วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

หลักภาษาเพื่อร้อยกรอง







พื้นฐานการศึกษาหลักภาษาไทยเพื่อการแต่งร้อยกรอง 

-----------------

........ผมเป็นคนเรียนหนังสือที่ไม่ชอบท่องจำ วิชาที่ได้คะแนนแย่มาก ๆคือไวยากรณ์ไทย ซึ่ง พัฒนามาเป็นวิชาหลักภาษาไทย ในปัจจุบัน แต่ผมก็เอาตัวรอดได้นะ โดยพยายามทำความเข้าใจ และหาข้อสังเกตให้ได้ว่าทำไมเป็นอย่างนั้น แล้วก็ไม่ลืมบันทึกไว้ เวลาหลงลืมก็เอาออกมาอ่าน ทบทวน บันทึกชุดนี้คือเรื่องที่ต้องเปิดดูบ่อย ๆ เวลาแต่งร้อยกรอง ใครอยากอ่านก็ลองดูครับ อาจได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย อ้อ ไม่ใช่ตำรานะครับ อย่าไปคิดว่านี่ถูกต้องแล้ว
ขุนทอง ศรีประจง 
(ปรับปรุง 15 มิย.2560)
.......1. เสียง พยางค์ คำ
.......1.1 เสียงสระ เสียงที่เปล่งออกมาได้โดยอิสระ แต่ในความเป็นจริง สระออกเสียงตามลำพัง ไม่ได้ คนจะรู้สระอะไร ต้องพึ่ง พยัญชนะ อ นักภาษาเขาเล่าว่าสระทุกตัวเป็น นิสัย คือยอมให้ พัญชนะเข้ามาอาศัยออกเสียงได้
.......1.2 เสียงพยัญชนะ ทุกตัว เป็นนิสิต ต้องพึ่งสระ ถึงออกเสียงได้ กิจกรรมท้าทาย (มีคำถามเล่น ๆ ลองออกเสียงสระ โดย ไม่ต้องอาศัย ตัว อ ถ้าทำได้  ดูซิ ออกเสียงได้ไหม เป็นเสียงอะไร ) (ลอง ใช้ อัก กลาง ตัวอื่น ๆ คือ ก จ ด ต บ ป ฎ ฏ ประสมสระ แทน ตัว อ ดู ได้เสียงอะไร ถามว่า งั้นเราเรียก สระ กะ สระ กา แทน อะ อา ดีไหม ขอเปลี่ยนชื่อบ้าง คนยังเปลี่ยนชื่อกัน บ่อย ๆ)
.......1.3 พยัญชนะไทย สังเกตการออกเสียงประสมเสียง ออ เช่น กอ ขอ คอ จะจำแนก พยัญชนะที่มีเสียงสามัญ กับเสียงจัตวา มีข้อควรสังเกตคือ ตัวมีพื้นเสียงเสียงจัตวามี 11 ตัว เป็นอักษรสูงครบ 11 ตัวพอดี เหลืออีก 33 ตัว สามารถแยกได้สองกลุ่มคือ กลุ่มที่ประสม เสียง ออ แล้วผันด้วย วรรณยกต์ เอก ตัวไหนผันแล้วอ่านออกเสียงเอกได้ กลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มผันวรรณยุกต์เอก แต่อ่านออก เสียง โท กลุ่มอ่านออกเสียงเอก มี 9 ตัว คือ อักรกลางนั่นเอง ส่วนที่ออกเสียงโท มี 24 ตัว เป็นกลุ่มที่เรียกชื่อ เป็นอักษาต่ำ ตัวอย่าง  กอ ขอ คอ กลุ่มออกเสียงแบบ ขอ เช่น ฉอ ถอ ผอ เป็นต้น กลุ่ม กอ กับ คอ ต้องใช้วรรณยุกต์เอกช่วยแยกเช่น ก่อ...ค่อ จอ่.... ต่อ ช่อ ท่อ แบบนี้ ผมแยกอักษรสามหมู่ได้โดยวิธีนี้ ไม่ต้องท่องจำยาก
........1.4 เสียงพยัญชนะไทย 44 ตัว แจงนับเสียงที่ไม่ซ้ำกันได้เพียง 21 เสียง ที่เสียงโดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อน ได้แก่ ก ง จ บ ป ม ร ว และ อ รวม 9 ตัว ที่เหลือ12 ตัว มีเพื่อน อย่างน้อย 1 ตัว และ มากสุด 5 ตัว ได้แก่ ข (ขอขวด ค  คอคน ฆ) ฉ ( ช ฌ) ซ (ศ ษ ส) ญ (ย) ฎ(ด) ฏ (ต) ณ(น) ฐ ถ(ฑ ฒ ท ธ) ผ(พ ภ) ฝ(ฟ) ห (ฮ) ความเข้าใจเรื่องนี้เอาไว้ใช้ตอน สงสัยเสียงที่ใช้ รับส่งสัมผัส เช่นคำรูปพยัญชนะต่างกัน แต่เสียงคล้ายกัน เข่น ขน...คน ฉัน...ชัน ซน...สน ไม่ควรใช้ รับส่งสัมผัสบังคับ
        2. สัมผัส ในการแต่งร้อยกรอง ใช้สัมผัส 2 อย่างคือ สัมผัสนอก กับสัมผัสใน สัมผัสนอกเป็นสัมผัสสระ บังคับให้แต่งตาม ข้อบังคับของคำร้อยกรองชนิดนั้น ๆ ส่วนสัมผัสในเป็นสัมผัสที่แต่งเสริมเพิ่มเข้าไป ไม่ได้บังคับ ใช้กันทั้งสัมผสสระและพยัญชนะ (สัมผัสนอก สัมผัสใน คืออะไร  หมายถึงการที่คำหนึ่งไปสัมผัสกับคำอื่น ถ้าอยู่นอกวรรคเรียกสัมผัสนอก อยู่ในวรรคเดียวกันเรียกสัมผัสใน)
.........2.1 สระในภาษาไทย มี 32 เสียง แยกเป็น สระเดี่ยวที่เรียกสระแท้ จับคู่ สั้น-ยาว ได้ 9 คู่ สระประสม เกิดจากการนำสระเดี่ยวมาประสมกันได้เสียงใหม่ จัดเป็นคู่เสียงสั้นและยาว ได้ 3 คู่ นอกนั้นจัดกลุ่มยากรวม ๆ เรียกสระเกิน รายละเอียด ดังนี้
........สระเดี่ยว 9 คู่ได้แก่ อะ-อา/ อิ-อี/ อึ-อือ/ อุ-อู/ เอะ-เอ/ แอะ-แอ/ โอะ-โอ /เอาะ-ออ/ เออะ-เออ
........สระประสม 3 คู่ได้แก่ เอียะ(อิ+อะ) - เอีย(อี+อา) เอือะ(อึ+อะ) - เอือ(อือ+อา) อัวะ(อุ+อะ) - อัว(อู+อา)
........สระเกิน อำ(อะ+ม) ไอ(อะ+ย) ใอ(อะ+ย) เอา(อะ+ว) ฤ(ร+อึ) ฤๅ(ร+อือ) ฦ(ล+อึ) ฦๅ(ล+อือ) มีเสียงยาว คือ รื กับ ลือ
........การสร้างคำในภาษาไทย จะต้องใช้พยัญชนะประสมสระถึงจะได้ พยางค์และคำ ดังนั้นทุกคำ/พยางค์ จึงมีเสียงสระแทรกอยู่ จะปรากฏหรือลดรูปก็ตาม เสียงต้องคงอยู่ เว้นแต่จะถุก ฆาต มิให้ออกเสียง เช่น จันทร์ สิงห์ ในการแต่งร้อยกรองจึงต้องรู้ว่าคำ หรือพยางค์ที่ใช้นั้น ประสมสระอะไร เสียงสั้นหรือยาว อาจต้องลงลึกไปถึงระดับเสียงวรรณยุกต์ รู้ชัดเจนแล้วค่อยน้ำไปใช้
........2.2 สัมผัสสระ ได้แก่คำที่ประสมสระเสียงเดียวกัน ในแม่ ก กา หรือคำประสมสระเดียวกันในแม่ กง กน กม เกย เกว กก กด และกบ มีข้อสังเกตคือ ต้องออกเสียงสระตัวเดียวกัน ถ้ามีตัวสะกด ก็ต้องมาตราเดียวกันด้วย เช่น
......กา ขา กา มา นา อา เสียงอา ในแม่ก กา พยัญชนะต้นต่างกัน เอาไปใช้ ส่ง-รับ สัมผัสในตำแหน่งสัมผัสนอก ได้ แต่กรณีต่าง ระดับเสียงสั้นยาว ห้ามมิให้ใช้เช่น กะ-ขา ริ-รี รึ-ฤๅ กัด-กาด ใคร-คาย พบ-โลภ
......พยัญชนะต้นที่เป็นอักษรคู่ ประสมสระเดียวกัน หรือมีตัวสะกดก็มาตราเดียวกัน ถือว่าเป็นคำมีเสียงซ้ำกัน ไม่ควรเป็นสัมผัสนอก เช่น ใส ไทร ไซ อาศัย กษัย เสียง อัย แถมพยัญชนะเสียง ซอ เหมือนกัน หรือ คำ คา ขา ฆ่า ถือเป็นคำมีเสียงซ้ำคือ พยัญชนะต้นเสียง คอ ประสม สระอา
......คำพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน ประสมสระเสียงเดียวกัน หรือมีตัวสะกดมาตราเดียวกัน ต่างระดับวรรณยุกต์ ถึงเป็นคนละคำ ก็ไม่ควรใช้สัมผัสนอกคือสัมผัสบังคับ เช่น (กา---ก่า---ก้า---ก๋า) ( การ...ก่าน...ก้าน) ( คา...ข่า...ฆ่า...ค้า...ขา)
…….คำที่มีเสียงอ่านทำให้เข้าใจผิดบ่อย ๆ ได้แก่ คำที่ประสมเสียงสระ อำ ไอ ใอ เอา
........2.3 สัมผัสอักษร ความจริงควรเรียก สัมผัสพยัญชนะ ทบทวนให้ก็ได้ อักษรไทยจำแนกออกเป็น สระ พยัญชนะ ตัวเลข วรรณยุกต์และเครื่องหมายต่าง ๆ เมื่อมีสัมผัสระ ก็ควรเรียกสัมผัสอักษรเป็น สัมผัสพยัญชนะ จะได้ตรงกับลักษณะที่เรียก สัมผัสพยัญชนะนิยมใช้เป็นสัมผัสใน ของร้อยกรอง
.......3. คณะ ร้อยกรองประเภทฉันท์ มีคำนำนำเรื่อง กลุ่มคำครุลหุ 3 พยางค์ ว่า ครุ-ลหุ วางอย่างไร มีแนะนำไว้ 8 คณะ คือ   ม คณะ (ครุ-ครุ-ครุ) น คณะ (ลหุ-ลหุ-ลหุ) ภ คณะ (ครุ-ลหุ-ลหุ) ย คณะ (ลหุ-ครุ-ครุ) ช คณะ (ลหุ-ครุ-ลหุ) ร คณะ (ครุ-ลหุ-ครุ)   ส คณะ (ลหุ-ลหุ-ครุ) ต คณะ (ครุ-ครุ-ลหุ)
.....4. วรรณยุกต์ เป็นเครื่องบอกระดับเสียงของ อักษรและคำ มี 4 รูป 5 ระดับเสียง กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า
จัดได้ 2 ประเภท
.....4.1 วรรณยุกต์ แสดงรูป วรรณยุกต์ที่ปรากฏเห็น จ่า จ้า จ๊า จ๋า
.....4.2 วรรณยุตต์ไม่แสดงรูป แต่มีระดับเสียงอยู่ เช่น พยัญชนะทุกตัว จะมี 2 กลุ่มเมื่อประสมสระ
อ คือกลุ่มเสียงสามัญ กับกลุ่มเสียงจัตวา เช่น ก อ จอ ดอ ตอ และ ขอ ฉอ ถอ ผอ หอ
......คำที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายวรรณยุกต์ มีระดับเสียงวรรณยุกต์อยู่ทุกพยางค์ ผู้ออกเสียงต้อง วิเคราะห์ดูเองถึงจะทราบเช่นคำว่า กาด (เอก) คาด (โท)คะ (ตรี) ควรฝึกวิเคราะห์บ่อย ๆ ร้อยกรอง บางชนิดกำหนดให้ใช้ระดับเสียงวรรณยุกต์ด้วย
.......5. ครุ ลหุ คำร้อยกรองประเภทฉันท์ ระบุให้แต่งตามกรอบคำครุลหุ ผู้แต่งควรศึกษาเรื่องคำที่มีเสียง ครุ ลหุ ด้วย
......5.1 คำครุ เป็นคำที่ออกเสียงหนัก หรือค่อนข้างยาว ได้แก่
...........คำ/พยางค์ ประสมสระเสียงยาวในแม่ ก กา
...........คำ/พยางค์ ที่มีตัวสะกด
......5.2 คำลหุ ออกเสียงเบา สั้น ๆ ได้แก่ คำ/พยางประสมสระเสียงสั้นในแม่ ก กา
.......6. คำเป็น คำตาย คำไทยบางคำออกเสียงง่าย โดยเฉพาะผันวรรณยุกต์ได้หลายเสียง แต่บางคำ
ก็ออกเสียงยาก ยิ่ง ผันวรรณยุกต์ก็ยิ่งยาก ก็เลยเรียกคำเป็น กับคำตาย
..........6.1 คำเป็น ได้แก่คำ/พยางค์ ประสมสระเสียวยาวแม่ ก กา และคำที่สะกดในแม่ กง กน
กม เกย เกว
..........6.2 คำตาย ได้แก่ คำ/พยางค์ที่ประสมสระเสียงสั้น แม่ ก กา และคำสะกด แม่ กก กด กบ
.......7. คำพ้อง
.......7.1..คำพ้องรูป ได้แก่คำที่บังเอิญ สะกดเหมือนกัน แต่อ่านออกเสียง ต่างกัน ความหมายต่างกัน เรียก พ้องรูป เช่น เพลา อ่านเพ-ลา หมายถึงเวลา อ่านเพลา หมายถึงตัก ล้อเกวียน เสลา อ่านเส-ลา หมายถึงหิน อ่านสะเหลา หมายถึงต้นไม้ ฯลฯ
.....7.2 ..คำบางคำออกเสียงเหมือนกัน แต่สะกดต่างกัน ความหมายก็ต่างกัน เรียกคำพ้องเสียง เช่น เสียง จัน สะกดได้หลายรูป จัน จันทร์ จันทน์ ออกเสียงสัน สะกดเป็น สัน สรรพ์ สรรค์ เป็นต้น
.......8. คำนำ คำประพันธ์หลายชนิด มีกำหนดใช้คำนำ แตกต่างกันไปตามเนื้อหา และชนิดของคำ ประพันธ์ เช่น เมื่อนั้น บัดนั้น. มาจะกล่าวบทไป ...เอ๋ย...สักวา.... ผู้แต่งต้องศึกษาและเลือก ใช้ให้เหมาะสม
.......9. คำสร้อย คำร้อยกรองประเภท โคลงร่าย นิยมใช้คำสร้อย ท้ายวรรค บางวรรค หรือตอนจบ มีคำ ทิ่นิยมใช้ เช่นพ่อ แม่ พี่ เลย นา นอ บารนี รา ฤๅ เนอฮา แฮ แล ก็ดี อา เอย เฮย ส่วนสร้อย เจตนัง เป็นสร้อยที่ผู้แต่งเจตนาใช้ กรณีที่ร้อยกรองไม่ใช่แต่งเป็น แบบแผน
......10. คำแนะนำจากกวีรุ่นเก่า แนะนำไว้ สัมผัสเลือน สัมผัสซ้ำ สัมผัสเกิน (สองคำในที่รับ) สัมผัส แย่ง สัมผัสเผลอ สัมผัสเพี้ยน … เป็นอย่างไร
......สัมผัสเลือน จุดรับสัมผัสนอก ปกติใช้คำเดียว ในวรรค รองและวรรค ส่ง ถ้ามีมากกว่า 1 คำ เรียกว่าสัมผัสเลือน คือเลือนลาง หรือจางลงไป
......สัมผัสซ้ำ....จุดรับสัมผัสนอก ใช้เสียงสระเดียวกัน แต่พยัญชนะต้องต่างเสียงกัน ถ้าเป็น พยัญชนะตัวเดียวกันถึงต่างระดับ เสียงวรรณยุกต์ก็ไม่ควรใช้เช่น ขัน ขั้น แม้พยัญชนะคู่ ก็ไม่ควร ใช้ เช่น คัน คั่น คั้น
......สัมผัสเกิน ...จุดรับสัมผัสนอก ปกติใช้คำเดียว ถ้ามีสองคำติด ๆ มันก็เกินนั่นแหละ พวก คำยมก เห็นได้ง่ายเช่นรับสัมผัสด้วย คำ นานา ดีดี
......สัมผัสแย่ง สัมผัสนอกเขากำหนดตำแหน่งไว้แล้ว ดันมีคำอื่นดักตัดหน้าไปก่อน เรียกว่า แย่งสัมผัส หรือชิงสัมผัส ในวรรค รอง เกิดบ่อย
......สัมผัสเผลอ เกิดจากคำที่ประสมสระเสียงสั้นกับเสียงยาว จับมาสัมผัสกัน เช่น น้ำ--ความ
เจ้า--จ้าว ใจ--กาย ริด--รีด
.......สัมผัสเพี้ยน รูปและเสียงอาจใกล้กัน จนลืมเอามารับส่งสัมผัสกันเช่น เล็ก---เผ็ด เวร--เป็ด
แข็ง--แรง
........ละลอกทับ ละลอกฉลอง เป็นข้อห้ามของคนสมัยก่อนบอกต่อ ๆกันมา ว่า คำลงท้ายวรรค กลอนแปด ไม่ควรลงด้วยคำ ที่มีรูปวรรณยุกต์ เอก/โท ที่ท้ายวรรค ที่ 2 /3/4 ในแผนผังกลอนแปด ไม่ได้มีข้อบังคับเรื่องวรรณยุกต์แบบโคลง ถ้ามีละลอก ทับละลอกฉลอง น่าจะเป็นเพียงทำให้กลอนไม่สวยงาม อ่านไม่รื่นหู ประมาณนี้มากกว่าจะไปชี้ว่า ผิดฉันทลักษณ์ การอธิบาย ละลอกทับละลอกฉลอง จากข้อมูลที่ได้มาพอ สรุป 4 ประเด็นคือ
........คำเอกโท ท้ายวรรคที่ 4 เรียกละลอกทับ
........คำเอก/โท ท้ายวรรค 2 หรือวรรค 3 ละลอกทับ
........คำเอก/โท ท้ายวรรค 2 เรียก ละลอกฉลอง
........คำเอก/โท ท้ายวรรค 3 เรียก ละลอกฉลอง
......(มีสับสนในคำอธิบายที่ 2 และ 3/4 มีเวลาจะตามสืบค้นดูอีกที) 

------------------

วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ตำนานบุญบั้งไฟ


ศึกสองพญา(คันคากรบกับแถน)

อตีเตกาเลสมัยหนึ่ง เมืองงามตรึงใจใครพบเห็น 
มีนามชมพูดูร่มเย็น เอกราชเป็นเจ้าปกครอง 
สีดานามพระมเหสี เทวีงามล้ำคนทั้งผอง 
มินานทรงครรภ์ดังปอง สุขสองราชาราชีนี 
เกิดมาประหลาดเหลือหลาย ผิวกายดังทองละอองศรี 
ปุ่มปมทั่วกายคล้ายมี ผิวสีคางคกน่าตกใจ 
บุญกรรมส่งผลมาเกิด ประเสริฐแม่รักมิผลักใส 
เลี้ยงดูจนเจ้าเจริญวัย เติบใหญ่เป็นหนุ่มแข็งแรง 
พ่อส่งร่ำเรียนวิชา เก่งกล้าการรบเข้มแข็ง
หอกดาบธนูทิ่มแทง ยอดเยี่ยมวิชาอาคม
นับวันเติบใหญ่เป็นหนุ่ม ชักกลุ้มรักใครไม่สม
สาวสาวมิค่อยชื่นชม รังเกียจไม่หล่อเขาเมิน
นับวันมีแต่รันทด มันหมดฝีมือชักเขิน
ฮักสาวมันยากเหลือเกิน จนแทบหมดเรี่ยวหมดแรง
คุณคกเขาอยากมีแฟน สาวสาวแสนจะขยะแขยง 
มิอยากให้ใกล้คำแพง เจ้าแกล้งหลีกหลี้หนีไป 
เหลือทนจึงบอกเสด็จพ่อ ขอรับเสด็จแม่มิไหว 
ลูกอยากมีเมียปวดใจ จีบใครเขาหลบมิพบพาน 
จับสาวชาวเมืองสักคน หน้ามนสะสวยตาหวาน 
เลือกเอาสวยสวยนงคราญ ลูกหลานชาวเมืองมากมาย 
สององค์ทรงอึ้งตะลึงคิด หนักจิตอยากหาโฉมฉาย 
ให้คนเทียวถามวุ่นวาย ทุกภายในนอกบุรี 
เขาบอกอยากจะอาเจียน คลื่นเหียนพวกเราสาวศรี 
ผัวแบบคางคกตลกดี ไม่มีไม่เอาเยาวมาลย์ 
ที่สุดกลับมามือเปล่า ทูลเล่าเรื่องราวกล่าวขาน 
ราชากลุ้มใจทัดทาน จัดการยุ่งยากจริงจริง 
บอกลูกทำใจเสียเถิด เราเกิดอัปลักษณ์ผู้หญิง 
เขาจึงรังเกียจท้วงติง ประวิงไม่อยากตกลง 
คางคกรูปหล่อน้อยใจ ขอไปอยู่ป่าเขาหงส์ 
บำเพ็ญบารมีมั่นคง หวังองค์เทพไทปรานี 
ถือศีลกินเจเข้มข้น มงคลพึงเกิดเป็นศรี
สมถะสมาธิมากมี ทำเยี่ยงฤๅษีชีไพร
โชติปูชากระทำ บำเพ็ญยามเย็นมิสงสัย
กองกูณฑ์บูชากองไฟ ขอให้เทพเจ้าเมตตา
คางคกอยากมีคู่ชิด จึงคิดสักการเสาะหา
หวังให้เทพท่านกรุณา เมตตาสมหวังดังใจ
มิโปรดก็จักมิหยุด ถึงสุดลำบากแค่ไหน
คางคกจักทำต่อไป จนกว่าเทพไทจักกรุณา
หลายวันทิพย์อาสน์เร่าร้อน อินทรสงสัยใครหวา 
สอดส่องไปทั่วโลกา อ้อเจ้าบ้าคางคกรูปงาม 
ไม่หล่อพ่อรวยเป็นกษัตริย์ ฮึดฮัดหาเมียมันถาม 
วอนขอช่วยด้วยองค์ราม อินทาใจงามเอ็นดู 
เออปางก่อนมันคือโพธิสัตว์ องค์อินทร์จัดให้อ้ายหนู 
เสกเมืองมั่นคงค่ายคู น่าอยู่ปราสาทมณเฑียร 
เสกผิวคางคกเป็นเกราะ รูปเหมาะงดงามดังเขียน 
ซ่อนอยู่ภายในเนื้อเนียน อินทร์เพียรหาสาวมาประทาน 
ได้สาวอุตตรทวีป รีบเหาะมาหาว่าขาน 
ครบถ้วนครานี้หมดการ ดูแลบ้านเมืองให้ดี 
พระมารดาแลองค์เอกราช ประพาสเมิองใหม่ในวิถี 
สุดแสนชื่นชมบารมี เปรมปรีดิ์ยกขึ้นเป็นราชา 
พระเจ้าคางคกอธิราช เปรื่องปราดปกครองนักหนา 
บ้านเมืองร่มเย็นนานมา นาคราส่งส่วยสักการ 
บ้านเล็กเมืองใหญ่ไหว้น้อม ยินยอมพร้อมใจอาจหาญ 
ขอพึ่งโพธิสมภาร มินานร่ำลือระบือไกล 
ทุกเมืองชื่นชมนักหนา ต่างพากันลืมเป็นไฉน 
ลืมการบูชาเทพไท กราบไหว้บัดพลีละเลย 
องค์แถนเทพใหญ่บนฟ้า โกรธาเรื่องราวเปิดเผย 
อ้ายคางคกขึ้นวอนี่เฮ้ย มึงเอ๋ยดีละได้เห็นกัน 
พวกนาคเล่นน้ำหยุดเล่น โลกเย็นกลับแล้งพร้อมสรรพ์ 
เจ็ดเดือนขาดฝนประชุมพลัน หวาดหวั่นบ้านเมืองล่มจม 
พระเจ้าคากคกรูปหล่อ พอรู้เรื่องราวขื่นขม 
พญาแถนขี้อิจฉาไม่น่าชม เขานิยมบูชามานานปี 
ลืมสักการนิดหน่อยก็คอยแกล้ง ให้ฝนแล้งกันดารดังเมืองผี 
จักประกาศสงครามเข้าต่อยตี เกิดกลีรบพุ่งยุ่งนักเชียว 
ทัพพระเจ้าคางคก ยกทัพประหลาดหวาดเสียว 
ทัพปลวกเร่งสร้างถนนเจียว เลาะเลี้ยวเมืองแถนเร็วพลัน 
ทัพมอดเตรียมพร้อมตามติด ประชิดด้ามมีดปืนสรรพ์
อาวุธทัพแถนกัดหมดกัน เหลืออดบัญชารีบไป 
ปลวกมดนับล้านรับสั่ง มุ่งยังเมืองแถนเร็วไฉน
แทรกเข้าคลังทัพทันใด เจอไม้กัดกินทำลาย
หอกดาบธนูชำรุด สุดแสนมันปากชิบหาย
มดปลวงมากมวลวุ่นวาย เรียบร้อยตามสั่งมินาน
แต่นี้ไม่มีหอกดาบ คงปราบมิยากสืบสาน
พระเจ้าคางคกภูบาล กบเขียดคางคกรีบไป
หลบซ่อนให้ดีใกล้ทัพ คอยจับกระแสคราวไหน
พวกแถนร่ายเวทแล้วไซร้ รีบส่งเสียงร้องกวนมัน
ทัพหลวงพวกมีพิษร้าย โยกย้ายรีบมาพร้อมสรรพ์
จักไปรบแถนพร้อมกัน ลอยไปเมืองฟ้าธาตรี
พญาแถนทรงทราบข่าวศึก ระทึกมันหมิ่นศักดิ์ศรี
อ้ายเจ้าคางคกกาลี แบบนี้ต้องตบถึงตาย
ระดมพลกองทัพทั้งสิ้น กลับยินข่าวให้ใจหาย
หอกดาบไร้ด้ามวุ่นวาย สายธนูคันหอกยับเยิน
ทหารมิมีอาวุธ แสนสุดลำบากนึกเขิน
อะไรมันแย่เหลือเกิน ร่ายเวทเสกกันทันใด
ทัพแถนจักร่ายพระเวทย์ วิเศษเอ็งอย่าสงสัย 
ทัพกบอึ่งอ่างเขียดไว มันร้องส่งเสียงอึงอล 
ร่ายผิดร่ายถูกไม่ขลัง ระวังมนตราอย่าสับสน 
พวกมันเสกงูมาประจญ หวังชนทัพกบอึ่งเรา 
ทัพรุ้งพุ่งมาอ้ายเหยี่ยว โฉบเฉี่ยวจับงูให้เขา 
พวกสัตว์มีพิษต่อยเอา ทัพงูเจ้านำขบวน 
แมงป่องตะขาบรุกฆาต อย่าพลาดมันน่าเสสรวล 
ทัพแถนลำบากถูกรบกวน ทั้งมวลไม่เป็นอันรบรา 
องค์แถนรำคาญยอมแพ้ มีแต่พวกเด็กมีปัญหา 
รบกันแบบนี้ไร้จรรยา บอกมาเอ็งต้องการอะไร 
พระเจ้าคางคกมหาราช องอาจวจีพาทีไข 
แถนแกล้งพวกเราทำไม ปล่อยให้ฝนแล้งเจ็ดเดือน 
แบบนี้ต้องสู้ให้ยับ จับแถนไปตอนให้เหมือน 
พวกขันทีนั่นแหละหากเลือน ขอเตือนอย่าทำนะเออ 
แถนบอกอ้ายบ้าคางคก สกปรกทำตัวตีเสมอ 
เอาเอายอมให้มิอยากเจอ ว่าแต่เธอช่วยเตือนสำคัญ 
ส่งบั้งไฟดีดีมาบอก นาคออกเล่นน้ำมิหุนหัน 
นาคสนุกฝนลงทั่วกัน ได้สรรค์ไร่นาพาสุขใจ 
สันธิสัญญาสันติภาพ รับทราบเทพแถนมิสงสัย 
กับพญาคันคากฤทธิไกร บุญบั้งไฟเดือนหกเตือนกัน 
แถนปล่อยฝนโปรยลงมา กบเขียดปรีดาพร้อมสรรพ์ 
อึ่งอ่างคางคกมาพลัน เสียงสนั่นอึงอลสุขใจ 
ขอบคุณแถนส่งฝนแล้ว ดังแก้วยินดีมิสงสัย 
อ๊บอ๊บอึ่งอ่างกังวาลไกล ขอบคุณให้แถนชื่นชม 
เกิดเป็นประเพณีอีสาน นับนานแต่งเติมเพิ่มสม 
เล่นสนุกกันมาน่านิยม ขอบังคมตำนานบุญบั้งไฟฯ
-------------------------
ขุนทอง ศรีประจง
ปรับปรุงและโพสใหม่ 14 พค.2560

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สัมผัสกลอนแปด


บันทึกเพิ่มเติม :  เอกสารฉบับนี้เดิมเป็นเอกสารประกอบการบรรยาย ตั้งแต่สมัยปี 2539 อบรมครูภาษาไทย  ปี         2558 มีคนขอคำแนะนำการแต่งกลอนเลยขุดเอามาปัดฝุ่นให้ไป แล้วก้มีขอมาอีกบ่อย ๆ จึง เอา มาไว้ที่ เวบบลอก ขอมาก็ให้ลิงค์ไป ตรงนี้ย้ายมาจากเวบต้นฉบับ เพื่อเผยแพร่นะครับ วันเวลา    ออกจะทันสมัย ยังไม่มีเวลาปรับปรุงครับ

รักจะเล่นแต่งกลอนแบบมีสัมผัสใน

                                                                        ---------------
-----------------------
...............ได้อ่านบทกลอนที่นักกลอนรุ่นใหม่เขียน เก่งครับเขียนได้ดีทีเดียว น่าอ่าน สำนวนหวือหวาดี สัมผัสในแพรวพราว เคยทักท้วงว่ามันมากไป อาจผิดแผนผังบังคับได้นะ ก็โดนค้านว่าไม่ผิดหรอก เอาอย่างมาจากกลอน  กวีโบราณ ก็เลยอยากนำบทกลอนสุนทรภู่มาแฉให้ดู ว่ากวีโบราณ ที่เล่นสัมผัสในเก่ง ๆ  คือกวีท่านนี้ ท่านเล่นแบบมีหลักมีเกณฑ์ ไม่ผิดแบบแผนหรอก มาดูกันครับ   จะหยิบกลอนนิราศภูเขาทอง มาเป็นตัวอย่างแล้วกัน
----------------
..........ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด             คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร            แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น 
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด          ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น                      ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จึงสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย        ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา                       ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป ฯ
-----------------
..............บทกลอนจากนิราศภูเขาทอง กระผมชอบมาก ขนาดเอามาใช้ทำสื่อการสอนตอนทำวิทยานิพนธ์ เลยต้องอ่านหลาย ๆ รอบ สุนทรภู่ท่านแต่งได้ยอดเยี่ยมจริง ๆ อ่านเล่นก็เพราะ อ่านทำนองเสนาะก็รื่นไหลไม่ติดขัด ถ่ายทอดอารมณ์กวีได้ดีมาก ๆ 
------------------
.......1. เสียงเสนาะทุกวรรคตอน ที่นักกลอนรุ่นหลัง ๆ พูดถึงคำลงท้ายวรรคกลอน กลอนท่านสุนทรภู่
นี่เองที่พอจะยกมาเป็นตัวอย่างการเลือกใช้คำลงท้ายวรรคได้เป็นอย่างดี
------------------
สังเกตดูกลอนที่นำมาเป็นตัวอย๋าง 3 บท จะพบการใช้คำลงท้ายวรรคต่าง ๆ ดังนี้

บทที่ 1 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง เอก........จัตวา   สามัญ......สามัญ
บทที่ 2 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง เอก..... . จัตวา   สามัญ......สามัญ
บทที่ 3 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง จัตวา... ..จัตวา   สามัญ......สามัญ

.............แค่ 3 บทที่ยกมา เห็นได้ชัดว่า วรรคแรก ชอบใช้เสียงสูงกว่าสามัญ ใช้เสียง เอก กับจัตวา 
อ่าน รื่น ๆ ดี คำท้ายวรรค 2 ชอบ เสียงจัตวา มากกว่าเสียงอื่น วรรคที่ 3 และ 4 ชอบ เสียงสามัญ
----------------
.......2...การใช้สัมผัสในไม่มีผิดฉันทลักษณ์ พยายามจะใส่สัมผัสในวรรคละ 2 แห่ง มาดูกัน

บทที่ 1 

1.1 วรรคสดับ   วัง...ดัง   ใจ....จะ  (สัมผัสพยัญชนะ)   มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.2 วรรครับ      บาท...บพิตร (สัมผัสพยัญชนะ)  บพิตร..อดิศร มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.3 วรรครอง  เกล้า...เจ้า  คุณ......สุนทร มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.4 วรรคส่ง    ก่อน......
(ไม่มี)    เฝ้า.....เช้า มีสัมผัสใน 1 คู่

บทที่ 2 

2.1 วรรคสดับ  พาน......ปาน .....ช่วงหลังไม่มีสัมผัสใน วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่
2.2 วรรครับ     ญาติ....ยาก (สัมผัสพยัญชนะ) แค้น....แสน วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
2.3 วรรครอง   ซ้ำ......กรรม  ซัด.....วิบัติ วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
2.4 วรรคส่ง     เห็น.....(ไม่มี) ซึ่ง......พึ่ง วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่

บทที่ 3 

3.1 วรรคสดับ พรต.......อต  ส่ง...ส่วน (สัมผัสพยัญชนะ) วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
3.2 วรรครับ    ฝ่าย.......
(ไม่มี) สมถะ.....วสา วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่
3.3 วรรครอง  ของ.......ฉลอง คุณ...มุลลิกา วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
3.4 วรรคส่ง   ข้า... .....เคียง (สัมผัสพยัญชนะ) บาท.....ชาติ วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่

...........บทกลอนที่มหากวีสุนทรภู่ท่านแต่ง แม้ท่านจะชอบแต่งสัมผัสใน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมี วรรค
ละ 2 แห่งเสมอไป เพราะกลอนต้องมีเนื้อหาที่กวีต้องการสื่อ สัมผัสในอาจตกหล่นไปบ้างก็ไม่เป็นไร 
เพราะสัมผัสในมิใช่สัมผัสบังคับ มีข้อควรสังเกตคือ วรรครับ และวรรคส่ง ถ้าจะใส่สัมผัสใน 2 คู่ คู่แรก
คือคำที่ 3 และคำที่ 4 เป็นสัมผัสพยัญชะเท่านั้น เล่นสัมผัสสระไม่ได้ เพราะคำที่ 3 เป็นสัมผัสบังคับ มี
แนวทางแก้ไข ถ้าจะเล่นสัมผัสสระ คำที่ 3...4ต้องย้ายสัมผัสบังคับเป็นคำที่ 1 หรือ 2 แทน ปล่อยคำที่ 
3 ไว้เล่นสัมผัสใน ตัวอย่าง

                  อันความรักปักอกเหมือนตกเหว...............ซ้ำถูกเปลวปานไฟลามไหม้สุม
                     รัก...ปัก   อก....ตก                                    เปลว...ปาน ไฟ...ไหม้ (วรรคละสองคู่)

.............วรรคที่สอง เปลวกับปาน เป็นสัมผัสพยัญชนะ อยากเล่นสัมผัสสระ ต้องใช้คำที่ 1 หรือคำที่ 2 
รับสัมผัสบังคับ เพื่อ  ให้คำที่ 3 ว่าง จะได้ใช้เล่นสัมผัสใน เช่น

                    อันความรักปักอกเหมือนตกเหว...............ปานเปลวไฟไหม้สุมร้อนรุ่มเหลือ
                               รัก...ปัก อก....ตก ย้    ายคำรับสัมผัส คือคำ เปลว มาอยู่ตำแหน่งคำที่ 2 คำที่ 3 
คือ ไฟ เลยว่าง เล่นสัมผัสสระได้คือคำที่ 3...4 เป็น ไฟ...ไหม้ ร้อน...รุ่ม (สัมผัสพยัญชนะ) รุ่ม....สุม ได้สัมผัสใน
3 คู่ ไปเลย

................ถ้ารักชอบสัมผัสในก็อย่าให้ผิดฉันทลักษณ์ ถ้าปล่อยคำที่ 3 ที่เป็นสัมผัสบังคับตามแผนผัง แล้ว ยังสัมผัสสระกับคำ ที่ 4 อีก ก็จะมีคำรับสัมผัสบังคับ 2 คำ ก็คือผิดฉันทลักษณ์นั่นเอง

                           อันความรักปักอกเหมือนตกเหว..............ซ้ำถูกเปลวเหวนรกไฟตกสุม
                                                                                            ดูคำ เปลว...เหว นรก...ตก 
สัมผัสใน 2 คู่ จริงแต่เป็นการแต่งผิดฉันทลักษณ์

.................จะคัดกลอนบทต่อ ๆไปให้อ่านดู เพื่อจะได้สังเกตว่า มหากวีสุนทรภู่ ท่านเล่นสัมผัสใน
วรรครับ และวรรคส่ง อย่างไร ไม่มีผิดฉันทลักษณ์หรอก สังเกตคำรับสัมผัสบังคับ ใช้คำที่ 3 ตามปกติ 
ดูว่าสัมผัสในตรงนี้ ถ้าเล่น เล่นอย่างไร 

O..ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง.............คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล         ครั้ง.........ไม่เล่น
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย...............แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง    ใน......ไม่เล่น
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ.............เคยรับราชโองการอ่านฉลอง      ราช......ไม่เล่น
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง................มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา ข้อง.... ..เคือง (สัมผัสพยัญชนะ)
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ..........ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา อบ.........ไม่เล่น
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา.....................วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ฯ วาสนา......ไม่เล่น

O..ดูในวังยังเห็นหอพระอัฐิ....................ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล        สติ......เติม (สัมผัสพยัญชนะ)
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล...............ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน      หลัก... ลือ....เล่า(สัมผัสพยัญชนะ)
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน...............มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา                สิ้น.....สุด (สัมผัสพยัญชนะ)
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย..................แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา      ม้วย....ไม่เล่น
อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา....................อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง ฟ้า.....  ..ไม่เล่น
ไปพ้นวัดทัศนาริมท่าน้ำ....................แพประจำจอดรายเขาขายของ    จำ........จอด (สัมผัสพยัญชนะ)
มีแพรผ้าสารพัดสีม่วงตอง..................ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภาฯ   ของ...ขาว(สัมผัสพยัญชนะ)

O..ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง......มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา         โพง....ผูก (สัมผัสพยัญชนะ)
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา..........ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย  เมา...เหมือน (สัมผัสยัญชนะ) 
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ.............สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย  เพชญ..โพธิ (สัมผัส พยัญชนะ)
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย...................ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป        กราย..แกล้ง (สัมผัส พยัญชนะ)

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก..........สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน               หัก.....ห้าม (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป...............แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ         ใจ.....ประจำ (สัมผัสพยัญชนะ)
..............
O..ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง.........มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน       หมอง...ม้วน (สัมผัสพยัญชนะ)
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน...............จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง       ขืน.............ไม่เล่น
ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง.............เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง    ซอง.........ส่ง (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง....ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน  เมือง......สมร (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์.............ร่มริโรธรุกขมูลให้พูนผล              นิโรธ....รุกข (สัมผัสพยัญชนะ)
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล...............ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกายฯ    พ้น...ภัยพาล (สัมผัสพยัญชนะ)

..............สังเกตดู วรรครอง และวรรค ส่ง ท่านแต่งด้วยความระมัดระวัง มิให้มีคำรับสัมผัสเกินมา ด้วย
ไม่เล่นสัมผัสสระ ถ้าจะแต่งให้มีสัมผัสใน ก็เลี่ยงไปเล่นสัมผัสพยัญชนะแทน หวังว่าท่านที่ได้อ่าน
ข้อความที่นำเสนอนี้ จะเข้าใจลีลากลอนที่ไพเราะแบบของสุนทรภู่ ได้ดีขึ้น ถึงท่านจะชอบเล่นสัมผัส
ใน ท่านก็เล่นไม่ผิดฉันทลักษณ์ นะครับ  ฝากบทกลอนเตือนนักกลอนร่วมสมัย ด้วยนะครับ อาจนำไปใช้
พัฒนาการแต่งกลอนของท่านได้ (อ้อจริญญา แสงทอง ชื่ออีเมล ที่ใช้สมัครเวบบลอก ร้อยกรอง บลอกของผมเอง  มี 3 เวบบลอกคือ เยี่ยมยามอีสาน วิถีชีวิตอีสาน และร้อยกรอง)


                             -------------คำเตือนของครูเมือหนูจะเขียนกลอน-----------------
-------------------------
 ............ครูสอนภาษาไทย อยากใด้บทกลอนแนะนำการเขียนกลอน  พูดให้ฟังแล้ว อยากได้เอกสาร แถมเอาแบบเป็นคำกลอนด้วย  บังอาจสั่งให้ครูแต่งกลอนให้  ก็เคยสอนมาแต่มัธยม ได้โอกาสเอาใหญ่เลย เอ้า เขียนก็เขียน
----------------------
กลอนสุภาพ
.....เริ่มฝึกเขียนกลอนกานท์มานานโข...........ตั้งนโมไหว้ครูผู้สั่งสอน       
สมัยอยู่มัธยมยินแต่งกลอน.........................สุดรุ่มร้อนทุกข์หนักยากจักกรอง
สมัยเรียนธรรมศึกษาตรีโทเอก.....................เหมือนปลุกเสกจรินยาพาสนอง
อ่านบาลีไวยากรณ์ชอบครรลอง...................มันสอดคล้องหลักภาษาน่ายินดี
แถมมีกาพย์โคลงฉันท์ให้หัดแต่ง.................พอเห็นแสงลางลางทางวิถี
ได้เรียนครูเหมาะเลยร้อยกรองมี...................สนุกตีแตกกระจายมิอายใคร
คุณครูมีเมตตาพาฝึกฝน..............................แนะกลอนกลเทคนิคพลิกแพลงไฉน
จนวันนี้เขียนง่ายสบายใจ............................จดจำได้คำสอนกลกลอนครู
สัมผัสนอกบังคับตามแบบแผน.....................อย่าหมิ่นแคลนขาดเกินเพลินนะหนู
ส่งคำเดียวรับคำเดี่ยวทุกจุดชู......................ขอจงรู้สัมผัสซ้ำอย่าให้มี
ถ้ารับสองหรือสามเรียกมันเลื่อน...................กลอนเลยเปื้อนแปดปนหม่นหมองศรี
วรรครองใช้คำท้ายรับเข้าที..........................แต่มิดีหากลักดักหน้ากัน
เขาเรียกพวกนักวิ่งชิงสัมผัส.........................แบบนี้จัดผิดแผนมิสร้างสรรค์
กลอนด้อยค่าหมดลายเสียดายครัน...............ความสำคัญสัมผัสนอกพึงระวัง
สัมผัสในสองอย่างข้างครูเล่า.......................จดจำเอาพยัญชนะเสียงจะขลัง
เสียงเดียวกันจัดได้ตามกำลัง.......................ตราบที่ยังมิเฝือตามสบาย
สัมผัสเสียงสระระวังหน่อย...........................ดูร่อยรอยสัมผัสนอกเขามีสาย
อย่ากระทบของเขาพลอยวุ่นวาย..................เป็นตัวร้ายเกิดเลื่อนเคลื่อนลัดชิง
สัมผัสเผลอเจอสระยาวกับสั้น......................เสียงคล้ายกัน อัย-อายหมายบอกหญิง
เอ็นกับเอนต่างกันนั่นต่างจริง.......................อย่าแอบอิงสัมผัสขัดคำครู
สัมผัสเพี้ยนแบบไหนจะได้เห็น....................ดูอย่างเช่นตาม-น้ำนั่นแหละหนู
เป็ดกับเณรเล็กกับเผ็ดเด็ดยามดู...................วิเคราะห์รู้ต่างสระอย่ากระทำ
อีกละลอกทับแลฉลองควรละเว้น.................ตัวอย่างเช่นเอกโทโผล่มิหนำ
ท้ายวรรคหนึ่งถึงสามความจงจำ...................เขาเรียกคำละลอกฉลองมิควรมี
อยู่ท้ายบทละลอกทับขับห่างหาย................จักทำลายกลอนมิงามตามวิถี
ส่วนเรื่องเสียงระดับไหนจึงจักดี....................เหมือนเติมสีท้ายวรรคจักงดงาม
วรรคสลับคำท้ายควรเสียงเต้น......................คืองดเว้นเสียงสามัญครั้นลองถาม
ท้ายวรรครับจัตวาน่าติดตาม.........................โทเอกงามเช่นกันสรรแต่งดู
วรรครองเสียงสามัญงดงามนัก.....................บางคนรักเสียงตรีก็ดีหนู
วรรคส่งเสียงสามัญมือชั้นครู........................คนที่รู้ว่าตรีดีคำกลอน
ขอหยุดไว้แรกเขียนเพียรเสนอ....................ใครอ่านเจอสารประจักษ์ตามอักษร
คงเข้าใจเพียงจดเป็นบทตอน......................ถ่ายทอดวอนอ่านเล่นสบายสบาย ฯ

---------------------
จริญญา แสงทอง : 3 /12/2558  

-----------------------


วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

มหาปุริสลักษณะ

..........มีตำราชื่อนี้ที่ทางพราหม์ ดาบส ก่อนพุทธกาลเคยเรียนรู้มาก่อน กาฬเทวิลดาบส ผู้คุ้นเคยกับ ราชวงศ์ศากยะ ทราบข่าวพระเจ้าสุทโธทนะได้พระโอรสก็แวะมาเยี่ยม ได้เห้นลักษณะเจ้าชายสอดคล้อง กับมหาปุริสลักษณะถึงกับก้มกราบ จนพระเจ้าสุทโธทนะก็กราบด้วย และทำนายว่าเป็นมหาบุรุษผู้มี บุญบารมีสูงมากมาเกิด อยู่ครองเรือนจักเป็นเจ้าจักรพรรดิ ออกบวชจักเป็นศาสดาเอก อีกครั้งวันที่เลี้ยงสมณพราหม์ 108 มีการเลือกตัวแทน 8 รูป ล้วนเชี่ยวชาญตำรามหาปุริสลักษณะ มาทำนายลักษณะเจ้าชาย 7 รูปทำนาย 2 แนวทาง มีโกญทัญญพราหมฑ์รูปเดียวที่ทำนายว่า ออกบวชแน่นอน  เนื้อหาในตำราดังกล่าว บันทึกลักษณะสำคัญ ๆ ของมหาบุรุษย์ไว้ ช่วงนี้ ใกล้วันวิสาขบูชา ไปสืบค้นหามาไว้ครับ ได้จากกูเกิล และสอบทานกับพระไตรปิฎกแล้ว ตรงกัน..........ดังนี้


มหาบุรุษลักษณะ ลักษณะของมหาบุรุษมี ๓๒ ประการ มาในมหาปทานสูตร แห่งทีฆนิกาย มหาวรรค และลักขณสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก โดยย่อ คือ
       ๑. สุปติฏฺฐิตปาโท มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
       ๒. เหฏฺฐาปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ ลายพื้นพระบาทเป็นจักร
       ๓. อายตปณฺหิ มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔, พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓)
       ๔. ทีฆงฺคุลิ มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย)
       ๕. มุทุตลนหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
       ๖. ชาลหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย
       ๗. อุสฺสงฺขปาโท มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน
       ๘. เอณิชงฺโฆ พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
       ๙. ฐิตโก ว อโนนมนฺโต อุโภหิ ปาณิตเลหิ ชณฺณุกานิ ปรามสติ เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้ง ๒ ลูบจับถึงพระชานุ
       ๑๐. โกโสหิตวตฺถคุยฺโห มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก
       ๑๑. สุวณฺณวณฺโณ มีฉวีวรรณดุจสีทอง
       ๑๒. สุขุมจฺฉวิ พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย
       ๑๓. เอเกกโลโม มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้นๆ
       ๑๔. อุทฺธคฺคโลโม เส้นพระโลมาดำสนิท เวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน
       ๑๕. พฺรหฺมุชุคตฺโต พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม
       ๑๖. สตฺตุสฺสโท มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒, และหลังพระบาททั้ง ๒, พระอังสาทั้ง ๒, กับลำพระศอ)
       ๑๗. สีหปุพฺพฑฺฒกาโย มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์
       ๑๘. ปีตนฺตรํโส พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน
       ๑๙. นิโคฺรธปริมณฺฑโล ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์)
       ๒๐. สมวฏฺฏกฺขนฺโธ มีลำพระศอกลมงามเสมอตลอด
       ๒๑. รสคฺคสคฺคี มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี
       ๒๒. สีหหนุ มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)
       ๒๓. จตฺตาฬีสทนฺโต มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่)
       ๒๔. สมทนฺโต พระทนต์เรียบเสมอกัน
       ๒๕. อวิวรทนฺโต พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง
       ๒๖. สุสุกฺกทาโฐ เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์
       ๒๗. ปหูตชิวฺโห พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฏได้)
       ๒๘. พฺรหฺมสโร กรวิกภาณี พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก
       ๒๙. อภินีลเนตฺโต พระเนตรดำสนิท
       ๓๐. โคปขุโม ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
       ๓๑. อุณณา ภมุกนฺตเร ชาตา มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวา เป็นทักษิณาวัฏ
       ๓๒. อุณฺหิสสีโส มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
       ดู อนุพยัญชนะ

อนุพยัญชนะ ลักษณะน้อยๆ,
       พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ (นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒)
       อีก ๘๐ ประการ คือ
           ๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม
           ๒. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย
           ๓. นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี
           ๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง
           ๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้นงอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง
           ๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย
           ๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก
           ๘. พระบาททั้งสองเสมอกัน มิได้ย่อมใหญ่กว่ากัน มาตรว่าเท่าเมล็ดงา
           ๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ
           ๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช
           ๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์
           ๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน
           ๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน
           ๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก
           ๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์ คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี
           ๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง
           ๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก
           ๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ
           ๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี
           ๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี
           ๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้
           ๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย
           ๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง
           ๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง
           ๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง
           ๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง
           ๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ
           ๒๘. มีพระนาสิกอันสูง
           ๒๙. สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม
           ๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก
           ๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน
           ๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์
           ๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย
           ๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
           ๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์
           ๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย
           ๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน
           ๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก
           ๓๙. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว
           ๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด
           ๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง
           ๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ
           ๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์
           ๔๔. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน
           ๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
           ๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด
           ๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม
           ๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม
           ๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ
           ๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม
           ๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง
           ๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง
           ๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว
           ๕๔. ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน
           ๕๕. พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม
           ๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้
           ๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด
           ๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ
           ๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่
           ๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร
           ๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย
           ๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ
           ๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
           ๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ
           ๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย
           ๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา
           ๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น
           ๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย
           ๖๙. ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด
           ๗๐. พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม
           ๗๑. กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล
           ๗๒. พระเกสาดำเป็นแสง
           ๗๓. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ
           ๗๔. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ
           ๗๕. พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น
           ๗๖. พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น
           ๗๗. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด
           ๗๘. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง
           ๗๙. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น
           ๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ        นิยมเรียกว่า อสีตยานุพยัญชนะ;