วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

เดือนสี่ทำบุญมหาชาติ


                                                    ภาพผู้เขียนตอนไปเที่ยวเมืองโบราณ

...ประเพณีฮีตสิบสอง ไทยอีสาน เดือนสี่มีประเพณีทำบุญมหาชาติ ฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดกช่วงปี 2504-2510 กระผมอยู่บ้านชนบทห่างไกล ได้สัมผัสประเพณีแบบบ้านนอกหลายอย่าง จน สามารถบอกเล่าให้ลูกหลานสมัยนี้ฟังได้ไม่ตกหล่น นี่ก็จะเล่าประเพณีเดือนสี่แบบไทยอีสานให้ฟัง ใครเคยฟังเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน จะเข้าใจเหตุผลที่คนอีสานต้องทำบุญเดือนสี่ เพราะในเรื่อง มาลัยหมื่นนี้จะเล่าถึงพระมาลัยเถระ พระอริยเจ้าชาวลังกา เป็นผู้เชี่ยวชาญอภิญญาสามารถท่องไป นรกสวรรค์ได้ ได้พบนายนิริยบาลและก็สนทนาไต่ถามสาเหตุที่ทำให้สัตว์ตกนรก ได้ฟังเรื่องราวสัตว์นรกพบว่า ส่วนมากก็ตกนรกเพราะกระทำบาป ละเมิดศีลห้า และสั่งความไปหาญาติพี่น้องให้ช่วยทำบุญกุศลอุทิศส่วนบุญไปให้บ้าง ไปสวรรค์ ก็เช่นกันมีโอกาสสนทนากับเทพบุตรเทพธิดา ได้รู้เหตุที่นำมาเกิดในสวรรค์ พระเถระกลับมาโลกก็ ได้เล่าให้ญาติโยมฟัง คราวหนึ่งได้พบเทพบุตรจากสวรรค์ชั้นดุสิตมานมัสการพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ได้สนทนากันก็ทราบเป็นพระศรีอาริยเมตรัยโพธิสัตว์ และได้สนทนาธรรมตามสมควร ช่วงหนึ่งได้ถาม แนวปฏิบัติสำหรับผู้หวังจะได้เกิดทันศาสนาของพระศรีอารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า เทพบุตรก็แนะนำให้ตั้ง มั่นในศีลในธรรม แลหาโอกาสฟังเทศน์มหาชาติให้จบใน 1 วัน อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ก็จะมี วาสนาได้พบศาสนาของพระศรีอารย์ พระมาลัยได้กลับมาและเล่าให้ชาวบ้านฟัง ต่อมาก็นิยมทำบุญฟังเทศน์มหาชาติกันทั่วไป โดยเฉพาะไทยอีสานนิยมทำกันทุกหมู่บ้าน จนกลายเป็นประเพณี"ฮีตเดือนสี่ "นั่นเอง
                                                 


พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมกบิลพัสดุ์ มีฝนโบกขรพรรษตก
 เป็นเหตุให้ตรัสเวสสันดรชาดก
........การทำบุญของชาวบ้านแบบที่เป็นบุญส่วนรวม คือร่วมกันจัดทั้งหมู่บ้าน จะมีประเพณีที่ทุกบ้าน  ทุกครอบครัวมีส่วนร่วมช่วยกัน เช่นการรับรองแขกต่างบ้านที่มาร่วมทำบุญ การเตรียมข้าวปลาอาหาร รับรองแขก และถวายทาน ช่วยสนับสนุนการจัดงานที่วัด เช่นการเทศน์ มหรสพ การละเล่นต่าง ๆ ขอพูดถึงการรับรองแขกต่างบ้านกอ่น ประเพณีชาวอีสานบุญบ้านไหน จะร่วมกันรับผิดชอบทั้งหมู่บ้าน บ้านไกล ในละแวกตำบล มักหาโอกาสไปร่วมทำบุญ มีญาติพี่น้องก็ดีถือโอกาสไปเยี่ยมเยือน ไม่มี ก็ไม่เป็นไร เจอบ้านไหนเขาจะเชิญทานข้าวเสมอ ไม่รู้จักกันก็เชิญ งานบุญเดือนสี่ไม่มีสุราแจกนะ ต้องบุญเดือนหกเมากันทั้งหมู่บ้านเลยแหละ เพราะต้องรับรองแขกนี่แหละ ทุกครอบครัวต้องเตรียม จะได้อะไรมาเลี้ยงแขกที่มาเยือนวันทำบุญ หลัก ๆ ก็จะเป็นปลาสด ปลาย่าง ฟักเขียว แฟง และผัก สวนครัวอื่น ๆ ดีหน่อยก็เป็ดไก่ที่เลี้ยงไว้นั่นแหละ ส่วนหมูเนื้อสมัยก่อนไม่มีโรงฆ่าสัตว์หรอก ก็อาจมี บางคนเขาเอามาขาย นอกจากนี้บุญเดือนสี่ข้าวต้มมัด ข้าวต้มผัด ขนมหวานก็นิยมทำกัน ขาดไม่ได้ คือข้าวปุ้น ก็ที่คนไทยเรียกขนมจีนนั่นแหละ 
.........ทางวัดเป็นศูนย์รวมการทำบุญเดือนสี่ มีภาระต้องจัดการหลายอย่างเหมือนกัน พระเณรน้อย งานหนัก พระเณรมากก็พอไหว มีอะไรต้องเตรียมการบ้าง เช่น ซ่อมผ้าพระเวส เตรียมธุงปฏาก เตรียมเครื่องบูชาการเทศน์มหาชาติ เตรียมการเทศน์มหาชาติชาดก เตรียมสถานที่เทศน์และฟังเทศน์ ..........ซ่อมผ้าพระเวสส สมัยก่อนทุกวัดจะมีภาพวาดบนแผ่นผ้าขาวเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก แต่ต้น จนจบเรื่อง เวลาเก็บก็ม้วน ๆไว้ กางออกวนรอบศาลาการเปรียญทีเดียว เรียกผ้าพระเวส ใกล้งานต้องนำออก มาสำรวจดู ขาดชำรุดก็ซ่อมให้เรียบร้อย ปัจจุบันไม่ค่อยมีใช้กันแล้ว ไปใช้ภาพวาดใส่กรอบแทน ใช้ อย่างน้อยก็ ครบ 13 กัณฑ์ 13 ภาพ 

                                       ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อีสาน บุญเดือนสี่
                                 แห่พระเวสเข้าเมือง นิยมเอาผ้าพระเวส กางช่วยกันถือ

...........ธุงปฏาก ธงแผ่นผ้าผืนใหญ่ ๆยาวหลายเมตร ใช้ไม้ไผ่ตงทั้งลำเป็นคันธุง ชื่อเต็มคือธุงปฏาก ทางเหนือมีขายเป็นของฝากด้วย ของอีสานสำหรับงานนี้ผืนใหญ่ ก่อนวันงานตรวจดูให้ดี ขาดชำรุด เชิญประสกสีกามาช่วยซ่อม เพราะต้องใช้ตอกไม้ไผ่เหลาบาง ๆ สอดทำลวดลาย ใช้เส้นฝ้ายยาว ๆ เป็นเส้นยืนด้วย ถักทอด้วย สลับกับตอกทำลวดลาย ประสกจักตอกให้ สีกาก็ถักทอ ซ่อมช่วยกัน พระก็ลงมาให้กำลังใจ อยากน้ำมะพร้าว ได้เลยบนต้นมี อยากได้ไม้ไผ่มาจักตอก เปลี่ยนคันธุง ได้ กอไผ่วัดเราก็มี โยมอยากกินส้มตำหลวงพี่ มีปลูกไว้หลังวัดเต็มเลย แค่เตรียมงานก็สนุกแล้วนา ...........เตรียมเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ เทศน์มหาชาติ ต้นฉบับบาลีมี พันพระคาถา เลยถือเอาจำนวน คาถาเป็นแนวจัดเครื่องบูชา จัดให้ครบพัน มีอะไรบ้าง เช่น ดอกไม้ต่าง ๆ ที่เคยเห็นเช่นดอกโน ใช้ลำต้นหม่อนมาปาดเป็นกลีบดอก เหลาไม้ไผ่เสียบเป็นก้าน ย้อมสีต่าง ๆเอาไปประดับบนศาลา ดอกไม้แห้งสะสมไว้ ประมาณว่าอย่างละพัน ดอกไม้สดนำมาร้อยเป็นพวง เชือกฝ้ายชุบแป้งเหนียว นำไปคลุกข้าวสาร กลายเป็นเส้นดอกไม้สีขาว สวยงามดี ประดับตกแต่งศาลาให้มีสระน้ำ ต้นไม้ แบบที่ พรรณนาป่าหิมพานต์ หรือเขาคีรีวงกต ศาลาก็เลยรกด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย มะพร้าว คนมีฝีมือสาน นก ปลา ห้อยเต็มไปหมด 
                                        ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ศาลาฟังเทศน์พระเวสส
                               ศาลาการเปรียญที่ฟังเทศน์ ตกแต่งให้สวยงาม
..........เตรียมการเทศน์ มีหนังสือใบลานสำนวนอีสานเรียก ลำพระเวส จารด้วยตัวธรรม ต้องแบ่ง 13 กันฑ์ ออกเป็นส่วนย่อย ๆ 3-5 ใบลาน สำหรับคนอ่าน 1 ครั้ง มากกว่านี้ก็ยากหน่อย เพราะ ตัวธรรมทั้งนั้น จะต้องเตรียมล่วงหน้าถึงจะอ่านคล่อง พระเณรน้อยก็ แจกไปวัดบ้านอื่นในตำบลเดียว กันส่งพระเณรมาเทศน์ช่วย 13 กัณฑ์ จะแบ่งประมาณ 40 ผูก เทศน์รอบละ 1 ผูก พระเณรน้อย ส่งไปให้วัดใกล้เคียงมาช่วย จัดโยมอุปถัมภก์กันฑ์เทศ์ให้ครบทุกกัณฑ์ พระเทศน์จบก็นิมนต์ไป รับกัณฑ์เทศน์ สำหรับการมาลัยหมื่นเทศน์ก่อนเริ่มเทศน์กัณฑ์ทศพร ปกติเจ้าอาวาสเทศน์เอง ..........ลำดับการเทศน์มหาชาติ กำหนดเทศน์ วันเดียวจบ งานจะกำหนด 3 วัน วันแรกเป็นวัน โฮมบุญ ชาวบ้านห่อข้าวต้ม บีบข้าวปุ้น(ขนมจีน) วันที่ 2 เริ่มงานบุญ ตอนเช้าไปแห่อุปคุตจากท่าน้ำ มายังศาลอุปคุตที่เตรียมไว้บริเวณวัด ตอนบ่ายแห่พระเวสเข้าเมือง ขึงผ้าพระเวสรอบศาลา และ ฟังเทศน์มาลัยหมื่น และเจริญพระปริตตมงคล เช้าวันที่ 3 แห่ข้าวพันก้อนไปวัด นิมนต์พระลงศาลา เทศน์สังกาศและมาลัยหมื่น จบแล้ว เทศน์กัณฑ์ทศพรต่อไปเลย จนกว่าจะจบ 
                                    ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ศาลาฟังเทศน์พระเวสส
                        บางแห่งหาต้นกล้วยต้นอ้อยมาประดับให้รกยังกะเขาวงกฏ

.........กิจกรรมการทำบุญ ชาวบ้านจะร่วมกิจกรรมการทำบุญได้หลายขั้นตอนเช่น ไปแห่อุปคุต ตอนเช้ามืดที่ท่าน้ำ เตรียมข้าวพันก้อน ร่วมขบวนแห่อุปคุตไปวัด วางก้อนข้าวบูชาที่โคนเสาธุง สายก็ถวายภัตตาหารเช้า และฟังเทศน์ทั้งวัน ขณะฟังเทศน์นิยมถือขันใส่ข้าวสารไปด้วย เอาไว้ แกล้งขว้างใส่ธรรมมาสน์ขณะพระเณรที่เทศน์ตะกุกตะกัก และอีกทีที่เทศน์จบกันฑ์ ตีฆ้องเพื่อ อนุโมทนา แล้วปาข้าวสารกันสนุกสนาน หายง่วงทั้งศาลา คนที่อุปถัมภก์กัณฑ์เทศน์ก็เตรียม ไทยทานไปถวายพระที่ท่านเทศน์กัณฑ์ที่ตนเองอุปถัมภ์ พวกหนุ่มสาวนิยมจัดกัณฑ์หลอน ไป ถวายพระที่กำลังเทศน์อยู่บนธรรมมาสน์ขณะแห่กัณฑ์หลอนไปถึงวัด วงกลองยาว แทบไม่ได้พัก ต้องจัด สองสามชุดเปลี่ยนกัน สมัยก่อนมีกัณฑ์หลอนคุ้มบ้าน กัณฑ์หลอนคหบดี ก็ 4-6 กัณฑ์ แห่กันทั้งวัน หนุ่มสาวรำป้อจนแทบหมดแรง ชอบใจ เสร็จงานบุญก็ต่องานแต่งหลายคู่เหมือนกัน 
.......เล่าเรื่องเทศน์มหาชาติมาจนจะจบแล้ว สาระการฟังเทศน์ที่พระศรีอารย์เทพบุตรฝากพระ มาลัยเถระมาบอกชาวบ้านนั้น จุดประสงค์หลักคือ ให้ได้ฟังเรื่องราวเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ พันพระคาถา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องเวสสันดรชาดกคราวเสด็จไปเยี่ยมกบิลพัสดุ์ ครั้งแรกนับแต่ครั้งออกบรรพชา พระญาติผู้ใหญ่ทั้งหลายแสดงทิฐิมานะว่าเจ้าชายเป็นเด็กอายุน้อย เลยไม่มีใครแสดงความเคารพ พระองค์แสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏเสด็จไปบนอากาศและมีฝุ่นธุลี ปลิวราวกับจะตกใส่ศรีษะเจ้าทั้งหลาย จนเลื่อมใสศรัทธาก้มกราบด้วยความเคารพ ครั้งนั้นเกิด อัศจรรย์ฝนโบกขรพรรษเป็นฝนที่มีเม็ด สีแดงตกลงเป็นฝอยๆเหมือนหิมะตก ผู้ถูกฝนต้องการจะ ให้เปียก ก็เปียก ไม่ต้องการก็ไม่เปียก แต่ยังความชุ่มเย็นให้เกิดทั่วบริเวณ เหล่าสาวกและผู้คน ร่ำลือกันเซ็งแซ่ว่าน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ช่วงที่เราบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ชาติเป็นพระเวสสันดรก็เคยมีฝนโบกขรพรรษตกลงมาแล้วครั้งหนึ่ง เหล่าสาวกจึงกราบทูลถาม พระองค์ทรงเล่าเวสสันดรชาดกให้ฟัง
.....ทรงเล่าเรื่องราวจับความตั้งแต่ครั้ง ......พระนางผุสดีเป็นชายาพระอินทร์เคยปรารถนา อยากจะเป็นมารดาพระโพธิสัตว์มาก่อนและถึงวาระจะต้องจุติลงมาเกิด พระนางประสูติสกุลกษัตริย์ แห่งกรุงมัทราส นามว่านางผุสดี ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสญชัยแห่งกรุงสีพีราช มีพระ โอรสที่เป็นพระโพธิสัตว์เกิดแต่พระนางคือ เจ้าชายเวสสันดร ผู้มีบุญบารมีมาก เกิดมาพร้อมขุมทรัพย์ค่ามหาศาลที่ประตูเมืองทั้งสี่ทิศ มีช้างคู่บารมีเกิดมาพร้อมกันชื่อ ปัจจนาคนาเคนทร์ ....นับแต่ รู้ความเจ้าชายก็ฝักใฝ่การทำบุญทำทานมิได้ขาด มีโรงทานที่ประตูเมืองทั้งสี่ด้าน เสด็จออกไป ทำทานทุกวัน ประชาชนได้ยินข่าวก็เดินทางมารับแจกสิ่งของเสมอ ๆ เป็นที่ประจักษ์ว่าเจ้าชาย ใจบุญสุนทานมาก การบำเพ็ญทานของเจ้าชายที่ทำให้ชาวบ้านได้รับการอุปถัมภ์ อยู่เย็นเป็นสุข ช้างทรงก็เป็นช้างมงคลบันดลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล...ต่อมาเจ้าชายได้พระนางมัทรีเป็นชายา มีโอรสธิดาคือ กัณหาและชาลี พระนางเป็นราชินีคู่บุญบารมีแท้จริง สนใจทำบุญกุศลช่วยกันเสมอ ต่อมาเมืองใกล้เคียงชื่อเมืองกลึงคราชแห้งแล้งติดต่อกันหลายปีขณะที่เมืองสีพีไม่เคยแห้งแล้ง พราหมณ์ราชครูเมืองกลึงคราชทราบเพราะบุญบารมีขององค์พระเวสสันดรและช้างคู่บารมี จึงส่งคนมาขอช้างเพราะทราบว่า ใครขออะไรพระเวสสันดรให้หมด ก็เป็นจริงได้ช้างกลับไปยังผลให้เมืองกลึงคราชฝนตกบ้านเมือง ร่มเย็นเป็นสุข... แต่ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ ไปฟ้องพระเจ้ากรุงสญชัยให้ขับพระเวสสันดรออกจากเมือง พระเวสสันดรทราบ ไม่ต้องการให้เกิดการขัดแย้งจึงทูลลาพระบิดาออกจากกรุงสีพี 
                                             
                                                          ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ศาลาฟังเทศน์พระเวสส
                                      ภาพเขียนพระเวสเดินป่าพร้อมพระนางมัทรีและกัณหาชาลี

........พระเวสสันดรยอมออกจากกรุงสีพี ตั้งใจจะเดินเข้าป่าลึกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม นางมัทรี และกัณหาชาลีตามเสด็จไปด้วย ผ่านเมืองเจตราช พระสหายแต่สมัยยังเยาว์เชิญครองราชสมบัติจะแบ่งราชสมบัติ ถวายกึ่งหนึ่ง ทรงปฏิเสธ และเดินทางต่อ ท้าวเจตราชเรียกพรานเจตบุตรมาสั่งความให้ปกป้องภัย อันตราย และระวังมิให้ใครไปรบกวนขอสมบัติใด ๆจากพระองค์อีก ...เดินทางเป็นเวลานานก็ล่วงถึง เขา
คีรีวงกฏ ได้พบอาศรมที่พระอินทร์สร้างไว้ถวาย จึงได้อธิษฐานเป็นเป็นดาบส บำเพ็ญศีลอยู่ สถานที่นั้น พระมัทรีกันหาชาลีก็บวชเป็นดาบสดาบสินีด้วยเช่นกัน อยู่กันด้วยความสงบร่มเย็นมาช้านาน ตอนเช้าพระนางมัทรีจะเข้าป่าหาเผือกมันและผลไม้ ซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์มาก เลยสะดวกในการจัดหาอาหาร ถวายพระดาบสเวสสันดร และดาบสน้อยทั้งสอง ทั้งสี่พระองค์อาศัยอยู่ที่เขาคีรีวงกต สงบร่มเย็น เป็นเวลา ช้านานจนเกิดเรื่องชูชกเฒ่าได้เมียสาวชื่ออมิตา เธอทำตัวเป็นแม่บ้านแม่เรือนดีเกินไป จนแม่เรือน คนอื่นถูกสามีต่อว่า ผลทำให้อมิตาถูกด่าว่าเสียดสี จนเธอไม่กล้าออกจากบ้าน และได้ขอให้ชูชกไปหาคนมาเป็นทาสรับใช้..ชูชกได้รับคำแนะนำจากชาวบ้านว่ามีอยู่คนหนึ่งที่อาจให้ลูกเป็นทานแก่คนอื่นได้ คือพระเวสสันดร..... ชูชกตามหาข่าวทราบว่าพระองค์ไปอยู่ที่เขาวงกฏ ดีใจนึกว่าโอกาสดีจึงเดินทาง จะไปเขาวงกฏ ถึงป่าที่พรานเจตบุตรเที่ยวล่าเนื้อ โดนสุนัขนายพรานไล่กัดชูชกปีนขึ้นต้น ไม้ พรานเจตบุตรสงสัยถามวาจะไปหาพระเวสสันดร ไปขออะไรท่านใช่ไหม ชูชกกลัวไม่กล้าบอกตรงๆ โกหกไปว่าตนเป็นทูตเมืองสีพี จะไปถวายสาร นี่ในกล่องไม้ไผ่นี่ พรานเชื่อยอมปล่อยไป หลาย วันก็มาเจออจุตฤาษีชูชกโกหกเช่นเดิม เลยเดินทางถึงอาศรมพระเวสสันดร และขอได้กัณหาชาลี พาเดินทางออกจากป่า แต่หลงทางไปยังเมืองสีพี มีคนจำกัณหาชาลีได้ ถามทราบเรื่องราวก็พา กันไปทูลพระเจ้ากรุงสีพี พระองค์ต้อนรับหลานอย่างดียิ่งและขอไถ่ตัวหลานด้วยสมบัติมหาศาล จัดเลี้ยงฉลองให้ชูชกก่อนเดินทางกลับ ชูชกไม่เคยบริโภคอาหารแบบชาววังเลยบริโภคไม่รู้จัก ประมาณ จนเกิดอาหารเป็นพิษรุนแรง แพทย์ช่วยเหลือไม่ทัน เลยเสียชีวิตลง พระเจ้าสีพีจัดการศพให้ชูชกประกาศหาญาติให้มารับสมบัติตกทอดของชูชกก็ไม่มีใครมาแสดงตน 
                                                  
                                                 

                                             ภาพเขียนเหตุการณ์แห่พระเวสกลับเมืองสีพี
.....ทำขวัญสองหลานแล้วก็ถามไถ่สุขทุกข์ถึงพระโอรสและสะใภ้ ทรงเสียพระทัยมาก ช้างที่ เป็นสาเหตุให้ออกจากเมือง...ชาวกลึงคราชนำมาถวายคืนแล้ว เลยชวนหลานไปเยี่ยมบิดามารดา ที่เขาวงกต ผ่านไปเป็นเดือนก็ถึง ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่น่าเวทนา ก็ร่ำไห้สงสาร พระเวสส์ และมัทรีได้พบหน้าลูกก็ร่ำไห้ไม่หยุด ไพร่พลกองทัพเห็นภาพก็สลดใจร่ำไห้ไปด้วย ที่สุดเกิด อาการโศกสลดแทบหัวใจสลาย สิ้นสติสมปฤดีกันทั้งหมด ถ้าไม่มีคนช่วยอาจต้องดับชีพกัน ทั้งหมด ร้อนถึงองค์อมรินทร์ทราบเรื่องจึงบันดาลให้ฝน"โบกขรพรรษ"ตกลงมายังความชุ่มฉ่ำให้ แก่สรรพสัตว์ทุกผู้ ฟื้นจากการสลบไสล กลายเป็นปิติยินดี และได้เชิญพระเวสสันดรและชายาเสด็จ กลับไปครองกรุงสีพีสืบต่อไป จบชาดก13 กัณฑ์พันพระคาถา ถ้าตั้งใจฟั้งแต่ต้นจนจบ ก็ได้ทราบ เรื่องราวของชาดก และนิสัยใจบุญสุนทานของพระโพธิสัตว์เวสสันดร นั่นคือสาระที่พระศรีอาริยเมตรัย ต้องการให้คนฟังเทศน์เรื่องนี้ จะได้เป็นคนใฝ่ทำบุญทำกุศล จึงฝากพระมาลัยเถระลงมาบอกชาวบ้าน 

                                    .ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ นครกัณฑ์
                                         ภาพเขียนบอกการฟังเทศน์มหาชาติชาดก
.......ฟังเทศน์มหาชาติชาดกจบ งานบุญเดือนสี่ก็จบ ขอขมาลาโทษพระรัตนตรัยเสร็จ ก็เก็บข้าว ของช่วยกัน พระเณรจะได้ไม่ยุ่งยากเก็บ แล้วทำความสะอาดศาลาการเปรียญ ทำความสะอาดบริเวณ วัดให้เรียบร้อย ธุงปฏากใหญ่ อาจเก็บไม่ทัน วันต่อมาก็ชวนกันออกมาวัดจัดเก็บให้เรียบร้อย งานนี้ ผู้ใหญ่บ้านและมัคทายกเป็นหัวเรือใหญ่ ถ้าได้ผู้อำนวยการโรงเรียนอีกแรงละก็เยี่ยมเลย เล่ามายาว มากแล้ว เหนื่อยเหมือนกันเนาะ ขอจบไว้แค่นี้ก่อน สวัสดีครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น