วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สัมผัสกลอนแปด


บันทึกเพิ่มเติม :  เอกสารฉบับนี้เดิมเป็นเอกสารประกอบการบรรยาย ตั้งแต่สมัยปี 2539 อบรมครูภาษาไทย  ปี         2558 มีคนขอคำแนะนำการแต่งกลอนเลยขุดเอามาปัดฝุ่นให้ไป แล้วก้มีขอมาอีกบ่อย ๆ จึง เอา มาไว้ที่ เวบบลอก ขอมาก็ให้ลิงค์ไป ตรงนี้ย้ายมาจากเวบต้นฉบับ เพื่อเผยแพร่นะครับ วันเวลา    ออกจะทันสมัย ยังไม่มีเวลาปรับปรุงครับ

รักจะเล่นแต่งกลอนแบบมีสัมผัสใน

                                                                        ---------------
-----------------------
...............ได้อ่านบทกลอนที่นักกลอนรุ่นใหม่เขียน เก่งครับเขียนได้ดีทีเดียว น่าอ่าน สำนวนหวือหวาดี สัมผัสในแพรวพราว เคยทักท้วงว่ามันมากไป อาจผิดแผนผังบังคับได้นะ ก็โดนค้านว่าไม่ผิดหรอก เอาอย่างมาจากกลอน  กวีโบราณ ก็เลยอยากนำบทกลอนสุนทรภู่มาแฉให้ดู ว่ากวีโบราณ ที่เล่นสัมผัสในเก่ง ๆ  คือกวีท่านนี้ ท่านเล่นแบบมีหลักมีเกณฑ์ ไม่ผิดแบบแผนหรอก มาดูกันครับ   จะหยิบกลอนนิราศภูเขาทอง มาเป็นตัวอย่างแล้วกัน
----------------
..........ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด             คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร            แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น 
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด          ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น                      ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จึงสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย        ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา                       ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป ฯ
-----------------
..............บทกลอนจากนิราศภูเขาทอง กระผมชอบมาก ขนาดเอามาใช้ทำสื่อการสอนตอนทำวิทยานิพนธ์ เลยต้องอ่านหลาย ๆ รอบ สุนทรภู่ท่านแต่งได้ยอดเยี่ยมจริง ๆ อ่านเล่นก็เพราะ อ่านทำนองเสนาะก็รื่นไหลไม่ติดขัด ถ่ายทอดอารมณ์กวีได้ดีมาก ๆ 
------------------
.......1. เสียงเสนาะทุกวรรคตอน ที่นักกลอนรุ่นหลัง ๆ พูดถึงคำลงท้ายวรรคกลอน กลอนท่านสุนทรภู่
นี่เองที่พอจะยกมาเป็นตัวอย่างการเลือกใช้คำลงท้ายวรรคได้เป็นอย่างดี
------------------
สังเกตดูกลอนที่นำมาเป็นตัวอย๋าง 3 บท จะพบการใช้คำลงท้ายวรรคต่าง ๆ ดังนี้

บทที่ 1 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง เอก........จัตวา   สามัญ......สามัญ
บทที่ 2 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง เอก..... . จัตวา   สามัญ......สามัญ
บทที่ 3 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง จัตวา... ..จัตวา   สามัญ......สามัญ

.............แค่ 3 บทที่ยกมา เห็นได้ชัดว่า วรรคแรก ชอบใช้เสียงสูงกว่าสามัญ ใช้เสียง เอก กับจัตวา 
อ่าน รื่น ๆ ดี คำท้ายวรรค 2 ชอบ เสียงจัตวา มากกว่าเสียงอื่น วรรคที่ 3 และ 4 ชอบ เสียงสามัญ
----------------
.......2...การใช้สัมผัสในไม่มีผิดฉันทลักษณ์ พยายามจะใส่สัมผัสในวรรคละ 2 แห่ง มาดูกัน

บทที่ 1 

1.1 วรรคสดับ   วัง...ดัง   ใจ....จะ  (สัมผัสพยัญชนะ)   มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.2 วรรครับ      บาท...บพิตร (สัมผัสพยัญชนะ)  บพิตร..อดิศร มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.3 วรรครอง  เกล้า...เจ้า  คุณ......สุนทร มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.4 วรรคส่ง    ก่อน......
(ไม่มี)    เฝ้า.....เช้า มีสัมผัสใน 1 คู่

บทที่ 2 

2.1 วรรคสดับ  พาน......ปาน .....ช่วงหลังไม่มีสัมผัสใน วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่
2.2 วรรครับ     ญาติ....ยาก (สัมผัสพยัญชนะ) แค้น....แสน วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
2.3 วรรครอง   ซ้ำ......กรรม  ซัด.....วิบัติ วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
2.4 วรรคส่ง     เห็น.....(ไม่มี) ซึ่ง......พึ่ง วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่

บทที่ 3 

3.1 วรรคสดับ พรต.......อต  ส่ง...ส่วน (สัมผัสพยัญชนะ) วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
3.2 วรรครับ    ฝ่าย.......
(ไม่มี) สมถะ.....วสา วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่
3.3 วรรครอง  ของ.......ฉลอง คุณ...มุลลิกา วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
3.4 วรรคส่ง   ข้า... .....เคียง (สัมผัสพยัญชนะ) บาท.....ชาติ วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่

...........บทกลอนที่มหากวีสุนทรภู่ท่านแต่ง แม้ท่านจะชอบแต่งสัมผัสใน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมี วรรค
ละ 2 แห่งเสมอไป เพราะกลอนต้องมีเนื้อหาที่กวีต้องการสื่อ สัมผัสในอาจตกหล่นไปบ้างก็ไม่เป็นไร 
เพราะสัมผัสในมิใช่สัมผัสบังคับ มีข้อควรสังเกตคือ วรรครับ และวรรคส่ง ถ้าจะใส่สัมผัสใน 2 คู่ คู่แรก
คือคำที่ 3 และคำที่ 4 เป็นสัมผัสพยัญชะเท่านั้น เล่นสัมผัสสระไม่ได้ เพราะคำที่ 3 เป็นสัมผัสบังคับ มี
แนวทางแก้ไข ถ้าจะเล่นสัมผัสสระ คำที่ 3...4ต้องย้ายสัมผัสบังคับเป็นคำที่ 1 หรือ 2 แทน ปล่อยคำที่ 
3 ไว้เล่นสัมผัสใน ตัวอย่าง

                  อันความรักปักอกเหมือนตกเหว...............ซ้ำถูกเปลวปานไฟลามไหม้สุม
                     รัก...ปัก   อก....ตก                                    เปลว...ปาน ไฟ...ไหม้ (วรรคละสองคู่)

.............วรรคที่สอง เปลวกับปาน เป็นสัมผัสพยัญชนะ อยากเล่นสัมผัสสระ ต้องใช้คำที่ 1 หรือคำที่ 2 
รับสัมผัสบังคับ เพื่อ  ให้คำที่ 3 ว่าง จะได้ใช้เล่นสัมผัสใน เช่น

                    อันความรักปักอกเหมือนตกเหว...............ปานเปลวไฟไหม้สุมร้อนรุ่มเหลือ
                               รัก...ปัก อก....ตก ย้    ายคำรับสัมผัส คือคำ เปลว มาอยู่ตำแหน่งคำที่ 2 คำที่ 3 
คือ ไฟ เลยว่าง เล่นสัมผัสสระได้คือคำที่ 3...4 เป็น ไฟ...ไหม้ ร้อน...รุ่ม (สัมผัสพยัญชนะ) รุ่ม....สุม ได้สัมผัสใน
3 คู่ ไปเลย

................ถ้ารักชอบสัมผัสในก็อย่าให้ผิดฉันทลักษณ์ ถ้าปล่อยคำที่ 3 ที่เป็นสัมผัสบังคับตามแผนผัง แล้ว ยังสัมผัสสระกับคำ ที่ 4 อีก ก็จะมีคำรับสัมผัสบังคับ 2 คำ ก็คือผิดฉันทลักษณ์นั่นเอง

                           อันความรักปักอกเหมือนตกเหว..............ซ้ำถูกเปลวเหวนรกไฟตกสุม
                                                                                            ดูคำ เปลว...เหว นรก...ตก 
สัมผัสใน 2 คู่ จริงแต่เป็นการแต่งผิดฉันทลักษณ์

.................จะคัดกลอนบทต่อ ๆไปให้อ่านดู เพื่อจะได้สังเกตว่า มหากวีสุนทรภู่ ท่านเล่นสัมผัสใน
วรรครับ และวรรคส่ง อย่างไร ไม่มีผิดฉันทลักษณ์หรอก สังเกตคำรับสัมผัสบังคับ ใช้คำที่ 3 ตามปกติ 
ดูว่าสัมผัสในตรงนี้ ถ้าเล่น เล่นอย่างไร 

O..ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง.............คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล         ครั้ง.........ไม่เล่น
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย...............แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง    ใน......ไม่เล่น
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ.............เคยรับราชโองการอ่านฉลอง      ราช......ไม่เล่น
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง................มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา ข้อง.... ..เคือง (สัมผัสพยัญชนะ)
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ..........ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา อบ.........ไม่เล่น
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา.....................วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ฯ วาสนา......ไม่เล่น

O..ดูในวังยังเห็นหอพระอัฐิ....................ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล        สติ......เติม (สัมผัสพยัญชนะ)
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล...............ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน      หลัก... ลือ....เล่า(สัมผัสพยัญชนะ)
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน...............มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา                สิ้น.....สุด (สัมผัสพยัญชนะ)
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย..................แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา      ม้วย....ไม่เล่น
อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา....................อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง ฟ้า.....  ..ไม่เล่น
ไปพ้นวัดทัศนาริมท่าน้ำ....................แพประจำจอดรายเขาขายของ    จำ........จอด (สัมผัสพยัญชนะ)
มีแพรผ้าสารพัดสีม่วงตอง..................ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภาฯ   ของ...ขาว(สัมผัสพยัญชนะ)

O..ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง......มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา         โพง....ผูก (สัมผัสพยัญชนะ)
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา..........ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย  เมา...เหมือน (สัมผัสยัญชนะ) 
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ.............สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย  เพชญ..โพธิ (สัมผัส พยัญชนะ)
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย...................ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป        กราย..แกล้ง (สัมผัส พยัญชนะ)

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก..........สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน               หัก.....ห้าม (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป...............แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ         ใจ.....ประจำ (สัมผัสพยัญชนะ)
..............
O..ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง.........มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน       หมอง...ม้วน (สัมผัสพยัญชนะ)
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน...............จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง       ขืน.............ไม่เล่น
ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง.............เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง    ซอง.........ส่ง (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง....ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน  เมือง......สมร (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์.............ร่มริโรธรุกขมูลให้พูนผล              นิโรธ....รุกข (สัมผัสพยัญชนะ)
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล...............ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกายฯ    พ้น...ภัยพาล (สัมผัสพยัญชนะ)

..............สังเกตดู วรรครอง และวรรค ส่ง ท่านแต่งด้วยความระมัดระวัง มิให้มีคำรับสัมผัสเกินมา ด้วย
ไม่เล่นสัมผัสสระ ถ้าจะแต่งให้มีสัมผัสใน ก็เลี่ยงไปเล่นสัมผัสพยัญชนะแทน หวังว่าท่านที่ได้อ่าน
ข้อความที่นำเสนอนี้ จะเข้าใจลีลากลอนที่ไพเราะแบบของสุนทรภู่ ได้ดีขึ้น ถึงท่านจะชอบเล่นสัมผัส
ใน ท่านก็เล่นไม่ผิดฉันทลักษณ์ นะครับ  ฝากบทกลอนเตือนนักกลอนร่วมสมัย ด้วยนะครับ อาจนำไปใช้
พัฒนาการแต่งกลอนของท่านได้ (อ้อจริญญา แสงทอง ชื่ออีเมล ที่ใช้สมัครเวบบลอก ร้อยกรอง บลอกของผมเอง  มี 3 เวบบลอกคือ เยี่ยมยามอีสาน วิถีชีวิตอีสาน และร้อยกรอง)


                             -------------คำเตือนของครูเมือหนูจะเขียนกลอน-----------------
-------------------------
 ............ครูสอนภาษาไทย อยากใด้บทกลอนแนะนำการเขียนกลอน  พูดให้ฟังแล้ว อยากได้เอกสาร แถมเอาแบบเป็นคำกลอนด้วย  บังอาจสั่งให้ครูแต่งกลอนให้  ก็เคยสอนมาแต่มัธยม ได้โอกาสเอาใหญ่เลย เอ้า เขียนก็เขียน
----------------------
กลอนสุภาพ
.....เริ่มฝึกเขียนกลอนกานท์มานานโข...........ตั้งนโมไหว้ครูผู้สั่งสอน       
สมัยอยู่มัธยมยินแต่งกลอน.........................สุดรุ่มร้อนทุกข์หนักยากจักกรอง
สมัยเรียนธรรมศึกษาตรีโทเอก.....................เหมือนปลุกเสกจรินยาพาสนอง
อ่านบาลีไวยากรณ์ชอบครรลอง...................มันสอดคล้องหลักภาษาน่ายินดี
แถมมีกาพย์โคลงฉันท์ให้หัดแต่ง.................พอเห็นแสงลางลางทางวิถี
ได้เรียนครูเหมาะเลยร้อยกรองมี...................สนุกตีแตกกระจายมิอายใคร
คุณครูมีเมตตาพาฝึกฝน..............................แนะกลอนกลเทคนิคพลิกแพลงไฉน
จนวันนี้เขียนง่ายสบายใจ............................จดจำได้คำสอนกลกลอนครู
สัมผัสนอกบังคับตามแบบแผน.....................อย่าหมิ่นแคลนขาดเกินเพลินนะหนู
ส่งคำเดียวรับคำเดี่ยวทุกจุดชู......................ขอจงรู้สัมผัสซ้ำอย่าให้มี
ถ้ารับสองหรือสามเรียกมันเลื่อน...................กลอนเลยเปื้อนแปดปนหม่นหมองศรี
วรรครองใช้คำท้ายรับเข้าที..........................แต่มิดีหากลักดักหน้ากัน
เขาเรียกพวกนักวิ่งชิงสัมผัส.........................แบบนี้จัดผิดแผนมิสร้างสรรค์
กลอนด้อยค่าหมดลายเสียดายครัน...............ความสำคัญสัมผัสนอกพึงระวัง
สัมผัสในสองอย่างข้างครูเล่า.......................จดจำเอาพยัญชนะเสียงจะขลัง
เสียงเดียวกันจัดได้ตามกำลัง.......................ตราบที่ยังมิเฝือตามสบาย
สัมผัสเสียงสระระวังหน่อย...........................ดูร่อยรอยสัมผัสนอกเขามีสาย
อย่ากระทบของเขาพลอยวุ่นวาย..................เป็นตัวร้ายเกิดเลื่อนเคลื่อนลัดชิง
สัมผัสเผลอเจอสระยาวกับสั้น......................เสียงคล้ายกัน อัย-อายหมายบอกหญิง
เอ็นกับเอนต่างกันนั่นต่างจริง.......................อย่าแอบอิงสัมผัสขัดคำครู
สัมผัสเพี้ยนแบบไหนจะได้เห็น....................ดูอย่างเช่นตาม-น้ำนั่นแหละหนู
เป็ดกับเณรเล็กกับเผ็ดเด็ดยามดู...................วิเคราะห์รู้ต่างสระอย่ากระทำ
อีกละลอกทับแลฉลองควรละเว้น.................ตัวอย่างเช่นเอกโทโผล่มิหนำ
ท้ายวรรคหนึ่งถึงสามความจงจำ...................เขาเรียกคำละลอกฉลองมิควรมี
อยู่ท้ายบทละลอกทับขับห่างหาย................จักทำลายกลอนมิงามตามวิถี
ส่วนเรื่องเสียงระดับไหนจึงจักดี....................เหมือนเติมสีท้ายวรรคจักงดงาม
วรรคสลับคำท้ายควรเสียงเต้น......................คืองดเว้นเสียงสามัญครั้นลองถาม
ท้ายวรรครับจัตวาน่าติดตาม.........................โทเอกงามเช่นกันสรรแต่งดู
วรรครองเสียงสามัญงดงามนัก.....................บางคนรักเสียงตรีก็ดีหนู
วรรคส่งเสียงสามัญมือชั้นครู........................คนที่รู้ว่าตรีดีคำกลอน
ขอหยุดไว้แรกเขียนเพียรเสนอ....................ใครอ่านเจอสารประจักษ์ตามอักษร
คงเข้าใจเพียงจดเป็นบทตอน......................ถ่ายทอดวอนอ่านเล่นสบายสบาย ฯ

---------------------
จริญญา แสงทอง : 3 /12/2558  

-----------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น