไฟ ดัดให้ตรง ตากให้แห้ง ด้านกกเจาะรูใส่ลิ่มใช้ เป็นตะขอเกี่ยว "ฮวงครุ" หย่อนลงไปตักน้ำ ก็ต้องใช้ฝีมือ แกว่งครุยังไงถึงจะตักได้โดยครุ ไม่หลุดจากตะขอ สาวส่ำน้อยทำครุหลุดจมบ่อน้ำบ่อย ๆ เป็นอันรู้กัน ก็ขำ ๆช่วยกันเกี่ยว เอาครุให้ ถ้าน้ำลึกก็ยากมาก ตักน้ำสาวขึ้นมา ได้เต็มหาบแล้วก็หาบกลับไปบ้าน มือใหม่ ก็ต้องฝึกแหละครับ การหาบการเดิน เขามีจังหวะเดินยักย้ายส่ายเอวยังไง น้ำจะไม่หก ถ้าไม่เคยมาก่อน น้ำกระฉอกเป็นสายไปถึงบ้านเหลือครึ่งเดียว พ่อแม่เห็นขำ ๆ นะ ไม่ด่าหรอก 
ครุตักน้ำ สานด้วยตอกไม้ไผ่เหลาแบบกลมรี ยาด้วยชันทั้งสองด้าน 
น้ำไม่รั่วซึมครับใช้ได้สองสามปีทนทานดี



ซนเหมือฉันเลยคุณหนู ผู้หญิงเขาหาบ เราก็อยากลองเนาะ


กะป่อมตักน้ำ ผูกเชือกด้วย ดีหน่อย 


น้ำลึกต้องใช้ไม้ขอ(ตะขอ) เกี่ยวฮวงครุหย่อนลงไป แกว่งให้ได้จังหวะแล้วจ้วงตักน้ำ ทีเดียวเต็ม 
คือมืออาชีพ ยังไม่เก่งก็หลายรอบหน่อย พวกสอบตกก็หลุดไม้ขอ ยุ่งตายห่าเลย


.........ถามว่าแล้วตาเคยหาบน้ำกะเขาไหม "ตาเป็นลูกซายหล่า" พี่สาว 4 คน พี่ชาย 1 พี่ชายคนที่ 5 ปีมะโรง เราสุดท้องปีวอก ห่างกัน 5 ปี ไม่มีใครอยากใช้งานหรอก ตัวเล็กไป แล้วทำเป็นไหม เป็นทุกอย่างเพราะดื้อ ซน อยากทำ หาบน้ำตกคันนา ครุเขาแตกหลายใบ เขาก็ไม่ด่านะ ตำข้าวยังงี้ เขาไม่ได้เรียกให้ช่วย เราดื้อไปช่วยเขาเอง ผู้ชายใครจะไปรู้วิธีตำข้าว เปลือกเป็นข้าวสาร แต่ตารู้จักนะ ครกมองต้องมีสาก 1 ชุดประกอบด้วย สากตำ เล็กสุด สากต่าว ใหญ่ปานกลาง สากซ้อม ใหญ่สุด เริ่มตำด้วยสากตำก่อน เพราะข้าวเปลือกล้วน ๆ สากเล็กกระแทกลงลึก เปลือกข้าวจะได้แตกกระเทาะ แม่หรือพี่สาวจะรู้ตำอยู่นานแค่ไหน พอแล้วจะเอากระดองเต่ามาคดออกใส่กระด้งฝัด ฝัดแกลบทิ้งไปเลยรอบแรก มีข้าวสารให้เห็นประปราย ยกที่สองเป็นยกต่าว สากขนาดกลาง เหยียบส้นครกช่วยกัน นานมาก เห็นมีรำ ปนอยู่ด้วย เช่นเคยผู้เชียวชาญบอกพอพอหยุดพักก่อน ตานี้คดใส่"เขิง"ก็คือตะแกรงร่อนเอารำ เสร็จแล้วเทใส่กระด้งฝัดแกลบ ออก ข้าวสารแลเห็นมากขึ้น 60-70 เปอร์เซ็นต์ได้ รอบสุด ท้ายสากซ้อมใหญ่สุด ช่วยให้ข้าวเปลือกระเทาะมากขึ้น ขัดสีขาวไปด้วย ผ่านยกนี้ข้าวสาร มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เช่นเคยกระดองเต่าคดใส่เขิง ร่อนรำก่อน ค่อยฝัดแกลบทิ้ง
.........ฝัดยกสุดท้าย คดข้าวซ้อมเสร็จจากครก ใส่เขิงร่อนรำออกก่อน ค่อยฝัดแกลบออกจะมีเมล็ดข้าวเปลือปนอยู่เล็กน้อย ก็จะเก็บเป็นข้าวกากออก เหลือแต่ข้าวสาร ข้าวกากก็ เก็บไว้ใส่ตอนซ้อมคราวต่อไป จากการตำข้าวจะมีผลได้ 3 ชนิดคือ รำ เอาไว้เลี้ยงหมู ข้าวสารเอาไปนึ่งข้าวเหนียว หรือหุงแบบข้าวจ้าว แล้วก็กากข้าว เก็บไว้ซ้อมคราวต่อไป จากการเล่าถึงการตำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร ความจริงมือตัวช่วยถึง 3 อย่างคือครกมอง ครกมือ และเครื่องสี เดี๋ยวแยกกันเล่าแล้วกัน
..........ครกมือ ใช้ไม้เต็ง รัง มะค่า แล้วแต่จะหาได้ เอาไม้ดิบ ๆ ตัดท่อนยาวเกือบเมตร เอา มาฝังดิน โผล่ออกมาซัก 50-60 เซ็นต์ แล้วแต่คนฟันด้วยขวานจะถนัด ใช้ขวานด้ามยาว เกือบเมตร มีหอนเสียบกับขวานเหล็กสอดอยู่โคนด้ามขวาน ขวานแบบนี้ปกติใช้ ถากเสา เรือ โค่นต้นไม้ เอามาขุดครกก็ได้ ฟันวนรอบ ๆ เป็นวงกลม เนื้อไม้จะถูกขุดลงไปเรื่อย ๆ เนื้อไม้จะถูกขุดลึกงงไปเรื่อย จนขวานฟันไม่ถนัด เปลี่ยนเป็นสิ่ว แต่งไปด้วย ขุดเจาะไปด้วย สี่ห้าวันก็คงเสร็จ ครกมองก็ใช้วิธีเดียวกัน ครกมือ ช่างบางคนใช้วิธีกลึงตกแต่งให้ผิวด้านในราบเรียบ ดา้นนอกแต่งซะสวยงาม ครกมองมีขนาดใหญ่ การตกแต่ง สะดวกกว่า



...........สากที่ใช้กับครกมือ ส่วนมากทำจากไม้แก่น เนื้อแข็ง ถากเป็นรูปสากด้วยมีด ขวาน สวยไม่สวยแล้วแต่ฝีมือ ปกติทำอันเดียว ใช้ตำได้ทั้งสองด้าน ด้านเล็กใช้ตำตอนเริ่มต้น ด้าน ใหญ่ใช้ตำเมื่อข้าวกระเทาะมีข้าวสารมากแล้ว ส่วนสากสำหรับครกมอง มีชุดละ 3 สาก ทำ จากไม้แก่นเนื้อแข็ง ถากกลม ๆ โคนใหญ่ ปลายเล็ก ปลายสากจะบากเป็นบ่าและมีเดือยสำหรับสอด มีแค่นี้ รูปร่างเหมือนกันทั้งสามสาก สากตำ สากต่าวและสากซ้อม สากมองจะตำครกได้ต้องมี แม่มอง ใช้ไม้เนื้อแข็งยาว 3-3.5 เมตร ถากกลม ๆ หกเหลี่ยมแบบเสาเรือน ด้านหัวโต หน่อย ด้านหาง เรียวเล็ก จากส่วนปลาย ประมาณ 1 เมตร เจารูสี่เหลี่ยมเพื่อสอดคาน ยาว 30-40 เซ็นต์ ตรงนี้เขาเรียก แอวมอง แอวก็คือเอว ส่วนปลาย ห่างซักฟุตหนึ่ง เจาะรูสี่ เหลี่ยมสำหรับสอดสากมอง เลือกที่จะวางครกมอง ได้ก็หาหลักมอง สองหลัก ปักหันหน้า เข้าหากัน เจาะรูไว้สอดแอวมอง รูสอดสากจะตกกลางครกมองพอดี เสร็จก็ใช้งานได้ 

.........เครื่องสีข้าว อันนี้ไม่เคยเห็นเขาทำ เห็นแต่เขาซื้อมาใช้งาน  เขาสานคล้ายตะกร้า ทรงกลม แต่งเป็นสองท่อน ท่อนบนใส่ข้าวเปลือก มีช่องปล่อยข้าวผ่านฟันเฟืองที่เวลาหมุ่นข้าวเปลืองจะค่อย ไหล ผ่านและถูกระเทาะแล้วหลนลงที่รองรับชั้นล่าง ไหลต่อไปที่ตะกร้ารองรับ ข้าวจะกระเทาะไ้สัก 60-70 เปอร์เซ็นต์ เอาไปใส่ครกมืองซ้อมอีกทีก็จบ

ทำมาหากิน
........เล่าเรื่องยาก ๆไปแล้ว แทรกเรื่องเบา ๆหน่อย เอาเรื่องการทำมาหากินแล้วกัน เขา จะฝึกสอนกันแต่ยังเล็ก ปล่อยให้เล่นประสาเด็ก ๆไประยะหนึ่ง พอรู้ความการเล่นก็จะเปลี่ยน ไปเป็นการทำมาหากิน เพื่อน พี่ พ่อแม่จะสอนให้ อะไรบ้าง หากบ เขียด อึ่งอ่าง อีฮวก ปลา แมลงในน้ำที่กินได้ หอย กะปอม นก บ่าง หนูนา พังพอน อีเหน พืชผักนานาชนิด
......หากบเขียด ปกติหน้าฝนจะเห็นกบเขียดส่งเสียงร้องมันจะวางไข่ คนก็ชอบออกไปส่องจับเอาเพราะ มันร้องเสียงดังไปไกล ฝนพรำ ๆ มันร้องไม่หยุด ใช้มือเปล่าจับเอาได้ มีสวิง ตาช่าย ก็ช่วยจับง่ายหน่อย จับกบเขียดหน้าฝนใหม่ ๆ ที่มันร้องเซ็งแซ่ ไม่ดีนะเพราะมันกำลังจับคู่ ผสมพันธุ์กันละวางไข่ แต่คนก็ไม่มีมรรยาทไปขัดขวางพวกมัน ขนาดเอามาเทใส่ตุ่มที่บ้าน มันยังจับคู่วางไข่ต่อเลย ถ้าคนโดนขัด จังหวะบ้างคงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟทีเดียว หลังจากนั้น ไม่นานอีฮวก คือลูกอ๊อด ก็โตขนาดปลาซิว ถือสวิงไปหาช้อนเอาอีก บางทีเจอที่เดียวช้อนได้เป็นถ้วย พอสำหรับทำกับข้าว พวกผู้หญิงเขาเก่ง เดินเลาะไปตามทุ่งนา ตรงไหนน่าจะมี เขาลงลุยช้อนไปมาก็ได้ลูกอ็อด.... ผ่านไปสักระยะหนึ่ง ลูกอ๊อดที่รอดก็กลายเป็นกบเขียด ตอนนี้จับมันยากหน่อย ยิ่งพวกโตเต็มที่ยิ่งจับยาก แต่ไม่ใช่กระผม...จับธรรมดา ๆไม่ได้ก็
ขุดหลุมดัก พลุ หน้าไม้ ส่องยิงก็ทำ พวกตัวโต ทำกับข้าวอร่อย เมนูพื้น ๆก็ทำป่นกบป่นเขียด ต้มกับมะเขือเปราะ น้ำปลาร้า เครื่องปรุงก็มีพริกหอมกระเทียม ข่า ก็จะได้ป่นกบป่นเขียดอร่อยมาก ได้เยอะ

ก็เอาไปทำต้มใบมะขามอ่อน  แกงคั่ว แกงอ่อม  นึ่งกินกับผักตำลึง ดอกแค ผักจากสวน อร่อยทุกเมนู
.......แมลงกินได้ มุมคันนาที่น้ำขังนาน ๆ จะมีพวกแมลงกินได้หลายชนิด บางทีก็ปลาตัว เล็กปะปนอยู่ด้วย พวกผู้หญิงถือสวิงออกหากิน ผมชอบตามไปดูพี่สาวเขาช้อนหาแมลง อาสาถือครุให้ เขาลุยช้อนไปมา ยกสวิงมาวางบนคันนา เราก็ไปช่วยเก็บ กุ้ง หอย ปู ปลา แมงดา แมงตับเต่า แมงอี แมงคันโซ่ แมงข้าวสาร(กินได้ตัวเล็กไม่เอา) ช้อนไป ๆ เก็บ เอาหมดจนได้ประมาณพอทำกับข้าวได้ก็กลับ เอามาทำห่อหมกเกลือใส่ใบแมงลักหน่อย แค่นี้กินอิ่มทั้งครอบครัวเลยนะ  ได้เยอะก็แกงใส่หน่อไม้ดอง แกงเอาะแกงอ่อมใส่ผักจากสวน อร่อยทั้งนั้น นั่นคือแมลงจากในน้ำ ยังมีแมลงอีกมากมายบนบก
………เด็ก ๆเรารู้จักแมลงกินได้จากพี่ และเพื่อน ๆ ตั๊กแตน มันลงกัดกินหญ้า เต็มทุ่งนา แปลงกล้า ถ้าแห้งไม่มีน้ำมันยังลงไปกัดกินด้วย พ่อสานไม้แตะจากไม้ไผ่ จักส้วนปลายเป็นตอก ใช้ตอกเส้นยาว ๆ ถักไปมาลายขัด ได้ไม้แตะรูปร่างอย่างพัด ใช้ตบตั้กแตนดีมาก ด้ามยาว สามปล้องไม้ไผ่ จากนั้นได้ตะข้องก็ตระเวณล่าตั้กแตนโม ตั้กแตนหัวเจ้ย ตักแตนเขียว ตักแตนคอปล้อง ตั๊กแตนหวาย ตะปบได้ ก็ใส่ตะข้อง ได้ไม้ขัดแตะใหม่ ๆ ปวดมาก ปวดใจอยากไปจับตั๊กแตน เจอไม่พลาด ห่างเกือบว่า ไม้ขัดแตะหวดขวับเดียว ใส่ตะข้อง เดินออกจากเถียงนา ไปนาโนน สักกิโลเมตร แต่ดูไกลมาก นาโนนน้ำไม่ท่วม หญ้าเยอะ ตั้งแตนมาชุมนุมอยู่นี่แหละ จนได้ยินเสียงแม่เรียกไปทานข้าวเช้า ได้ยินเสียงพระตีกลองเพล แสดงว่าสายมากเกินพอดี แม่เอาตะข้องให้พี่สาวจัดการเด็ดปีก เอาใส้ออกทิ้งแล้วคั่วใส่หม้อนึ่ง กินข้าวกับแจ่วบอง ผักสด ครู่หนึ่งก็มีต๊กแตนคั่วมาให้ อร่อย แม่และพวกพี่ ๆมาแจมด้วย แถมบอกด้วยวันหลังไปอีก
.......ตามคันนาจิ้งหรีดมันหากินและมีรูอยู่ตามคันนา ช่วงน้ำนองขึ้นมาอยู่บนคันนาหมด หา ไม่ยาก จิ้งหรีดตาฟางขุดรูไม่เก่ง อาศัยหลบใต้ใบไม้ กอหญ้า เขี่ยออกอยู่กันสี่ห้าตัว ก็จับเอา เบื่อคุ้ยเขี่ย วักน้ำสาด มันนึกว่าฝนตกน้ำจะท่วม กระโดลลงน้ำจะว่ายหนี จับง่าย เลือกเอาแต่ ตัวโต ๆ ต๊กแตนก็มีแต่มันบินหนีไปได้ จิโป่มก็ได้ถ้าเจอรูบนคันนาวักน้ำใส่ให้เต็มไม่นานก็โผล่ ให้เราจับได้ จับง่ายก็แมงกะชอน กอหญ้าแปลงใหญ่รก ๆในแปลงนา จะเห็นรอยมันมุดหากิน มันมุดตื้น ๆ รอยดินแตกแยกเป็นทางยาวละก็ใช่ รอยมาก ๆ แสดงว่ามีเยอะ เพราะตอนเย็น ๆมันจะส่งเสียง ร้อง เพื่อนๆ ก็มากันกลายเป็นนิคมแมงกะชอน เราจะขุดดินทำคันกั้นน้ำให้ท่วมบริเวณที่มีแมง อยู่ วิดน้ำให้ท่วมและเดินย่ำให้เป็นโคลน ครู่เดียวแมงกะชอนโผล่มาลอยน้ำ มีกี่ตัวเห็นหมด ปกติเราจับไปทำเหยื่อเบ็ดนะครับ ปลากินเนื้อทุกชนิดชอบ ส่วนปลากินหญ้ามันไม่สนหรอก เราจับแมงกะชอนมาคั่วกิน เหมือนดักแด้นั่นแหละ อร่อย 



 








........แมงเม่าแมงมัน วันฝนตกต้นฤดูกาล มักมีแมงเม่าออกมาตอนไฟ มันไม่ได้สนใจไฟหรอก แต่มันมีสัญญาใจกับแฟน ๆ คิดถึงฉันวันฝนตก ตรงที่มีแสงสว่าง ๆ ฉันรอเธออยู่นั่น หากันเจอ พวกก็ลงพื้นสลัดปีกทิ้ง เกาะก้นกันเป็นคู่ ๆ แล้วก็พากันไปหาห้องพักหลับนอนกัน มันเอาจริง ไม่ทิ้งไม่ขว้างนะ ตัวเมียถ้าโชคดีต่อมาก็เป็นนางพยาปลวกเชียวแหละ โชคร้ายก็เป็นเหยื่อสัตว์ กินมดกินปลวกซะก่อน เราจับแมงเม่าแมงมันแบบผู้ดี เอากะละมังใส่น้ำ เชิญหล่นลงลอยใน กะละมัง ปีกหลุด แมงเม่าได้อาบน้ำสะอาดทุกตัว แต่ตรงนี้ไม่ได้จับคู่นะ แต่โดนจับเอาไปคั่ว นึกดูแล้วก็โหดไม่เบานะคน มันออกมาหาแฟน แต่ดันไปจับมาคั่วกินซะนี่
.......แมงแคง กลิ่นหอมฉุนคล้ายแมงดา ฉุนมากก็แมงแคงต้นตะคร้อ ต้นลำใย เวลาเอาตาข่าย จับระวังเยี่ยวมัน โดนผิวหนังแสบยังกะไฟลวก โดนลูกตาล้างไม่ทันถึงบอด เรารู้จักดีก็ระวัง เห็นเกาะบนยอดไม้ ไม้ส้าวยาว ๆ ตีให้ตกใจ หลายตัวทำเป็นหล่นแบบกูตายแล้วอย่ายุ่ง เปล่าเราชอบจับง่ายกองอยู่ตามดิน หลายตัวบินหนี ผ้าขะม้าม้วนกลม ๆ ปาถูกหล่นลงดิน เอามาทำ น้ำพริกแมงแคง ได้สองสามตัวน้อยไป ก็ตำใส่แจ่วบองนั่นแหละหอมอร่อย แมงแคงคราม ตัวสีคราม ขาโต ๆ เราเรียกแมงแคงขาโป้ ฉุนน้อยหน่อย เลยกินสด ๆได้ ชอบจับตามยอดอ่อน ต้นคราม ไม่กลัวถูกจับเลยง่ายเห็นกี่ตัวจับได้หมด ก็กินหมดเหมือนกัน ไปอยู่เมืองเลย ภูเขา น่าจะถึงพันลูก มอตโต้เมืองนี้ คือทะเลแห่งภูเขา สุดหนาวในสยาม ภูเขาก็ป่าไผ่เยอะมาก ชาวบ้านจับแมงแคงใส่กระบอกไม้ไผ่มาขาย กระบอกละ 5 บาท เดียวนี้ 20 บาท ร้านอาหาร ขายลาบเนื้อ ลาบปลา มีแมงแคงใส่กระบอกให้ด้วยอยากกินก็สั่งเอา เขาเทลงชามลาบเนื้อ กินกันตัวเป็น ๆเลย ผมก็ชอบนะ
........ดักแด้หายาก แต่ถ้าเจอก็เยอะเหมือนกัน แม่สาวไหม ต้องไปแอบกระซิบไว้ ตอนเย็นจะ แวะมาเอาดักแด้ ความจริงไม่สั่งก็ได้แม่จัดให้อยู่แล้ว แต่เรามันลูกแหง่นี่ ต้องอ้อนมาก ๆ แล้ว จะสมหวัง เลิกเรียนมาทันแม่เลิกสาวไหม กำลังเก็บหม้อนึ่งที่ใช้ต้มสาวหลอก ไม้สาวไหม ยาว ๆ กำลังคนหม้อให้ใยไหมหลุดจากดักแด้ ใส่เกลือนิดหน่อย พวกเราถือกระลามะพร้าว ยืนรอ เสร็จแม่ก็แจกคนละช้อนสองช้อน วิ่งไปกินกับข้าวเหนียวบนบ้าน ไม่มีคนเอามาขายแบบ สมัยนี้นะ จะได้กินก็เมื่อแม่เลี้ยงไหม 

                                                                            จบตอนที่ 1
ตอนที่ 2 เครื่องมือเครื่องใช้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น